Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ซื้อของออนไลน์ให้มั่นใจว่าปลอดภัย

Posted By จุฑามาศ เตชะขจรเกียรติ | 02 ธ.ค. 65
2,308 Views

  Favorite

          ปัจจุบันผู้คนนิยมซื้อของออนไลน์กันมากขึ้น เนื่องจากข้อดีหลายอย่าง ทั้งสะดวกในการเลือกซื้อ สามารถเปรียบเทียบสินค้าจากร้านต่าง ๆ ได้ง่าย รวมทั้งประหยัดเวลาเดินทาง นอกจากนี้ การจ่ายเงินซื้อสินค้ายังไม่ยุ่งยากอีกด้วย การซื้อของออนไลน์มีให้เลือกหลากหลายวิธี อาทิ การโอนเงินจ่าย รูดบัตรเครดิต และการเก็บเงินปลายทาง อย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าเป็นเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เรายังต้องระมัดระวัง รอบคอบเพื่อที่จะได้ซื้อของได้อย่างปลอดภัยและไร้กังวล

 

 

วิธีการป้องกันตัวจากสลิปเงินปลอม

          การโอนเงินจ่ายเป็นวิธีที่นิยมกันมากในการซื้อขายของออนไลน์ โดยหลักฐานการโอนจะเป็นสลิปออนไลน์ บางครั้งคุณอาจเป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขายทางออนไลน์ ดังนั้นคุณควรรู้ถึงการป้องกันตัวจากสลิปเงินปลอม

 

1. สังเกตตัวอักษรและตัวเลขบนสลิป

ถ้าตัวอักษรหรือตัวเลขมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เช่น ความหนาบางตัวอักษรแตกต่างกัน หรือตัวเลขไม่เหมือนกัน ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าอาจจะเป็นสลิปปลอม อย่างไรก็ตามวิธีนี้อาจจะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและชำนาญในการจับสังเกต

 

2. ตรวจสอบสลิปด้วยการสแกน QR code

โดยสลิปที่ใช้ตรวจสอบจะต้องมี QR code สามารถตรวจสอบได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้

- กดเซฟรูปภาพสลิปที่เราต้องการตรวจสอบเอาไว้

- เปิดแอปพลิเคชันธนาคารใดก็ได้ขึ้นมา เลือกไปที่เมนูสแกน QR code (เกือบทุกธนาคารจะมีเมนูนี้ ซึ่งหน้าตาเมนูอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแต่ละแอปพลิเคชันของธนาคาร) แล้วเลือกรูปภาพสลิปที่เซฟเอาไว้ หรืออาจจะใช้การสแกนด้วยมือถืออีกเครื่องแทนก็ได้

- ถ้าเป็นสลิปของจริงจะขึ้นข้อมูลการทำธุรกรรมต่างๆ พร้อมข้อความแจ้งว่า ตรวจสอบรายการสำเร็จ ให้เราเช็คสอบชื่อสกุลคนโอน เวลาโอนและจำนวนเงินว่าข้อมูลตรงกันหรือไม่ 

- ถ้าเป็นสลิปปลอม จะไม่มีข้อมูลให้เราตรวจสอบ

 

ข้อควรระวัง ! หากสลิปที่จะใช้ตรวจสอบระยะเวลานานเกินกำหนดอาจจะมีการขึ้นข้อมูลว่าไม่สามารถตรวจสอบได้ หรือไม่สามารถค้นหารายการได้ คุณควรเช็คข้อมูลกับธนาคารอีกครั้ง

 

3. เช็คยอดเงินด้วยด้วยแอปพลิเคชันของธนาคาร (mobile banking)

ข้อมูลที่เราต้องตรวจสอบก็เหมือนกับการเช็คข้อมูลสลิปออนไลน์นั่นคือ เช็คจำนวนยอดเงิน วันเวลาโอน รวมทั้งชื่อสกุลผู้โอน อย่างไรก็ตาม บางครั้งข้อมูลอาจจะยังไม่ขึ้นในทันที เนื่องจากการทำงานของระบบธนาคารอาจล่าช้าหรือขัดข้อง เราควรมีการตรวจสอบซ้ำเพื่อความแน่ใจ

 

4. เลือกใช้บริการแจ้งเตือนกรณีมีเงินเข้า-ออก

ทำให้เรามั่นใจได้ว่ามีเงินเข้า-ออกบัญชีจริง ทั้งนี้ เราสามารถเลือกได้ว่าจะให้มีการแจ้งเตือนผ่านช่องทางใด เช่น SMS   แอปพลิเคชันของธนาคาร ซึ่งการเลือกใช้บริการนี้อาจมีค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร ก่อนใช้งานควรตรวจสอบให้ดี

 

5. เลือกใช้ระบบตรวจสอบสลิปสำหรับร้านค้าออนไลน์

กรณีเป็นร้านค้าที่มียอดซื้อขายจำนวนมาก ทำให้มีสลิปหรือเอกสารการโอนเงินที่ค่อนข้างเยอะ การตรวจสอบอาจจะใช้เวลานาน การเลือกใช้ระบบจัดการร้านค้าที่มีระบบช่วยเช็คสลิปอัตโนมัติจะช่วยลดระยะเวลาการตรวจสอบไปได้มาก

 

          ปัญหาสลิปปลอมเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด ซึ่งวิธีการตรวจสอบทำได้ไม่ยาก ใช้เวลาไม่นาน คุณควรจะตรวจสอบสลิปเวลาโอนหรือรับเงินทุกครั้งอย่างรอบคอบเพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ คุณไม่ควรโพสต์รูปสลิปในช่องทางสาธารณะ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ไม่ประสงค์ดีนำไปตัดต่อและใช้หลอกลวงผู้อื่น

 

ใช้บัตรเครดิตซื้อของทางออนไลน์อย่างไรให้ปลอดภัย 

          การจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตเป็นอีกวิธีหนึ่งที่นิยมกัน เนื่องจากสะดวกสบายไม่ต้องพกพาเงินสดและยังได้สิทธิประโยชน์จากบัตรเครดิต  ทั้งนี้ การใช้งานบัตรเครดิตซื้อของออนไลน์ก็ควรระมัดระวังเช่นเดียวกัน

 

1. เลือกซื้อของจากร้านค้าออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งเลือกชำระเงินที่มีการยืนยันตัวตนด้วย OTP หรือมีเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย

 

2. อย่าเปิดเผยข้อมูลทางด้านการเงินแก่คนอื่น เช่น หมายเลขบัตรเครดิต วงเงินบัตรเครดิต ชื่อผู้ถือบัตร รหัส 3 ตัวท้ายหลังบัตรเครดิต (CVV) ที่สำคัญคือ แต่ละธนาคารไม่มีนโยบายขอข้อมูลจากลูกค้าทางโทรศัพท์ ยกเว้นลูกค้าเป็นผู้โทรไปสอบถามข้อมูลทาง Call Center ด้วยตนเอง ดังนั้นหากคุณได้รับโทรศัพท์สอบถามข้อมูลด้านการเงิน หรือข้อมูลส่วนตัวให้ระมัดระวังและอย่าให้ข้อมูลเด็ดขาด

 

3. ตั้งรหัสผ่านที่คาดเดายาก และเปลี่ยนรหัสผ่านสม่ำเสมอ ขอแนะนำว่าไม่ควรตั้งรหัสผ่านที่เป็นวันเดือนปีเกิด เบอร์โทรศัพท์ รหัสไปรษณีย์ เพราะง่ายต่อการเดา และหมั่นเปลี่ยนรหัสผ่านสม่ำเสมอ

 

4. ตรวจสอบยอดค่าใช้จ่ายว่าถูกต้อง ก่อนที่จะรูดบัตรเครดิตทุกครั้ง นอกจากนี้ บางธนาคารยังมีบริการแจ้งเตือนผ่าน SMS เพื่อยืนยันยอดใช้จ่ายอีกครั้ง

 

5. หมั่นเช็คข้อมูลการใช้จ่าย บัตรเครดิตอย่างสม่ำเสมอ หากพบรายการผิดปกติให้ติดต่อสอบถามธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตทันที เพราะถ้าละเลยหรือแจ้งล่าช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้จะถือว่าเรายอมรับค่าใช้จ่ายนั้น 

 

6. ปรับวงเงินบัตรเครดิตให้เหมาะสม กับการซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อป้องกันการใช้จ่ายที่เกินพอดี

 

การสั่งสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง 

          วิธีสั่งสินค้าแบบเก็บเงินปลายทางช่วยให้คนซื้อของมั่นใจว่าได้รับของแน่นอนและไม่ต้องโอนเงินจ่ายร้านค้าล่วงหน้า แม้ว่าวิธีนี้จะสะดวกแต่ยังมีข้อควรระวังเมื่อคุณมีการสั่งสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง 

 

1. เลือกซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ หรือร้านค้าที่น่าเชื่อถือ 

 

2. ตรวจสอบข้อมูลก่อนรับพัสดุทุกครั้ง ในกรณีมีพัสดุที่น่าสงสัยให้ปฏิเสธการรับและไม่ชำระเงิน

 

3. หากคุณไม่สะดวกรับของเอง ให้แจ้งรายละเอียดสินค้าที่สั่งกับสมาชิกในบ้านหรือคนที่รับของแทน เช่น สั่งสินค้าอะไร จำนวน ราคาเท่าไร

 

          ทุกวันนี้เราซื้อขายของผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น แม้ว่าการซื้อของแบบนี้จะสะดวก แต่เราก็ยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูลด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน รูดบัตรเครดิต หรือการจ่ายเมื่อมาเก็บเงินปลายทาง เพื่อที่ว่าเราจะได้ซื้อของได้อย่างสบายใจไร้กังวล

 

                            

 

            จุฑามาศ  เตชะขจรเกียรติ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • จุฑามาศ เตชะขจรเกียรติ
  • 0 Followers
  • Follow