Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

“วัยรุ่นกับโรคซึมเศร้า” ความเจ็บป่วยทางใจ ที่มองเห็นไม่ได้ เพียงแค่ใช้สายตา

Posted By Plook TCAS | 09 พ.ค. 65
4,903 Views

  Favorite

         “โรคซึมเศร้า” ความเจ็บป่วยที่มองด้วยสายตา อาจค้นหาไม่เจอว่าเด็กคนนี้กำลังป่วย และเป็นการป่วยที่หยั่งรากลึกจากข้างใน นั่นคือ “จิตใจ” แต่ถ้าผู้ปกครองใช้หัวใจมองให้ลึกลงไป จะพบว่า ไม่ใช่เรื่องยากที่ท่านจะช่วยนำพาบุตรหลานให้ก้าวพ้นจากหลุมดำในชีวิตของพวกเขา โรคทางใจ ที่ต้องใช้หัวใจสื่อสารกัน

         “โรคซึมเศร้า” จากโรคที่คนไทยไม่ค่อยคุ้นเคย ในปัจจุบัน โรคซึมเศร้าเหมือนจะกลายเป็นโรคที่คุ้นหูเรามากที่สุดโรคหนึ่งไปเสียแล้ว และที่น่าเป็นห่วงคือ แม้แต่ช่วงวัยที่ควรจะมีความสุขและสดชื่นแจ่มใสอย่างวัยรุ่นก็สามารถป่วยเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงเป็นกังวลและอยากทราบว่าโรคซึมเศร้าเกิดขึ้นได้อย่างไร หากเกิดแล้ว จะมีวิธีสังเกตบุตรหลานอย่างไร และจะดูแลช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างไร

         คุณหมอจอม หรือนายแพทย์จอม ชุมช่วย แห่ง ‘มีรักคลินิก’ คลินิกเวชกรรมเฉพาะทางจิตเวชเด็กและวัยรุ่น พูดถึงเรื่องราวของโรคซึมเศร้าจากมุมมองของจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ไว้อย่างกระชับแต่ชัดเจนและเป็นประโยชน์มากทีเดียวค่ะ

 

สาเหตุของโรคซึมเศร้าในวัยรุ่น

         จากประสบการณ์การทำงานด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่นที่ยาวนานเกือบสามสิบปี และจากการทำงานที่มีรักคลินิกมาร่วมสิบสองปี คุณหมอจอมพบว่า แทบไม่มีเด็กคนไหนป่วยเป็นโรคนี้ด้วยเหตุปัจจัยเดียวเลย ส่วนใหญ่เกิดจากสามปัจจัยผสมผสานกัน ได้แก่

1. ปัจจัยทางชีวภาพหรือ Biological factor ไม่ว่าจะเป็นจากการเปลี่ยนแปลงของสารชีวเคมีที่ขาด

         ความสมดุลซึ่งเป็นไปได้ว่ามีสาเหตุมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม และส่งผลให้เด็กหลับยาก ไม่อยากอาหาร อารมณ์หงุดหงิด ขาดสมาธิ แต่ในขณะเดียวกัน พื้นอารมณ์ดั้งเดิมของเด็กก็มีความเกี่ยวข้องด้วย เช่น เด็กอาจเป็นคนอารมณ์อ่อนไหวหรือฉุนเฉียวง่ายอยู่แต่เดิม เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ขาดความสมดุลดังกล่าว สภาพอารมณ์แบบนี้ยิ่งชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ หากพ่อแม่หรือสมาชิกครอบครัวป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ก็มีโอกาสสูงขึ้นที่บุตรหลานจะป่วยเป็นโรคนี้เช่นกัน

2. ปัจจัยทางจิตหรือ Psychological factor ไม่ว่าจะเป็นความคิดความรู้สึกเชิงลบต่อตนเอง ความ

         ท้อแท้สิ้นหวัง ความรู้สึกว่าไม่เป็นที่ต้องการ ไม่มีค่า ไม่ดีพอ ไม่เก่งพอ ไม่สวยพอ ไม่หล่อพอ ความรู้สึกหดหู่ เป็นต้น ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ขึ้นกับว่า

• เด็กมีบุคลิกภาพอย่างไร ข้อสังเกตข้อหนึ่งที่คุณหมอให้ไว้คือ เด็กป่วยเป็นโรคซึมเศร้านั้นมักมีพื้นอารมณ์ที่อ่อนไหวง่าย หรือมีแนวโน้มเป็นคนเก็บตัวและไม่ค่อยปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเมื่อเทียบกับเพื่อนวัยเดียวกัน

• ประสบการณ์ในอดีตหล่อหลอมเขามาอย่างไร ซึ่งประสบการณ์หมายรวมถึงการเลี้ยงดู สภาพครอบครัว บริบทในครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และสมาชิกครอบครัว เช่น พ่อแม่มีปัญหาของตนเองที่ยังไม่คลี่คลายและขาดวุฒิภาวะที่จะจัดการกับปัญหาของลูก รูปแบบการเลี้ยงดูที่ไม่ใส่ใจหรือไม่พยายามเข้าใจ หรืออาจใช้ความรุนแรงทั้งทางคำพูดและการกระทำ จนถึงขั้นใช้กำลังก็ยังมีให้เห็นอยู่เนือง ๆ แม้ในครอบครัวที่ฐานะดี และมีสถานภาพทางสังคมดี

• ความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นระหว่างพ่อแม่ลูกก็ส่งผลต่อความคิดความรู้สึกของเด็กต่อตนเองเช่นกัน

• ปัจจัยทางสังคมหรือ Social factor การที่เด็กมีความสัมพันธ์เชิงลบกับผู้คนแวดล้อม ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เพียงสมาชิกครอบครัว แต่เด็กและวัยรุ่นยังมีสังคมที่โรงเรียนและสังคมอื่น ๆ ที่เขาเข้าไปมีส่วนร่วม โดยเฉพาะสังคมออนไลน์ที่เป็นสังคมขนาดใหญ่และส่งผลกระทบต่อเด็กได้มากและค่อนข้างรุนแรง ปัจจัยข้อนี้หมายรวมถึงเรื่อง cyber bullying (การระรานออนไลน์) เรื่องการถูกตัดขาดหรือไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อน ความผิดหวังเรื่องความสัมพันธ์ของตนเองกับเพื่อน หรือการที่ตนเองขาดทักษะทางสังคม เป็นต้น

         จะเห็นได้ว่าแม้บางปัจจัยจะมาจากตัวเด็กแต่ก็เป็นด้วยปัจจัยซึ่งเด็กไม่สามารถควบคุมได้ ผู้ใหญ่ โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครอง จึงต้องช่วยดูแลแนะนำอย่างใกล้ชิด

 

ลักษณะของโรคซึมเศร้าในวัยรุ่น

         ที่จริงแล้วโรคซึมเศร้าในวัยรุ่นไม่ต่างจากลักษณะของโรคซึมเศร้าในวัยผู้ใหญ่ อาการที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตคือ เมื่อใดที่ลูกเริ่มแสดงให้เห็นว่าขาดความสนใจในกิจกรรมที่เคยทำหรือเคยชอบ ดูไม่สนุกกับอะไรเลยไม่ว่าการเรียนหรือการเล่น บ่นเหนื่อยบ่นเบื่อตลอดเวลา ดูไม่มีแรง นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หรือแสดงอาการอื่นใดที่บ่งชี้ว่าพวกเขาไม่สบายใจ มีความทุกข์ พ่อแม่ควรเริ่มพูดคุยกับลูกเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง โดยการพูดคุยนั้น ควรคุยด้วยทัศนคติที่ดี ไม่กล่าวโทษ หรือตำหนิติเตียน หรือด่วนตัดสินพวกเขา แต่ควรพูดคุยเพื่อค้นหาสาเหตุของอาการเหล่านั้น

 

เมื่อไหร่ที่ต้องถึงมือหมอ?

         หากผู้ปกครองไม่มั่นใจในทักษะการคุยของตนเอง การพาบุตรหลาน มาพบผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ หรือแม้แต่การที่คุณพ่อคุณแม่จะเข้ามาปรึกษาเพื่อขอคำแนะนำเบื้องต้นด้วยตนเองก่อน เป็นสิ่งที่ควรทำแต่เนิ่น ๆ เพราะคุณหมอรู้สึกว่าปัญหาด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่นทุกวันนี้มีความซับซ้อนขึ้น รุนแรงขึ้น และน่าจะมากขึ้นด้วย การที่ผู้ปกครองสังเกตเห็นปัญหาได้เร็ว มาพบผู้เชี่ยวชาญเร็ว จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีก่อนที่จะลุกลาม เท่าที่พบจากการทำงาน ส่วนใหญ่ ผู้ปกครองไม่ค่อยคิดถึงเรื่องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญแต่เนิ่น ๆ และมักพาบุตรหลานมาตอนปัญหาเยอะและค่อนข้างรุนแรงแล้ว เช่น ไม่ยอมไปโรงเรียน ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่การงานของตัว จนถึงขั้นมีทีท่าจะทำร้ายตัวเอง หรือบ่นว่าอยากตาย อาการเหล่านี้ ขออย่าคิดว่าเป็นเพียงเรื่องปรกติของวัยรุ่น

 

คุณหมอจอมฝากถึงวัยรุ่น

         คนเราทุกคนมีคุณค่าในแบบฉบับของตัวเองไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหน อย่านำคำพูดเชิงลบของคนรอบข้างมาใส่ใจจนทำให้คำพูดเหล่านั้นบั่นทอนความสุข เพราะคำพูดไม่อาจลดทอนคุณค่าของเราได้ ควรหันมาดูแลตัวเองให้ดีทั้งร่างกายและจิตใจ มองตนเองโดยปราศจากอคติที่ได้รับการปรุงแต่งจากทัศนคติของผู้คนที่แวดล้อม แต่หากรู้สึกว่าไม่สบายใจ มีความทุกข์ หรือมีปัญหาที่จัดการเองไม่ไหวก็ต้องรีบขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ที่เราไว้ใจ ไม่ว่าพ่อแม่ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ โค้ช ฯลฯ

         หวังว่าความรู้ที่ได้รับจากคุณหมอจอมจะเป็นแนวทางให้พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถดูแลบุตรหลานวัยรุ่นได้อย่างราบรื่น และมีส่วนช่วยในการจัดการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดกับบุตรหลานได้อย่างถูกต้องเหมาะสม อย่าลืมนะคะ ว่าโรคทางจิต ต้องใช้ใจร่วมรักษา จิตใจแห่งเมตตา ที่เข้าใจ และเข้าถึงปัญหาของเด็ก ๆ อย่างแท้จริง ขอให้ทุกครอบครัวที่ต้องเผชิญกับปัญหาโรคซึมเศร้าสามารถก้าวข้ามปัญหานี้ไปได้ ด้วยความรักความเข้าใจจากหัวใจทุกดวงของครอบครัวนะคะ

 

กัลยภรณ์ จุลดุล สัมภาษณ์และเรียบเรียง

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow