ทำ To do list
ใครที่อยากจะวางแผนการใช้ชีวิตประจำวันให้ง่ายขึ้น แนะนำว่าให้ลองตื่นเร็วขึ้นสัก 10-15 นาที เพื่อมานั่งลิสต์ว่าวันนี้เราต้องทำอะไรบ้าง อาจจะจดในโทรศัพท์มือถือ ทำเป็น To do list ว่าเราต้องทำอะไรบ้าง พอทำข้อไหนเสร็จก็ให้ขีดฆ่าออกไป การทำแบบนี้จะทำให้เรามองเห็นสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันอย่างชัดเจน
Tips: เวลาทำ To do list ให้จัดลำดับความสำคัญ โดยเรียงจากสำคัญมากไปน้อย เราจะได้รู้ว่าอันไหนควรทำก่อนหลัง หรือเรื่องไหนเร่งด่วนและสำคัญกว่ากัน ส่วนคนที่ไม่ชอบมานั่งลิสต์ To do list ตอนเช้า แนะนำว่าให้ทำตั้งแต่ก่อนจะเข้านอนจะดีที่สุด
มีลิสต์แบบยืดหยุ่นเพื่อกันลืม
การทำลิสต์แบบยืดหยุ่น หรือ Running list คือการจดสิ่งที่เราอยากทำเอาไว้ก่อน เช่น อยากออกไปเจอเพื่อนจังเลย หรืออยากแวะไปดูต้นไม้ใหม่ ๆ เราก็สามารถจดไว้ในลิสต์สิ่งที่จะทำไว้ก่อนได้ แล้ววันไหนที่สะดวกก็สามารถทำได้เลยทันที การจดสิ่งที่อยากจะทำแบบนี้มักไม่มีกำหนดวันที่จะทำตายตัวแบบ To do list ฟีลจะเหมือนจดไว้เพื่อช่วยเตือนว่ามีสิ่งที่เราอยากจะทำอีกนะ ซึ่งมันจะช่วยทำให้เราไม่ลืมนั่นเอง
จดบันทึกสิ่งที่ทำในแต่ละวัน
อย่ามองข้ามการจดบันทึกเชียว หลายคนมักจะลืมว่าเรามีนัดวันไหนบ้าง หรือเราซื้อสิ่งนี้ไปวันไหน การจดบันทึกสิ่งที่ทำในแต่ละวันจึงสำคัญมาก อาจจะไม่ต้องจดละเอียดเหมือนไดอารี่ก็ได้ เราสามารถจดแค่ว่าวันนี้มีนัดกับใคร ไปเที่ยวที่ไหน ซื้อของใช้ใหม่ จ่ายหนี้ที่ค้างไว้แล้ว ฯลฯ การทำแบบนี้จะทำให้เราสามารถกลับมาทวนความจำได้ตลอดและไม่มีลืมเลยด้วย
Tips: จดบันทึกพวกนี้ไว้ในปฏิทินในโทรศัพท์มือถือจะทำให้เราไม่ลืม และสะดวกต่อการใช้งานมาก ๆ เพราะมือถือเปรียบเหมือนอวัยวะที่ 33 ของคนเราไปแล้ว
เคลียร์เรื่องรกสมองทิ้งไปบ้าง
การกำจัดเรื่องรกสมองถือเป็นการได้ boost สมอง ล้างความคิดที่ไม่จำเป็นออกไป วิธีที่จะทำให้สมองปลอดโปร่งมากขึ้นคือการนั่งสมาธิ ลองฝึกนั่งสมาธิดู อาจจะเริ่มจาก 3-5 นาที หากใครไม่สะดวกนั่งก็สามารถนอนทำสมาธิได้ สิ่งสำคัญคือการจดจ่ออยู่กับลมหายใจเวลาหายใจเข้าออก การทำแบบนี้จะช่วยฟื้นฟูทั้งสมองและจิตใจ ช่วยคลายความเครียด ช่วยให้จัดระเบียบความคิดได้ดีขึ้น และทำให้เรามีสมาธิในการทำสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น
เคลียร์สิ่งที่ไม่ใช้ออกไป
การนำสิ่งของที่เราไม่ได้ใช้ออกไปถือเป็นขั้นตอนแรกในการจัดบ้านให้เป็นระเบียบ ลองหาเวลาสักวันเคลียร์ของต่าง ๆ ในตู้เสื้อผ้า ตู้เก็บของ ลิ้นชักโต๊ะอ่านหนังสือ ลองดูว่าอะไรที่เราไม่ใช้แล้วก็ให้นำออกมา หากยังสภาพดีก็สามารถขายต่อหรือนำไปบริจาคได้
เก็บเอกสารต่าง ๆ ไว้ในแฟ้ม
เพราะบ้านเรายังเป็นสังคมที่ใช้เอกสารต่าง ๆ แบบกระดาษเป็นหลัก เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาหนังสือเดินทาง ฯลฯ การเก็บเอกสารสำคัญควรมีแฟ้มแยกสำหรับเก็บไว้โดยเฉพาะ แล้วติดป้ายชื่อเอาไว้อย่างเช่นแฟ้มเอกสารสำคัญ แฟ้มโน้ตสำหรับอ่านสอบ แฟ้มใบเสร็จหรือใบรับประกันสินค้า การทำแบบนี้จะช่วยให้ทุกอย่างดูเป็นระเบียบและง่ายต่อการใช้มากขึ้น
ตะกร้าเก็บของคือตัวช่วยที่ดี
หากอยากจะอำพรางความรกเพราะมีของเยอะมาก ๆ การใช้ตะกร้าหรือกล่องเก็บของถือเป็นช้อยส์ที่ดี เพราะมันจะทำให้ดูเป็นระเบียบและช่วยปิดบังความรกได้ดีมาก ๆ นอกจากตะกร้าหรือกล่องเก็บของแล้ว ใครอยากจะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้ได้มากที่สุด แนะนำว่าให้ลองดูไอเดียการเก็บของแบบแนวตั้งหรือการติดชั้นวางของ
ใช้เสร็จแล้วให้เก็บเข้าที่ทันที
การทำแบบนี้จะทำให้เราไม่เผลอวางของไม่เป็นที่ และยังช่วยสร้างนิสัยให้เรามีระเบียบแบบระยะยาวอีกด้วย เช่น หยิบแฟ้มออกมาใช้ พอใช้เสร็จแทนที่จะวางเอาไว้ก็เก็บให้เข้าที่ทันที หรือคอยจัดห้อง จัดโต๊ะอ่านหนังสือทุกสัปดาห์เพื่อให้เป็นระเบียบและสะอาดอยู่เสมอ เมื่อทำแบบนี้อย่างต่อเนื่องเราก็จะเคยชินและติดเป็นนิสัยไปในที่สุด
บทความที่เกี่ยวข้อง
• เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย จะบาลานซ์เวลาชีวิตยังไงดี
• 18 เคล็ดลับที่จะช่วยให้เราบาลานซ์ชีวิตให้ดีขึ้นในทุก ๆ ด้าน
• เบื่อจัง ชีวิตจะเป็นอะไรได้อีก ถ้าหากไม่ได้เป็น ‘คนเรียนเก่ง’
• If-Then Plans การวางแผนที่จะช่วยแก้นิสัยผัดวันประกันพรุ่งให้ดีขึ้นได้
• Checklist 10 สิ่งที่วัยรุ่นทำแล้วชีวิตจะดีดี๊ดี
• 10 ไอเดียจัดโต๊ะอ่านหนังสือ จัดยังไงให้นั่งอ่านหนังสือได้นาน
• รวมวิธีแต่งห้องใหม่ จัดห้องให้น่าอยู่ ตามแบบฉบับคนงบน้อย
• กฎ 7 : 5 : 1 ตัวช่วยจัดห้องให้ดูดี จัดของให้เป็นระเบียบขึ้น !
• เทคนิคพับชุดนักเรียนไม่ให้ยับ จาก ‘คนโด มาริเอะ’
แหล่งข้อมูล
- The Power of the List: Essential Lists for Productivity
- Organize your mind to organize your life