Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สินเชื่อเพื่อธุรกิจ SMEs

Posted By Plook Magazine | 28 เม.ย. 66
1,361 Views

  Favorite

อยากกู้เงินมาทำธุรกิจ ทำยังไง ?
กู้เงินเพื่อธุรกิจ SMEs มีไหม ?

ผู้ประกอบการหลายคนที่อยากทำธุรกิจ SMEs แต่ไม่มีเงินทุน ไม่มีหลักทรัพย์ธุรกิจ สนใจอยากหาสินเชื่อเงินกู้เพื่อมาทำธุรกิจ ที่กู้ง่าย ได้ไว วงเงินสูง ซึ่งยากที่สถาบันการเงินจะอนุมัติสินเชื่อให้ สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจที่กำลังประสบปัญหานี้ เราจะมาหาแหล่งเงินทุน SMEs ของรัฐ และสถาบันการเงิน Non-Bank ที่ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอว่าต้องทำอย่างไร และผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างเพื่อขอสินเชื่อให้ผ่านฉลุย 

 

trueplookpanya

 

จุดอ่อนของธุรกิจ SMEs คือผู้ประกอบการไม่มีพื้นฐานทางการเงิน

อุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อเป็นหนึ่งในจุดอ่อนของการพัฒนาธุรกิจ SMEs จากรายงานของสสว. ซึ่งรวบรวมปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อธุรกิจ SMEs จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยในเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 เงินเชื่อ SMEs จากธนาคารพาณิชย์มีมูลค่าสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 3,292,457 ล้านบาทคิดเป็นเพียงร้อยละ 19 ในขณะที่ข้อมูล Financing SMEs and Entrepreneurs 2020: An OECD Scoreboard พบว่าสัดส่วนของสินเชื่อคงค้าง (Business Loan) ของ SMEs ในปี 2560 ของเกาหลีใต้และมาเลเซีย มีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และ 50 ตามลำดับ การเข้าไม่ถึงสินเชื่อของ SMEs ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน และขาดหลักฐานทางการเงินที่น่าเชื่อถือซึ่งมาจากการที่ผู้ประกอบการ SMEs ไม่มีการจัดทำบัญชีที่ได้มาตรฐาน และไม่มีข้อมูลอื่นที่จะทำให้สถาบันการเงินเชื่อว่าจะมีความสามารถในการชำระเงินคืน

 
ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า การที่ SMEs ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดความรู้พื้นฐานทางการเงิน (Financial Literacy) ที่ดีพอ การสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทยปี 2561 พบว่า ความรู้ทางการเงินของคนไทยต่ำกว่ามาตรฐานของ OECD ซึ่งส่งผลต่อทักษะพื้นฐานหรือขาดความรู้พื้นฐานทางการเงินในการประกอบธุรกิจตามมา ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs จะต้องวางแผน เตรียมการมาอย่างดี ทั้งวางแผนให้ตัวเองและเข้าใจการทำงานของการอนุมัติสิินเชื่อว่าทางสถาบันการเงินเขาจะดูอะไรบ้างเพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ
 
shutterstock/Inside Creative House

 

 

สถาบันการเงินมีหลักการพิจารณาให้สินเชื่ออย่างไร

โดยทั่วไปแล้วสถาบันการเงินแต่ละแห่งจะมีเกณฑ์การพิจาณาให้สินเชื่อแตกต่างกันขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละสถาบันการเงิน แต่อย่างไรก็ตามหลักการพื้นฐานที่สถาบันการเงินใช้พิจารณาให้สินเชื่อจะประกอบด้วย 5Cs และ 3Ps ซึ่งประกอบด้วย
 
5Cs ประกอบด้วยอะไรบ้าง ? 
 
Character คุณสมบัติลูกค้า คุณลักษณะและความน่าเชื่อถือของผู้ขอสินเชื่อ
Capital เงินทุนของลูกค้า เงินทุน สินทรัพย์ หรือเงินฝากของผู้ขอสินเชื่อ เพื่อเป็นหลักประกันการให้กู้ยืม
Capacity ความสามารถในการชำระหนี้ ความสามารถในการจ่ายชำระหนี้คืนได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ 
Collateral หลักทรัพย์ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันหรือหลักประกันที่ผู้ขอสินเชื่อนำมาจำนำ 
Condition ปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ ปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อรายได้ของผู้ขอสินเชื่อ เช่น เศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ความมั่นคงในรายได้และการงาน ปัญหาสงคราม สิ่งแวดล้อม 
 
 
3Ps ประกอบด้วยอะไรบ้าง ?
 
Purpose วัตถุประสงค์การขอสินเขื่อ 
Payment ความเป็นไปได้ในการชำระคืน
Protection การป้องกันความเสี่ยง
 
 
เมื่อพิจารณา 5Cs ควบคู่กับ 3Ps จะพบว่ามี 2 สิ่งที่สถาบันการเงินให้ความสำคัญและให้น้ำหนักมากในการพิจารณาก็คือ หลักทรัพย์ค้ำประกันและความสามารถในการชำระหนี้มาเป็นอันดับต้น ๆ  ดังนั้นคำถามต่อมาก็คือ ผู้ประกอบการุรกิจ SMEs ที่ต้องการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินจะต้องเตรียมตัวให้มีความสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานที่สถาบันการเงินใช้พิจารณาให้สินเชื่อ 5Cs และ 3Ps ดังนี้
 

การเตรียมตัวเพื่อขอรับสินเชื่อของ SMEs 

1. เตรียมเอกสารต่าง ๆ ที่สถาบันการเงินต้องการให้พร้อม เช่น แผนธุรกิจ งบการเงิน โดยในส่วนของแผนธุรกิจอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดของวัตถุประสงค์การขอกู้ ประวัติความเป็นมาของธุรกิจ แผนการดำเนินธุรกิจ (การผลิต การตลาด) ผลประกอบการที่ผ่านมา 
 
2. เตรียมหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร เป็นต้น
 
shutterstock/THICHA SATAPITANON

 

แต่ปัญหาของผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs บางคนคือ ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ดังนั้นจึงต้องมองหาสถาบันการเงินที่อาจมีการให้สินเชื่อแบบไม่อิงหลักประกัน หรือสถาบันการเงิน Non-Bank ซึ่งในอนาคตจะใช้ข้อมูลบนระบบดิจิทัลเพื่อให้สถาบันการเงินใช้ประกอบการพิจารณาการให้สินเชื่อแก่ SMEs แทน ที่น่าสนใจก็คือมีแหล่งเงินทุน Non-Bank ได้แก่ การร่วมทุน (Venture Capital) นักลงทุนอิสระ (Angel Investor) การระดมทุนสาธารณะ (Crowdfunding) รวมไปถึงการมีเงินทุนให้เปล่ากับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ โดยมีหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่รับผิดชอบคือ กลต., สศค., สวสช., ธปท., กลต. และ สศค.
 

ตัวอย่างแหล่งสินเชื่อเงินทุนของหน่วยงานที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank)

1. สินเชื่อสีเขียว (Green Credit) 
2. ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม  (Green Bond / Social bond) 
3. การระดมเงินทุนจากบุคคลทั่วไป (Crowdfunding)
4. เงินทุนหมุนเวียนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ (Soft Loan, Supply Chain Financing, Factoring) 
5. เงินทุนประเภททุนเพื่อการเติบโตของธุรกิจ (VC, SME Board, mai) 
 
ส่วนผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอก็มีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ‘บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม’ หรือ ‘บสย.’  ซึ่งบสย. จะทำหน้าที่ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อให้ได้วงเงินสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการ 
 

เมื่อผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ติดต่อขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และสถาบันการเงินได้พิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอจริงก็จะให้เข้าร่วมโครงการค้ำประกันแบบ Portfolio Guarantee Scheme กับ บสย. โดย บสย.จะทำหน้าที่เป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs และ SMEs จะต้องชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันอัตราร้อยละ 1.75 ต่อปี หรือตามประเภทของการค้ำประกัน โดยสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ ประกาศอัตราค่าธรรมเนียม ค่าบริการ และอัตราดอกเบี้ย 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow