Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคชอบถอนผม (Trichotillomania)

Posted By Plook Magazine | 16 มี.ค. 66
2,276 Views

  Favorite

หนึ่งในสัญญาณเตือนถึงปัญหาสุขภาพจิตที่หลายคนอาจมองข้ามหรือนึกไม่ถึงนั่นก็คือ ‘ชอบถอนผมตัวเอง’ ใครที่ชอบถอนผมตัวเอง ชอบดึงผมตัวเองเล่นเป็นประจำลามไปถึงขนคิ้ว ขนตา หรือว่าขนรักแร้ ไม่แน่ว่าคุณอาจกำลังเข้าข่ายโรคจิตเวชก็ได้ ไปเช็กให้ชัวร์ ทำความรู้จักโรคนี้กันดีกว่า 

 

trueplookpanya

 

‘โรคชอบถอนผม’ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Trichotillomania บางตำราอาจใช้ชื่อโรคว่า ‘โรคดึงผมตนเอง’ หมายถึงผู้ที่ชอบถอนหรือว่าดึงผมตัวเองซ้ำ ๆ และทำเป็นประจำทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ โดยจะมีความรู้สึกเครียดมากก่อนที่จะถอนผม แต่ในระหว่างที่ถอนผมจะรู้สึกสุขใจ พึงพอใจ หรือว่าผ่อนคลาย ซึ่งสามารถเกิดได้กับทุกบริเวณของร่างกายที่มีผมหรือขนที่ยาวในขนาดที่สามารถดึงออกได้ เช่น ผม ขนคิ้ว ขนตา หนวดเครา และหัวหน่าว เป็นต้น ทำให้ผมของตัวเองบางลงจนคนอื่นสังเกตเห็นได้ชัด โดยโรคนี้จัดอยู่ในกลุ่มความผิดปกติทางจิตเวชแบบย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder) 

 

ผู้ที่เป็นโรคชอบถอนผมร้อยละ 33-40 จะชอบถอนผมแล้วเคี้ยว บางคนกินผมที่ถอนของตัวเองทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ นอกจากนี้ยังมีอาการเด่น ๆ ดังนี้ 
 

      1. ถอนผมตัวเองซ้ำ ๆ จนทำให้สูญเสียผมไปจำนวนมาก

      2. ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการลดหรือหยุดถอนผมตัวเอง

      3. เมื่อถอนผมแล้วทำให้เป็นทุกข์และสูญเสียหน้าที่การงาน 

      4. ผู้ที่เป็นโรคอาจยอมรับหรือไม่ยอมรับว่าดึงผมตัวเอง

      5. มีผมร่วงหลายลักษณะ หลายขนาด เช่น อาจเป็นหย่อมเล็ก กระจายหลายหย่อมทั่วศีรษะ หรืออาจกระจายทั้งศีรษะ รูปร่างของหย่อมผมร่วงมีลักษณะแปลก ตำแหน่งของผมร่วงส่วนใหญ่เป็นที่ศีรษะ


สาเหตุของโรคชอบถอนผม

shutterstock/yamasan0708

 

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัดมีเพียงสมมติฐานการเกิดโรคหลายอย่าง แต่ที่แน่ ๆ ผู้ที่ชอบถอนผมตัวเองอาจมีโรคทางจิตเวชบางอย่าง เช่น วิตกกังวลประเภทย้ำคิดย้ำทำ หรือการเป็นโรคซึมเศร้า รวมถึงพันธุกรรมอาจมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคดึงผมเหมือนกัน

 

  1. ปัจจัยด้านชีวภาพ พบว่าสมองส่วน left putamen และ left lenticulate ของผู้ป่วยมีขนาดเล็กกว่ากลุ่มควบคุมและมีระดับของสารสื่อประสาทในบริเวณสมองขาดความสมดุลทำให้ควบคุมพฤติกรรมการดึงผมของตัวเองไม่ได้
     

  2. ปัจจัยด้านจิตสังคม ผู้ป่วยอาจมีความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับแม่ที่ไม่ดี ความกลัวต่อการใช้ชีวิตคนเดียว การสูญเสียคนที่รัก การใช้สารเสพติด ภาวะซึมเศร้า สมาธิสั้น มีความเครียดวิตกกังวลและความกดดันกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมดึงผมหรือมีปัญหาทางด้านปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นต้น

 

โรคนี้พบได้ในทุกเพศทุกวัย สำหรับอาการดึงผมปัจจุบันพบผู้ป่วยในอัตรา 4% ของคนทั่วไป ในวัยเด็กอาจจะไม่รุนแรงและค่อย ๆ รุนแรงขึ้นเมื่ออยู่ในช่วงวัยรุ่น สำหรับวัยผู้ใหญ่มักมีอาการเรื้อรังยาวนานและจะรักษาได้ไม่ดีเท่ากับวัยเด็กและวัยรุ่น ทั้งนี้ผลข้างเคียงของโรคชอบถอนผมตัวเองขั้นแรกคือการสูญเสียเส้นผม ผมบางลง ผมแหว่งเป็นหย่อม ๆ รวมไปถึงเส้นขนในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ขนคิ้ว ขนตา เส้นขนตามแขนขา

ผลข้างเคียงของโรคชอบถอนผมตัวเอง 

shutterstock/Rachata Teyparsit

 

  • ผมแหว่ง เมื่อหยุดถอนผม ดึงผมตัวเองไม่ได้ก็จะทำให้ผมขาดแหว่งเป็นหย่อม ๆ ทำให้ผมบางลง หนังศีรษะเป็นแผล ท้ายที่สุดเมื่อทำบ่อย ๆ ผมก็อาจไม่ขึ้นใหม่อีกเลย 

  • สูญเสียความมั่นใจ การมีผมแหว่ง ผมบางเป็นหย่อมก็จะส่งผลให้สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง สูญเสียความมั่นใจในบุคลิคภาพ อาจต้องใส่หมวกปกปิดศีรษะตัวเอง ใส่วิกผมไปตลอดชีวิต 

  • มีปัญหาด้านความสัมพันธ์ ความเครียดจากการสูญเสียเส้นผมอาจทำให้ผู้ที่ชอบถอนผมตัวเองไม่กล้าเข้าสังคม ไม่อยากเจอเพื่อนฝูง แยกตัวเองออกจากสังคม 

  • มีปัญหาลำไส้ ผู้ที่ชอบถอนผมตัวเองบางรายมักจะเคี้ยวหรือกินผมที่ถอนออกมาของตัวเองก็จะส่งผลให้มีการสะสมในลำไส้ เกิดการอุดตัน มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร หรือมีเลือดออกผิดปกติ 


เราจะเห็นได้เลยว่าโรคชอบถอนผมตัวเองส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ไม่เพียงแค่สูญเสียความมั่นใจแต่อาจส่งผลไปถึงการสูญเสียตัวตน โอกาสที่จะได้ทำสิ่งต่าง ๆ ในอนาคต และที่สำคัญหากโรคนี้ยังคงดำเนินต่อไปโดยที่เราไม่รู้ตัวนอกจากจะเกิดปัญหาหนังศีรษะล้านแล้ว ก็อาจส่งผลต่อโรคจิตเวชที่รุนแรงขึ้นได้ ดังนั้นควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโรคให้เร็วที่สุด อย่าปล่อยเอาไว้นาน 
 

การรักษาโรคชอบถอนผม

ผู้ที่เป็นโรคชอบถอนผมจะได้รับการดูแลรักษาร่วมกันระหว่างจิตแพทย์และแพทย์ผิวหนัง 
 

  1. การใช้ยา ยังไม่มียาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาที่ชัดเจน แต่ยาที่มีรายงานว่าอาจมีผลในการรักษาได้แก่ ยากลุ่ม SSRIs, clomipramine, trazodone, clonazepam, lithium และ naltrxone โดยต้องได้รับการตรวจจากแพทย์ก่อนเท่านั้น

  2. Cognitive Behavioral Therapy (CBT) วิธีการทำจิตบำบัดรูปแบบหนึ่งโดยใช้วิธีพูดคุยกับนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์

 

เมื่อไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการและหาความผิดปกติทางจิตแล้ว ผู้ที่ชอบถอนผมตัวเองยังต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองเพื่อไม่ให้อาการชอบถอนผมกลับมาเป็นซ้ำด้วยการทำ Habit Reversal Training (HRT) ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการโดยใช้วิธีแก้โรคดึงผมแบบพฤติกรรมบำบัด ดังนี้ 

 

shutterstock/Prostock-studio

 

          1. สังเกตอาการชอบถอนผมของตัวเอง ให้สังเกตว่าตัวเองชอบดึงผมเวลาไหน ชอบดึงผมบริเวณไหนบ้าง ช่วงเวลาที่ชอบดึงผมตัวเอง เช่น ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ ทำงาน เป็นต้น เพื่อให้รู้ทันพฤติกรรมของตัวเอง เพราะหากไม่หมั่นสังเกตตัวเองก็จะเผลอถอนผมโดยไม่ตั้งใจ ทั้งนี้ควรบันทึกช่วงเวลาที่สังเกตตัวเองไว้เป็นประจำอีกด้วยเพื่อที่ว่าเมื่อต้องพบเเพทย์หรือเพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง 
 

          2. หาสาเหตุที่กระตุ้นพฤติกรรมการดึงผม ให้หาสิ่งกระตุ้นที่ทำให้อยากถอนผม เช่น ความเครียด เห็นที่ถอนขน ฯลฯ และเรียนรู้วิธีควบคุม หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดพฤติกรรมถอนผมตัวเอง โดยทางที่ดีเมื่อรู้ว่าอะไรเป็นตัวประตุ้นให้ถอนผมก็ควรจะเก็บสิ่งนั้นให้มิดชิด  
 

          3. หาวิธีป้องกันเบื้องต้น สิ่งสำคัญคือการป้องกันเบื้องต้นไม่ให้ถอนผมตัวเองเมื่อรู้สึกอยากถอนผมมาก ๆ โดยวิธีแก้เบื้องต้นอาจลุกขึ้นไปดื่มน้ำเมื่อรู้สึกอยากถอนผม การกำมือ ใช้ลูกบอลบีบเพื่อคลายเครียด การใส่ซิลิโคนสวมนิ้วเมื่อรู้สึกอยากดึงผมเพื่อไม่ให้ตัวเองถอนผมได้สำเร็จ 
 

          4. บอกคนรอบข้างช่วยอีกแรง นอกจากเราจะหมั่นสังเกตตัวเอง หาวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้ว ในบางครั้งเราอาจเผลอถอนผมตัวเองโดยไม่รู้ตัวอยู่ดี ดังนั้นโรคถอนผมจึงต้องการการดูแลเอาใจใส่จากคนรอบข้างด้วยเพราะเมื่อเราควบคุมตัวเองไม่ได้ หยุดดึงผมตัวเองไม่ได้ การมีเพื่อนหรือคนใกล้ชิดคอยให้กำลังใจ ช่วยเตือนเราอีกแรง ก็จะช่วยให้เราสามารถปรับตัวและลดพฤติกรรมชอบถอนผมได้ 

 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow