Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ขั้นตอนการทำหนังสือเดินทาง วิธีทำพาสปอร์ต ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง

Posted By Plook Creator | 27 ต.ค. 65
58,519 Views

  Favorite

ขั้นตอนการทำหนังสือเดินทางของประเทศไทยต้องทำอย่างไร ทำที่ไหน ใช้เอกสารอะไรบ้าง ได้รวบรวมข้อมูลรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับหนังสือเดินทางไว้ดังนี้


• อัปเดต 9 สถานที่ทำพาสปอร์ต กรุงเทพฯ ปริมณฑล ทำพาสปอร์ตที่ไหนได้บ้าง  
• อัปเดต 18 สถานที่ทำพาสปอร์ต ต่างจังหวัด ทำพาสปอร์ตที่ไหนได้บ้าง สะดวกโดยไม่ต้องเข้ากรุงเทพ

หนังสือเดินทาง (Passport) คือ?

หนังสือเดินทางหรือ Passport เป็นเอกสารสำคัญที่หน่วยราชการของแต่ละประเทศออกให้เพื่อใช้รับรองสัญชาติและยืนยันตัวตนของผู้ถือ ซึ่งเป็นเอกสารจำเป็นที่ต้องพกติดตัวสำหรับผู้ที่มีความประสงค์เดินทางไปต่างประเทศ

ประเภทของหนังสือเดินทาง

หนังสือเดินทางประเทศมี 4 ประเภท ดังนี้

1. หนังสือเดินทางธรรมดา (Ordinary Passport) ปกสีน้ำตาล ออกให้ประชาชนทั่วไป ปัจจุบันหนังสือเดินทางมีทั้งอายุไม่เกิน 5 ปี และ 10 ปี เมื่อหมดอายุแล้วไม่สามารถต่อเพิ่มได้ ต้องทำเล่มใหม่เท่านั้น

2. หนังสือเดินทางราชการ (Official Passport) ปกสีน้ำเงินเข้ม มีอายุไม่เกิน 5 ปี ออกให้เฉพาะข้าราชการ เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ และผู้ที่เดินทางไปปฏิบัติภารกิจทางราชการตามที่กระทรวงต่างประเทศอนุมัติเท่านั้น ผู้ถือต้องใช้ในราชการเท่านั้น ไม่สามารถใช้ในการเดินทางส่วนตัวได้

3. หนังสือเดินทางทูต (Diplomatic Passport) ปกสีแดงสด มีอายุไม่เกิน 5 ปี ต่ออายุเพิ่มไม่ได้ ออกให้เฉพาะบุคคลดังต่อไปนี้
   3.1. พระบรมวงศ์และพระนัดดาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
   3.2. พระอนุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าและคู่สมรส
   3.3. พระราชวงศ์และบุคคลสำคัญที่ราชเลขาธิการขอไปเป็นกรณีพิเศษ
   3.4. ประธานองคมนตรี และองคมนตรี
   3.5. นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี
   3.6. ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา
   3.7. ประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา และประธานศาลอุทธรณ์
   3.8. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด
   3.9. อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ
   3.10. ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ
   3.11. ข้าราชการที่มีตำแหน่งทางการทูต ซึ่งเดินทางไปราชการในต่างประเทศ
   3.12. ข้าราชการที่มีตำแหน่งทางการทูต ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ ณ ส่วนราชการในต่างประเทศ คู่สมรส และบุตรในประเทศที่ประจำอยู่หรือทำการศึกษาอยู่ในประเทศอื่น แต่บุตรจะต้องอายุไม่เกิน 25 ปี
   3.13. คู่สมรสที่ร่วมเดินทางไปกับบุคคลดังกล่าวในข้อ 3.2-3.8
   3.14. บุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการหรือภายใต้พันธกรณีระหว่างประเทศ หรือภายใต้สถานการณ์พิเศษที่มีความจำเป็น หรือเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติคุณของประเทศไทย

4. หนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) ปกสีเขียว

และยังมีหนังสือเดินทางอีก 2 ประเภทพิเศษ คือ
1. หนังสือเดินทางพระ ออกให้สำหรับพระภิกษุและสามเณรที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศตามนัยระเบียบมหาเถรสมาคม
2. หนังสือเดินทางเพื่อไปประกอบพิธีฮัจญ์ ออกให้ชาวมุสลิมที่เพื่อเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ หนังสือเดินทางประเภทนี้จะมีอายุ 2 ปีเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมี Certificate of Identity (C.I.) เป็นเอกสารสำคัญประจำตัวเพื่อใช้แทนหนังสือเดินทาง ที่ออกให้ในกรณีฉุกเฉินสำหรับผู้ที่ต้องเดินทางแต่หนังสือเดินทางหมดอายุหรือสูญหาย และไม่สามารถทำเล่มใหม่ได้ทันตามกำหนดที่ต้องเดินทางกลับประเทศไทย ซึ่ง C.I. จะใช้เดินทางกลับประเทศไทยได้เพียงอย่างเดียว มีอายุใช้งาน 30 วัน หรือตามระยะเวลาที่ผู้กำหนดออกให้ แลผู้ถือ C.I. ต้องได้รับการพิสูจน์สัญชาติไทยจากกองตรวจเข้าเมือง (ตม.) เมื่อเดินทางถึงประเทศไทย
 

Shutterstock


เอกสารที่ต้องเตรียมในการทำหนังสือเดินทาง (Passport)

สำหรับผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป
1. บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง
2. หลักฐานการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล (กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงไม่ตรงกับบัตรประชาชน)
3. กรณีมีหนังสือเดินทางอยู่แล้วหากหมดอายุหรือใกล้หมดอายุแล้วให้นำหนังสือเดินทางเล่มเดิม (หากมี) ไปด้วย
4. กรณีหนังสือเดินทางเล่มเดิมสูญหาย ให้นำใบแจ้งความฉบับจริงไปด้วย

สำหรับผู้ที่อายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์
1. บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง (เฉพาะอายุ 7 ปีขึ้นไป)
2. สูติบัตรฉบับจริง ในกรณีที่อายุไม่ถึง 15 ปี
3. บัตรประจำตัวประชาชนของบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง (กรณีชาวต่างชาติให้ใช้หนังสือเดินทางตัวจริง)
4. หนังสือเดินทางเล่มเดิม (หากมี)
5. เอกสารแสดงความเกี่ยวพันกัน และอำนาจปกครองบุตร

เอกสารเพิ่มเติมกรณีบิดามารดาหย่าร้าง หรือบุคคลที่ 3 เป็นผู้ปกครอง หรือเป็นบุตรบุญธรรม
1. ทะเบียนหย่าและบันทึกการหย่าที่ระบุว่าผู้ใดมีอำนาจปกครองบุตร
2. หนังสือรับรองการใช้อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว (กรณีมารดาเป็นผู้เลี้ยงดูบุตร)
3. คำสั่งศาลให้บิดามีอำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว (กรณีบิดาเป็นผู้เลี้ยงดูบุตร)
4. คำสั่งศาลให้ผู้ปกครองมีอำนาจปกครองเด็กแทนบิดามารดา (กรณีบุคคลที่ 3 เป็นผู้ปกครอง)
5. ใบเปลี่ยนชื่อสกุล (หากมี), ทะเบียนรับบุตรบุญธรรมฉบับจริง (กรณีจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม)

สำหรับข้าราชการ พนักงานของรัฐ และผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติภารกิจของทางราชการ
1. บัตรประชาชน
2. บัตรประจำตัวข้าราชการ
3. หนังสือนำจากต้นสังกัดถึงปลัดกระทรวงการต่างประเทศเพื่อขอทำหนังสือเดินทางราชการ
3. สำเนาบันทึกอนุมัติให้เดินทางไปราชการในต่างประเทศ
4. เอกสารอื่นๆ เช่น สัญญาจ้างงาน

สำหรับพระภิกษุและสามเณร
1. บัตรประชาชนฉบับจริงที่ระบุสถานะปัจจุบัน (หากมี)
2. หนังสือสุทธิสำหรับพระภิกษุและสามเณรฉบับจริง
3. ทะเบียนบ้าน/วัดที่มีชื่อยู่ในปัจจุบัน
4. ใบตราตั้งสมณศักดิ์ (หากประสงค์ให้ระบุสมณศักดิ์ในหนังสือเดินทาง)
5. มติเถรสมาคม (กรณีหนังสือเดินทางราชการสำหรับพระธรรมทูต)
6. ใบ ศ.ต.ภ. (กรณีหนังสือเดินทางบุคคลธรรมดา 5 ปี)
7. หนังสือรับรองความประพฤติและให้ความยินยอมจากเจ้าอาวาสและประทับตราของวัด (กรณีสามเณร)
8. หนังสือเดินทางเล่มเดิม (หากมี)
 

Shutterstock


ขั้นตอนการทำหนังสือเดินทาง (Passport)

1. รับบัตรคิว (สามารถลงทะเบียนจองคิวผ่านระบบออนไลน์ได้)
2. แสดงบัตรประชาชนพร้อมเอกสารหลักฐานอื่นๆ ที่ต้องใช้
3. วัดส่วนสูง
4. เก็บลายนิ้วมือ
5. ถ่ายรูปหน้าตรง ไม่สวมหมวกและแว่นตา
6. ชำระค่าธรรมเนียม และแจ้งว่าจะมารับเองหรือให้จัดส่งทางไปรษณีย์

ค่าธรรมเนียมในการทำหนังสือเดินทาง (Passport)
ธรรมดา : เล่ม 5 ปี 1,000 บาท, เล่ม 10 ปี 1,500 บาท ยื่นขอทำได้ทุกสำนักงาน รับเล่มทางไปรษณีย์ กรุงเทพฯและปริมณฑลจัดส่ง 2-3 วันทำการ ต่างจังหวัดจัดส่ง 3-5 วันทำการ ค่าธรรมเนียมจัดส่ง EMS 40 บาท
ด่วนพิเศษ (รับเล่มในวันเดียวกันที่ยื่นทำ) : เล่ม 5 ปี 3,000 บาท เล่ม 10 ปี 3,500 บาท ยื่นขอทำได้ทุกสำนักงาน (ก่อน 11.00 น.) และรับเล่มได้ที่กรมการกงสุล

เอกสารที่ใช้ในการรับเล่มหนังสือเดินทางด้วยตนเอง (เฉพาะที่กรมการกงสุล)
1. ใบรับเล่มหนังสือเดินทางฉบับจริง
2. บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง

กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นมารับแทน
1. ใบรับเล่มหนังสือเดินทางฉบับจริง ซึ่งระบุการมอบอำนาจ
2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจพร้อมลงนามรับรองเอกสาร
3. บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงของผู้รับมอบอำนาจ

ขั้นตอนการจองคิวทำหนังสือเดินทาง (Passport) ผ่านระบบออนไลน์

1. เข้าเว็บไซต์ https://www.qpassport.in.th
2. เข้าสู่ระบบ หรือหายังไม่ได้ลงทะเบียนสมาชิกให้ลงทะเบียนสมัครสมาชิกใหม่ (กรอกข้อมูลส่วนตัว)
3. เลือกพื้นที่ที่ต้องการเข้ารับบริการ
4. เลือกประเภทการเข้ารับบริการ
5. เลือกสำนักงานหนังสือเดินทางที่ต้องการเข้ารับบริการ
6. เลือกวันที่ต้องการเข้ารับบริการ (จองล่วงหน้าได้ไม่เกิน 30 วัน)
7. เลือกเวลาที่ต้องการเข้ารับบริการ
8. เลือกวิธีรับเล่มหนังสือเดินทาง  

 


แหล่งอ้างอิง
กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ (Department of Consular Affairs, หนังสือเดินทาง, สืบค้นเมื่อ 27 ตุลาคม 2565 จากเว็บไซต์: https://consular.mfa.go.th/th/index
Royal Thai Embassy, Doha, Passport, สืบค้นเมื่อ 27 ตุลาคม 2565 จากเว็บไซต์: https://doha.thaiembassy.org/en/index

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 44 Followers
  • Follow