Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

กฎหมายน่ารู้ ทำยังไงเมื่อโดนโกงบัตรคอนเสิร์ต

Posted By Plook Magazine | 12 เม.ย. 66
7,973 Views

  Favorite

#‎กรุงเทพเมืองคอนเสิร์ต เพราะมีศิลปินตบเท้าเข้ามามอบความสนุกให้กับแฟนคลับชาวไทยแทบจะทุกเดือน ทำให้มิจฉาชีพหลายคนฉวยโอกาสโกงบัตรคอนเสิร์ต ด้วยการหลอกให้แฟนคลับซื้อบัตรคอนเสิร์ตทิพย์ ! หลายคนโดนโกงหลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน และเพื่อไม่ให้เราตกเป็นเหยื่อรายต่อไป นี่คือกฎหมายน่ารู้สำหรับแฟนคลับที่ซื้อบัตรคอนเสิร์ตออนไลน์แล้วโดนโกง อย่าเพิ่งตกใจนะ ทำตามวิธีนี้แล้วมีสิทธิ์ได้เงินคืน 

 

trueplookpanya

 

ทำไมถึงมีการโกงบัตรคอนเสิร์ตมากขึ้น ? 

ปัญหาการโดนโกงบัตรคอนเสิร์ต โดนหลอกให้ซื้อบัตรคอนเสิร์ตทิพย์มีมาให้เห็นเป็นข่าวอยู่เรื่อย ๆ เพราะจากปัญหาราคาบัตรคอนเสิร์ตที่สูงขึ้นมาก ๆ บวกกับการที่บ้านเราไม่มี กฎหมายคุ้มครองราคาตั๋วคอนเสิร์ตด้วย ทำให้กลไกการตั้งราคาบัตรคอนเสิร์ตขึ้นอยู่กับผู้จัดและผู้นำเข้า (Promoter) ไร้การควบคุมโดยกฎหมาย ส่งผลให้ราคาบัตรคอนเสิร์ตพุ่งสูงขึ้นทุก ๆ ปี โดยเฉพาะราคาบัตรคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลีใต้ที่ถูกที่สุดก็ครึ่งหมื่น แพงที่สุดก็ครึ่งแสน ในเมื่อราคาบัตรสูงขนาดนี้ ก็ยิ่งเข้าตามิจฉาชีพในการฉวยโอกาสกระทำความผิด เพราะมิจฉาชีพรู้ดีว่าบัตรคอนเสิร์ตของศิลปินโดยเฉพาะวงที่ดังมาก ๆ เช่น BTS, Blackpink, NCT ฯลฯ ไม่ได้กดบัตรกันได้ง่าย ๆ เหมือนเดินเข้าเซเว่นไปซื้อไข่ต้ม

 

การที่บางคอนเสิร์ตไม่สามารถกดซื้อบัตรกันได้ง่าย ๆ ตามกติกานี้เอง จึงทำให้เกิดวัฒนธรรม การซื้อบัตรคอนเสิร์ตต่อกัน หรือ ซื้อบัตรคอนฯ มือ 2 มากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับแฟนคลับที่ต้องการไปดูคอนเสิร์ตของศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบ แต่กลับกดบัตรไม่ทัน หรือแม้แต่การกดบัตรได้ในตำแหน่งที่ไม่พอใจ (สมมติกดบัตรได้แถวบนสุดแต่ตัวเองอยากดูหน้าสุด) ก็อาจนำไปสู่ทางเลือกที่ไม่ตรงตามกติกานั่นก็คือ การซื้อบัตรต่อจากผู้อื่นทางช่องทางออนไลน์ ปัญหาที่ตามมาก็คือ หลายครั้งพบว่ามีการนำบัตรมาขายต่อผ่านช่องทางออนไลน์เช่น Twitter, Facebook หรือผ่านเว็บไซต์ เมื่อเราโอนเงินไปแล้ว กลับถูกบล็อก และไม่ได้รับบัตรคอนเสิร์ตตามที่ตกลงกันไว้ทำให้เราตกเป็น ‘ผู้เสียหาย’ และต้องเข้าแจ้งความดำเนินคดี

 

5 มุกที่มิจฉาชีพใช้โกงบัตรคอนเสิร์ต 

- เรากดบัตรมาได้เกิน อยากขายต่อ  

- บัตรของเพื่อนเรา เพื่อนเราเทไม่ได้ไป ขอคนพร้อมโอน 

- กดมาขายต่อให้ follower เท่านั้น รี + ฟอล  

- มีคนมารอซื้อต่อ ถ้าไม่พร้อมโอนปล่อยผ่านเลยนะ ขอคนพร้อมโอนเท่านั้น

- ให้บัตรเป็น QR code นะ (แต่สแกนเข้างานไม่ได้)  

 

พฤติกรรมของมิจฉาชีพที่หลอกขายบัตรคอนเสิร์ต มักจะแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มของแฟนคลับที่กำลังจะจัดงานคอนเสิร์ตผ่านทางโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Twitter เพื่อเช็กดูว่ามีใครต้องการซื้อบัตรคอนเสิร์ตหรือไม่ หากมิจฉาชีพพบว่ามีผู้ที่ต้องการบัตรก็จะทักแชทส่วนตัวไปหาโดยเร็วว่าตัวเองมีบัตรอยู่ในมือ ซึ่งมิจฉาชีพก็จะสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการส่งรูปบัตรคอนเสิร์ตและบัตรประชาชนมาให้ก่อน (ซึ่งแน่นอนว่าเป็นบัตรของคนอื่นที่มิจฉาชีพไปขโมยเอามาใช้เพื่อปิดบังตัวตน)

 

จากนั้นเมื่อพูดคุยกันจนเกิดความเชื่อใจ มิจฉาชีพก็จะให้ผู้ที่ต้องการบัตรโอนเงินไปก่อนโดยการโอนเงิน อาจจะเป็นการโอนผ่านบัญชีธนาคารธรรมดา (ที่ชื่อเจ้าของบัญชีอาจเป็นใครก็ไม่รู้ที่ไม่ใช่ชื่อของมิจฉาชีพ) หรืออีกวิธีที่เป็นที่นิยมคือ การโอนผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Wallet เพื่อให้ยากต่อการที่จะรู้ว่าเงินถูกโอนไปที่ไหน และเมื่อผู้ที่ต้องการซื้อบัตรโอนเงินไป มิจฉาชีพก็จะบล็อกเราทันที ตอนนั้นเองเราก็จะเริ่มรู้ตัวว่า ‘ฉันโดนโกงแล้ว’ 

 

ทำอย่างไรเมื่อโดนโกงบัตรคอนเสิร์ต ? 

shutterstock/Milkovasa

 

​​คำแนะนำจากกองปราบปรามสำหรับผู้ที่ถูกหลอกให้ซื้อบัตรคอนเสิร์ต เราจะตกเป็นผู้เสียหายที่สามารถเข้าแจ้งความเอาผิดกับมิจฉาชีพได้ตามกฎหมาย แต่ต้องแจ้งความภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิด โดยไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น เช่น สถานที่โอนเงิน ถ้าโอนเงินออนไลน์ที่บ้านก็ให้เดินทางไปแจ้งที่สถานีตำรวจในเขตที่บ้านตั้งอยู่ โดยเราต้องรวบรวมเอกสาร หลักฐานก่อนที่จะเข้าไปประกอบการแจ้งความกับตำรวจ ดังนี้ 

 

เอกสารที่ต้องเตรียมก่อนเข้าแจ้งความ

1. ภาพ โปรไฟล์ของมิจฉาชีพ

2. โพสต์ ที่ประกาศขายสินค้า

3. แชท ข้อความการพูดคุยระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย

4. บัญชี ธนาคารที่โอนเงินไป

5. สลิป การโอนเงินชำระค่าสินค้า

 

***หมายเหตุ*** เอกสารตามข้อ 1 และ 2 ควรปรากฏที่อยู่หรือ URL ของมิจฉาชีพ โดยทำการถ่ายภาพหรือแคปเจอร์ผ่านมือถือหรือคอมพิวเตอร์เอาไว้ 

 

หลังจากโดนโกงควรแจ้งความตอนไหน ?

หลังจากที่เตรียมเอกสารประกอบการแจ้งความเรียบร้อยแล้วให้เข้าพบพนักงานสอบสวนแจ้งความประสงค์ขอ ‘แจ้งความดำเนินคดี’ กับมิจฉาชีพโดยทางเจ้าหน้าที่จะลงบันทึกประจำวัน และออกหนังสือตรวจสอบรายการเดินบัญชี (Statement) ไปยังธนาคาร เพื่อนำมาประกอบสำนวนการสอบสวน โดยควรแจ้งความให้เร็วที่สุด เพื่อทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ธนาคารจะได้ช่วยติดตามเอาทรัพย์คืน และเอาผิดกับมิจฉาชีพเหล่านี้ไม่ให้ลอยนวลต่อไป 


ช่องทางการติดต่อ

สามารถติดต่อคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ที่ช่องทางนี้ 

 

วิธีเช็กบัตรคอนเสิร์ตเบื้องต้นไม่ให้โดนหลอก

shutterstock/Melinda Nagy

 

1. ตรวจสอบแอ็กเคานต์ของคนขายบัตร
มิจฉาชีพหลายคนมักจะเพิ่งสมัครแอ็กเคานต์ของโซเชียลมีเดียนั้น ๆ เพื่อมาหลอกขายบัตรคอนเสิร์ตโดยเฉพาะ ดังนั้นเราจะต้องเข้าไปเช็กแอ็กเคานต์ของคนที่เราจะซื้อบัตรคอนเสิร์ตมือสองว่า เขาใช้โซเชียลมีเดียแอ็กเคานต์นี้มานานแค่ไหนแล้ว ? มีการเคลื่อนไหวอย่างอื่นหรือไม่ ? ดูเหมือนแอ็กเคานต์ของผู้ใช้งานทั่วไปหรือเพิ่งเปิดมาได้ไม่นาน ไม่มีผู้ติดตามเลย เปิดมาเพื่อขายบัตรคอนฯ อย่างเดียว ลักษณะนี้ก็ยิ่งน่าสงสัยว่าเขาอาจจะกำลังมาหลอกขายบัตรคอนฯ
 

2. เช็กตัวตนของคนขายบัตร
เพื่อที่จะให้มั่นใจว่าคนที่เราติดต่อขอซื้อบัตรคอนเสิร์ตต่อนั้นมีตัวตนอยู่จริง การที่จะขอดูแค่รูปบัตรประชาชนอาจไม่เพียงพอ เพราะมิจฉาชีพอาจไปขโมยบัตรประชาชนคนอื่นมาใช้เพื่อปิดบังตัวตนได้ ดังนั้นทางที่ดี เราควรโทรคุยผ่าน ‘วิดีโอคอล’ เพื่อตรวจสอบว่าคนที่เสนอขายบัตรคอนเสิร์ตให้กับเรา เป็นคนเดียวกับคนในบัตรประชาชนที่ส่งมาให้หรือไม่ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถตรวจสอบได้  

 

3. เอาชื่อไปเช็กในเว็บไซต์ตรวจคนโกงออนไลน์
แนะนำเว็บไซต์ www.blacklistseller.com ที่จะระบุเลขบัญชี ชื่อ นามสกุล ของคนที่มีประวัติการโกงเอาไว้ นอกจากนี้ยังสามารถเช็กได้จากแฮชแท็กในทวิตเตอร์ โดยการพิมพ์ # ตามด้วยชื่อคอนเสิร์ต แล้วตามด้วยคำว่า ”โกง” ตัวอย่างเช่น #blackpinkconcertโกง ก็จะเป็นการป้องกันเบื้องต้น 


4. ตรวจสอบเลขเเทร็คบนเลขบัตร 

เพื่อป้องกันการนำภาพบัตรของคนอื่นมาขายซ้ำ หรือปลอมแปลงว่าบัตรคอนเสิร์ตนั้นเป็นของตัวเองแต่ที่จริงเป็นของคนอื่น แนะนำให้คุยกับคนขายบัตร ขอเลขแทร็คบนบัตรเพื่อนำไปเช็กกับผู้จัดคอนเสิร์ตหรือผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันการถูกหลอก เพราะมิจฉาชีพหลายคนมักจะไปขโมยรูปบัตรคอนเสิรต์ของคนอื่นมาว่าเป็นของตัวเอง แต่เมื่อนำเลขแทร็คบนบัตรคอนฯ ไปเช็กกับเจ้าหน้าที่ปรากฏว่าชื่อบนบัตรและชื่อผู้ที่ซื้อบัตรกลับไม่ตรงกัน 

 

5. นัดรับของแบบเจอตัวหน้างาน 
วิธีที่ปลอดภัยที่สุดในกรณีที่จำเป็นต้องซื้อบัตรคอนเสิร์ตต่อจากคนอื่นที่ไม่รู้จักก็คือ การนัดรับบัตรหน้างาน เจอตัวกันจริง ๆ ก่อนเข้างานคอนเสิร์ต โดยทำการพูดคุยกันให้เรียบร้อยว่า จะจ่ายเงินค่าบัตรที่หน้างานเท่านั้น วิธีนี้จะป้องกันการถูกหลอกให้ซื้อบัตรคอนเสิร์ตทิพย์ได้ค่อนข้างดี เพราะเราสามารถที่จะเช็กกับเจ้าหน้าที่ได้ว่าบัตรใบนี้สามารถเข้างานคอนเสิร์ตได้จริงไหม ? หรือหากบางงานจำเป็นต้องแสดงหลักฐานการโอนย้ายผู้ซื้อ เราก็จะได้ยืนยันได้เพราะเจ้าตัวที่ซื้อบัตรมาด้วยตัวเอง 

 

หากทำตามคำแนะนำข้างต้น เพียงเท่านี้เราก็จะปลอดภัยจากมิจฉาชีพที่บังอาจใช้ความรักที่เรามีให้กับศิลปินที่เราชอบมาทำร้ายเราเองได้แล้ว แต่ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ซื้อบัตรคอนเสิร์ตต่อจากผู้อื่นผ่านช่องทางออนไลน์เลย แต่เมื่อโดนโกงบัตรคอนฯ แล้วก็ควรเข้าแจ้งความทันที เพราะหนึ่งเพื่อเอาเงินคืนและสองเพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพไปหลอกคนอื่นเป็นภัยสังคมต่อไป

 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow