Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

8 เทคนิคสร้างสิ่งล่อใจ เพื่อช่วยสร้างวินัยให้ลูก

Posted By Plook TCAS | 13 ก.พ. 66
876 Views

  Favorite

          หากคุณอยากให้ลูกมีวินัย คุณต้องรู้จักสร้างสิ่งล่อใจลูกให้เป็น แหม ๆ ใคร ๆ ก็ชอบของรางวัล แม้แต่คุณเอง จะเลือกเติมน้ำมันปั๊มไหน ถ้าไม่สามารถแลกคะแนน หรือสะสมแต้มได้ คุณก็ไม่เติมหรอก ไม่ต่างจากลูกประถมปลายของคุณเลย เทคนิคนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ คุณต้องใช้มัน เพื่อสร้างวินัยให้ลูกคุณ สิ่งล่อใจก็คือการจูงใจที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ หากได้ศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการจูงใจแล้ว คุณจะสามารถเข้าใจพฤติกรรมต่าง ๆ ของลูกได้ และจะสามารถสร้างแนวทางเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจูงใจให้ลูกพัฒนาวินัยแห่งตน โดยเริ่มจาก

 

1. เปิดโอกาสให้ลูกขอสิ่งที่อยากได้เมื่อทำสิ่งใดสำเร็จ

แต่คุณต้องกำหนดว่า ราคาไม่เกินเท่าไหร่ เพื่อกำหนดเพดานของสิ่งที่ลูกต้องการไม่ให้มากจนเกินกว่าที่คุณจะสร้างให้เกิดขึ้นได้

 

2. ไม่สั่งแต่เป็นการโอบกอด

กินข้าวเร็ว กลับบ้านเร็ว ทำการบ้านเร็ว นอนเร็ว คำว่าเร็ว ๆ ของคุณ คุณรู้หรือไม่ว่า สร้างความรู้สึกว่าลูกกำลังถูกสั่งการให้ทำอยู่ สิ่งที่คุณควรทำคือ กำหนดเกณฑ์ไปเลยว่า ให้กินเสร็จภายในกี่นาที และเมื่อทำได้ คุณอย่าลืมกอดลูกของคุณด้วย

 

3. อาจไม่ใช่สิ่งของ

สังเกตลูกว่า เขามีความสุขเวลาที่คุณหรือใครทำอะไรให้ และคุณนำสิ่งนั้นแหละมาล่อใจลูก เพื่อให้ลูกปฏิบัติตามสิ่งที่คุณต้องการ

 

4. คำชม

ชมลูกแต่ไม่ชมพร่ำเพรื่อ คุณต้องวางแผนสร้างให้คำชมคือสิ่งล่อใจสำหรับลูก แต่ต้องเป็นคำชมที่ดูเป็นธรรมชาติและจริงใจ มากกว่าการหวังผลให้ลูกทำในสิ่งที่คุณต้องการ

 

5. สะสมแต้ม

จัดโปรโมชั่นกับลูกเลยว่า หากสะสมแต้มได้คะแนนเท่านี้ ลูกจะได้อะไร และวิธีสะสมแต้มคืออะไร เช่น หากทำการบ้านเสร็จภายในเวลาที่กำหนดจะได้กี่แต้ม ช้าไป 30 นาที จะได้กี่แต้ม และสะสมครบกี่แต้มจะได้อะไร ลูกคงสนุกกับการสร้างวินัยกับคุณไม่น้อยเลยว่ามั้ย

 

6. เข้าใจพลังลับของการจูงใจ

การจูงใจ หมายถึง การนำเอาปัจจัยต่าง ๆ มาเป็นแรงผลักดันให้ลูกแสดงพฤติกรรมออกมาอย่างมีทิศทาง เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายที่ต้องการ ดังนั้นผู้ที่ทำหน้าที่จูงใจลูก จะต้องค้นหาว่าลูกประถมปลายมีความต้องการหรือมีความคาดหวังอย่างไร มีประสบการณ์ ความรู้ และทัศนคติในเรื่องนั้น ๆ อย่างไร แล้วพยายามดึงเอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็น แรงจูงใจ (Motive) ในการแสดงพฤติกรรม หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต่าง ๆ และอย่าลืมว่า การจูงใจ เป็นกระบวนการชักจูง เร้าใจที่เกิดขึ้นในตัวบุคคล และทำให้อยากทำพฤติกรรมต่าง ๆ ออกมาโดยที่ตัวเองอยากทำตามที่ตัวเองปรารถนา หรือทำพฤติกรรมตามที่คุณอยากให้ลูกของคุณทำก็ได้

 

7. เรียนรู้การสร้างพลังให้ลูก

พลังหรือแรงภายในของลูก ทำให้เขาเกิดพฤติกรรมและควบคุมแนวทางของพฤติกรรมให้บรรลุจุดหมาย เป็นตัวการที่ก่อให้เกิดพลังงานในการแสดงพฤติกรรม เป็นสิ่งเร้าสิ่งกระตุ้นให้ร่างกายไม่หยุดนิ่ง เป็นสิ่งซึ่งต้องการได้รับการเสริมแรง เช่น เมื่อลูกเกิดแรงจูงใจ ลูกต้องได้รับการตอบสนอง อาจเป็นรางวัลสิ่งของเป็นการเสริมแรงภายนอก ทำให้สภาพร่างกายของลูกเปลี่ยนแปลงไป ทำให้สภาพอารมณ์ของลูกเปลี่ยน ก่อให้เกิดนิสัยความเคยชิน ลูกจะสร้างความรู้สึก ที่ทำให้ตนเกิดความมุ่งหวัง อยากได้สิ่งต่าง ๆ และจัดการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมเสียใหม่

 

8. เข้าใจธรรมชาติของแรงจูงใจ

พฤติกรรมส่วนใหญ่มักจะมีแนวทางมุ่งไปยังเป้าหมายที่ช่วยตอบสนองความต้องการพื้นฐานทางกายให้สำเร็จตามความต้องการนั้น ๆ เช่น มนุษย์มีความต้องการทางร่างกาย ทำให้ต้องกินนอน ขับถ่าย ฯลฯ อยู่ตลอดเวลา และคนเราจะมีวิธีการในการหาวิธีสนองความต้องการเหล่านั้น การศึกษาเรื่องของการจูงใจ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้เราได้เข้าใจถึงพฤติกรรมและวิธีการในการสร้างหนทางเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทิศทางที่ต้องการให้กับลูกประถมปลาย

 

แล้วคุณจะค้นพบว่าวินัยแห่งตนสร้างไม่ยาก

ด้วยการสร้างแรงจูงใจผ่านสิ่งล่อใจ

 

ปริณุต ไชยนิชย์

ที่มาของข้อมูล https://sites.google.com/site/rtech603xx/unit-4

https://shorturl.asia/j9n3E

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow