Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

4Ps คืออะไร หลักการทำการตลาดสำหรับทุกธุรกิจ

Posted By Plook Magazine | 24 มี.ค. 66
1,681 Views

  Favorite

ปัญหาของผู้ประกอบการธุรกิจส่วนใหญ่คือ การขาดความรู้และทักษะในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะการทำการตลาด การวางแผนกลยุทธ์ด้านการตลาด (Marketing) เพราะกลยุทธ์การตลาดที่มีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ผู้ประกอบการธุรกิจจะต้องมีการพัฒนาทักษะเดิม (Upskill) และเพิ่มเติมทักษะใหม่ (Reskill) อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจ  

trueplookpanya

 

ในการทำธุรกิจจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ช่วงการเติบโตของธุรกิจ’ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ช่วงเติบโตของธุรกิจ และช่วงอยู่ตัวของธุรกิจ ซึ่งช่วงที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษก็คือ ช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ในช่วงนี้ผู้ประกอบการธุรกิจจะต้องรีสกิลทักษะใหม่ที่สำคัญในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ นั่นก็คือ ‘การทำการตลาด’ (Marketing) ว่าธุรกิจของเราควรจะมีการวางกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างไรให้เหมาะกับสินค้าและบริการมากที่สุด โดยสินค้าและบริการแต่ละชนิดจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงไม่สามารถตอบได้ว่า ‘กลยุทธ์’ ไหนที่จะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดได้ 

 

กลยุทธ์การตลาด 4Ps คืออะไร 

shutterstock/Nuamfolio

 

ผู้ประกอบการธุรกิจจึงต้องระดมความคิด และทดลองหากลยุทธ์ที่เหมาะสมสำหรับสินค้าและบริการของตัวเองในระยะเริ่มต้นทำธุรกิจ โดยในแวดวงการตลาดคงไม่มีใครที่จะไม่รู้จัก 4Ps หรือทฤษฎีสำหรับวางแผนการตลาด ซึ่งคิดค้นโดยนักการตลาดชาวอเมริกัน Philip Kotler และ E. Jerome McCarthy ตั้งแต่ปี 1960 โดย 4Ps ประกอบด้วย 4 ปัจจัย คือ Product, Price, Promotion และ Place ส่วนประสมทางการตลาดที่นักการตลาดทั่วโลกใช้ในการวางกลยุทธ์ทางการตลาด  

 

1. กลยุทธ์ด้านสินค้า (Product Strategy) 
สินค้า (Products)
ถือเป็นสิ่งแรกที่ผู้ประกอบการธุรกิจจะต้องคิดถึง เพราะหากสินค้าไม่ดีจริง ไม่ตอบโจทย์ลูกค้าและเทรนด์ปัจจุบัน สินค้าของเราก็คงขายไม่ได้ยั่งยืน ซึ่งกลยุทธ์ด้านสินค้าจะเกี่ยวข้องกับสินค้าทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการพัฒนาและออกแบบสินค้า ในยุคสมัยที่ความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแทบทุกวัน บวกกับสถานการณ์ทางเศรฐษกิจ สินค้าของเราจะต้องน่าสนใจ คุ้มค่า และแตกต่างจากสินค้าคู่แข่งในตลาด โดยทั่วไปแล้วสินค้าที่ประสบความสำเร็จจะช่วยเติมเต็มความต้องการ (Need) ที่ยังไม่มีในตลาดหรือให้ประสบการณ์ใหม่ ๆ แก่ลูกค้า ยกตัวอย่างเช่น การมาของ iPhone ที่แต่เดิมแล้วเข้ามาเพื่อเติมเต็มความต้องการของลูกค้าที่ต้องการอุปกรณ์ที่เรียบง่ายที่จับคู่โทรศัพท์กับ iPod ได้
 

คำถามที่ต้องพิจารณาในการวางกลยุทธ์ด้านสินค้า ได้แก่

1. สินค้าของเราสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้หรือไม่ ? 
2. สินค้าช่วยแก้ไขปัญหาของลูกค้าได้หรือไม่ ? 
3. กลุ่มเป้าหมายของสินค้าของเราคือใคร อายุเท่าไหร่ ? 
4. สินค้าของเราแตกต่างจากสินค้าอื่นในตลาดอย่างไร ? 


2. กลยุทธ์ด้านราคา (Price Strategy) 
การทำการตลาดที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การตั้งราคาของสินค้าและบริการ หลักสำคัญในการตั้งราคาควรพิจารณาโดยดูจาก 2 ปัจจัย คือ ความต้องการสินค้าและคู่แข่งขันในตลาด โดยไม่ควรคาดการณ์ราคาสินค้าและบริการตามใจคนขาย ต้องดูว่าคู่แข่งในตลาดตั้งราคาไว้เท่าไหร่ เพราะในปัจจุบันลูกค้ามักจะเปรียบเทียบราคาสินค้าชนิดเดียวกันจากหลาย ๆ แหล่งจำหน่าย ทั้งจากช่องทางออนไลน์และช่องทางตลาดแบบดั้งเดิม ทำให้เราต้องพิจารณาการตั้งราคาให้ดีและถี่ถ้วน โดยไม่ลืมคำนวณกำไรด้วย เพราะหากตั้งราคาสินค้าสูงเกินไปสำหรับกลุ่มเป้าหมายก็จะมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะซื้อสินค้า ในทำนองเดียวกัน หากตั้งราคาสินค้าต่ำเกินไป บางคนอาจมองข้ามสินค้าของเราเพราะพวกเขากังวลว่าสินค้าอาจมีคุณภาพต่ำกว่า และตัดส่วนต่างกำไรที่อาจเกิดขึ้นได้ 
 

คำถามที่ต้องพิจารณาในการวางกลยุทธ์ด้านราคา ได้แก่

1. คู่เเข่งในตลาดวางราคาสินค้าไว้เท่าไหร่ ? 
2. ราคาที่กลุ่มเป้าหมายจ่ายได้คือประมาณเท่าไหร่ ?
3. ราคาเท่าไหร่ที่จะสูงเกินไป และต่ำเกินไปของสินค้าที่เราจะขาย ? 
4. ราคาที่เหมาะที่จะตั้งเพื่อที่จะมีโอกาสแข่งขันในตลาดได้คือเท่าไหร่ ? 

 

shutterstock/Nuamfolio

 

3. กลยุทธ์ด้านการจำหน่าย (Place Strategy) 
ปัจจุบันช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่นิยมคือช่องทางออนไลน์ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องคิดถึงก่อนที่จะวางกลยุทธ์การจัดจำหน่ายที่ดีคือ ต้องเลือกช่องทางที่เหมาะสำหรับกลุ่มเป้าหมายและเหมาะสำหรับสินค้าของเราด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากสินค้าของเรามีขนาดและน้ำหนักมาก ก็ไม่เหมาะกับการขายทางออนไลน์ที่ต้องส่งสินค้าทางไปรษณีย์เพราะจะมีราคาค่าจัดส่งที่แพง เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องเลือกช่องทางการขายที่กลุ่มเป้าหมายสะดวกเข้าถึงได้ง่าย เช่น หากกลุ่มเป้าหมายเป็น Gen Z ก็ควรจะเน้นวางขายสินค้าบนออนไลน์ เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่กลุ่ม Gen Z ใช้บริการมากที่สุด 
 

คำถามที่ต้องพิจารณาในการวางกลยุทธ์ด้านการจำหน่าย ได้แก่

1. คุณจะขายสินค้าของคุณที่ไหน ?
2. กลุ่มเป้าหมายของคุณซื้อสินค้าที่ไหน ?
3. ช่องทางการจัดจำหน่ายใดที่ดีที่สุดในการเข้าถึงตลาดเป้าหมายของคุณ ?

 

4. กลยุทธ์ด้านการส่งเสริมการตลาด (Promotion Strategy) 
การส่งเสริมการขายคือ กลยุทธ์ที่เราใช้โฆษณาสินค้าหรือบริการของเราผ่านการจัดโปรโมชั่น ทำแคมเปญ ฯลฯ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดยอดขายที่มากขึ้นกว่าการขายปกติ เช่น ซื้อสินค้าในราคาปกติ 1 ชิ้น ได้สิทธิซื้อสินค้าชิ้นที่ 2 ในราคาลด 50% หรือซื้อสินค้า 2 ชิ้นแถมอีก 1 ชิ้น หรือซื้อสินค้า 2 ชิ้นขึ้นไปได้รับการส่งฟรี เป็นต้น ซึ่งการส่งเสริมการตลาดมีอยู่หลายช่องทางด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น การบอกปากต่อปาก การโฆษณาบนสิ่งพิมพ์ โฆษณาทางโทรทัศน์ โดยในปัจจุบันช่องทางการส่งเสริมการตลาดที่ใหญ่ที่สุดก็คือ การส่งเสริมการตลาดช่องทางดิจิทัลผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Instagram หรือ TikTok หรือช่องทางอีเมล 
 

คำถามที่ต้องพิจารณาในการวางกลยุทธ์ด้านการส่งเสริมการขาย ได้แก่

1. เวลาที่ดีที่สุดในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของคุณคือเวลาใด ?
2. ช่องทางการตลาดใดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับกลุ่มเป้าหมายของคุณ ?
3. วิธีการโฆษณาใดที่โน้มน้าวใจกลุ่มเป้าหมายของคุณได้มากที่สุด ?

 

นอกจากนี้ผู้ประกอบธุรกิจยังต้องคำนึงถึง ‘งบประมาณ’ ในการส่งเสริมการขายอีกด้วย และนี่อาจเป็นข้อจำกัดใหญ่ที่จะทำให้สินค้าและบริการของเราเป็นที่รู้จักหรือไม่เป็นที่รู้จักของกลุ่มเป้าหมาย เพราะหากจะทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักมาก ๆ ก็อาจต้องใช้ต้นทุนสูง ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจจึงต้องรู้จักสินค้าของตัวเองให้ดี และต้องเข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายของตัวเองให้มากกว่า เพื่อที่จะได้วางกลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสมสำหรับสินค้าและบริการของตัวเองได้แบบไม่คว้าน้ำเหลว

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow