Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

คู่มือสร้างความสำเร็จ ฉบับลูกที่เรียนไม่เก่ง

Posted By Plook TCAS | 31 ม.ค. 65
5,524 Views

  Favorite

         คุณพ่อคุณแม่เคยแอบถอนหายใจ หรือรู้สึกใจแป้วบ้างมั้ยคะ เมื่อเห็นใบคะแนนของลูก พร้อมกันนั้นก็แอบคิดถึงเพื่อนที่เพิ่งมาเล่าให้ฟังเรื่องเกรดของลูกที่สูงโดนใจ

         คุณแอบน้อยใจ น้ำตาไหล สงสารลูก ตำหนิลูก ฯลฯ หรือเปล่า

         หากไม่เป็นก็ดีแล้ว  หากเป็นก็หยุดซะ มาจัด mindset กันใหม่ ... ทุกปัญหามีทางแก้ค่ะ

         ลูกเราเรียนไม่เก่ง ใช่ความผิดของลูกหรือ เพราะลูกก็พยายามเต็มที่แล้ว ทั้งขยันท่องหนังสือ ขยันทำการบ้าน แต่คะแนนสอบยังไม่กระเตื้องขึ้น 

         ในฐานะของคนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ เพราะถึงแม้ลูกเราเรียนไม่เก่งเหมือนลูกคนอื่น แต่ขอให้เชื่อมั่นว่าลูกเราพัฒนาได้ และต้องสำเร็จได้ในทิศทางของตนเอง

 

อย่าหวั่นไหวแม้ใจสั่นคลอน

         อย่าคาดหวังและอย่าผิดหวังเมื่อผลการเรียนของลูกไม่ได้ดั่งใจ เห็นใบคะแนนของลูกแล้ว ยิ้มไว้ ... ไม่เป็นไรลูก แค่สอบผ่าน พ่อแม่ก็ดีใจแล้ว หรือหากพลาดไปต้องซ้ำชั้น ยิ้มไว้แล้วบอกลูกว่าไม่เป็นไร เรียนใหม่ก็ได้

         พ่อแม่ที่เข้าใจชีวิตลูกมีความหมายและอิทธิพลต่อชีวิตลูกมากค่ะ

 

อย่าเปรียบเทียบ

         “ลูกเพื่อนแม่ได้เกรด 4 ทุกวิชา” “หลานเพื่อนบ้านเราสอบได้ที่ 1 ติดต่อกันทุกปี” “ทำไมเรียนไม่เก่งเหมือนพี่ล่ะ” “ทำไมไม่เอาอย่างเพื่อนคนนั้นบ้าง” ฯลฯ สารพัดการคัดสรรมาเปรียบเทียบ ยิ่งมีแต่จะทำให้ลูกเสีย self มาก เหมือนถูกลดความเชื่อมั่นและคุณค่าในตัวเอง บั่นทอนกำลังใจ ทำให้รู้สึกผิดหวังกับตัวเอง และสร้างความทุกข์ใจ ลูกเราเราปั้นได้ด้วยวิธีการของเรา ไม่ต้องเคี่ยวเข็ญให้เหนื่อยใจเหนื่อยกายทั้งลูกและเรา ไม่ต้องเปรียบเทียบกับวิธีการของใครให้เสียเวลาและอารมณ์ ... ชิลชิล

 

ให้กำลังใจ ใส่พลังบวก

         กำลังใจเป็นยาวิเศษขนานเอกที่เยียวยาจิตใจได้ เป็นพลังบวกที่สามารถพัฒนาเป็นพลังคูณได้ ใช้ปิยวาจาในครอบครัวสร้างกำลังใจให้ลูกคนที่เรียนไม่เก่ง ใช้ความรักความอบอุ่นสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่ ทำให้เขาเชื่อว่า แม้เขาจะเรียนไม่เก่ง แต่เขาจะสามารถเป็นคนดีที่สร้างความสำเร็จในชีวิตได้ ด้วย Item ตัวอื่น ที่ไม่ใช่เกรด หรือการเรียนเท่านั้น โดยมีพ่อแม่ช่วยส่งเสริมให้ลูกได้เรียนตามความสามารถ ได้เล่นอย่างมีความสุขและสนุกสนานตามวัย เอาตัวรอดได้ในทางที่ถูกที่ควร

 

อย่าใช้พลังลบในครอบครัว

         เมื่อลูกถูกระบบการศึกษาสรุปผลว่าเป็นคน “เรียนไม่เก่ง” ฝั่งคุณพ่อคุณแม่อย่าทำให้ลูกเสียสุขภาพจิตด้วยการบ่นว่า ตำหนิ หรือใช้ถ้อยคำประชดประชัน กดดันต่าง ๆ นานา นั่นเท่ากับเรากำลังปล่อยพลังลบใส่ลูก และแน่นอนว่าพลังลบที่ปล่อยไปนั้น มันจะไม่ไปไหน จะสะสมอยู่ในตัวลูกของเรานั่นเอง นอกจากนี้ในช่วงวัยที่เป็นรอยต่อระหว่างเด็กกับวัยรุ่นจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องฮอร์โมนและอารมณ์ อาจทำให้เก็บกดจนเกิดแรงต่อต้านพ่อกับแม่ได้ และสุดท้ายอาจจะเลือกเชื่อฟังคนอื่นที่ไม่ทำให้พวกเขารู้สึกลบอย่างที่คนในครอบครัวทำกับพวกเขา

 

สร้างแรงบันดาลใจ

         หาหนังสือดี ๆ แนะนำเพจที่สร้างสรรค์ ช่องยูทูปที่คอนเทนท์ดี ๆ ปัง ๆ ให้ลูกรู้จัก ชวนกันดู หรือดูไปด้วยกัน แลกเปลี่ยนวิเคราะห์มุมมองต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้ความคิดกันในครอบครัว บางครั้งข้อความเพียงแค่บรรทัดเดียวหรือย่อหน้าเดียวอาจสร้างแรงบันดาลใจได้มากมายจนเราเองนึกไม่ถึง โดยเฉพาะข้อความที่ได้มาจากการอ่านหนังสือ แม้จะฟังดูเชย ๆ สำหรับยุคนี้ ที่เด็ก ๆ ต่างไปขลุกกันอยู่ในโลกออนไลน์ แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่เป็นหนอนหนังสือตัวยง รับรองเลยว่าคุณจะรู้ถึงความแตกต่างและพลังของตัวอักษร การที่ลูกอ่านหนังสือเรียนไม่รู้เรื่อง ไม่ได้แปลว่าเขาจะอ่านหนังสืออื่นไม่รู้เรื่องนี่นา

 

ฟิตแอนด์เฟิร์มร่างกายและสมองของลูกให้พร้อม

         การออกกำลังกาย กินอาหารดีมีประโยชน์เพื่อสร้างขุมพลังให้สมอง การใช้เวลาว่างที่สร้างสรรค์ เสริมเติมกิจกรรมที่กระตุ้นการเรียนรู้  ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่สร้างพัฒนาการให้ลูกทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งพ่อแม่เองก็ต้องเป็นต้นแบบที่ดีให้ลูก รวมทั้งการฝึกสมาธิช่วยให้ลูกมีพลังจิตและพลังใจกล้าแกร่ง เข้มแข็ง และอดทน เป็นการพัฒนาสมองและฝึกจิตให้เรียนหนังสือและทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดีและมีความสุขมากขึ้น

 

เก่งขึ้นได้ ด้วยการ...นอน

         เด็กวัยเรียนไม่ควรนอนเกินสี่ทุ่ม เพราะช่วงนี้ Growth Hormone จะหลั่ง ทำให้เด็กเจริญเติบโตตามวัย ช่วยพัฒนากายใจให้สมบูรณ์แข็งแรง ตื่นมาพบกับเช้าวันใหม่ด้วยความสดชื่น แจ่มใส มีความสุข และมีพลัง การเรียนที่ว่ายาก อาจจะกลายเป็นง่ายขึ้น ถ้าลูกของเราได้รับการพักผ่อนอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามช่วงวัย

 

ค้นหาตัวตนที่แท้จริงของลูก

         ลูกเราอาจไม่ถนัดเรื่องการเรียนการสอนในโรงเรียนหรือวิชาต่าง ๆ ที่เรียนในหลักสูตรซึ่งเป็นภาคบังคับ ลูกอาจมี “พรสวรรค์” หรือ “ศักยภาพ” บางอย่างแฝงอยู่ในตัว ซึ่งบางทีเราเองก็ไม่รู้และไม่เคยค้นหา ลองตั้งสติให้นิ่ง ๆ ใช้วิจารณญาณทบทวนเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตลูก เพราะไม่มีใครรู้จักลูกได้ดีเท่าคนเป็นพ่อแม่ พยายามค้นหาตัวตนของลูกให้พบ แล้วเราอาจเห็นความสามารถที่ซ่อนเร้นของลูก และช่วยสร้างเสริมพลังแห่งอัจฉริยภาพให้ลูกได้ และหากลูกได้ทำในสิ่งที่รักและตรงใจ ก็อาจก้าวข้ามปัญหาทั้งหลายทั้งปวงได้โดยไม่ยากนัก

 

เรียนเก่ง VS เรียนด้วยความสุข

         พ่อแม่อย่าเอาความต้องการของตัวเองมาเป็นตัวตั้งว่าลูกของเราจะต้องเรียนเก่งเพื่อ??? หากลูกต้องสู้จนรู้สึกว่าชีวิตเหน็ดเหนื่อยเหลือเกิน ขาดความสุข พ่อแม่ต้องหยุด แล้วทบทวนหาทางพัฒนาให้ลูก ความสุขอาจอยู่ใกล้ตัวนิดเดียว แล้วเรามองเห็นหรือยัง  ความสุขที่ยิ่งใหญ่เหนือสิ่งอื่นใดคือความสุขในครอบครัวที่พ่อแม่ลูกช่วยกันสร้าง และความสุขนี้จะเป็นพลังขับเคลื่อนชีวิตของลูก หากลูกเรียนด้วยความสุข จะเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง รู้จักใช้วิจารณญาณในสิ่งที่ถูกต้อง รักตนเองซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันชีวิตเป็นอย่างดีให้รอดพ้นจากสิ่งเลวร้ายในสังคม เชื่อมั่นในตนเองอย่างมีเหตุผล ดูแลตนเองได้ เมื่อเติบใหญ่ก็กล้าแสดงออกในทางที่เหมาะสม รู้จักหาทางเลือกและหนทางที่สว่างไสวให้ชีวิต

 

สร้าง mindset ให้ลูกรู้เท่าทันความเป็นไปในชีวิต

         การที่ลูกเราเรียนไม่เก่งไม่ได้หมายความว่าจะไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต หากเราสอนให้ลูกรู้เท่าทันโลกและความเป็นไปในชีวิต รู้จักรักษาตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัยในวิถีทางที่ถูกต้อง รู้จักการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สอนลูกให้รู้จัก “ทักษะการคิด” หรือ “ความสามารถในการจัดการ” หรือที่เรียกว่า “Executive Function” (EF) ถึงแม้ลูกเราเรียนไม่เก่ง แต่เราสอนลูกให้รู้จักควบคุมความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม หลีกเลี่ยงสิ่งเร้า ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ฯลฯ ลูกก็สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้เมื่อเติบโตขึ้น เพราะสามารถจัดระเบียบแบบแผนในชีวิตได้ด้วยตนเอง

 

         สิ่งสำคัญที่สุดที่พ่อแม่สามารถสร้างเสริมความสำเร็จให้ลูกได้แม้ลูกเรียนไม่เก่งคือทัศนคติของพ่อแม่ที่มีต่อลูกคนนี้ค่ะ

 

                                                                                                     ณัณท์

ข้อมูลอ้างอิง
https://thaiza.com/news/qualitylife/309763/
https://www.manarom.com/blog/EF_Executive_Function.html

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow