Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลาออกจากงาน แต่อยากต่อประกันสังคมเหมือนเดิม ต้องทำยังไง ?

Posted By Plook Magazine | 24 พ.ค. 66
46,367 Views

  Favorite

คนทำงานที่ลาออกจากงาน หรือถูกเลิกจ้างกะทันหัน หลายคนมักจะมีข้อสงสัยว่า ‘สิทธิประกันสังคม’ จะยังใช้ได้อยู่ไหม หรือถ้าอยากจะต่อสิทธิประกันสังคมเหมือนเดิมจะต้องทำอย่างไรบ้าง ขอบอกเลยว่าหลังออกจากงาน ผู้ประกันตน ม.33 (คนที่ทำงานในบริษัทเอกชนทั่วไป) จะยังคงได้รับสิทธิประกันสังคมเหมือนเดิม แต่จะมีระยะเวลาเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น หากหลังจากนั้นผู้ประกันตน ม.33 สามารถสมัครเพื่อเปลี่ยนสถานะมาเป็นผู้ประกันตนใน ม.39 (ผู้ประกันตนโดยสมัครใจ) ได้ โดยมีรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้

 

สิทธิประกันสังคมหลังลาออกจากงาน

กรณีผู้ประกันตนมาตรา 33 ลาออกจากงานหรือถูกเลิกจ้างจากงานประจำ จะยังคงได้รับความคุ้มครองจากกองทุนประกันสังคมต่อเนื่องไปอีก 6 เดือน โดยสามารถใช้สิทธิการคุ้มครองครบทั้ง 7 กรณีโดยไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ ได้แก่ 

1. การได้รับอันตรายหรือบาดเจ็บ

2. ทุพพลภาพ 

3. เสียชีวิต

4. คลอดบุตร

5. สงเคราะห์บุตร

6. ชราภาพ

7. ว่างงาน​

ส่วนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการได้สิทธิคือ ต้องส่งเงินสมทบครบก่อนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งหมายความว่า กรณีเจ็บป่วย และกรณีทุพพลภาพ ผู้ประกันตนต้องเคยส่งเงินสมทบมาแล้ว 3 เดือน ภายใน 15 เดือน ส่วนกรณีคลอดบุตร ต้องเคยส่งเงินสมทบมาแล้ว 5 เดือน ภายใน 15 เดือน และกรณีเสียชีวิต ต้องเคยส่งเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน ภายใน 6 เดือน ทั้งนี้หากภายในระยะเวลา 6 เดือนหลังลาออกจากงานหรือถูกเลิกจ้าง ผู้ประกันตนยังไม่ได้กลับเข้าทำงานกับนายจ้าง หรือกลับเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 สิทธิประกันสังคมจะสิ้นสุดลงอัตโนมัติ

 

อยากส่งเงินเพื่อคงสิทประกันสังคมไว้ ต้องทำยังไง ?

หากผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ลาออกจากงานหรือถูกเลิกจ้าง ต้องการรักษาสิทธิประโยชน์ประกันสังคมให้คุ้มครองต่อเนื่อง ภายในระยะเวลา 6 เดือนหลังลาออกจากงาน สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 โดยจ่ายเงินสมทบเพียงเดือนละ 432 บาท และยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เหมือนลูกจ้างผู้ประกันตนมาตรา 33 ยกเว้นกรณีว่างงานเพียงกรณีเดียว

 

 

ประกันสังคมมาตรา 39 สมัครยังไง ?

ผู้สมัครต้องเคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาก่อน โดยนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ลาออกจากงาน อีกทั้งต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพ

 

เอกสารที่ต้องใช้ในการสมัคร

 ● แบบขอเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 (สปส.1-20)

 ● บัตรประชาชนตัวจริง หรือบัตรอื่นที่มีรูปถ่ายซึ่งทางราชการออกให้ พร้อมสำเนา

● กรณีต้องการนำส่งเงินสมทบหักผ่านบัญชีธนาคารให้ถ่ายสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและเลขบัญชีของผู้ประกันตน

 

ยื่นใบสมัครที่ไหน

ควรยื่นใบสมัครด้วยตนเองภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ลาออกจากงาน

 ● สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 12 แห่ง (กทม.) และสำนักงานประกันสังคมจังหวัด

 ● สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา (ภูมิภาค)

 

เงื่อนไขการส่งเงินสมทบกองทุน

ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนต่อสำนักงานประกันสังคมเดือนละ 432 บาท ภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน ซึ่งผู้ประกันตนจะได้รับการคุ้มครองต่อเนื่องจาการประกันตนในมาตรา 33 โดยจะได้รับความคุ้มครองใน 6 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ

 

หากผู้ประกันตนไม่จ่ายเงินสมทบตามกำหนดจะต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน และหากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนตัวที่สำนักงานประกันสังคมต้องรู้ เช่น การเปลี่ยนที่อยู่ การเปลี่ยนชื่อ–นามสกุล ควรแจ้งการเปลี่ยงแปลงล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน พร้อมแนบสำเนาหลักฐานด้วย

 

หากผู้ประกันตนต้องการลาออกจากกองทุนประกันสังคมจะต้องแจ้งสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 เป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนกรณีที่จะกลับเข้าทำงานใหม่ หรือได้ทำงานในสถานประกอบการใหม่ ก็สามารถให้นายจ้างใหม่แจ้งขึ้นทะเบียนภายใน 30 วัน โดยไม่ต้องแจ้งลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 แต่อย่างใด


 

แหล่งข้อมูล

- ผู้ประกันตนโดยสมัครใจ(ม.39)

- กองทุนประกันสังคม

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow