Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิธีแก้ปัญหา เมื่อลูกกลัวข้อสอบอัตนัย

Posted By Plook TCAS | 09 มี.ค. 66
1,171 Views

  Favorite

          สำหรับเด็กนักเรียนแล้ว การต้องเจอกับข้อสอบอัตนัย ถือว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับพวกเขา วันนี้ผู้ปกครองอย่างพวกเราจะมาทำความเข้าใจกับข้อสอบประเภทนี้ และหาทางแก้ปัญหาโรคกลัวข้อสอบอัตนัย ด้วยการเปลี่ยนมุมคิดและทัศนคติ เพื่อวางแนวทางในการฝึกลูกให้เอาชนะข้อสอบนี้ต่อไป

 

ทำความรู้จักกับข้อสอบอัตนัยแบบดั้งเดิม

         ข้อสอบอัตนัยจะมีทั้งแบบดั้งเดิม (Traditional essay) และแบบประยุกต์ สำหรับแบบดั้งเดิม ผู้ออกข้อสอบจะเขียนโจทย์คำถามแล้วให้ผู้สอบเขียนคำตอบด้วยตนเองในขั้นตอนเดียว โดยไม่มีตัวเลือกให้ การเขียนอาจเขียนได้ทั้งรูปแบบวลีสั้น ๆ หรือการตอบเป็นคำ บางคนสามารถตอบเป็นบทความเขียนความยาวประมาณย่อหน้าหรือหลายย่อหน้า ซึ่งผู้ออกข้อสอบต้องการให้ผู้สอบคิดคำตอบด้วยตัวเอง เพื่อวัดความรู้ขั้นสูงในระดับการวิเคราะห์ สังเคราะห์ หรือประเมินคุณค่าได้นั่นเอง แม้จะยากต่อการตรวจให้คะแนนก็ตาม

        

ทำความรู้จักกับข้อสอบอัตนัยแบบประยุกต์

            เป็นข้อสอบที่เริ่มจากการให้สถานการณ์ แล้วมีโจทย์ถามให้ผู้สอบตอบคำถามที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาในสถานการณ์นั้น โดยไม่มีตัวเลือกให้ เมื่อผู้สอบตอบคำถามแล้วจะมีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมทีละน้อย และมีโจทย์ถามคำถามเพิ่มเติมตามลำดับ โดยผู้สอบอาจมีโอกาสหรือไม่มีโอกาสย้อนกลับไปแก้ไขคำตอบของตนเองที่ได้ตอบไปในขั้นตอนก่อนหน้านั้น

 

ทำไมลูกกลัวข้อสอบอัตนัย

            การเขียนอธิบายคำตอบออกมาเป็นตัวหนังสือเป็นความยากสำหรับเด็กประถมปลาย เพราะบางโรงเรียนไม่เคยออกข้อสอบอัตนัยให้เด็กทำเลย ลูกจะมาเจอข้อสอบอัตนัยจากการสอบแข่งขันในสนามแข่งต่าง ๆ ความกลัวจึงมีที่มาจากความไม่เคยพบเจอมาก่อน และเนื่องจากการเขียนตอบข้อสอบอัตนัยต้องอาศัยความเข้าใจที่ลึกซึ้งกว่าการแค่เลือกว่าข้อไหนถูกหรือผิด

 

ลายมือมีผลต่อคะแนน

            การเขียนอธิบายคำตอบก็สำคัญ คุณควรย้ำลูกเรื่องนี้มาก เพราะการเขียนอธิบายคำตอบต่อให้ถูกแค่ไหน แต่ถ้าครูผู้ตรวจข้อสอบอ่านลายมือไม่ออก ก็จบกัน! ดังนั้นคุณจึงควรฝึกให้ลูกเขียนตอบอย่างชัดเจน ลายมืออาจไม่ต้องสวยงาม แต่ต้องอ่านง่าย และสะกดถูกต้อง

 

สอนเทคนิคการตอบข้อสอบอัตนัยให้กับลูก

            โจทย์ของข้อสอบอัตนัยจะมีคำถามหลายส่วนที่ลูกต้องตอบ เมื่อเห็นโจทย์แล้ว ควรสอนให้ลูกใช้เส้นเป็นรหัสในการแบ่งโจทย์ เพื่อให้การตอบข้อสอบตอบได้ครบถ้วน ไม่ตกหล่น และตอบได้ถูกตามที่โจทย์ถาม หลายครั้งที่การตอบข้อสอบอัตนัย ผู้ออกข้อสอบไม่สามารถให้คะแนนผู้ตอบได้เลย เนื่องจากตอบไปคนละทิศคนละทางกับที่โจทย์ถาม ข้อนี้แก้ได้ด้วยวิธีให้ลูกฝึกฝนทำข้อสอบแบบนี้บ่อย ๆ

 

ตอบอย่างไรให้ได้คะแนน

            ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับลูกก่อนว่า แบบทดสอบอัตนัยเป็นแบบทดสอบที่กำหนดให้ผู้สอบตอบคำถามโดยวิธีเขียนอธิบาย บรรยาย โดยใช้ภาษาของตนเอง แสดงความรู้ ความเข้าใจ หรือความคิดเห็นได้อย่างไม่มีกรอบ ไม่มีตัวเลือก ผู้สอบจะมีอิสระในการตอบ แต่ข้อควรระวังคือ หากผู้ตอบไม่มีความสามารถในการเขียนเรียบเรียงประโยคหรือเรื่องราวให้ผู้ตรวจให้คะแนนเข้าใจได้ ลูกก็อาจจะพลาดคะแนนที่ควรจะได้ไปอย่างน่าเสียดายเลย

 

ถามอะไรตอบอย่างนั้น

          เมื่อได้ข้อสอบอัตนัยมาแล้ว จะต้องดูรูปแบบคำถามว่า ข้อสอบถามสิ่งใดบ้าง เช่น ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ถามนิยามหรือให้บ่งบอกส่วนย่อย ถามให้จัดระเบียบหรือจัดเรียงลำดับ ถามให้จำแนกประเภทไหม ถามให้บรรยายพรรณนา หรือถามให้เปรียบเทียบความแตกต่าง หากโจทย์ให้หาเหตุผลประกอบ แล้วลูกลืมยกเหตุผลก็จะพลาดคะแนนได้ ถามให้อธิบาย พิสูจน์ และหาเหตุผลยกตัวอย่างประกอบ ถามให้อภิปรายปัญหา ถามให้สรุปหรือวิเคราะห์เหตุการณ์ บางข้อก็ถามให้ประเมินผล ตัดสินคุณค่าและตีความ คุณต้องทำให้ลูกรู้ว่า โจทย์แบบไหน ถามแบบไหน ต้องการสิ่งใด เพื่อลูกจะได้ไม่ตกใจและคุ้นชินกับข้อสอบอัตนัย

 

เขียนเยอะไม่ได้ทำให้ได้คะแนน

          ไม่มีคะแนนปากกาหรอก มีแต่ตอบตรงประเด็นที่โจทย์ถามหรือเปล่า ตอบตรงก็ได้คะแนน อันนี้เรื่องจริงนั่นแปลว่า ถ้าชักไม่แม่น้ำทั้งห้ามา หรือว่าตอบแบบกว้าง ๆ ไม่ลงลึกในคำตอบที่โจทย์ถาม การจะได้คะแนนก็เป็นเรื่องยาก ดังนั้นคุณควรฝึกให้ลูกตอบข้อสอบแบบนี้บ่อย ๆ เมื่อคุณเห็นคำตอบของลูก คุณจะเข้าใจว่าทำไมลูกถึงได้หรือไม่ได้คะแนน

 

ขอเชียร์ให้คุณ ทำให้ลูกหายกลัวข้อสอบอัตนัยได้สำเร็จ

เพราะเป็นเรื่องจำเป็นจริง ๆ สำหรับลูกประถมปลายทุกคน

 

ปริณุต ไชยนิชย์

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://he02.tci-thaijo.org/index.php/simedbull/article/download/81482/64826/196990

https://erp.mju.ac.th/openFile.aspx?id=NDU4NzI=

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow