Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

มารู้จัก “คามิชิไบ” ศิลปะการเล่าเรื่องแบบญี่ปุ่น

Posted By Plook Teacher | 08 มี.ค. 65
26,332 Views

  Favorite

ศิลปะการเล่าเรื่องหรือเล่านิทานนั้น นับเป็นวัฒนธรรมที่มีอยู่ทั่วไปในแต่ละประเทศ ซึ่งคล้ายคลึงและแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค ซึ่งในครั้งนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอศิลปะการเล่าเรื่องรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถูกเรียกว่า “คามิชิไบ”

คามิชิไบ (Kamishibai) ในภาษาญี่ปุ่นมีความหมายว่า “ละครกระดาษ” เป็นวัฒนธรรมการเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นลักษณะของการเล่าเรื่องประกอบภาพวาดซึ่งมีประวัติมายาวนานมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 ว่ากันว่าเริ่มต้นในวัดพุทธศาสนาแห่งหนึ่ง ที่มีพระได้คิดค้นวิธีการในการเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับประวัติพุทธศาสนาและหลักธรรมคำสอนต่าง ๆ โดยการวาดภาพรวมกันไว้เป็นม้วนยาว สำหรับใช้ประกอบการเล่าเรื่องเพื่อให้พุทธศาสนิกชนรับฟังและเข้าใจในหลักธรรมคำสอนได้ง่ายขึ้นที่จะพัฒนามาเป็นคามิชิไบที่รู้จัก

ในปี ค.ศ.1930 นับเป็นปีทองของละครคามิชิไบ เพราะเป็นช่วงที่ได้รับความนิยมอย่างมาก มีนักเล่าเรื่องคามิชิไบทั้งหญิงชายรวมกันกว่า 2500 คน และมีผู้ชมรวมกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กสูงขึ้นหลักล้านคนเลยทีเดียว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากในช่วงนั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลก ที่เรียกว่า Great Depression ส่งผลให้ประเทศญี่ปุ่นมีผู้ต้องตกงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ตกงานเหล่านี้ ส่วนหนึ่งก็หันมาประกอบอาชีพเป็นนักเล่าเรื่องคามิชิไบที่ทำรายได้ดีไม่น้อยในสมัยนั้น

รูปแบบของคามิชิไบที่เป็นที่รู้จักนั้นโดยนักเล่าเรื่องคามิจะแต่งตัวด้วยชุดท้องถิ่นและขี่จักรยานที่มีกล่องไม้ใส่ภาพวาดผูกติดกับจักรยานของเขา โดยมีด้านบนเป็นกล่องไม้แนวตั้งแบบบานพับเปิดปิดได้เพื่อใช้เป็นที่วางภาพวาดสำหรับการเล่าเรื่องคล้าย ๆ กับเป็นเวทีขี่จักรยานไปยังแหล่งชุมชนต่าง ๆ ที่มีผู้คนพลุกพล่าน ก่อนจะใช้ท่อนไม้ หรือ กรับ เคาะเพื่อเรียกความสนใจของผู้คนแถวนั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก ๆ ให้มาฟังเรื่องราวที่เขาจะเล่า โดยก่อนที่จะเล่านั้น นักเล่าเรื่องคามิชิไบ จะขายขนมหวานให้กับเด็ก ๆ สำหรับเป็นรายได้ในการหาเลี้ยงชีพ แล้วจึงค่อยเล่าเรื่องราวไปตามภาพวาดนั้น ซึ่งด้วยอรรถรสในการเล่าประกอบด้วยภาพวาดที่สวยงาม ทำให้คามิชิไบกลายเป็นสิ่งที่สร้างความตื่นตาตื่นใจได้อย่างมากในสมัยนั้น

นักคามิชิไบส่วนใหญ่นั้นเป็นศิลปิน และจะผลิตภาพวาดเรื่องราวตามความคิดของตัวเอง ซึ่งมักจะเป็นนิทานและเรื่องล้อเลียนต่าง ๆ แต่ภายหลังเมื่อมีนักคามิชิไบมากขึ้น ทำให้เกิดพ่อค้าคนกลางที่จัดหาภาพชุดเพื่อขายให้กับนักคามิชิไบโดยเฉพาะ

เมื่อผ่านยุคทองไป คามิชิไบกลับมาซบเซาอีกหลายปี จนภายหลังคามิชิไบกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งประเทศญี่ปุ่น ด้วยความที่เป็นฝ่ายแพ้สงคราม ทำให้ชาวญี่ปุ่นตกอยู่ในภาวะสับสนวุ่นวายใจ คามิชิไบจึงกลายเป็นความความบันเทิงอย่างหนึ่งที่มอบให้กับผู้คนและเด็ก ๆ จนกระทั่งการมาของโทรทัศน์ในปี ค.ศ.1953 ซึ่งในช่วงเวลานั้นชาวญี่ปุ่นต่างเรียกโทรทัศน์ว่า เดนกิ คามิชิไบ ที่แปลว่า คามิชิไบไฟฟ้า ทำให้คามิชิไบแบบดั่งเดิมซบเซาลงและเลื่อนหายไปตามกาลเวลา

คามิชิไบนับว่าเป็นต้นกำเนิดของอุตสาหกรรมมังงะ (การ์ตูนญี่ปุ่น) ซึ่งทำรายได้ให้กับประเทศญี่ปุ่นอย่างมหาศาล เพราะพื้นฐานของคามิชิไปคือการวาดภาพบอกเล่าเรื่องต่าง ๆ และแปรเปลี่ยนจากการเล่าเรื่องเป็นการใส่ข้อความสนทนาลงไปในหนังสือการ์ตูนแทน ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นการ์ตูนแอนนิเมชันในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้คามิชิไบแบบดั้งเดิมนั้นกลายเป็นศิลปะที่ได้รับการอนุรักษ์และถูกนำมาใช้อย่างมากมายในด้านการส่งเสริมการศึกษา ซึ่งไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่นเท่านั้นที่มีการนำคามิชิไบมาใช้ในเรื่องนี้ หลายประเทศก็นำรูปแบบของคามิชิไบไปใช้ด้วยเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่นประเทศฝรั่งเศส ที่เมื่อไม่นานมานี้องค์กรภาษาฝรั่งเศสที่ส่งเสริมการพูดได้หลายภาษา DULALA (D'Une Langue A L'Autre) ได้มีการสนับสนุนให้โรงเรียนฝรั่งเศสเข้าแข่งขันคามิชิไบระดับชาติเป็นครั้งแรกและได้เปิดตัวการแข่งขัน“ Kamuribai Plurilingual Kamuribai” ในระดับนานาชาติครั้งแรกอีกด้วย

คามิชิไบนั้นแทบจะไม่แตกต่างกันกับการเล่านิทานจากหนังสือนิทาน ทำให้คามิชิไบถูกนำมาใช้ในการส่งเสริมการศึกษา โดยเฉพาะในระดับการศึกษาปฐมวัย เพราะการเล่านิทานจากภาพนั้นนับเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เด็กชื่นชอบและเป็นประโยชน์กับการพัฒนาของเด็ก ๆ เป็นอย่างมาก บวกกับกลวิธีการเล่าเรื่องที่สนุกตื่นเต้น ด้วยการใช้โทนเสียงที่แตกต่างกัน ก็สร้างความน่าสนใจและตื่นตาตื่นใจให้กับเด็ก ๆ ได้ไม่ยาก นอกจากนี้การอธิบายด้วยภาพประกอบก็ยังมีประโยชน์อย่างมากกับการศึกษาในระดับชั้นอื่น ๆ อีกด้วย

 

เราสามารถนำรูปแบบของคามิชิไบมาใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมการศึกษาได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับรูปแบบของการนำไปใช้ยกตัวอย่างเช่น

             1. ในการสอนระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษาครูผู้สอนอาจนำรูปแบบของคามิชิไบ มาใช้เป็นแนวคิดในการผลิตสื่อการเรียนการสอนที่เป็นภาพนิทานเพื่อใช้ประกอบการเล่าเรื่อง ซึ่งภาพวาดพร้อมด้วยการเล่าเรื่องที่น่าสนุกตื่นเต้นจะช่วยให้นักเรียนมีความสนใจในเรื่องที่ครูผู้สอนต้องการจะนำเสนอมากขึ้น

             2. ครูผู้สอนสามารถใช้รูปแบบคามิชิไบในการส่งเสริมให้นักเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา แสดงความคิดสร้างสสรค์ออกมาเป็นเรื่องราวต่าง ๆ โดยการกำหนดหัวข้อแล้วลองให้นักเรียนแต่งเรื่องราวและวาดภาพตามเรื่องราวนั้น จากนั้นจึงให้นักเรียนออกมาเล่าเรื่องราวพร้อมภาพประกอบทีละคนซึ่งกิจกรรมนี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนแล้ว ยังช่วยฝึกฝนทักษะการสื่อสารให้กับนักเรียนได้อีกด้วย

             3. ให้นักเรียนวาดภาพคนละ 1 ภาพ จากนั้นให้นักเรียนยืนเข้าแถวกัน บอกเล่าเรื่องราวตามภาพที่วาด โดยร้อยเรียงเรื่องราวต่อ ๆ กันครบทุกคนซึ่งวิธีการนี้นับเป็นวิธีการที่ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างดี นอกจากนี้ ถ้ามีการกำหนดเวลาร่วมกัน ก็เป็นการฝึกให้นักเรียนมีความคิดว่องไวได้อีกด้วย

             4. ครูผู้สอนสามารถใช้เทคนิคคามิชิไบ ในการนำเข้าสู่บทเรียนได้อย่างแยลยล

             5. คามิชิไบช่วยให้ครูผู้สอนสามารถพัฒนาตัวเองให้เป็นนักเล่าเรื่องที่น่าสนใจได้ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากต่อการทำงานของครู

             6. คามิชิไบนับว่าเป็นศิลปะการเล่าเรื่องที่น่าสนใจซึ่งสามารถนำไปประยุกต์กับศิลปะการเล่าเรื่องในรูปแบบอื่น ๆ ได้ เช่น การแสดงละครหุ่นมือ หนังตะลุย หรือ หุ่นเงา เป็นต้น

 

             ข้อดีของประเทศญี่ปุ่นอย่างหนึ่งคือ การที่มีความรักและหวงแหนวัฒนธรรมต่าง ๆ ของตัวเอง และพยายามที่จะนำวัฒนธรรมนั้นมาประยุกตฺใช้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ในยุคปัจจุบันให้ได้มากที่สุด ซึ่งนับได้ว่าเป็นแนวทางของการอนุรักษ์ที่ดีและน่าสนใจ ถึงแม้ว่าประเทศญี่ปุ่นจะมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีมากเท่าไหร่ แทนที่จะเปลี่ยนมันเพื่อทดแทนด้วยสิ่งที่ทันสมัยกว่า พวกเขากับเลือกนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมจนหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวได้ เฉกเช่นเรื่องของคามิชิไบ ที่แม้ว่าด้านเทคโนโลยีของญี่ปุ่นจะพัฒนาจนสามารถสร้างภาพเคลื่อนไหวที่ตื่นตาตื่นใจได้ แต่การเล่าเรื่องแบบคามิชิไบ ก็ยังคงพบเห็นได้อยู่ในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ โดยเฉพาะในการส่งเสริมการเรียนการสอน จึงเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่าประเทศญี่ปุ่นนับว่าเป็นประเทศที่จัดการในด้านความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมและความทันสมัยได้อย่างลงตัว และประเทศไทยควรเอาเป็นเยี่ยงอย่างเป็นอย่างยิ่ง

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow