Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เติมการเรียนรู้ให้ลูก ผ่านการเล่น หรือ Play-Based Learning

Posted By Plook TCAS | 16 ธ.ค. 65
3,407 Views

  Favorite

          ทุกคนเชื่อใน “การเรียนรู้ผ่านการเล่น” หรือ Play-Based Learning หรือไม่ กระบวนการเรียนรู้รูปแบบนี้ได้รับการยอมรับว่าเหมาะสำหรับการดูแลลูกในวัยประถมอย่างมาก หลายคนเข้าใจว่า การเรียนไปด้วยเล่นไปด้วยควรหมดไปตั้งแต่จบอนุบาลแล้ว ซึ่งนั่นคือความผิดพลาดในการดูแลลูกวัยประถม จริง ๆ แล้วการเล่นจะช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ด้วยตัวเอง เพราะการเรียนรู้ผ่านการเล่น (play-based learning) ทำให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะชีวิตที่สำคัญ เช่น การเข้าสังคม การพัฒนาร่างกาย ได้ฝึกฝน และพัฒนาทางด้านความคิด ในขณะเล่นเด็กจะได้สำรวจ คิดสร้างสรรค์ แก้ไขปัญหา ผจญกับความท้าทาย และใช้จินตนาการอย่างเต็มที่ ลูกวัยนี้ควรได้พัฒนาตัวเอง พัฒนาด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมภายนอก หรือโลกที่อยู่รอบตัว และทุกคนก็อยากเห็นลูกวัยนี้เติบโตได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข ถ้าเช่นนั้นลองนำกลยุทธ์การเรียนเล่นสร้างประสบการณ์จากบทความนี้ไปใช้กันดู

 

การเล่นให้รู้จักตัวเอง : ทักษะการเรียนรู้สังคมและความรู้สึก

          เมื่อเด็ก ๆ ในวัยประถมใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่ผ่านมา (ยุคโควิด-19) ยาวนาน 2-3 ปี ตอนนี้โควิดก็ยังไม่หายไปไหน แต่สิ่งที่หายไปกลับเป็นช่วงเวลาเรียนรู้ของเด็กในวัยประถม เนื่องจากต้องทนติดอยู่กับบ้าน ขาดการพบปะเพื่อน ๆ การเล่นก็หายไปด้วย

          แต่สิ่งที่จะทดแทนได้คือการส่งเสริมการเล่น (play-based learning)  ให้เด็กรู้จักตัวเอง ผู้ปกครองจะต้องไม่ตัดกิจกรรมการเล่นนี้ออกไปจากเด็กวัยนี้เด็ดขาด เพราะนอกจากจะช่วยพัฒนาทักษะการเข้าสังคมกับเพื่อน ๆ แล้ว ยังพัฒนาทักษะการเรียนรู้สังคมและความรู้สึกได้ผ่านการแบ่งปัน การร่วมมือกัน การสื่อสารให้ประสบผลสำเร็จ การแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเมื่อเกิดข้อขัดแย้งขึ้นมาในระหว่างการเล่น ซึ่งทักษะนี้เป็นทักษะสังคมที่จำเป็น เด็กหลายคนต้องการการพัฒนาให้เหมาะสมกับวัย การกระตุ้นให้เด็กมีความรับผิดชอบผ่านการเล่น มอบหมายหน้าที่ให้เด็กผ่านการเล่น จะเป็นกำลังหนุนสำคัญที่ช่วยให้เขารู้จักตัวเอง ผ่านการเริ่มเรียนรู้การเข้าสังคม จะเห็นได้ว่าเวลาพาเด็ก ๆ ไปเล่นกับเพื่อนใหม่ หรือในเด็กที่ไม่เคยออกไปเล่นที่ไหนมาก่อน จะพบว่ามีสถานการณ์ต่าง ๆ ที่แตกต่างกันในแต่ละวัน ที่สอนให้เด็กวัยประถมได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะ “ทักษะการเอาตัวรอด” ยิ่งปัจจุบันมักพบปัญหาการกลั่นแกล้งภายในโรงเรียน (school bullying) เกิดขึ้นให้เห็นบ่อยครั้ง แต่เมื่อลูกของเราได้รับการส่งเสริมการเล่นให้รู้จักตัวเอง ลูกจะพัฒนาทักษะการเข้าสังคม เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมแล้ว เขาจะสามารถเข้มแข็งและแก้ไขปัญหาได้เมื่อเจอสถานการณ์เช่นนี้

 

การเล่นให้รู้ว่าชอบอะไร : ทักษะความมั่นใจในตนเอง

          ให้เด็กวัยประถมได้เล่นและตั้งคำถามว่า ตนเองชอบอะไร ผู้ปกครองต้องเชื่อว่า ความชอบของเด็กเป็นแรงใจสูงสุดที่ทำให้เด็กก้าวต่อไปในการศึกษาระดับที่สูงขึ้นได้ ความชอบคือเครื่องหมายของความมั่นใจในตนเอง การที่ผู้ปกครองสงสัยในความชอบของลูกหลานของตนเอง เท่ากับว่า เรากำลังแตะต้องความมั่นใจในตนเองของเขา ทำให้มันถูกสั่นสะเทือนจนอาจทำให้เกิดความสูญเสียความมั่นใจ

          พื้นที่ในโรงเรียนซึ่งเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานอาจไม่เพียงพอต่อการเล่นเพื่อให้รู้ว่าชอบอะไรของเด็ก ๆ ดังนั้นหากผู้ปกครองมีเวลาและมีทุนทรัพย์ อาจหากิจกรรมเสริมเพื่อการเล่นให้รู้ว่าชอบอะไรของเด็กเพิ่มเติม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคงไม่ใช่การบังคับให้เด็กทำกิจกรรมเสริมในแบบที่ผู้ใหญ่อย่างเราเห็นว่าดีและเหมาะสม เพราะความตั้งใจของเด็กสอดคล้องกับการตั้งคำถามว่า ตนเองชอบอะไรกันแน่ ข้อควรระวังคือ หลีกเลี่ยงการหาในสิ่งที่เด็กไม่ต้องการ

 

การเล่นแบบเป็นตัวเอง : ทักษะความกล้าหาญ

          ชีวิตที่เป็นตัวเองควรเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก เพราะยิ่งเติบโต เราจะพบว่าความเป็นตัวเองจะหายไป แต่พวกเด็ก ๆ ยังสามารถใช้การเล่นแบบเป็นตัวเองได้ การเล่นของเด็กประถมเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม เพราะการเล่นคือการเรียนรู้ที่จะเข้าใจต่อความรู้สึกและความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับคนรอบข้าง แต่เด็กส่วนใหญ่ในยุคนี้จะมีความเป็นตัวเองมาก อาจเพราะเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ส่งเสริมความคิดการเป็นตนเอง แม้การเล่นเกมในโทรศัพท์มือถือที่ผู้ปกครองห้ามนักห้ามหนา ก็เป็นการเล่นแบบเป็นตัวเองเช่นกัน เพราะก่อให้เกิดรูปแบบการวางแผนร่วมกัน แบ่งหน้าที่กัน แต่การเล่นรูปแบบนี้ผู้ปกครองควรอยู่ใกล้ชิดกับเด็กด้วย เพื่อเฝ้าระวังเรื่องเกมรุนแรง การเล่นเกมแบบนี้หากอยู่ในทางสร้างสรรค์จะสามารถส่งเสริมเด็ก ๆ ในวัยนี้ให้มีแนวคิดพัฒนาช่องทางการสร้างรายได้ในอนาคตอีกด้วย

          การเล่นแบบเป็นตัวเองเช่นนี้ จะช่วยเสริมทักษะความกล้าหาญ และความอยากทดลองสิ่งใหม่ ๆ รอบตัวอย่างมั่นใจ เป็นทักษะสำคัญที่สามารถสร้างได้จากการเล่นแบบเป็นตัวเอง การที่จะให้เด็ก ๆ อยากที่จะเรียนรู้โดยไร้ความกดดันนั้นเป็นสิ่งสำคัญและทำให้การเล่นแบบเป็นตัวเองได้ผล เพราะการเล่นทำให้รู้สึกเป็นอิสระและเสริมสร้างความสุขในชีวิต

 

การเล่นเพื่อประสบการณ์ในทางสร้างสรรค์ : ทักษะการคิดเป็น

          การเรียนไม่ใช่คำตอบเดียวในชีวิต การที่ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการเรียนหนังสือเพียงด้านเดียว อาจไม่เพียงพอสำหรับยุคข่าวสารก้าวหน้าเช่นทุกวันนี้ การพัฒนาให้เด็กวัยประถมได้ลองเล่นเพื่อประสบการณ์หลาย ๆ อย่าง แต่ไม่ใช่การบังคับให้ต้องทำ จะเป็นการใช้ทักษะการคิดในทุกรูปแบบและเป็นการคิดในเชิงบวก ได้แก่

1) ทักษะการคิดสื่อความหมาย (Communication Thinking) : ถ่ายทอดความคิดตนให้ผู้อื่นเข้าใจ

2) ทักษะการคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) : มองเห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลง เชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ

3) ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) : แยกแยะความเหมือนและความแตกต่างเพื่อแก้ปัญหาได้

4) ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) : การจินตนาการ ริเริ่มไม่ซ้ำแบบใคร

5) ทักษะการคิดเชิงจริยธรรม (Ethical Thinking) : การคิดเพื่อประโยชน์ต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคม

          เอาเข้าจริง ทุกครั้งที่ผู้ปกครองจำลองสถานการณ์การเล่นเพื่อประสบการณ์ในทางสร้างสรรค์ อาจไม่ทำให้เด็กพัฒนาทักษะการคิดทั้ง 5 รูปแบบได้พร้อมกันทั้งหมด เราต้องใช้ความใจเย็นและอดทน อย่าคาดหวัง และรู้จักรอคอย หมั่นถามเด็กว่า ต้องการแบบนี้ไหม สนุกหรือเปล่า ซึ่งถ้าหากพวกเขาพยักหน้า ผู้ปกครองก็ควรสนับสนุนให้ทำไปได้ต่อ แต่หากไม่ชอบหรือไม่ถนัด ผู้ปกครองก็ไม่ควรใช้อารมณ์กับเด็กของเรา แต่ควรรีบหาอย่างอื่นให้เด็กเลือกเล่นเพื่อประสบการณ์ในทางสร้างสรรค์ต่อไป

 

สุชาติ ปรีชานุกูล

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก https://www.dprep.ac.th/th/play-based-learning/

https://www.islammore.com/view/1647

https://sumrej.com/8-ways-to-create-the-discipline-habit-9-2016/

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow