Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ธุรกิจสายมู มีอะไรน่าสนใจบ้าง

Posted By Plook Magazine | 11 พ.ค. 66
6,817 Views

  Favorite

วอลเปเปอร์สายมู เครื่องประดับเสริมดวงเพิ่มความมงคล สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นหนึ่งในธุรกิจสายมูเตลู ที่ต่อยอดมาจากความเชื่อส่วนบุคคล บวกกับความคิดสร้างสรรค์ปั้นออกมาเป็นโมเดลธุรกิจสุดปังแห่งยุค กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจ SMEs ดาวเด่นมาแรงแซงทุกธุรกิจ สร้างมูลค่าทางตลาดมากกว่า 10 ล้านในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา  

 

trueplookpanya


“แข่งเรือแข่งแพพอแข่งได้ แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งกันยาก” เป็นคำพูดที่เรามักจะได้ยินกันมาตั้งแต่เด็ก เมื่อทำอะไรไม่ได้ดั่งใจแม้จะพยายามสุดความสามารถแล้ว หลายคนมักจะตัดพ้อกับตัวเองว่า ‘สงสัยไม่มีดวง’ ทำให้บางครั้งเมื่อต้องทำการใหญ่ งานอะไรที่มีเดิมพันสูง ในใจลึก ๆ เรามักจะหวังให้โชคเข้าข้าง ขอให้โชคช่วย นำมาซึ่งการกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นรูปธรรมตามความเชื่อหรือที่ปัจจุบันเรียกกันติดปากว่า ‘มูเตลู’ 

มูเตลูคืออะไร มาจากไหน 

มูเตลู (Mutelu) คาดว่ามาจากชื่อภาพยนตร์สยองขวัญของชาวอินโดนีเซียที่ออกฉายในประเทศไทยช่วงปี 1980 หรือ 1990 ชื่อว่า ‘Penangkal limu Teluh’ แต่ด้วยความที่ออกเสียงยาก ต่อมาจึงมีการตัดทอนคำให้คล่องปากคนไทยเหลือเพียงคำว่า ‘มูเตลู’ ซึ่งแปลว่าคำสาป มายา คาถา เป็นลักษณะของความเชื่อเชิงบวก เช่น ทําให้ร่ำรวยขึ้น ทําให้มีเสน่ห์ดึงดูด แคล้วคลาดปลอดภัย ซึ่งแตกต่างจากมูเตลูในภาพยนตร์ที่มีความหมายในเชิงลบ 

 

กระแสสายมูในประเทศไทยมาถึงจุดพีคที่สุดจากรายการ ‘มูไนท์’ ซึ่งเผยแพร่ทางทีวีช่องหนึ่ง เป็นรายการที่เจาะลึกเรื่องราวความเชื่อกับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ทําให้เกิดกระแสคําวา “มูเตลู” ‘สายมู’ เกิดขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนมีชื่อเสียง จนเกิดการจําหน่ายหินมงคล และเครื่องรางที่เกี่ยวกับมูเตลู การท่องเที่ยวเชิงมูเตลู และ Goods (สินค้า) ต่าง ๆ ตามมามากมายจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มคนอายุ 18 - 35 ปีที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของธุรกิจโหราศาสตร์และความเชื่อหรือธุรกิจสายมู 

ธุรกิจสายมู ปังแค่ไหน ?

shutterstock / Marina Rich

 

จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยว่าในปี 2563 - 2565 ธุรกิจกิจกรรมด้านความเชื่อเพื่อสนับสนุนการตลาดมีอัตราการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 จดทะเบียนจัดตั้ง 11 ราย ปี 2564 จัดตั้ง 20 ราย ปี 2565 จัดตั้ง 24 ราย แบ่งเป็นผลประกอบการธุรกิจ ดังนี้ 


ปี 2562 รายได้รวม 24.28 ล้านบาท 
ปี 2563 28.76 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้รวม 61.28 ล้านบาท 


ปัจจุบันธุรกิจด้านความเชื่อเพื่อสนับสนุนการตลาดที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย ณ วันที่ 31 มกราคม 2566 มีจำนวน 93 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.01 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ (857,511 ราย) และมีมูลค่าทุน 101.98 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.0005 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย (21.36 ล้านล้านบาท) ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก SMEs ตั้งอยู่ทั่วประเทศ ได้แก่ 

กรุงเทพมหานคร 46 ราย
ภาคกลาง 22 ราย 
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 ราย 
ภาคเหนือ 5 ราย 
ภาคใต้ 5 ราย 
ภาคตะวันตก 3 ราย 

ส่วนใหญ่ธุรกิจกิจกรรมด้านความเชื่อเพื่อส่งเสริมการตลาดในประเทศไทยนิยมการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับปริมาณของผู้ประกอบธุรกิจด้านความเชื่อในตลาดส่วนใหญ่นิยมประกอบกิจการในรูปบุคคลธรรมดามากกว่า และยังถือว่ามีผู้ประกอบการทางธุรกิจไม่มากดูจากส่วนแบ่งของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ นั่นหมายความว่าเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่ต้องการทำธุรกิจสายนี้เพราะยังมีการแข่งขันที่ไม่สูงมากนัก 

5 อันดับความเชื่อครองใจสายมู

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการสำรวจและสรุปข้อมูลเกี่ยวกับความเชื่อด้านโชคลางของคนไทย 5 อันดับแรก ได้แก่

1. การพยากรณ์ (รายวัน รายเดือน รายสัปดาห์) โหราศาสตร์ ลายมือ ไพ่ยิบซี
2. พระเครื่องวัตถุมงคล
3. สีมงคล
4. ตัวเลขมงคล
5. เรื่องเหนือธรรมชาติ
 
 

shutterstock/AofLine

 

ไอเดียธุรกิจสายมูที่น่าสนใจ

จากผลสำรวจและสรุปข้อมูลเกี่ยวกับความเชื่อข้างต้นจึงทำให้เกิดธุรกิจเกี่ยวกับความเชื่อขึ้น จากผลการวิเคราะห์เกี่ยวกับสถานการณ์การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs ในรอบปี 2565 โดยสสว. ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า หนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่กลับมาฟื้นตัวและมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องคือ ธุรกิจโหราศาสตร์และความเชื่อ หรือธุรกิจสายมู ดังนี้

 

1. วอลเปเปอร์เสริมดวง

เสริมดวงชะตาเพิ่มความมงคลผ่านหน้าจอมือถือที่ใช้เป็นประจำเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง ด้วยการ แจกฟรีวอลเปเปอร์สายมู เสริมดวงด้านการงาน ชีวิตดี๊ดี ! Wallpaper สายมูแบ่งได้หลายหมวดหมู่ไม่ว่าจะเป็นการงาน การเงิน ความรัก และการเรียน สามารถสร้างรายได้ได้ตั้งแต่หลัก 100 บาท ถึง 100,000 บาท หากใครที่อยากทำธุรกิจนี้จะต้องมีความรู้ด้านการออกแบบดีไซน์ หรือมีพาร์ทเนอร์มาช่วยออกแบบให้ ทำการตลาดร่วมด้วยจะทำให้ธุรกิจไปได้สวยแน่นอน 

 

2. ดูดวงออนไลน์

ธุรกิจดูดวงออนไลน์เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ในปัจจุบันหลายคนเริ่มหันมาเรียนรู้ศาสตร์ของการพยากรณ์แบบต่าง ๆ ทั้งแบบไทยหรือแบบตะวันตก เช่น ไพ่ยิปซี, ดูดวงโหราศาสตร์ไทย, ดูดวงด้วยศาสตร์ตัวเลขหรือไพ่ออราเคิล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสนใจของแต่ละบุคคล การทำธุรกิจดูดวงออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จจะต้องอาศัยสไตล์ ความมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ไม่เหมือนคนอื่น และต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง ทั้งนี้สามารถทำธุรกิจได้ทั้งรูปแบบออนไลน์และนัดหมายเข้ามาดูดวงส่วนตัว  

 

3. ไกด์ทัวร์พาไปมู 

ประเทศไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายรวมทั้งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากมายที่นิยมเดินทางไปวัดหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อร่วมกิจกรรมทางศาสนาและปฏิบัติธรรมตามคติความเชื่อที่ถือว่าการได้มาสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ร่วมทําบุญทำทานจะนํามาซึ่งความเป็นสิริมงคล โดยธุรกิจนี้สามารถทำเป็นธุรกิจนำเที่ยว พาทัวร์เต็มรูปแบบเพื่อจับกลุ่มเป้าหมายสายมูเตลูที่อยากเดินทางเข้ามามูในประเทศไทยได้ 

 

4. สร้อยข้อมือเพิ่มความมงคล

อาจเรียกว่าเป็นการทำเครื่องประดับเพื่อเพิ่มความเป็นสิริมงคล สำหรับคนที่ชื่นชอบและมีความรู้ด้านการทำเครื่องประดับเป็นทุนเดิม สามารถนำมาต่อยอดเป็นธุรกิจสายมูได้ด้วยการออกแบบเครื่องประดับไม่ว่าจะเป็นสร้อยข้อมือ สร้อยคอ แหวน ต่างหู ที่ใส่ความเชื่อและความศรัทธาเข้าไปด้วย การที่จะทำธุรกิจนี้ให้สำเร็จจะต้องมีเซนส์เรื่องของแฟชั่น ความสวยงามเข้ามาร่วมด้วย เพราะอย่างไรแล้วมันก็เป็นเครื่องประดับที่คนทั่วไปใส่เพื่อความดูดี ดูสวยจึงต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมายของตัวเองว่าเป็นใคร เพื่อที่จะสามารถกำหนดแนวทางการดีไซน์เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้ 

 

5. ต้นไม้มงคล

คนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปลูกต้นไม้ ดูแลต้นไม้เป็นทุนเดิมสามารถต่อยอดธุรกิจมาทำธุรกิจต้นไม้ฮิต ๆ เพิ่มความเฮง เสริมฮวงจุ้ย ตามบ้าน คอนโด กิจการโรงแรม คาเฟ่ ออฟฟิศ หรือในพิธีสำคัญ ๆ ที่ต้องการใช้ไม้มงคลในการประกอบพิธี เช่น ต้นเศรษฐีรวยทรัพย์, ต้นเงินไหลมา, ต้นนางกวักหรือต้นเศรษฐีรับเงินตามความเชื่อต้นไม้มงคล โดยสามารถดำเนินธุรกิจในรูปแบบออนไลน์หรือมีหน้าร้านก็ได้ จับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการเสริมดวงในอาคาร สถานที่ หรือบริเวณบ้าน โดยไม้มงคลแบ่งได้ ดังนี้

การบริโภค เช่น ทำอาหารคาวหวาน
การอุปโภค ไม้ที่นำมาสร้างบ้านเรือน ต่อเรือ ทำเครื่องดนตรี
ความหอม ไม้ดอกที่นำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย เพื่อใช้ปรุงแต่งกลิ่นหอม 
ยารักษาโรค นำมาใช้ทำสบู่ ยาสระผม เครื่องสำอาง หรือใช้ทำยารักษาแผลหรืออาการป่วย

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow