ส่วนในต่างประเทศได้ให้คำนิยามหรือคำจำกัดความของผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่แตกต่างกัน โดยบางประเทศเรียกว่า ‘MSMEs’ (Micro, Small and Medium-sized Enterprises) แต่สำหรับประเทศไทยใช้คำว่า ‘SMEs’ โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้กำหนดลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ใหม่อย่างเป็นทางการในปี 2563
ตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2562 ประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 และประกาศ สสว. เรื่องการกำหนดลักษณะของวิสาหกิจรายย่อย วันที่ 21 มกราคม 2563 โดยเน้นการใช้จำนวนการจ้างงานและรายได้ในการแบ่งขนาดผู้ประกอบการ และเพิ่มกลุ่มวิสาหกิจรายย่อย (Micro) ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ขนาดของวิสาหกิจและโครงสร้างทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป โดยมีรายละเอียดดังนี้
ลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในประเทศไทย
วิสาหกิจรายย่อย (Micro) คือ กลุ่มที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1.8 ล้านบาท การจ้างงานไม่เกิน 5 คน
วิสาหกิจขนาดย่อม (Small) คือ กิจการในภาคการผลิตสินค้า ที่มีจำนวนการจ้างงานไม่เกิน 50 คน หรือมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 100 ล้านบาท ส่วนกิจการในภาคการค้า (ค้าส่งหรือค้าปลีก) และภาคบริการ มีจำนวนการจ้างงานไม่เกิน 30 คน หรือมีรายได้ต่อปี ไม่เกิน 50 ล้านบาท
วิสาหกิจขนาดกลาง (Medium) คือ กิจการในภาคการผลิตสินค้า ที่มีจำนวนการจ้างงานเกิน 50 - 200 คน หรือมีรายได้ต่อปีเกินกว่า 100 – 500 ล้านบาท ส่วนกิจการในภาคการค้า (ค้าส่งหรือค้าปลีก) และภาคบริการ มีจำนวนการจ้างงานเกิน 30 – 100 คน หรือมีรายได้ต่อปีเกิน 50 – 300 ล้านบาท
สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นธุรกิจที่มีจำนวนมากในประเทศไทย ผู้ประกอบการส่วนมากประกอบการในรูปของบุคคลธรรมดา คณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือกิจการร่วมค้าซึ่งลักษณะของธุรกิจ SME จะประกอบด้วยการทำกิจการดังนี้
ธุรกิจ SMEs มีอะไรบ้าง
กิจการผลิต (Manufacturing Sector) คือ กิจการที่นำวัตถุดิบมาแปรรูปให้เป็นสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งครอบคลุมถึงการผลิตที่เป็นลักษณะของการประกอบการอุตสาหกรรมทุกประเภท โดยความหมายที่เป็นสากลของการผลิตก็คือ การเปลี่ยนรูปวัตถุให้เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ด้วยเครื่องจักรกล หรือเคมีภัณฑ์โดยไม่คำนึงว่างานนั้นทำโดยเครื่องจักรหรือด้วยมือ ทั้งนี้กิจการผลิตสินค้าในที่นี้รวมถึงการแปรรูปผลิตผลการเกษตรอย่างง่ายที่มีลักษณะเป็นการอุตสาหกรรม การผลิตที่มีลักษณะเป็นวิสาหกิจชุมชน และการผลิตที่เป็นการประกอบอุตสาหกรรม ในครัวเรือนด้วย เช่น ยา เคมีภัณฑ์ (อาหารเสริม) และผลิตภัณฑ์พลาสติก
กิจการค้าส่ง (Wholesale Sector) และกิจการค้าปลีก (Retail Sector) คือ กิจการที่ไม่ได้ผลิตสินค้าเอง ดำเนินกิจการโดยการซื้อสินค้าสำเร็จรูปมาเพื่อจัดจำหน่ายมีทั้งกิจการค้าส่ง และกิจการค้าปลีก เช่น ร้ายขายของชำ ร้ายขายเครื่องครัว ร้านขายเสื้อผ้า ฯลฯ การค้าในที่นี้มีความหมายรวมถึงการเป็นนายหน้า หรือตัวแทนการซื้อขาย สถานีบริการน้ำมัน และสหกรณ์ผู้บริโภค เช่น กิจการห้างสรรพสินค้า กิจการขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป กิจการขายเครื่องกีฬา เป็นต้น
กิจการให้บริการ (Service Sector) คือ กิจการที่ไม่ได้จัดจำหน่ายสินค้าแต่ให้บริการหรือขายบริการ (Service) เช่น ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า ร้านซักรีด ฯลฯ ทั้งนี้ยังครอบคลุมถึงการศึกษา การสุขภาพ การบันเทิง การขนส่ง การก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ การโรงแรมและหอพัก การภัตตาคาร การขายอาหาร การขายเครื่องดื่มของภัตตาคารและร้านอาหาร การให้บริการเช่าสิ่งบันเทิงและการพักผ่อนหย่อนใจ การให้บริการส่วนบุคคล บริการในครัวเรือน บริการที่ให้กับธุรกิจ การซ่อมแซมทุกชนิด และการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ธุรกิจก่อสร้างและธุรกิจโลจีสติกส์ เป็นต้น
ตัวอย่างธุรกิจ SMEs ที่น่าสนใจ
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ สสว. ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลผลสำรวจยอดขายรายไตรมาส ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับฐานข้อมูล SMEs ของ สสว. รวมทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องสามารถแยกกลุ่มธุรกิจที่จะมีอนาคตสดใสเป็นดาวรุ่ง กลุ่มธุรกิจที่กลับมาฟื้นตัวในปี 2566 ดังนี้
1. ธุรกิจขายของออนไลน์
2. ธุรกิจร้านโชห่วย
3. ธุรกิจจัดงานแข่งขันหรืออีเวนต์กีฬา
4. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซอฟแวร์และเกม
5. ธุรกิจบริการจัดเลี้ยงและให้เช่าอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
6. ธุรกิจขายของมือสอง
7. ธุรกิจซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
8. ธุรกิจโหราศาสตร์และความเชื่อ หรือธุรกิจสายมู
9. ธุรกิจการท่องเที่ยวแนววัฒนธรรมชนบท
10. ธุรกิจด้านบันเทิง
11. ธุรกิจด้านจัดทำคอนเทนต์
การเริ่มต้นทำธุรกิจ SMEs ให้สำเร็จต้องดูเทรนด์การทำธุรกิจร่วมด้วย เพื่อเข้าใจตลาดว่าตอนนี้คนส่วนใหญ่สนใจสินค้าหรือบริการอะไร ซึ่งจะทำให้ผู้ที่อยากประกอบการธุรกิจ SMEs ตัดสินใจง่ายขึ้นว่าจะทำธุรกิจประเภทไหน ทั้งนี้นอกจากตัวธุรกิจที่สำคัญแล้ว การเรียนรู้กฎหมายเกี่ยวกับการทำธุรกิจประเภทต่างๆ ในหมวดธุรกิจ SMEs ก็สำคัญเช่นกัน