Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความสำคัญของการฝากครรภ์

Posted By Plook Parenting | 29 ส.ค. 65
1,888 Views

  Favorite

การได้รับข้อมูลเรื่อง “การฝากครรภ์” ให้ครบรอบด้าน โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์เพียงพอ จะช่วยเพิ่มความรู้ความเข้าใจในการดูแลลูกน้อยได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย รวมทั้งยังสามารถเห็นพัฒนาการและการเติบโตของลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา

 

บทความโดย นายแพทย์ธิติพันธุ์ น่วมศิริ สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (MFM) ศูนย์สุขภาพผู้หญิง (Women’s Health Center) โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายความหมายของการฝากครรภ์ พร้อมทั้งนำเสนอข้อมูลความสำคัญที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรตระหนักในหลากหลายประการ นำไปสู่การตั้งครรภ์ที่ราบรื่น รวมทั้งช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีระหว่างตั้งครรภ์ของคุณแม่และลูกน้อย

 

นายแพทย์ธิติพันธุ์ น่วมศิริ สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (MFM) ศูนย์สุขภาพผู้หญิง (Women’s Health Center) โรงพยาบาลนวเวช

 

การฝากครรภ์คืออะไร

คือ การดูแลสุขภาพของทั้งหญิงตั้งครรภ์และทารก ตั้งแต่เริ่มฝากครรภ์ไปจนถึงหลังคลอด โดยจะดูแลครบทุกบริบท ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และให้คำปรึกษาในด้านต่าง ๆ ตลอดการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ หากมาฝากครรภ์ยิ่งเร็วก็ยิ่งดี เพราะแพทย์จะทำการตรวจครรภ์ ให้คำแนะนำ ตอบข้อซักถาม รวมถึงการประเมิน ตรวจคัดกรองความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านพันธุกรรม โรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจป้องกันและรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

เริ่มฝากครรภ์ได้เมื่อไหร่

เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์แล้ว ควรเข้ารับการตรวจยืนยันการตั้งครรภ์และฝากครรภ์ได้เลย โดยแนะนำว่าควรฝากครรภ์ครั้งแรกในช่วงไตรมาสแรก คือ ช่วงก่อนอายุครรภ์ 12-14 สัปดาห์ เนื่องจากว่าหากฝากครรภ์เร็ว ก็จะสามารถตรวจดูตำแหน่งของการตั้งครรภ์ที่เหมาะสม รวมไปถึงการคำนวณอายุครรภ์ที่แม่นยำอีกด้วย และการฝากครรภ์ยังสามารถตรวจคัดกรองโรคต่าง ๆ ได้ เช่น

- ตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม รวมถึงโรคทางพันธุกรรมบางชนิด

- ตรวจความสมบูรณ์ และความผิดปกติ/ความพิการบางอย่าง

- การทำนายเพศของทารก 

 

 

เครื่องมือที่สำคัญในการดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์

เครื่องมือที่ใช้ตรวจดูความสมบูรณ์อวัยวะต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ ก็คือ เครื่องอัลตราซาวด์ 2 มิติ และ 4 มิติ (Ultrasound 2D & 4D) โดยเฉพาะการฝากครรภ์กับสูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (MFM) จะสามารถตรวจดูทารกในครรภ์อย่างละเอียดทุกเดือน และทุกครั้ง จึงมั่นใจได้ว่าลูกเราปกติตลอดการตั้งครรภ์ ซึ่งความผิดปกติของทารกในครรภ์ สามารถตรวจพบได้ก่อน ตั้งแต่อายุครรภ์ไม่มาก หากพบความผิดปกติ หรือพิการรุนแรง ก็อาจพิจารณายุติการตั้งครรภ์ได้ทันท่วงที ตลอดจนสามารถเลือกวิธีการคลอดที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อมารดาและลูกน้อยได้

 

 

การทำอัลตราซาวด์ 4 มิติ อันตรายหรือไม่? และ บอกอะไรได้บ้าง ?

ปัจจุบันมีคุณพ่อคุณแม่ไม่น้อยที่อยากเห็นหน้าและความสมบูรณ์ของเจ้าตัวน้อยตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ซึ่งทำได้ด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ 4 มิติ ที่มาพร้อมเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถสร้างภาพเป็น 3 มิติ นำมาเรียงต่อกันกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวเสมือนจริง ได้ภาพละเอียดคมชัด สามารถเห็นความสมบูรณ์ และการเคลื่อนไหวของลูกน้อยแบบ Real time ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เช่น การขยับตัว ดูดนิ้ว ยิ้ม หรือกระพริบตา

ในปัจจุบันยังไม่พบการศึกษาวิจัยที่รายงานถึงอันตรายของการตรวจอัลตราซาวด์ 4 มิติ ต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ เพราะฉะนั้นคุณแม่จึงไม่ต้องกังวลใจไป นอกจากนั้นการทำอัลตราซาวด์ 4 มิติ ยังช่วยให้แพทย์เห็นพัฒนาการ ความสมบูรณ์ หรือความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้ชัดเจนมากขึ้นด้วย โดยสามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 18-32 สัปดาห์ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการตรวจ คือ ช่วง 20 - 26 สัปดาห์

 

อัลตราซาวด์ 4 มิติ บอกอะไรได้บ้าง ?

1. การเจริญเติบโต และพัฒนาการของทารกในครรภ์

2. อัตราการเจริญเติบโตของทารก ขนาดรอบศีรษะ ความยาว และน้ำหนัก

3. ตำแหน่งทารก สายสะดือ และปริมาณน้ำคร่ำ

4. โครงสร้างกะโหลกศีรษะและสมอง

5. หัวใจ และการไหลเวียนเลือด

6. กระดูกสันหลัง กระเพาะอาหาร กระเพาะปัสสาวะ และไต

7. ใบหน้า และอวัยวะต่าง ๆ บนใบหน้า

8. แขน ขา มือ เท้า และนิ้ว

9. เพศของทารก

           

ทั้งนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับการตรวจครรภ์ โดยแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (MFM) เพื่อตรวจประเมินความเสี่ยง และตรวจอัลตราซาวด์ดูความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์ อย่างน้อย 1-2 ครั้ง ในช่วงอายุครรภ์ 18-22 สัปดาห์ และ 28-32 สัปดาห์ รวมทั้งยังสามารถดูลูกน้อยขณะเคลื่อนไหวได้ตั้งแต่ในครรภ์ ด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ 4 มิติ (Ultrasound 4D) เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ได้มากขึ้น

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow