Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

จะรู้ได้อย่างไร ว่าลูกมีภาวะถดถอยทางการเรียนรู้

Posted By Plook TCAS | 20 ก.พ. 66
1,865 Views

  Favorite

          เป็นเรื่องซีเรียสทีเดียว หากคุณไม่รู้ว่าลูกมีภาวะนี้ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้นานไม่เร่งแก้ไข ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Losses) อาจทำลายอนาคตของลูกคุณก็ได้ !

 

ลูกถดถอยทางการเรียนรู้ไหม

            คุณสังเกตลูกได้จากการที่เขาไม่รู้บางเรื่องที่เคยรู้แล้ว ลูกจำไม่ได้ หรือจากที่เคยช่วยเหลือตัวเองได้ในบางเรื่อง กลับกลายเป็นช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ซะงั้น นอกจากนี้คุณต้องมีข้อมูลว่ามาตรฐานการเรียนรู้ในระดับประถมปลาย ลูกควรต้องรู้เรื่องใด และติดตามหาคำตอบให้ได้ว่า ลูกของคุณสามารถเรียนรู้สิ่งเหล่านั้นได้หรือไม่  

 

ถดถอยทางการเรียนรู้ทุกด้านหรือไม่

            การถดถอยทางการเรียนรู้มีหลายมิติ มิติวิชาการ มิติพัฒนาการ หรือมิติอารมณ์และสังคม หากเป็นมิติวิชาการ สิ่งที่บ่งบอกได้คือ คะแนน มิติพัฒนาการ สิ่งที่บ่งบอกได้คือมาตรฐานพัฒนาการของเด็กวัยเดียวกัน ส่วนมิติอารมณ์และสังคม สิ่งที่เป็นตัวชี้วัดคือ การสื่อสารและการปฏิสัมพันธ์กับตนเองและคนรอบข้าง

 

อะไรบ้างที่ถดถอย

            คือจริง ๆ แล้วมันคือทักษะของลูกที่ขาดหายไป เช่น ทักษะด้านภาษา ทักษะด้านคณิตศาสตร์ เป็นต้น หลายคนสังเกตเห็นลูกมีภาวะถดถอยหลังจากมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  ความรู้สึกของผู้ปกครองหลายคนต่างคิดว่า ลูกแทบไม่ได้อะไรเลยในช่วงนั้น อันที่จริงภาวะนี้เป็นเพราะเด็กสูญเสียความอยากรู้อยากเห็น ความตื่นเต้นตื่นตัวในการเรียนรู้ และความเงียบที่ปราศจากกิจกรรมที่เชิญชวนให้ลองทำ เรียกง่าย ๆ ว่า ขาดการลงมือปฏิบัตินั่นเอง

 

ยาที่ช่วยแก้ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้

            การได้ลงมือปฏิบัติและการได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างคือยาที่ดีที่สุด และพยายามหาสิ่งที่ลูกชอบและส่งเสริมทักษะด้านนั้น ๆ ให้กับเขาอย่างเต็มที่

 

เด็กเสียโอกาสในการเรียนรู้

            ลองสังเกตดูว่าอุปกรณ์การเรียนรู้ที่คุณมอบให้กับลูกน้อยเกินไปไหม ลูกอาจไม่พูดออกมา เรื่องนี้คุณคงต้องสังเกตเองด้วย เพราะหากอุปกรณ์การเรียนรู้ไม่ครบ ความรู้ก็จะถดถอยทีละน้อย ไม่ต่างอะไรกับผู้เรียนในชนบทที่ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนรู้ มีความรู้ถดถอยมากถึง 2 ปีเลยทีเดียว

 

ความรุนแรงในครอบครัว

            การเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัวอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กต้องพบกับภาวะนี้โดยไม่รู้ตัว และเมื่อเผชิญกับสิ่งที่ไม่ต้องการซ้ำไปซ้ำมา เด็กจะเกิดความรู้สึกแปลกแยกและโดดเดี่ยว เหนื่อยหน่ายทางอารมณ์ หมดไฟในการเรียน จะบอกว่าความรู้สึกถือเป็นส่วนหนึ่งของสถานศึกษา (Sense of belonging)

 

ความกังวลจากการเรียนการสอนออนไลน์

            คุณอาจสังเกตได้ว่า เด็กหลายคนเมื่อเรียนออนไลน์ เกรดตกต่ำลง และความกังวลนั้นทำให้เด็กบางคนเคยตกอยู่ในอาการซึมเศร้าด้วย แม้จะเป็นผลกระทบระยะสั้นจากการเรียนการสอนออนไลน์ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ก็ส่งผลต่อประสิทธิผลการเรียนรู้ ทำให้เกิดการถดถอยในบางทักษะพัฒนาการของลูกในช่วงประถมปลาย ทั้งที่หลายส่วนไม่ได้เกิดจากตัวเด็กเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นเรื่องของอุปกรณ์และเทคโนโลยีสำหรับการศึกษาทางไกลด้วย แต่เด็กกลับได้รับผลกระทบมากที่สุดเพียงฝ่ายเดียว

 

เลี่ยงภาวะถดถอย

            ง่าย ๆ เพียงแค่ทำให้ไม่เกิดอุปสรรคหรือข้อจำกัดใด ๆ ที่จะเป็นตัวปิดกั้นไม่ให้ลูกได้เรียนรู้ เพราะภาวะถดถอยทางการเรียนรู้จะเกิดในสภาพอากาศที่เลวร้าย สถานการณ์ที่วิกฤต และปัญหาที่แก้ไม่ได้ ดังนั้นคุณแค่หลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกต้องอยู่ในสถานการณ์เหล่านั้นก็พอ แต่ให้อยู่ในสถานการณ์หรือในพื้นที่ที่เต็บไปด้วยการสร้างแรงจูงใจ การกระตุ้นความสนใจ การเปิดโอกาสให้แสดงความมั่นใจ การให้ความสำคัญกับครอบครัว การร่วมกันสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ การส่งเสริมความสนใจใคร่รู้ของลูก การสร้างความเป็นพลเมืองตื่นรู้ให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง ทั้งหมดนี้หากอยู่บนฐานของการสนับสนุนจากคุณก็จะสามารถช่วยลูกให้เลี่ยงภาวะถดถอยได้ เชื่อสิ

 

แอคทีฟ เลิร์นนิ่ง (Active Learning)

            เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ เน้นให้เด็กได้สร้างความรู้ให้เกิดขึ้นในตนเองด้วยการลงมือปฏิบัติ โดยมีครูผู้สอนคอยชี้แนะอำนวยความสะดวก เพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดกระบวนการคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์ สำหรับเด็กในระดับประถมปลายที่เกิดภาวะถดถอยในการเรียนรู้ เนื่องจากเด็กมีวุฒิภาวะน้อยและมีภาวะของการขาดการกำกับตนเองในการเรียนรู้ (Self-regulation) ดังนั้นรูปแบบการเรียนรู้ที่กระตุ้นให้เด็กได้วิเคราะห์ ระดมสมอง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น กล้าตอบคำถาม จึงเป็นกระบวนการที่ช่วยเด็กให้หลุดพ้นจากภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ได้ เด็กจะสามารถสร้างองค์ความรู้และจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพราะเด็กจะรู้สึกมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน

 

ประสบการณ์และการได้ทบทวนตัวเองของลูก

จะช่วยกำจัดเจ้าภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ได้แน่

 

ปริณุต ไชยนิชย์

 

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.matichonweekly.com/column/article_531155

https://www.sanook.com/news/8614190/

https://so02.tci-thaijo.org/index.php/isshmu/article/view/256582/173040

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow