Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทภายในวันเดียว

Posted By Plook Magazine | 10 มี.ค. 66
3,828 Views

  Favorite

รู้หรือไม่ว่าปัจจุบันเราสามารถจดทะเบียนบริษัทภายในวันเดียวได้แล้ว กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ให้รายละเอียดข้อมูลการเตรียมตัวจดทะเบียนบริษัท และสิ่งที่ต้องรู้ก่อนที่จะจดทะเบียนบริษัทจากบุคคลธรรมดาไปเป็นนิติบุคคล ประโยชน์ของการจดทะเบียนบริษัทด้านการเสียภาษีและด้านอื่น ๆ ที่เจ้าของธุรกิจต้องรู้ 

 

trueplookpanya

 

เมื่อไหร่ที่ควรพิจารณาจดทะเบียนบริษัท ?

เมื่อธุรกิจที่ทำอยู่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับรายได้มากขึ้น ซึ่งรายได้ที่มากขึ้นหมายถึงรายได้หลักล้านขึ้นไปอย่างสม่ำเสมอทุกปี (บ้างก็บอกกว่ามากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี บ้างก็บอกว่า 10 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ต้องพิจารณาถึงรายได้ที่ได้รับ + รายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่มีหลักฐานประกอบด้วย ) ประเด็นอยู่ที่ว่าเมื่อรายได้มากขึ้นก็ย่อมต้องเสียภาษีมากขึ้น เมื่อถึงสิ้นปีและต้องเสียภาษีเงินได้ หากเราไม่จดทะเบียนบริษัท เราจะถูกคำนวณภาษีแบบเป็นเงินได้บุคคลธรรมดาคือเสียภาษีที่ 35% 

 

แต่หากเราจดทะเบียนบริษัท เราจะถูกคำนวณภาษีแบบเป็นเงินได้นิติบุคคล ที่ต้องจ่ายอยู่ที่ 20% เท่านั้น (ไม่รวมธุรกิจ SMEs นะ) ยกตัวอย่างเช่น รายได้ต่อปีของนาย A คือ 6,500,000 บาท กรณีที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คิดอัตราภาษี 35% นาย A ต้องเสียภาษี 2,275,000 บาท แต่ถ้าหากจดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล คิดอัตราภาษี 20% นาย A ต้องเสียภาษี 1,300,000 บาท ซึ่งชัดเจนว่าหากนาย A จดทะเบียนบริษัท นาย A ก็จะได้เสียภาษีต่อปีถูกกว่าถึง 975,000 บาทเลยทีเดียว

 

ดังนั้นหากมองแค่เรื่อง ‘รายได้’ กับ ‘ภาษี’ การจดทะเบียนบริษัทจึงอาจเป็นคำตอบที่ใช่เพราะช่วยเราเซฟเงินได้มากกว่า แต่นอกจากเรื่องรายได้และภาษีแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก่อนที่จะตัดสินใจจดทะเบียนบริษัทก็คือ ภาพรวมในอนาคตของธุรกิจที่เรากำลังทำอยู่ว่าในอนาคตเราต้องการขยายกิจการธุรกิจของเราให้โตขึ้นไหม เราพร้อมที่จะมีหุ้นส่วนเพื่อดำเนินธุรกิจร่วมกันไหม และเรามีแผนที่จะกู้สินเชื่อสร้างเครดิตทางบัญชีหรือไม่ ? 

 

หากเราพิจารณาแล้วว่า ในอนาคตเราอยากขยายธุรกิจให้โตไปถึงขั้น 10 ล้าน 100 ล้าน และอยากมีหุ้นส่วน สร้างความน่าเชื่อถือต่อสถาบันการเงิน การจดทะเบียนบริษัทก็เป็นคำตอบสุดท้ายของคุณ 

 

การจดทะเบียนบริษัทมีกี่แบบ ?

รูปแบบของการจดทะเบียนบริษัทมีทั้งหมด 2 แบบ ดังนี้

1. จดทะเบียนบริษัทแบบทะเบียนพาณิชย์ (บุคคลธรรมดา) ธุรกิจที่ดำเนินกิจการคนเดียว มีเจ้าของคนเดียว ทำธุรกิจอย่างอิสระด้วยตัวเอง ส่วนธุรกิจที่เข้าข่ายต้องจดทะเบียนพาณิชย์คือธุรกิจค้าขายหรือให้บริการ ไม่ว่าจะทำในนามบุคคลธรรมดาหรือบริษัท ถ้าเริ่มค้าขายอย่างชัดเจนให้ไปจดทะเบียนพาณิชย์ได้เลย  

 

2. จดทะเบียนบริษัทแบบทะเบียนนิติบุคคล ตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. 2566 กฎหมายได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ธุรกิจที่ต้องการจะจดทะเบียนบริษัทแบบทะเบียนนิติบุคคลมีผู้เริ่มก่อการตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป (กฎหมายเดิมต้องมี 3 คน) ซึ่งการจดทะเบียนบริษัทแบบทะเบียนนิติบุคคลมีหลายรูปแบบ เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด

 

ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท (ภายในวันเดียว) 

การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ถ้าได้ดำเนินการทุกขั้นตอนดังต่อไปนี้ภายในวันเดียวกับวันที่ผู้เริ่มก่อการจัดทำหนังสือบริคณห์สนธิ กรรมการจะจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและจดทะเบียนตั้งบริษัทไปพร้อมกันภายในวันเดียวก็ได้

shutterstock


ผู้เกี่ยวข้องในการจดทะเบียนบริษัทมีใครบ้าง 

- ผู้เริ่มก่อการ คนที่ต้องการจัดตั้งบริษัท มีหน้าที่ดำเนินการตามขั้นตอนการจัดตั้งบริษัท (ต้องมีไม่น้อยกว่า 3 คนและต้องเป็นผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 1 หุ้น)

- ผู้ถือหุ้น บุคคลหรือนิติบุคคลที่ถือหุ้นในบริษัทอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 

- กรรมการ บุคคลที่ได้รับมอบหมายจากผู้ถือหุ้น เพื่อดำเนินงานใฐานะตัวแทนและมีอำนาจการกระทำแทนบริษัท

 

สิ่งที่ต้องทำภายในวันเดียวก่อนยื่นคำขอจดทะเบียนบริษัท

1. จัดทำบริคณห์สนธิ ผู้เริ่มก่อการตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ร่วมกันจัดทำหนังสือบริคณห์สนธิ

2. จัดให้ผู้ซื้อหุ้นครบทุกหุ้น  โดยจัดให้ตามจำนวนหุ้นทั้งหมดที่บริษัทจะจดทะเบียน

3 ประชุมจัดตั้งบริษัท (โดยไม่ต้องออกหนังสือนัดประชุมตั้งบริษัท) เพื่อพิจารณากิจการต่าง ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1108 โดยมีผู้เริ่มก่อการและผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทุกคนเข้าร่วม

ประชุม (มอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนได้) และผู้เริ่มก่อการ และผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทุกคน ให้ความเห็นชอบในกิจการที่ได้ประชุมกันนั้น

4. แต่งตั้งกรรมการ 

5. ส่งมอบภารกิจให้กรรมการ ผู้เริ่มก่อการได้มอบกิจการทั้งปวงให้แก่กรรมการบริษัท

6. คณะกรรมการเรียกชำระค่าหุ้น กรรมการได้เรียกให้ผู้เข้าชื่อซื้อหุ้น ใช้เงินค่าหุ้น โดยจะเรียกครั้งเดียวเต็มมูลค่าหรือไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของมูลค่าหุ้นและมูลค่าหุ้นต้องไม่ต่ำกว่า 5 บาท/หุ้น 

 

หมายเหตุ: หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมแล้วจะต้องดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนภายใน 3 เดือน 

 

การยื่นคำขอจดทะเบียน 

1. จองชื่อนิติบุคคล โดยผู้เกี่ยวข้อง 

กรณีที่ยื่นคำขอผ่านระบบ e-registration ผู้ใช้งานสามารถจองชื่อนิติบุคคล พร้อมยื่นคำขอจดทะเบียนได้ภายในขั้นตอนเดียว โดยการตั้งชื่อบริษัทคือ ต้องไม่เหมือน คล้าย หรือซ้ำกับนิติบุคคลอื่น ต้องมีทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษที่มีความหมายหรือเสียงเรียกขานตรงกับชื่อภาษาไทย สามารถตรวจสอบชื่อบริษัทได้เองผ่าน ระบบจองชื่อนิติบุคคลอัตโนมัติ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า


2. เตรียมเอกสารและข้อมูลเพื่อใช้ในการจดทะเบียนบริษัท  

เอกสารหลักฐาน ข้อมูลและแบบฟอร์มที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัดมีดังนี้ 

1. คำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด (แบบ บอจ.1)

2. แบบคำรับรองการจดทะเบียนบริษัทจำกัด

3. หนังสือบริคณห์สนธิ (แบบ บอจ.2) ผนึกอากรแสตมป์ 200 บาท

4. รายการจดทะเบียนจัดตั้ง (แบบ บอจ.3)

5. แบบวัตถุที่ประสงค์ (แบบ ว.)

6. รายละเอียดกรรมการ (แบบ ก.)

7. แบบแจ้งผลการจองชื่อนิติบุคคลที่ยังไม่ครบกำหนด

8. หลักฐานให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

(ใช้เฉพาะในการประกอบธุรกิจที่มีกฎหมายพิเศษควบคุม เช่น ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจเงินทุน

ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ กิจการข้อมูลเครดิต บริหารสินทรัพย์ กิจการคลังสินค้า กิจการไซโล

หรือกิจการห้องเย็น)

9. บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5)

10. สำเนาบัญชีรายชื่อผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นหรือผู้รับมอบฉันทะในการประชุมให้ความเห็นชอบในกิจการที่ได้ประชุมจัดตั้งบริษัทพร้อมลายมือชื่อ

11. สำเนารายงานการประชุมตั้งบริษัท

12. สำเนาข้อบังคับผนึกอากร 200 บาท (ถ้ามี)

13. สำเนาหลักฐานการรับชำระค่าหุ้นที่บริษัทออกให้แก่ผู้ถือหุ้น

14. กรณีบริษัทจำกัดมีผู้ถือหุ้นเป็นคนต่างด้าวถือหุ้นในบริษัทจำกัดไม่ถึงร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียน หรือกรณีบริษัทจำกัดไม่มีคนต่างด้าวเป็นผู้ถือหุ้น แต่คนต่างด้าวเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม

หรือร่วมลงนามผูกพันบริษัท ให้ส่งเอกสารหลักฐานที่ธนาคารออกให้ เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงินของผู้ถือหุ้นที่มีสัญชาติไทยแต่ละรายประกอบคำขอจดทะเบียน โดยเอกสารดังกล่าวต้องแสดงจำนวนเงินที่สอดคล้องกับจำนวนเงินที่นำมาลงหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละราย

15. แบบ สสช.1 จำนวน 1 ฉบับ

16. แผนที่แสดงที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่และสถานที่สำคัญบริเวณใกล้เคียงโดยสังเขป

17. สำเนาบัตรประจำตัวของผู้เริ่มก่อการและกรรมการทุกคน *ดูหลักเกณฑ์เรื่องบัตรประจำตัว*

18. สำเนาหลักฐานการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อ (ถ้ามี) *ดูหลักเกณฑ์การลงลายมือชื่อผู้ขอจดทะเบียน*

19. หนังสือมอบอำนาจ (กรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนไม่สามารถยื่นขอจดทะเบียนได้ด้วยตนเองก็มอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนโดยทำหนังสือมอบอำนาจและผนึกอากรแสตมป์ด้วย)

 

3. ยื่นคำขอจดทะเบียน
ผ่านการ  Walk in ได้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ

หรือ E-registration ผ่านระบบ DBD e-Registration 

 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow