Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

7 ข้อกฎหมายต้องรู้ ก่อนเปิดร้านอาหาร คาเฟ่

Posted By Plook Magazine | 24 มี.ค. 66
10,204 Views

  Favorite

กฎหมายข้อบังคับ 7 ข้อสำคัญที่ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs สายอาหารและเครื่องดื่มต้องรู้ ก่อนเปิดร้านอาหาร คาเฟ่ หากไม่อยากพลาดทำธุรกิจติดขัด เสี่ยงโทษอาญาทั้งจำคุกหรือปรับพร้อมยกตัวอย่างกฎระเบียบร้านอาหารคร่าว ๆ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้การทำธุรกิจราบรื่น 

trueplookpanya

 

หนึ่งในปัญหาที่ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อม (SMEs) ตกม้าตายมานักต่อนัก ก็คือการไม่สนใจศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการทำธุรกิจที่ตัวเองกำลังสนใจ โดยส่วนใหญ่จะเปิดร้านไปก่อนแล้วจึงค่อยไปขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจทีหลัง ซึ่งปัญหาที่ตามมาคือร้านอาหารนั้นไม่มีมาตรฐานในการประกอบธุรกิจอาหาร เมื่อเจอคำร้องเรียนจากลูกค้าเรื่องคุณภาพอาหาร ความสะอาด ก็จะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของร้านอาหาร หรือเสี่ยงโทษอาญาได้ 
 

การไม่ศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งให้ร้านอาหารขนาดเล็กส่วนใหญ่ต้องปิดกิจการ เพราะเจอปัญหาเรื่องค่าเช่าที่ และความไม่รู้เรื่องอัตราภาษีแต่ละประเภท เช่น ภาษีการค้า ภาษีโรงเรือน ซึ่งในอดีตเป็นการจ่ายแค่เดือนครึ่งของค่าเช่า แต่ปัจจุบันต้องคิดตามพื้นที่ (นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละเทศบาลซึ่งไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน) เมื่อมารู้ทีหลังก็ทำให้ธุรกิจเจ็บหนักเพราะโดนเช็คบิล เป็นต้น 
 

ข้อบังคับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มมีอยู่ทั้งหมด 7 หมวดด้วยกัน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การขอจัดตั้งธุรกิจ การกำกับดูแลสถานประกอบการและเรื่องภาษี ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs จะต้องศึกษาจากกฎหมายและกฎระเบียบเพิ่มเติม ซึ่งมีการรวบรวมไว้ที่ เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย 

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม

shutterstock/wichayada suwanachun


ข้อที่ 1: การจัดตั้งธุรกิจ 
กรณีร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ต้องการประกอบธุรกิจในลักษณะบุคคลธรรมดา เช่น กิจการเจ้าของคนเดียว ห้างหุ้นส่วนสามัญจะต้องจดทะเบียนพาณิชย์ดำเนินกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ แต่กรณีที่อยากจะประกอบธุรกิจในรูปแบบของนิติบุคคล เช่น ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด เป็นต้น จะต้องจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนร้านอาหารประเภทฟู้ดทรัค สตรีทฟู้ด หาบเร่แผงลอยจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ 

 

ข้อที่ 2: การขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจร้านอาหาร/ การขออนุญาตจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ 
หมายถึงผู้ประกอบการจะต้องขออนุญาตหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น (อปท.) ของตัวเองให้เป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจให้เท่านั้น เช่น เทศบาล, อบต., อบจ. โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองการแจ้งจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารในกรณีที่เปิดร้านอาหารในอาคาร และใบอนุญาตจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะในกรณีที่ต้องการเปิดร้านอาหารบริเวณริมทางหรือที่ทางสาธารณะ ทั้งนี้การขอใบอนุญาตประเภทใดจะขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นที่กรณีพื้นที่ส่วนบุคคลผู้ประกอบการ

 

ข้อที่ 3: การจัดเตรียมสถานที่ 
ผู้ประกอบการที่ต้องการจะเปิดร้านอาหารและเครื่องดื่มจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ เช่น กรณีร้านอาหารอยู่ภายในอาคารต้องขอใบรับรองก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาหาร การปฏิบัติตามเกณฑ์สุขลักษณะของร้านอาหารที่บัญญัติไว้ในกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร เช่น อาคารต้องแข็งแรง มีห้องน้ำห้องส้วม มีการจัดการน้ำเสียและขยะมูลฝอยที่ได้มาตรฐาน เป็นต้น


กรณีร้านสตรีทฟู้ดต้องทำการตรวจสอบพื้นที่ว่าอยู่ในพื้นที่ผ่อนผันตามที่หน่วยงานท้องถิ่นกำหนดหรือไม่รวมไปถึงการปฏิบัติตามสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ ซึ่งจะถูกกำหนดไว้ในข้อบัญญัติท้องถิ่น เป็นต้น นอกจากนี้กรณีร้านฟู้ดทรัค การนำรถยนต์มาดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบอาหารเพื่อจำหน่ายนั้น ผู้ประกอบการจะต้องแจ้งขออนุญาตกับกรมการขนส่งทางบกตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ 

 

shutterstock/CandyRetriever


ข้อที่ 4: การจัดเตรียมอาหาร/ เครื่องดื่มที่จำหน่าย 
ในส่วนของร้านอาหารจะมีการกำหนดสุขลักษณะของอาหารและภาชนะอุปกรณ์ที่ใช้ ซึ่งถูกกำหนดไว้ในกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร เช่น การประกอบอาหารต้องปลอดภัยต่อผู้บริโภค การปรุงอาหารต้องสะอาด การเก็บรักษาต้องมีคุณภาพ และการจำหน่ายอาหารที่ได้มาตฐาน 
 

ในกรณีของร้านสตรีทฟู้ดเจ้าของธุรกิจต้องปฏิบัติตามสุขลักษณะของกรรมวิธีการจำหน่ายปรุงอาหาร และการรักษาความสะอาดของภาชนะตามที่หน่วยงานส่วนท้องถิ่นกำหนด นอกจากนี้หากร้านอาหารต้องการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องขอใบอนุญาตขายสุราจากกรมสรรพสามิตตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต 
 

ข้อที่ 5: บุคลากรในร้านอาหาร 
ก่อนเปิดร้านอาหารและเครื่องดื่มผู้ประกอบการและผู้สัมผัสอาหารทุกคนในร้านต้องได้รับการอบรมและผ่านหลักสูตรสุขาภิบาลอาหารที่ได้รับการรับรองจากกรมอนามัย และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์สุขอนามัยของผู้สัมผัสอาหารตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหารพ.ศ. 2561 
 

นอกจากนี้เจ้าของกิจการร้านอาหารที่มีการจ้างแรงงานต้องปฏิบัติกับแรงงานตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน เช่น การกำหนดเวลาทำงาน เวลาพัก วันหยุด วันลา ค่าตอบแทน เป็นต้น รวมไปถึงหน้าที่ลูกจ้างและนายจ้างที่จะต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม หากมีการจ้างแรงงานต่างด้าวต้องปฎิบัติตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 

 

shutterstock/PRPicturesProduction

 

ข้อที่ 6: การคุ้มครองผู้บริโภค
ผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค โดยไม่ผลิตอาหารที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ได้แก่ อาหารไม่บริสุทธิ์ อาหารปลอมหรืออาหารผิดมาตรฐาน และต้องไม่มีการขายสินค้าเกินราคาที่กฎหมายกำหนด ครอบคลุมสิทธิในด้านต่าง ๆ เช่น สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการสิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการและสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย 
 
ข้อที่ 7: ภาษีเงินได้ 
สำหรับผู้ประกอบที่ต้องการเปิดร้านอาหารต้องเข้าสู่ระบบชำระภาษีเงินได้ และหากผู้ประกอบการมีรายได้ต่อปีเกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องขึ้นทะเบียนเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ผู้ประกอบการอาจจะต้องชำระภาษีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น หากผู้ประกอบการจัดตั้งร้านในที่ดินหรืออาคารก็จะต้องเสียภาษีที่ดินและโรงเรือน และหากมีการติดตั้งป้ายโฆษณาก็จะต้องชำระภาษีป้ายอีกด้วย ขณะที่ผู้ประกอบการร้านสตรีทฟู้ดและฟู้ดทรัคจะต้องชำระภาษีเงินได้เป็นหลัก แต่ถ้าร้านสตรีทฟู้ดหรือฟู้ดทรัคมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ผู้ประกอบการต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีกด้วย 


สำหรับธุรกิจ SMEs ที่ทำธุรกิจแต่ขาดทุนหรือมีกำไรไม่เกิน 300,000 บาทของรอบระยะเวลาบัญชี 1 ปี ไม่ต้องเสียภาษี แต่หากมีกำไรเกิน 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 3,000,000 บาท จะต้องเสียภาษีร้อยละ 15 และหากกำไรเกิน 3,000,000 บาทขึ้นไป จะต้องเสียภาษีร้อยละ 20 ทั้งนี้ผู้ประกอบการสามารถหักลดหย่อนตามมาตรการได้ 

 

สุดท้ายแล้วหากผู้ประกอบการทำตามขั้นตอนของกฎหมายตามระเบียบข้อบังคับของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มได้ ผลดีก็จะไม่ได้ตกอยู่แค่ผู้ประกอบการฝ่ายเดียว ผู้บริโภค ลูกค้าและลูกจ้างในร้านของเราก็จะได้รับการคุ้มครองและได้รับความปลอดภัยในการบริโภคอาหารซึ่งถือเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการทำธุรกิจให้ยั่งยืนไปยาว ๆ  

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow