Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิธีเลี้ยงกระต่ายที่มือใหม่หัดเลี้ยงควรรู้

Posted By Plook Creator | 12 ม.ค. 66
22,312 Views

  Favorite

กระต่ายเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดเล็ก มีขนปุกปุยทั่วลำตัว หางกลมสั้น และมีใบหูยาวเมื่อเทียบกับสัตว์อื่น มีช่วงน้ำหนักตั้งแต่ 1-7 กิโลกรัม หากได้รับการดูแลอย่างดีจะมีอายุอยู่ในช่วง 8-12 ปี


ปัจจุบันการเลี้ยงกระต่ายเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นสัตว์ขนาดเล็ก มีความน่ารัก ดูเหมือนเลี้ยงง่าย แต่มักง่ายในการเลี้ยงไม่ได้ เนื่องจากกระต่ายเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีลักษณะเฉพาะ พวกมันมีความต้องการเฉพาะเพื่อมีชีวิตที่ยืนยาว ความสุข และสุขภาพที่ดี ดังนั้นสำหรับมือใหม่หัดเลี้ยง หรือผู้ที่กำลังเลี้ยงอยู่ ควรรู้ถึงเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงกระต่ายอย่างถูกต้อง


วิธีเลี้ยงกระต่ายที่มือใหม่หัดเลี้ยงควรรู้

1. รู้จักสายพันธุ์ของกระต่าย

ก่อนจะเลี้ยงผู้เลี้ยงจำเป็นต้องรู้จักสายพันธุ์ของกระต่าย เพื่อศึกษาธรรมชาติ พฤติกรรม ลักษณะเฉพาะของสายพันธุ์นั้นๆ เพื่อเลือกเลี้ยงให้เหมาะสมกับความสามารถในการเลี้ยงของตนเอง ซึ่งอาจเลือกสายพันธุ์จากขนาดของกระต่ายโดยแบ่งออกเป็น กระต่ายขนาดเล็กหรือกระต่ายแคระ, กระต่ายขนาดกลาง และกระต่ายขนาดใหญ่


5 สายพันธุ์กระต่ายยอดนิยม

shutterstock/plook knowledge



1. มินิเร็กซ์ (Mini Rex) กระต่ายขนาดเล็ก มีน้ำหนักของตัวโตเต็มที่ประมาณ 1.6-2.07 กิโลกรัม ขนนุ่มเหมือนกำมะหยี่ อารมณ์ดี ไม่จำเป็นต้องตกแต่งขน ช่วงเวลาผลัดขนเพียงใช้มือลูบขนที่ตายก็จะหลุดออกไป มีอายุขัย 5-7 ปี

2. เนเธอร์แลนด์ดวอร์ฟ (Netherland Dwarf) กระต่ายขนาดเล็กจิ๋ว มีน้ำหนักของตัวโตเต็มที่ประมาณ 7 ขีด-1.5 กิโลกรัม หูสั้น หัวกลมเป็นรูปแอปเปิ้ล ขนาดตัวกะทัดรัด มีนิสัยขี้อาย เป็นมิตรและขี้เล่น ควรเลี้ยงในที่ร่มและต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอ มีความเสี่ยงสูงเรื่องการสบฟันที่ผิดปกติ มีอายุขัย 10-12 ปี

3. ฮอลแลนด์ลอป (Holland Lop) เป็นกระต่ายขนาดกลาง มีน้ำหนักของตัวโตเต็มที่ประมาณ 1.3-1.6 กิโลกรัม รูปร่างเล็ก ลำตัวแน่น กลม หัวสั้น หูตก ขี้อาย มีพลัง เป็นมิตร ต้องการพื้นที่ในการเดินเล่น มีอายุขัย 7-14 ปี

4. ซาตินแองโกลา (Satin Angora) มีขนยาวตลอดทั้งตัว ลักษณะขนส่องประกายแวววาวเหมือนผ้าซาติน ลำตัวยาวขนาดกลาง รูปร่างกลม หูตั้ง มีน้ำหนักของตัวโตเต็มที่ประมาณ 3.5-4.5 กิโลกรัม มีอายุขัยประมาณ 7-12 ปี

5. ดัตช์ (Dutch) รูปร่างกลม สั้น มีสีเป็นเอกลักษณ์ คือ ตั้งแต่บริเวณหูไปถึงแก้มเป็นสีหนึ่ง และอีกด้านมีสีขาวลงไปถึงอก มีน้ำหนักของตัวโตเต็มที่ประมาณ 1.8-2.5 เป็นสายพันธุ์อารมณ์ดี อ่อนโยน เข้ากับคนง่าย มีอายุ 5-8 ปี


2. เตรียมสถานที่สำหรับเลี้ยงกระต่าย

เลี้ยงภายในบ้าน
การเลี้ยงกระต่ายภายในตัวบ้านมีหลายทางเลือก ทั้งเลี้ยงแบบปล่อยอิสระในห้อง ให้อยู่ในคอกลูกสุนัข คอนโดกระต่าย หรือกรงกระต่ายขนาดใหญ่ ที่สำคัญควรมีพื้นที่ขนาดใหญ่พอที่จะให้กระต่ายได้กระโดดเล่นไปมาได้ และควรปล่อยออกจากคอกอย่างน้อยสองถึงสามชั่วโมงทุกวันเพื่อให้กระต่ายได้ออกกำลังกาย อีกทั้งพื้นที่ของกระต่ายต้องอยู่ไม่ห่างจากเจ้าของ
การเตรียมพื้นที่สำหรับการเลี้ยงกระต่ายภายในบ้าน
 

shutterstock



เลี้ยงแบบปล่อยอิสระในห้อง การเลี้ยงแบบปล่อยอิสระในห้อง ควรเลือกเลี้ยงน้องไว้ในห้องใดห้องหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่มักเลือกเลี้ยงไว้ในห้องทำงาน อุปกรณ์เลี้ยงน้องที่ต้องมีคือ กระบะทราย กล่องใส่หญ้าแห้ง และถาดอาหาร โดยวางไว้บนแผ่นรองพลาสติกเพื่อกันหกหรืออุบัติเหตุต่างๆ การเลี้ยงแบบปล่อยอิสระนี้น้องกระต่ายจะได้เพลิดเพลินกับการเดินสำรวจ หรือวิ่งอย่างรวดเร็วได้ตามที่ต้องการ และจะดีไม่น้อยหากมีปราสาทกระดาษแข็งหรือทำเองจากลังกระดาษไว้ให้น้องเข้าไปหลบพักผ่อนคลายเปลี่ยนบรรยากาศด้วย

คอกลูกสุนัข เลือกคอกที่มีขนาดใหญ่พอจะวางสิ่งของจำเป็นทั้งหมดสำหรับกระต่าย และยังเหลือพื้นที่ให้น้องกระต่ายได้เดินเล่นด้วย อีกทั้งต้องง่ายต่อการเคลื่อนย้ายเมื่อจำเป็น หากกังวลว่าพื้นห้องหรือพรมจะเลอะหรือเสียหาย สามารถใช้แผ่นปูพลาสติก เสื่อน้ำมัน หรือพรมเก่ารองใต้คอกก็ได้ แต่ต้องระวังและมั่นใจว่าน้องกระต่ายจะไม่แทะกินอุปกรณ์ที่รองนั้นเข้าไป เพราะจะทำให้เกิดการอุดตันเป็นอันตรายกับน้องได้ โดยปกติแล้วคอกสุนัขด้านบนจะโล่งไม่มีที่ปิด ดังนั้นควรซื้อคอกที่สูงพอที่กระต่ายจะไม่สามารถกระโดดข้ามได้ ซึ่งความสูงของคอกควรสูงประมาณ 36 นิ้วขึ้นไป และเลือกวางไว้ตรงมุมใดมุมหนึ่งของห้องภายในบ้าน

คอนโดกระต่าย สามารถหาซื้อได้ที่ร้านขายอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงทั่วไป แต่หากมีเวลาและฝีมือสามารถใช้ไม้, โลหะ, เฟอร์นิเจอร์เก่า หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่มีมาสร้างคอนโดกระต่ายให้น้องๆ ได้ด้วยตัวเอง แต่ข้อควรระวังคือ ไม่ควรใช้ลวดตาข่ายหรือลวดไก่มาทำคอนโดกระต่าย เพราะน้องอาจจะเคี้ยวและกลืนมันเข้าไปทำให้เป็นอันตรายได้ หากใช้แผ่นโลหะ ควรให้แต่ละแผ่นชิดกันพอสมควรเพื่อป้องกันไม่ให้กระต่ายจะยื่นหัวออกมาได้ ไม่เช่นนั้นน้องจะได้รับบาดเจ็บหรือถูกรัดคอ

กรงกระต่าย กรงกระต่ายจะมีพื้นที่ให้น้องน้อยที่สุด ดังนั้นหากเลือกเลี้ยงในกรง ควรเลือกกรงขนาดใหญ่พอที่จะมีพื้นที่ว่างให้น้องขยับตัวและนอน พร้อมทั้งมีพื้นที่สำหรับวางถาดอาหาร ถ้วยน้ำ กระบะทราย รวมถึงของเล่นของน้องด้วย และกรงควรมีประตูให้น้องออกไปไหนมาไหนได้บ้าง หากพื้นกรงเป็นลวดตาข่ายต้องมีกระเบื้องหรือไม้หรือวัสดุปูพื้นกรงด้วย ป้องกันอุ้งเท้าน้องเสียหายหรือบาดเจ็บจากการยืนหรือนอนบนพื้นลวด อีกทั้งต้องมีเวลาปล่อยน้องออกมานอกกรงอย่างน้อยสองถึงสามชั่วโมงต่อวัน

นอกจากนี้ น้องกระต่ายจะวิ่งสำรวจไปทั่วห้อง ดังนั้นต้องเตรียมพื้นที่ปลอดภัยสำหรับน้องกระต่ายพร้อมทั้งป้องกันความเสียหายของบ้านหรือทรัพย์สินในห้องด้วย เช่น หุ้มสายไฟทั้งหมดด้วยปลอกพลาสติกหรือท่ออ่อน หรือยกสายไฟให้สูงเกินกว่ากระต่ายจะกระโดดถึง ติดพลาสติกกันกระแทกหรือโดนแทะ กั้นพื้นที่บางส่วนเพื่อป้องกันข้าวของอย่างบนชั้นหนังสือ ต้นไม้ เนื่องจากนิสัยพื้นฐานของกระต่ายจะมักแทะและเคี้ยวของทุกอย่างที่เอื้อมถึง

เลี้ยงนอกบ้าน
สำหรับที่อยู่ของกระต่ายหลักการเดียวกับเลี้ยงภายในบ้าน แต่ที่สำคัญต้องคำนึงถึงสภาพอากาศ ดังนั้นกรงหรือคอกกระต่ายควรมีหลังคากันฝน กันแดด กันลมได้ มีความสูงพอที่กระต่ายจะกระโดดออกมาไม่ได้ มีประตูปิดแน่นหนาและมั่นใจว่ามิดชิดพอที่น้องจะไม่หลุดออกมา และสัตว์อื่นๆ เช่น งู สุนัข แมว เข้าไปทำร้ายน้องไม่ได้ ปูพื้นกรงด้วยหญ้าหรือฟางจะช่วยเพิ่มความอบอุ่นในตอนกลางคืนได้ด้วย
 

shutterstock


 
เตรียมที่ขับถ่าย
โดยธรรมชาติกระต่ายจะขับถ่ายในพื้นที่หนึ่ง ดังนั้นให้ตั้งกระบะทรายขนาดกลางไว้ใกล้กับถาดอาหาร ถ้วยน้ำ หญ้าแห้ง และใช้กระดาษหนังสือพิมพ์รองเป็นชั้นบางๆ ที่ด้านล่างกระบะทราย อย่าใช้ดินเหนียว ทรายแมว หรือ ขี้กบหรือขี้เลื่อย (wood shavings) เพราะจะเป็นอันตรายกับน้องกระต่าย


3. เตรียมอาหารกระต่าย

หญ้าแห้ง
กระต่ายกินหญ้าแห้งเป็นหลัก ดังนั้นควรมีหญ้าแห้งให้กระต่ายตลอดเวลา ซึ่งหญ้าแห้งแต่ละชนิดจะเหมาะกับช่วงวัยของกระต่ายแตกต่างกันดังนี้

หญ้าแห้งอัลฟัลฟ่า (Alfalfa hay) หวาน นุ่ม มีแคลเซียมและโปรตีนสูง เหมาะกับลูกกระต่ายอายุ 1-6 เดือน กระต่ายฝึกกินหญ้า กระต่ายป่วย กระต่ายแก่ กระต่ายตั้งท้องและให้นมลูก แต่ไม่เหมาะกับกระต่ายฟันยาวที่ต้องการเคี้ยวเพื่อขัดฟัน เนื่องจากหญ้ามีลักษณะนุ่มเกินไป

หญ้าแห้งทิมโมธี (Timothy hay) หวานเล็กน้อย ไม่แข็งเกินไป ขัดฟันได้ดี เหมาะกับกับต่าย 6 เดือนขึ้นไป กระต่ายฝึกกินหญ้า และกระต่ายฟันยาวที่ต้องการขัดฟัน

หญ้าแห้งออชาร์ด (Orchard Grass Hay) ใบยาว นุ่มและหวาน กินง่าย เหมาะกับกระต่าย 6 เดือนขึ้นไป กระต่ายฝึกกินหญ้า แต่ไม่เหมาะกับกระต่ายฟันยาวเนื่องจากนุ่มเกินไป

หญ้าแห้งข้าวโอ๊ต (Oat hay) รสหวานน้อย แห้งแข็งจึงขัดฟันได้ดี เหมาะกับกระต่ายฟันยาว
 

shutterstock



ผักสด ผลไม้ อาหารเม็ด และน้ำเปล่า
นอกจากหญ้าแห้งแล้ว ให้เพิ่มผักสดและผลไม้ เช่น ผักกาดขาว, แครอท, มะละกอ, เมล่อน, แอปเปิ้ล, สตรอเบอรี่ เป็นต้น และอาหารเม็ดที่มีไฟเบอร์สูง โดยให้ปริมาณที่จำกัดสำหรับกระต่ายที่โตเต็มวัย ส่วนน้ำควรให้น้ำสะอาด ปริมาณ 100 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน

ข้อควรระวัง: ห้ามให้อาหารและขนมของคน เช่น ข้าว ขนมปัง บิสกิต กับกระต่ายอย่างเด็ดขาด


4. การทำความสะอาดกระต่าย

โดยธรรมชาติกระต่ายเป็นสัตว์รักความสะอาดและพวกมันจะอาบน้ำบ่อยๆ อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องแปรงขนกระต่ายเป็นประจำ เนื่องจากกระต่ายจะมีการผลัดขนปีละสองครั้ง ดังนั้นการแปรงขนเพื่อกำจัดขนส่วนเกินออกให้หมดจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่เช่นนั้นกระต่ายอาจกินขนเข้าไปและเกิดปัญหาการย่อยอาหารอย่างรุนแรงได้
 

shutterstock

 

5. การดูแลสุขภาพ พากระต่ายไปพบสัตว์แพทย์

กระต่ายเป็นสัตว์ผู้ถูกล่า ดังนั้นโดยสัญชาตญาณตามธรรมชาติพวกมันมักซ่อนอาการเจ็บป่วยไว้ ผู้เลี้ยงต้องคอยใส่ใจสังเกตดูพฤติกรรมการกินและการขับถ่ายของกระต่ายว่าเปลี่ยนไปหรือไม่ หากมีพฤติกรรมผิดปกติให้ติดต่อสอบถามหรือพาไปพบสัตว์แพทย์โดยทันที และเนื่องจากโรคในกระต่ายมีทั้งที่ไม่ติดต่อและติดต่อไปสู่คนได้ เช่น ไข้กระต่าย, โรคเชื้อราที่ผิวหนัง, ท้องเสียจากเชื้อบิด, โรคภูมิแพ้ เป็นต้น ผู้เลี้ยงจึงจำเป็นต้องพากระต่ายไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ และฉีดยาป้องกันเห็บ หมัด ไรขน หรือผู้เลี้ยงอาจใช้ยาหยอดให้กระต่ายด้วยตัวเองก็ได้  
 

shutterstock



นอกจากนี้กระต่ายยังเป็นสัตว์ที่แพร่พันธุ์เร็วมาก ใช้เวลาตั้งครรภ์ 30 วัน และติดลูกได้ทันทีหลังคลอด ออกลูกครอกหนึ่งประมาณ 6-10 ตัว และสามารถออกลูกได้ถึง 2-3 ครั้งในแต่ละปี ดังนั้นหากไม่ได้ต้องการเลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์ควรทำหมันให้กระต่าย


6. เข้าใจภาษาและพฤติกรรมที่มีลักษณะเฉพาะของกระต่าย

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่ากระต่ายเป็นสัตว์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความแตกต่างจากน้องหมาและน้องแมว ดังนั้นหากจะเลี้ยงกระต่ายสิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่ากระต่ายคิดอะไร ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับภาษากายที่เป็นเอกลัษณ์ เช่น นอนเหยียดยาว คือ อยากนอนพักไม่ต้องการรบกวน, ทำหัวตก คือ อยากให้ทำความสะอาดให้, เอาจมูกมาดุนๆ คือ อยากให้กอดและลูบหัวเป็นต้น
 

shutterstock

 

7. วิธีจับกระต่าย

ควรจับที่บริเวณหนังด้านท้ายทอยและช้อนที่ก้นของกระต่าย ไม่ควรจับหรือหิ้วหูกระต่าย เพราะบริเวณหูกระต่ายมีเส้นเลือดเยอะมาก หากหิ้วหูน้องจะทำให้หูช้ำ เส้นเลือดบริเวณนั้นฉีกขาดได้
 

shutterstock

 

 

 

แหล่งข้อมูล
My House Rabbit, Abi Cushman, How to care for a pet rabbit, สืบค้นเมื่อ 12 มกราคม 2566, จากเว็บไซต์: https://myhouserabbit.com/
My House Rabbit, Abi Cushman, Housing Your Pet Rabbit Indoors, สืบค้นเมื่อ 12 มกราคม 2566, จากเว็บไซต์: https://myhouserabbit.com/
max’s corner, Beginner Care For Rabbits, สืบค้นเมื่อ 12 มกราคม 2566, จากเว็บไซต์: https://www.petassure.com/maxscorner/
Pet Helpful, CARTER LYNNE, 15 of the Best Pet Rabbit Breeds, สืบค้นเมื่อ 12 มกราคม 2566, จากเว็บไซต์: https://pethelpful.com/  
องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, กระต่ายบ้าน/Rabbit (Oryctolagus cuniculus), สืบค้นเมื่อ 12 มกราคม 2566, จากเว็บไซต์: https://www.zoothailand.org/index.php
Gatoro, GatoWaew, กระต่ายกินอะไรถึงจะเฮลตี้ และวิธีเลือกหญ้าให้น้องอย่างมือโปร, สืบค้นเมื่อ 12 มกราคม 2566, จากเว็บไซต์: https://gatoro.co/
sites.google, WICHUDA, 10 อันดับสายพันธุ์กระต่ายยอดนิยม, สืบค้นเมื่อ 12 มกราคม 2566, จากเว็บไซต์: https://sites.google.com/site/wichuda0po/

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 44 Followers
  • Follow