Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เทคนิคการแก้ปัญหา เมื่อลูกคิดสร้างสรรค์แบบวิทยาศาสตร์ไม่ได้

Posted By Plook TCAS | 24 ม.ค. 66
1,674 Views

  Favorite

          ทักษะการคิดวิเคราะห์  ถือเป็นทักษะการคิดที่มีความสำคัญและเป็นคุณลักษณะของผู้เรียนตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช  2551  เป็นกระบวนการทางปัญญาที่มนุษย์ใช้ในการตรวจสอบความรู้ ข้อมูลข่าวสารเพื่อให้เกิดความถูกต้องเที่ยงตรงและน่าเชื่อถือ เชื่อว่าคุณทุกคนต้องการให้ลูกคิดวิเคราะห์เป็น และคุณคงดีใจไม่น้อยถ้าเห็นลูกสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ขึ้นมาจากองค์ประกอบต่าง ๆ  ที่มีอยู่เดิมได้ ว้าว!!!! นั่นแปลว่าลูกของคุณมีศักยภาพในการคิดสูงขึ้นแล้ว เพราะสามารถจัดการกับปัญหาในสถานการณ์ที่เผชิญอยู่อย่างชาญฉลาด แต่หากลูกยังทำไม่ได้ล่ะ นั่นล่ะปัญหา ถ้าเช่นนั้นลองอ่านสิ่งเหล่านี้ เผื่อคุณจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาที่ลูกยังไม่สามารถคิดสร้างสรรค์แบบวิทยาศาสตร์ได้

 

เริ่มต้นทายทักรู้จักวิทยาศาสตร์กันก่อน

          วิทยาศาสตร์เป็นวิชาที่ต้องอาศัยความรู้เดิมกับการคิดวิเคราะห์ในการจัดระบบความรู้ โดยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสสัมผัสและเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงมากที่สุด เพื่อกระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์หาคำตอบด้วยตนเอง ดังนั้นจึงต้องออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างหลากหลาย เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เข้าใจหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ลึกขึ้น นักเรียนได้ฝึกตั้งคำถามและหาวิธีตอบคำถามที่ช่วยให้มนุษย์เข้าใจโลกรอบตัว ไม่ใช่สอนจากตำราวิชาการเพียงอย่างเดียว ดังนั้นคุณลองถามลูกของคุณดูว่าการเรียนการสอนในห้องเรียนวิชาวิทยาศาสตร์เป็นแบบนี้ไหม ถ้าไม่ใช่ แปลว่า ที่ลูกคุณยังคิดสร้างสรรค์แบบวิทยาศาสตร์ไม่ได้ นั่นคงมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากรูปแบบการเรียนการสอนในห้องเรียน

 

สอนเทคนิคให้ลูกเก่งคิดสร้างสรรค์แบบวิทยาศาสตร์

          ลองใช้เทคนิคการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E)  มีขั้นตอน ดังนี้ 1)  ขั้นตรวจสอบความรู้เดิม (Elicit)  2) ขั้นเร้าความสนใจ (Engage) 3)  ขั้นสำรวจและค้นหา (Explore) 4)  ขั้นอธิบายและลงข้อสรุป (Explain) 5)   ขั้นขยายความคิด (Elaborate)  6)  ขั้นตอนการประเมินผล (Evaluate)  7)  ขั้นนำความรู้ไปใช้ (Extend)  ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้ลูกเก่งคิดสร้างสรรค์แบบวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องใช้วงจรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E)  โดยจะเน้นเรื่องการตรวจสอบความรู้เดิมและนำความรู้ไปใช้ ข้อดีของการฝึกให้ลูกของคุณได้ตรวจสอบความรู้เดิมก็คือ จะเป็นวิธีการกระตุ้นให้เด็กเกิดความสงสัย ด้วยการตั้งคำถาม เป็นขั้นตอนที่เด็กเชื่อมโยงความรู้เดิมกับประสบการณ์ใหม่  โดยใช้กระบวนการค้นคว้าเพื่อหาคำตอบ การฝึกคิดวิเคราะห์ เพื่อนำมาเขียนอภิปรายผลการทดลอง สรุปผลการทดลอง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และนำความรู้ที่ได้ไปเชื่อมโยงและแก้ปัญหาสถานการณ์ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

ฝึกทักษะการคิดในเชิงสัมพันธ์และเปรียบเทียบได้

          การอธิบายปรากฏการณ์ในเชิงวิทยาศาสตร์เป็นความสามารถและความเข้าใจพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยส่งเสริมให้ลูกมีความรอบรู้และทักษะทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นสมรรถนะที่ควรเกิดขึ้นในขั้นต้นของการเรียนรู้  เพื่อให้ลูกสามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติโดยใช้บริบททางวิทยาศาสตร์จากองค์ประกอบ  ดังต่อไปนี้  1)  ข้อกล่าวอ้าง  2)  หลักฐาน และ 3) การให้เหตุผล จะต้องใช้ความรู้  ความเข้าใจ  วิเคราะห์และอธิบายข้อมูล ตลอดจนใช้หลักฐานที่ได้จากการรวบรวมความรู้และการสังเกตหรือทดลองนำมาสร้างคำอธิบายปรากฏการณ์ในเชิงวิทยาศาสตร์  แต่จากการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่  4  พบว่า ทำให้เด็กยังขาดทักษะการอธิบายเพื่อแสดงความสัมพันธ์อย่างสมเหตุสมผลในเหตุการณ์หรือเรื่องราวต่าง ๆ โดยเด็กสามารถบอกข้อเท็จจริงจากการสังเกตได้ก็จริง แต่ยังไม่สามารถนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปใช้สร้างคำอธิบายเพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างคำตอบและเหตุผล รวมถึงการใช้อารมณ์หรือความรู้สึกส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้องในการสร้างคำอธิบาย ซึ่งเด็กในช่วงอายุ 7-11 ปี สามารถรับรู้และใช้เหตุผลในการสร้างกฎเกณฑ์ มองเห็นความสัมพันธ์สิ่งที่เป็นนามธรรมมากขึ้น รวมทั้งสามารถคิดในเชิงสัมพันธ์และเปรียบเทียบได้ ตลอดจนสามารถอธิบายเหตุผลได้

 

อย่ารอครู ผู้ปกครองฝึกลูกเองเลย

          ปัจจุบันมีการปรับสมดุลใหม่ที่คุณและลูกของคุณต้องปรับตัวให้ทันสถานการณ์อยู่เสมอ โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งมีผลต่อการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก ปัญหาสำคัญในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์จนไม่สามารถสร้างให้ลูกเก่งคิดสร้างสรรค์แบบวิทยาศาสตร์ คือ เนื้อหาวิทยาศาสตร์มีทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ส่วนที่เป็นนามธรรมจะไม่สามารถจัดการเรียนรู้โดยใช้การบรรยายแบบปกติได้ ต้องหาวิธีจัดการเรียนรู้โดยแสดงลักษณะที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าให้ออกมาเป็นสิ่งที่อธิบายได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ อย่างเข้าใจ นอกจากนี้สิ่งที่มีปัญหามากที่สุดในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์คือ “การทำปฏิบัติการ” การใช้เฉพาะปฏิบัติการที่อยู่บนออนไลน์หรือกิจกรรมที่ไม่ได้ทำการทดลอง ส่วนใหญ่ทำได้เพียงทำให้ลูกของคุณจดจำภาพที่เกิดขึ้นจากการสังเกตในสื่อวีดิทัศน์ ใช้กิจกรรมลงมือปฏิบัติแบบแห้ง (dry practical) หรือด้วยเทคนิคการจำลอง (simulation) ต่าง ๆ ก็อาจไม่เท่าเทียมกับการปฏิบัติการจริง

 

อย่ารอให้โรงเรียนฝึกลูกให้เก่งคิดสร้างสรรค์แบบวิทยาศาสตร์ เพียงฝ่ายเดียว

ผู้ปกครองอย่างเรา... ลุยเองได้เลยค่ะ

 

ปริณุต ไชยนิชย์

อาจารย์ประจำสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (RMUTSB : RUS)

 

ข้อมูลอ้างอิงจากงานวิจัย

https://so06.tci-thaijo.org/index.php/jomld/article/download/248629/169560

https://so04.tci-thaijo.org/index.php/JSSE/article/view/256185

https://so02.tci-thaijo.org/index.php/banditvijai/article/view/249716/170869

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow