Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

กฎหมายแรงงานฉบับอัปเดตล่าสุด กับ 9 สิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างควรรู้

Posted By Plook Magazine | 04 เม.ย. 66
15,418 Views

  Favorite

กฎหมายแรงงาน ถือเป็นกฎหมายสำคัญที่ลูกจ้างควรจะรับรู้ไว้ เพราะจะได้ไม่โดนนายจ้างหรือบริษัทเอาเปรียบ และการเข้าใจถึงสิทธิต่าง ๆ ก็จะช่วยให้ลูกจ้างไม่พลาดโอกาสต่าง ๆ ด้วย บทความนี้ได้สรุปพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นกฎหมายแรงงานที่มีผลบังคับใช้ฉบับล่าสุดมาให้ โดยได้มีการปรับเปลี่ยนและเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และเพื่อให้เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น มาดูกันว่า 9 สิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างควรรู้จะมีอะไรบ้าง !

 

 

กฎหมายคุ้มครองแรงงาน รือ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน คือ กฎหมายที่บัญญัติถึงสิทธิและหน้าที่ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อให้การจ้างงาน การใช้งาน การประกอบกิจการ และความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเป็นไปโดยดี โดยได้มีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการจ้างการใช้แรงงาน การจัดสถานที่และอุปกรณ์ในการทำงาน เพื่อให้ลูกจ้างหรือผู้ทำงานมีสุขภาพและอนามัยอันดี รวมถึงมีความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และได้ค่าตอบแทนตามสมควร

 

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ถือเป็นกฎหมายใหม่ล่าสุดที่มีผลบังคับใช้ มาดูกันว่าจะมีการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง 

 

1. ไม่จ่ายค่าตอบแทน หรือผิดนัดจ่ายเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ

นายจ้างต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างผิดนัด ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี

- กรณีนายจ้างไม่คืนเงินหลักประกัน 

- ไม่จ่ายเงินกรณีบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่บอกล่วงหน้า

- ไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงาน-ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่าย 

- ไม่จ่ายเงินกรณีนายจ้างหยุดกิจการ หรือค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 

 

2. มีการเปลี่ยนแปลงนายจ้าง เปลี่ยนนิติบุคคล

ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้าง หรือเปลี่ยนนายจ้างเป็นนิติบุคคล และมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง โอน หรือควบกับนิติบุคคลใด หากมีผลทำให้ลูกจ้าง ไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่ การไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่ดังกล่าวต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างคนนั้นด้วย และให้สิทธิต่าง ๆ ที่ลูกจ้างเคยมีอยู่จากนายจ้างเดิมมีสิทธิต่อไป โดยนายจ้างใหม่ต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของลูกจ้างคนนั้นทุกประการ

 

3. การเลิกจ้าง

ในกรณีที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบ ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างที่ลูกจ้างควรจะได้รับ นับตั้งแต่วันที่ให้ลูกจ้างออกจากงาน จนถึงวันที่การเลิกสัญญาจ้างมีผลโดยให้จ่ายในวันที่ให้ลูกจ้างออกจากงาน ส่วนในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงาน-ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ภายใน 3 วันนับตั้งแต่วันที่เลิกจ้าง

 

 

4. การจ่ายเงินกรณีนายจ้างหยุดกิจการทั้งหมดหรือชั่วคราว

ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่า ร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการ ตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน

 

5. อัตราค่าชดเชยใหม่กรณีเลิกจ้าง

เพิ่มอัตราชดเชยค่าเลิกจ้างเพิ่มขึ้นอีก 1 อัตรา โดยมีรายละเอียดตามนี้

– อัตราที่ 1 ทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้ค่าชดเชย 30 วัน

– อัตราที่ 2 ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี ได้ค่าชดเชย 90 วัน

– อัตราที่ 3 ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ค่าชดเชย 180 วัน

– อัตราที่ 4 ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ได้ค่าชดเชย 240 วัน

– อัตราที่ 5 ทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ได้ค่าชดเชย 300 วัน

– อัตราที่ 6 ทำงานมากกว่า 20 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชย 400 วัน 

 

6. สิทธิลากิจ ลาคลอด

ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน และต้องจ่ายค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตามปกติ ส่วนในกรณีลาคลอด ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตร ครรภ์หนึ่งไม่เกิน 98 วัน รวมถึงวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรด้วย และให้นับรวมวันหยุดที่มีในระหว่างวันลาด้วย โดยลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างระหว่างลาคลอดบุตรจากประกันสังคม 45 วัน และจากนายจ้างอีกไม่เกิน 45 วัน

 

7. ให้สิทธิเท่าเทียมกัน

ให้นายจ้างกำหนดค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงาน-ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานอันมีลักษณะ คุณภาพ และปริมาณเท่ากัน หรืองานที่มีค่าเท่าเทียมกันในอัตราเท่ากันไม่ว่าลูกจ้างนั้นจะเป็นชายหรือหญิง ดังนี้

– กรณีที่มีการคำนวณค่าจ้างเป็นรายเดือน รายวัน รายชั่วโมง หรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่น ที่ไม่เกินหนึ่งเดือน หรือตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย ให้จ่ายไม่น้อยกว่า 1 ครั้งต่อเดือน เว้นแต่จะมีการตกลงกันเป็นอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้าง

– ในกรณีที่มีการคำนวณค่าจ้างนอกเหนือจากนี้ ให้จ่ายตามกำหนดเวลาที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน

 

8. ค่าชดเชยพิเศษเนื่องจากการย้ายสถานประกอบกิจการ

หากนายจ้างประสงค์จะย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่ใหม่หรือย้ายไปยังสถานที่อื่น ให้นายจ้างปิดประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า โดยให้ปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย ที่ลูกจ้างสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน ติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนวันย้ายสถานประกอบกิจการ และประกาศนั้นต้องมีข้อความชัดเจนเพียงพอที่จะเข้าใจได้ว่าลูกจ้างคนใดจะต้องถูกย้ายไปสถานที่ใดและเมื่อไหร่

 

ในกรณีที่นายจ้างไม่ปิดประกาศให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างที่ไม่ประสงค์จะไปทำงาน ณ สถานประกอบกิจการแห่งใหม่เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน

 

หากลูกจ้างคนใดเห็นว่าการย้ายสถานประกอบกิจการดังกล่าวมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัวของลูกจ้างคนนั้น และไม่ประสงค์จะไปทำงาน ณ สถานประกอบกิจการแห่งใหม่ ต้องแจ้งให้นายจ้างทราบเป็นหนังสือภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ปิดประกาศ หรือนับตั้งแต่วันที่ย้ายสถานประกอบกิจการในกรณีที่นายจ้างมิได้ปิดประกาศ และให้ถือว่าสัญญาจ้างสิ้นสุดลงในวันที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับ

 

9. การยกเลิกหนังสือเตือนกรณีนายจ้างไม่ยื่นแบบแสดงสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน

นายจ้างผู้ใดไม่ยื่นหรือไม่แจ้งแบบแสดงสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท


 

แหล่งข้อมูล

- พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒

 
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow