จากข้อมูลของเว็บไซต์ Thai Franchise Center ระบุว่าตลาดแฟรนไชส์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยก็คือ ธุรกิจแฟรนไชส์กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม โดยธุรกิจแฟรนไชส์มากกว่า 50% เป็นร้านอาหาร ดังนั้นถือว่าธุรกิจแฟรนไชส์กลุ่มร้านอาหารและเครื่องดื่มเป็นกลุ่มแฟรนไชส์ที่มีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก แต่ความจริงแล้วธุรกิจแฟรนไชส์มีแค่อาหารและเครื่องดื่มเท่านั้นหรือเปล่า ? แล้วธุรกิจนี้มีการบริหาร ซื้อลิขสิทธิ์อย่างไร มีวิธีเลือกแฟรนไชส์อย่างไรให้ประสบความสำเร็จ วันนี้เราจะมาหาคำตอบกัน
ธุรกิจแฟรนไชส์ หมายถึง การที่เจ้าของธุรกิจให้สิทธิ์ผู้ที่สนใจ จะเป็นใครก็ได้ในการทำธุรกิจที่ตัวเองเป็นเจ้าของ โดยเราจะเรียกผู้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจว่า ‘แฟรนไชส์ซอร์’ (Franchisor) และจะเรียกผู้ที่ได้รับสิทธิ์ให้ประกอบธุรกิจว่า ‘แฟรนไชส์ซี’ ซึ่งมาจากคำในภาษาอังกฤษคำว่า Franchisee ที่แปลว่า สิทธิในการเป็นผู้แทนจำหน่าย เมื่อแฟรนไชส์ซอร์ตกลงอนุญาตให้แฟรนไชส์ซีทำธุรกิจแล้วแฟรนไชส์ซอร์จะต้องบอกรูปแบบ ระบบ ขั้นตอนในการทำธุรกิจให้แก่แฟรนไชส์ซีเพื่อประกอบธุรกิจภายในระยะเวลาหรือเขตพื้นที่ที่กำหนด และการประกอบธุรกิจนั้นจะอยู่ภายใต้การส่งเสริมและควบคุมตามแผนการดำเนินธุรกิจของแฟรนไชส์ซอร์ และแฟรนไชส์ซีมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนแก่แฟรนไชส์ซอร์นั่นเอง
1. แฟรนไชส์ซอร์ (Franchisor) เจ้าของธุรกิจผู้คิดค้นวิธีการทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จ เป็นที่ยอมรับ และเป็นผู้ให้สิทธิ์การดำเนินการขายชื่อการค้าของตัวเองให้แก่ผู้อื่น อย่างเช่น 7-Eleven เป็นร้านสะดวกซื้อ มีรูปแบบการจัดการร้านเฉพาะตัวจนกระทั่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก มีบริษัท Seven & I Holdings เป็นเจ้าของสิทธิ์และเป็นผู้ขายแฟรนไชส์ให้ CPALL เรียกว่า แฟรนไชส์ซี
2. แฟรนไชส์ซี (Franchisee) ผู้รับสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจตามระบบที่เจ้าของสิทธิ์ (แฟรนไชส์ซอร์) ได้จัดเตรียมไว้ และใช้ชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้าเดียวกัน โดยต้องจ่ายค่าตอบแทนการใช้สิทธิ์ตามที่ตกลงกันไว้
นอกจากนี้ยังมีส่วนที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในการทำธุรกิจแฟรนไชส์นั่นก็คือ ค่าตอบแทนในการใช้สิทธิ์ โดยจะแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. Franchise Fee ค่าตอบแทนที่เป็นจำนวนเงินที่แน่นอนจะจ่ายก่อนเริ่มดำเนินงาน หรือเรียกว่าค่าธรรมเนียมแรกเข้าซึ่งถือว่าเป็นการจ่ายค่าสิทธิ์ต่าง ๆ ให้แก่แฟรนไชส์ซอร์
2. Royalty Fee ค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายอย่างต่อเนื่องตามสัดส่วนของผลการดำเนินงาน อาจจะเรียกเก็บเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อเดือนหรือต่อปีจากยอดขาย หรือบางกิจการอาจเรียกเก็บจากยอดสั่งซื้อสินค้า
‘ธุรกิจแฟรน์ไชส์’ จึงเป็นธุรกิจที่เจ้าของสิทธิ์ให้สิทธิ์ผู้อื่นในการประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือบริการที่ตัวเองคิดค้นขึ้นมา โดยจะให้สิทธิ์ในการใช้ชื่อการค้า ตราสินค้า เทคนิค สูตรลับเฉพาะในการผลิตสินค้าหรือการให้บริการ รวมถึงวิธีการในการบริหารธุรกิจให้ราบรื่นอีกด้วย ซึ่งจะได้ผลตอบแทนเป็นค่าตอบแทนในการใช้สิทธิ์ตามที่กล่าวมาข้างต้น โดยลักษณะการขยายธุรกิจแฟรนไชส์โดยทั่วไปแบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. Product and Brand Franchising
คือการที่ผู้ผลิตสินค้าให้สิทธิบุคคลอื่นในการขายสินค้าที่ตัวเองผลิตขึ้น รวมถึงการให้สิทธิ์ในการใช้เครื่องหมายการค้าของผู้ผลิต เช่น ธุรกิจขายรถยนต์ (ดีลเลอร์ ) ธุรกิจขายน้ำมัน ธุรกิจขายน้ำอัดลม โดยส่วนใหญ่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ประเภทนี้จะทำหน้าที่ในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นั้น ๆ มากกว่าที่จะเป็นผู้ผลิตเอง และเจ้าของแฟรนไชส์จะไม่เข้าไปควบคุมการดำเนินธุรกิจของผู้ซื้อแฟรนไชส์แต่เจ้าของแฟรนไชส์จะดูแลควบคุมในด้านมาตรฐานให้เป็นไปตามข้อกำหนดเท่านั้น
2. Business Format Franchising
คือการให้สิทธิ์บุคคลอื่นในการดำเนินธุรกิจเพื่อขายสินค้าหรือบริการ โดยใช้เครื่องหมายการค้าของเจ้าของสิทธิ์ และใช้ระบบการดำเนินธุรกิจที่เจ้าของสิทธิพิสูจน์แล้ว ส่วนมากจะใช้กับธุรกิจฟาสต์ฟู้ด เพราะเป็นรูปแบบแฟรนไชส์ที่แฟรนไชส์ซอร์จะกำหนดระบบของการดำเนินธุรกิจให้ใช้เหมือนกันทั่วโลก ทั้งสินค้า เครื่องหมายการค้า วิธีบริหารระบบการเงิน ระบบงานต่าง ๆ รวมทั้งแผนการตลาด ผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ประเภทนี้จะได้รับสิทธิ์ในการให้บริการ หรือทำการผลิตสินค้าที่มีสูตรหรือส่วนประกอบเฉพาะ
3. Conversion Franchising
เป็นลักษณะการขยายธุรกิจที่ถูกพัฒนามาจากแฟรน์ไชส์ประเภท Business Format โดยออกแบบระบบเพื่อเปลี่ยนร้านค้าที่เป็นอิสระต่อกัน ให้หันเข้ามาร่วมมือกันทำธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในการใช้ชื่อทางการค้าและการทำโฆษณาร่วมกันในระดับประเทศ โดยใช้เครื่องหมายการค้าร่วมกัน เช่น ธุรกิจโรงแรม
การทำธุรกิจแฟรนไชส์แม้จะมีลักษณะการขยายธุรกิจที่หลากหลายทั้งสเกลเล็กและสเกลใหญ่ แต่ก็อย่าลืมว่าการเปิดธุรกิจแฟรนไชส์ที่เป็นเหมือนเส้นทางลัดสำหรับผู้ประกอบธุรกิจมือใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ ในขณะเดียวกันการทำธุรกิจแฟรนไชส์ก็เป็นเส้นทางลัดสำหรับแฟรนไชส์ซอร์ที่ต้องการขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน ดังนั้นธุรกิจแฟรนไชส์จึงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย
1. มีชื่อตรา ยี่ห้อ และชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมาก่อนจึงไม่ต้องลงทุนทำการตลาดให้เหนื่อย
2. ได้รับความช่วยเหลือในด้านความรู้ต่าง ๆ มีคนที่มีประสบการณ์จริงคอยแนะนำ เช่น การวางแผน วิธีการปฏิบัติงาน การตลาด การจัดซื้อ เป็นต้น
3. การควบคุมคุณภาพเพื่อให้ได้สินค้าหรือบริการที่มีมาตรฐาน (มีคู่มือการปฏิบัติงาน)
4. สัญญาต่าง ๆ มีอยู่แล้วทำให้ได้รับความสะดวก
5. ความช่วยเหลือทางการเงิน (ขึ้นอยู่กับข้อตกลง) และคำแนะนำในการกู้เงิน
6. โปรแกรมการส่งเสริมการขายและการโฆษณาที่เจ้าของสิทธิ์ดำเนินการให้
7. ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในการเริ่มต้นธุรกิจ
8. มีโอกาสที่จะได้รับรายได้สูง
9. ผลตอบแทนสูงกว่าการดำเนินธุรกิจด้วยตัวเอง
1. ไม่มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ เช่น วัตถุดิบ การจัดซื้อ ซึ่งบางครั้งทำให้เสียโอกาสในการต่อสู้กับคู่แข่ง
2. การต้องซื้อสินค้าจากผู้ให้สิทธิ์แม้ว่าการซื้อจากแหล่งอื่น ๆ จะได้ราคาที่ถูกกว่าก็ตาม
3. กำไรบางส่วนต้องถูกแบ่งให้กับผู้ให้สิทธิ์เป็นเปอร์เซนต์หรือในอัตราคงที่ตามที่ตกลงไว้ในตอนแรก
4. ต้องจ่ายค่าสิทธิทางการค้า เงินมัดจำ ค่าอุปกรณ์ ค่าตกแต่ง ค่าเครื่องหมายการค้าที่อาจสูงขึ้น
5. ผู้ให้สิทธิ์อาจขาดการติดตามในเรื่องการฝึกอบรมทำให้คุณภาพสินค้า บริการไม่ได้มาตรฐานได้
6. ข้อจำกัดในการผลิตคือ ผู้รับสิทธิ์ไม่สามารถนำสินค้าหรือบริการชนิดอื่นมาจำหน่ายร่วมได้ ยกเว้นจะได้รับความยินยอมจากผู้ให้สิทธิ์
7. บางเงื่อนไขในการขอรับสิทธิ์หรือซื้อสิทธิ์อาจจะไม่ยุติธรรมต่อผู้รับสิทธิ์
เมื่อคำนึงถึงข้อดี ข้อเสีย ความเสี่ยงของการทำธุรกิจแฟรนไชส์แล้ว หลายคนคงกำลังคิดว่าแล้วเราจะพิจารณาเลือกธุรกิจแฟรนไชส์อย่างไรดีให้ไม่มีปัญหา และลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจในอนาคต อันดับแรกที่ต้องคิดก็คือ เราต้องเลือกธุรกิจที่ตัวเองสนใจและมีเงินทุนเพียงพอที่จะลงทุน จากนั้นให้ไปตรวจสอบข้อมูลของเจ้าของแฟรนไชส์ ธุรกิจแฟรนไชส์นั้น ๆ ว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ดังนี้
1. ประสบการณ์ (Experience) ธุรกิจแฟรนไชส์ของแฟรนไชซอร์ต้องเปิดใช้บริการอย่างน้อย 1 ปี หรือมากกว่านั้นจะยิ่งดีเข้าไปใหญ่ รวมถึงอายุของบริษัทก็ต้องเช็กด้วยว่าเปิดมาได้กี่ปีแล้ว เพื่อให้แน่ใจได้ว่าธุรกิจแฟรนไชส์นี้มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจจริง ๆ
2. มีชื่อเสียงเป็นอย่างไร (Brand) แฟรนไชส์นี้ได้ใจลูกค้าหรือไม่ มีสินค้า บริการที่ได้มาตรฐาน มีชื่อเสียงที่ดีทางด้านไหน และมีชื่อเสียงที่ไม่ดีทางด้านไหนบ้าง เพื่อประกอบการพิจารณาของเราก่อนที่จะซื้อสิทธิ์มาประกอบธุรกิจ รวมถึงตรวจสอบภาพลักษณ์ของแบรนด์ว่าเป็นอย่างไรสำหรับคนทั่วไป
3. มีระบบการจัดการที่ดีในการทำธุรกิจ (System) เช็กไปถึงระบบการทำงานภายในว่า ธุรกิจแฟรนไชส์นี้มีระบบการทำงานที่ดีไหม เรียนรู้ง่าย อุปกรณ์ใช้งานได้ดี มีระบบการสนับสนุน อบรม และช่วยเหลือหลังการขายดีหรือไม่ ส่งของหรือวัตถุดิบตรงต่อเวลา นัดเป็นนัด ไม่สาย มีคู่มือปฏิบัติงานให้ และสนับสนุนเรื่องอื่น ๆ เช่น การเลือกทำเล การบริการซ่อมแซมอุปกรณ์ เป็นต้น
4. ผลกำไร (Profit) และการคืนทุน ต้องเช็กให้แน่ใจว่า การลงทุนไม่มากเกินไป รายได้ดี มีกำไร และค่าใช้จ่ายไม่เยอะ ใช้เวลาคืนทุนไม่นานมากระยะเวลาไม่เกินครึ่งหนึ่งของสัญญา ด้วยการสอบถาม ติดต่อเข้าไปคุยกับผู้ที่เป็นแฟรนไชส์ซีของธุรกิจนั้น ๆ ว่าธุรกิจแฟรนไชส์นี้เป็นอย่างไร รายงาน สถิติ ประสบการณ์ การทำธุรกิจที่แสดงถึงผลกำไรที่นำมาใช้กล่าวอ้าง
5. มีการพัฒนาธุรกิจและสินค้าอยู่เสมอ (Planing) เพื่อให้ธุรกิจแฟรนไชส์อยู่รอดตามเศรษฐกิจที่ขึ้น ๆ ลง ๆ เราต้องมั่นใจว่าได้เลือกลงทุนกับธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีแผนสำหรับธุรกิจในอนาคต ไม่หยุดพัฒนาแบรนด์เพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงตามความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่หยุดนิ่ง