Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

8 วัสดุปูพื้นบ้านที่น่าสนใจ

Posted By Plook Creator | 03 ก.พ. 66
1,668 Views

  Favorite

พื้นบ้านเป็นส่วนสำคัญของบ้านที่บางคนอาจมองข้าม ทั้งที่แท้จริงแล้วพื้นมีความสัมพันธ์กับบรรยากาศภายในห้อง รวมถึงความรู้สึกจากการใช้งาน การเลือกใช้วัสดุต่างประเภท ทำให้บรรยากาศและความรู้สึกจากการใช้งานแตกต่างกันออกไป ปัจจุบันมีวัสดุหลากหลายให้เลือกตั้งแต่ราคาถูกไปจนถึงราคาแพง ดังนั้น มาทำความรู้จักวัสดุปูพื้นแต่ละประเภทก่อนเลือกใช้งานกันเถอะ

 

พื้นกระเบื้องเซรามิก

กระเบื้องเซรามิกหรือพื้นกระเบื้องนั้นมักพบเห็นได้บ่อยตามบ้านเรือนทั่วไป โดยมีหลายประเภท หลายชนิด หลายเกรด ให้เลือกใช้

ข้อดีของพื้นกระเบื้องเซรามิก มีความทนทาน ทำความสะอาดง่าย มีลวดลายและสีสันให้เลือกมากมาย ทนต่อความชื้น ไม่ติดไฟ หาซื้อง่าย มีหลายระดับราคา

ข้อด้อยของพื้นกระเบื้องเซรามิก ผิวสัมผัสเย็น ไม่เหมาะกับบ้านที่มีผู้สูงอายุ น้ำหนักมาก มีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งสูง ซ่อมแซมยาก และอาจเกิดปัญหายาแนวหลุดร่อนเมื่อใช้ไปสักระยะหนึ่ง

ภาพ : Shutterstock

 

พื้นไม้ (Wood)

พื้นไม้ให้ความรู้สึกอบอุ่น โดยไม้ที่นิยมใช้ทำพื้นจะเป็นไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้เต็ง ไม้แดง ไม้มะค่า ไม้ตะแบก ไม้สัก

ข้อดีของพื้นไม้ มีสีสันและลวดลายสวยงามตามธรรมชาติ มีความแข็งแรงทนทาน สามารถขัดผิวหน้าและทำสีใหม่ได้

ข้อด้อยของพื้นไม้ ราคาค่อนข้างแพงและหายาก เมื่อสัมผัสกับความชื้นเป็นเวลานาน อาจทำให้บิดงอ (จึงไม่เหมาะกับการทำพื้นห้องน้ำ) และอาจมีปัญหาเรื่องปลวกหรือการยืดหดตัวของไม้ตามมาได้

 

พื้นไม้ลามิเนต

พื้นไม้ลามิเนตเป็นพื้นแบบผสมผสาน ทำจากเศษไม้ที่นำมาบดละเอียดแล้วอัดขึ้นเป็นแผ่น นิยมนำไปใช้ปูพื้นห้องนั่งเล่น ห้องนอน โถงทางเดิน และพื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่สัมผัสกับความชื้น

ข้อดีของพื้นไม้ลามิเนต ราคาถูกกว่าพื้นไม้จริง ติดตั้งง่าย ทำความสะอาดง่าย น้ำหนักเบา ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติคล้ายกับวัสดุพื้นไม้จริง มีอายุการใช้งานเฉลี่ยยาวนานถึง 10-15 ปี ป้องกันการขีดข่วน มีให้เลือกหลายแบบ

ข้อด้อยของพื้นไม้ลามิเนต หากสัมผัสกับความชื้นแผ่นลามิเนตจะบวมและหลุดร่อนได้ นอกจากนี้ยังต้องระวังเรื่องปลวกด้วย เก็บเสียงได้ไม่ดีนัก ไม่เป็นฉนวนความร้อน ไม่สามารถทาสีใหม่ได้เหมือนพื้นไม้จริง

 

พื้นพรม

เป็นที่นิยมในสหรัฐอเมริกา เหมาะสำหรับห้องนอน ห้องนั่งเล่น แต่สำหรับประเทศไทยนั้นไม่เป็นที่นิยมนัก เนื่องจากทำความสะอาดยาก

ข้อดีของพื้นพรม ติดตั้งง่าย มีหลายสีหลายชนิดหลายขนาดให้เลือก ช่วยดูดซับเสียง ให้ความรู้สึกนุ่มสบายและอบอุ่น

ข้อด้อยของพื้นพรม ทำความสะอาดยาก เก็บฝุ่น มีกลิ่นอับเมื่อใช้ไปเป็นระยะเวลานาน ติดไฟได้ง่าย

ภาพ : Shutterstock

 

กระเบื้องยาง

กระเบื้องยางมีทั้งแบบผลิตจากยางพาราและผลิตจากโพลิเมอร์ นิยมใช้ปูพื้นหลากหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภายในอาคารสำนักงาน

ข้อดีของพื้นกระเบื้องยาง มีความยืดหยุ่นมากกว่าพื้นไม้ลามิเนต ติดตั้งง่าย ซ่อมแซมและดูแลรักษาง่าย ราคาถูกกว่ากระเบื้องเซรามิก มีลวดลายหลากหลาย ทนต่อน้ำ ความชื้น และความร้อน ไม่ลามไฟ พื้นไม่ลื่น รองรับน้ำหนักและแรงกระแทกได้ดี

ข้อด้อยของพื้นกระเบื้องยาง เป็นรอยขีดข่วนได้ง่าย หลุดร่อนง่าย อายุใช้งานสั้น การติดตั้งต้องมีการปรับพื้นให้เรียบจึงจะทำให้การติดตั้งออกมาสวยงาม ไม่ทนต่อสารเคมีบางประเภท ยืดหดได้ตามสภาพอากาศ

 

พื้นหินอ่อน

หินอ่อนเป็นวัสดุที่มีลวดลายสวยงามจากการทับถมกันของชั้นหินปูน ลวดลายหินอ่อนทำให้ดูหรูหราและสวยงาม ดังนั้น นอกจากกระเบื้องหินอ่อนแท้ที่ทนทานแล้ว ยังมีกระเบื้องลายหินอ่อนที่เป็นกระเบื้องเซรามิกด้วย

ข้อดีของพื้นหินอ่อน มีความแข็งแรงทนทาน มีอายุการใช้งานยาวนาน ให้ความรู้สึกหรูหราและสวยงาม มีอายุการใช้งานยาวนาน ดูแลรักษาง่าย มีสัมผัสที่เย็นสบายเนื่องจากพื้นหินอ่อนจะดูดซับความเย็นได้ดี

ข้อด้อยของพื้นหินอ่อน ราคาแพง เกิดริ้วรอยได้ง่าย ลื่น มีน้ำหนักมาก ให้ความรู้สึกแข็งกระด้าง หากสัมผัสกับสารเคมีที่มีความเป็นกรด จะเกิดรอยด่าง และสีซีดหากโดนแสงแดดนานๆ

 

พื้นหินขัด

พื้นหินขัดเป็นพื้นที่ใช้เทคนิคการตกแต่งด้วยปูนซีเมนต์ขาว หินเกล็ด สีผสมซีเมนต์ หรือวัสดุอื่น ๆ โดยมีหลายประเภทด้วยกัน เช่น Cement Terrazzo, Sand Cushion Terrazzo, Epoxy Terrazzo

ข้อดีของพื้นหินขัด มีความแข็งแรงทนทาน ทำความสะอาดและดูแลรักษาง่าย มีลวดลายและสีสันหลากหลาย

ข้อด้อยของพื้นหินขัด มีน้ำหนักมาก มีความลื่น ไม่เหมาะสำหรับทำพื้นห้องน้ำ ซ่อมแซมได้ยากหากแตกร้าว

ภาพ : Shutterstock

 

พื้นไม้กันน้ำ หรือ WPC (Wood Plastic Composite)

พื้นไม้กันน้ำผลิตมาจากเศษไม้และผงพลาสติก นำมาอัดหรือฉีดขึ้นรูป หรือใช้เครื่องกดความร้อนขึ้นรูป

ข้อดีของพื้นไม้กันน้ำ ทำความสะอาดง่าย ติดตั้งง่าย ไม่ลามไฟ ทนแดดทนฝน กันน้ำและความชื้น ไม่มียืดหดตัวเมื่ออุณหภูมิเปลี่ยน มีอายุใช้งานประมาณ 10 ปี

ข้อด้อยของพื้นไม้กันน้ำ หาซื้อยาก เกิดรอยขีดข่วนได้ง่าย ดูแลรักษาและซ่อมแซมยาก

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow