Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำยังไงดี เมื่อบ้านไม่ใช่เซฟโซนและเป็นเหตุให้เราแตกสลายอยู่ประจำ

Posted By Plook Magazine | 17 ธ.ค. 64
120,458 Views

  Favorite

เมื่อบ้านและคนในครอบครัวไม่ใช่ทั้งคอมฟอร์ทโซนและเซฟโซนของเรา แถมยังเป็นต้นเหตุให้เราไม่มีความสุขและมีความคิดอยากหายไปบ่อย ๆ พาลให้เราหมดไฟในการใช้ชีวิต สอบตกในการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น ส่งผลกระทบในแง่ลบไปซะทุกเรื่องแบบนี้ แล้วเราผิดไหมที่รู้สึกแบบนั้นกับคนในบ้าน ผิดไหมที่เราไม่ชอบพวกเขาเลยและอยากจะหนีไปให้พ้น ๆ แล้วทางออกที่ดีกับตัวเองสำหรับเรื่องนี้มันอยู่ที่ตรงไหน ?  

 

 

สาเหตุที่วัยรุ่นไม่มีความสุขเมื่ออยู่บ้าน

สาเหตุหลักที่เราไม่มีความสุขเมื่ออยู่ที่บ้านมาจากความแตกต่างระหว่างวัยที่มันสูงมาก บางบ้านพ่อแม่ลูกไม่ยอมปรับตัวเข้าหากัน แต่ให้คนในบ้านหมุนรอบตัวเองอยู่ฝ่ายเดียว ฉันเกิดก่อน ฉันรู้ดีที่สุด ในขณะที่วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการอิสระและเชื่อมั่นในตัวเองสูงนำมาซึ่งปัญหาระหว่างวัยที่เข้ากันไม่ได้ แต่ส่วนประกอบยิบย่อยอื่น ๆ อย่างเช่น การเข้าถึงข้อมูล เข้าถึงอินเทอร์เน็ตก็มีส่วนเช่นกัน เพราะในยุคสมัยของพ่อแม่เรา เขาไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยแบบนี้ พวกเขาถูกเลี้ยงดูมาแบบไม่ให้ตั้งคำถาม พ่อแม่สั่งอะไรลูกก็ต้องเชื่อฟัง พ่อแม่เป็นพ่อพระแม่พระประจำบ้านปานว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งคนเป็นพ่อยิ่งแล้วใหญ่ พ่อพูดคำไหนคำนั้น ลูกห้ามเถียง ถ้าพ่อบอกว่าไม่ก็คือไม่ 

 

แต่เด็กสมัยนี้ไม่ได้โตมาด้วยความคิดชุดเดียวกับพ่อแม่ เด็กยุคนี้เห็นทุกอย่างและชอบตั้งคำถาม ถ้าพ่อแม่บอกว่า ‘อย่า’ เขาจะถามทันทีว่า ‘ทำไมทำไม่ได้ เพราะอะไร’ ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความคิดของคนเป็นพ่อแม่กับลูกจึงแตกต่างกัน เพราะในขณะที่พ่อแม่บางบ้านยังเชื่ออยู่ว่าการตีลูก ด่าลูก ดูถูกลูก หรือใช้คำพูดแรงบั่นทอนจิตใจกับลูก มันคือการกระทำแห่งความรักและความหวังดี ในขณะที่ทั่วโลกเขาเลิกทำแบบนั้นกับลูกกับหลานกันตั้งนานแล้ว ทำให้ทุกครั้งที่เราเล่าปัญหาของเราให้คนในครอบครัวฟัง มันจะจบลงด้วยความขัดแย้ง เกิดการทะเลาะ ลงไม้ลงมือ และเกิดความรู้สึกที่ว่า ’พ่อแม่ไม่ใช่เซฟโซนว่ะ’ แถมยังทำให้ทุกอย่างแย่เข้าไปใหญ่ในบางกรณี

 

 

เบื่อครอบครัว อยากอยู่เงียบ ๆ คนเดียวมันจะบาปไหม ?

Cr.freepik/rawpixel.com

 

การที่เราไม่ชอบคนในครอบครัวอาจทำให้เรารู้สึกผิดอยู่ลึก ๆ เพราะใคร ๆ เขาก็บอกว่าเราต้องกตัญญูกับพ่อแม่นะ ห้ามคิดในแง่ร้ายกับเขานะ เพราะคนไทยเรามีค่านิยมเรื่องความกตัญญูต่อพ่อแม่เหมือนอย่างที่เราเคยได้ยินในเพลงค่าน้ำนมที่บอกว่า “...หยดหนึ่งน้ำนมกินทดแทนไม่สิ้นพระคุณแม่เอย” กลายเป็นบรรทัดฐานความกตัญญูของลูกที่ต้องมีต่อพ่อแม่มาจนถึงทุกวันนี้ มันเลยทำให้เราต้องอดทนอดกลั้นทุกครั้งและเลือกที่จะเงียบหรือเก็บไปร้องไห้คนเดียว ไม่แสดงออกแม้ว่าเราจะไม่โอเคแค่ไหนก็ตามเมื่อถูกกระทำจากคนในครอบครัวเพราะคำว่าต้องกตัญญูมันค้ำคอ  
   

 

แท้ที่จริงแล้วพ่อแม่ทุกคนไม่ได้เหมือนกัน ครอบครัวทุกครอบครัวไม่ได้เหมือนกัน คนที่มีครอบครัวอบอุ่นก็ไม่มีสิทธิไปตัดสินครอบครัวคนอื่นว่าต้องเป็นแบบนั้นหรือแบบไหน 
พ่อแม่ทุกคน
ไม่ได้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง
 ไม่ได้เฝ้าหวงห่วงลูกแต่หลังเมื่อยังนอนเปล
 และไม่ใช่ทุกคนที่แต่เล็กจนโตพ่อแม่เฝ้าถนอม หากเราเอาบ่วงการเป็นลูกกตัญญูที่มันคล้องคอเราอยู่ออกไปชั่วคราว แล้วมองพ่อแม่ว่าเป็นมนุษย์คนหนึ่งและมองสิ่งที่เขาทำกับเรา เราอาจจะผ่อนคลายความสับสน ความรู้สึกผิด และเข้าใจตัวเองมากขึ้น ว่าทำไมเราถึงไม่ชอบพ่อแม่เลย ไม่อยากอยู่ใกล้เขาเลย ไม่อยากอยู่บ้านเลย ที่จริงแล้วมันเพราะอะไร ? ก็เพราะเขาดูถูกความพยายามของเรา เขาบูลลี่รูปร่างเรา เขาตีเรา ทำลายข้าวของของเรา แอบดูมือถือเรา แอบแกะกล่องพัสดุของเราทั้งที่เราไม่อนุญาต ไม่เป็นธรรมกับเรา รักลูกชายมากกว่าลูกสาว ฯลฯ การเข้าใจสาเหตุของความรู้สึกเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อเราเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดเราจะสามารถให้อภัยพ่อแม่ ให้อภัยตัวเอง และที่สำคัญเราจะดีลกับความรู้สึกผิดนั้นได้ในที่สุด    

 

 

ทำยังไงดี เมื่อที่บ้านไม่ใช่เซฟโซน


สื่อสารให้ดีขึ้น 

แม้จะเป็นการแก้ที่ปลายเหตุแต่อาจลดความขัดแย้งได้บ้าง เพราะเราเปลี่ยนนิสัยคนไม่ได้แต่เราสามารถเปลี่ยนทิศทางการสื่อสารพูดคุยกับคนในครอบครัวเพื่อลดการขัดแย้งได้ ก่อนที่จะพูดหรือสื่อสารอะไรออกไปให้คำนึงถึงความรู้สึกของคนฟังก่อน ที่สำคัญคือไม่แรงมาแรงกลับ หากสถานการณ์ตึงเครียดมากอาจต้องรอให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอารมณ์เย็นลงก่อน แล้วจึงเอ่ยคำขอโทษ เช่น ถ้าแม่ดุว่าทำไมกลับบ้านค่ำ แทนที่เราจะบ่นกลับ เราอาจพูดว่าขอโทษนะแม่ที่ทำให้เป็นห่วง วันหลังจะบอกแม่ก่อนนะถ้ากลับค่ำ เป็นต้น


 

รักษากฏและรับผิดชอบภาระในบ้าน 

เราต้องทบทวนเรื่องบทบาทและหน้าที่ในบ้าน การที่เราช่วยเหลืองานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ มันแสดงออกถึงความร่วมมือ มองเห็นคุณค่า และขอบคุณซึ่งกันและกัน ชมว่าแม่ทำกับข้าวอร่อยให้บ่อยขึ้น ชมพ่อบ่อยขึ้น ช่วยเก็บกวาดบ้านให้ไม่รก สะอาดสะอ้านมากขึ้น สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีเพราะสภาพแวดล้อมอาจส่งผลต่อพฤติกรรมได้ การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมภายในบ้านหรือรอบ ๆ บ้านให้ดีขึ้นอาจช่วยลดอาการเครียดที่เกิดขึ้นได้ 


 

ทำความเข้าใจ

การที่เราจะเข้าใจพ่อแม่ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะปมในจิตใจจะเป็นอุปสรรคขวางกั้นเราอยู่ ยิ่งถ้าโกรธมากก็จะยิ่งมองไม่เห็น แต่ถ้าเราเข้าใจเขาจริง ๆ ปมก็จะคลาย จะหลุดพ้นจากความโกรธเกลียดที่ฝังลึก เพราะพฤติกรรมบางอย่างที่พ่อแม่ทำอาจมีสาเหตุ การที่เขาชอบทำร้ายเราอาจมาจากการที่เขาเคยถูกทำร้ายมาก่อน การกระทำที่ไม่สมเหตุสมผลและเกินเหตุบางอย่างที่พ่อแม่แสดงออกที่เรามารู้ทีหลังอาจทำให้เราเข้าใจพ่อแม่มากขึ้น จนเกิดเป็นความเห็นอกเห็นใจและให้อภัยเขาได้ 

 

 

หาพื้นที่ปลอดภัย 

พื้นที่ปลอดภัยหรือว่าสิ่งที่ทำแล้วสบายใจ ที่เราจะสามารถใช้เป็นแผนสำรองเอาไว้ในทุกครั้งที่มีปัญหากับที่บ้าน บางคนอาจมีเพื่อนในจินตนาการ บางคนอาจโทรหาเพื่อนสนิท ไปค้างบ้านญาติ ไปวิ่งออกกำลังกายเพื่อให้เราได้มีเวลาส่วนตัวและพื้นที่ส่วนตัวที่จะไม่มีใครมาตัดสินสักพัก บางคนอาจใช้วิธีเขียนบันทึกความรู้สึกเหมือนเขียนไดอารี่ก็ช่วยได้เยอะ ทำให้ได้ทบทวนความรู้สึกของตัวเองเพราะถ้าเราไปกดไว้มันจะยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ ต้องให้มันระบายออกมา 


 

มีสติอยู่เสมอ

ถ้าเราโกรธ ไม่ชอบ หรือเกลียดพ่อแม่ ก็แค่ยอมรับว่าเรารู้สึกแบบนั้น แล้วสติจะมาเพราะสติคือการเห็นตัวเองอย่างที่เป็นโดยไม่ตัดสินว่าดีหรือเลว ไม่ปกปิดความรู้สึกตัวเอง แม้จะมีความรู้สึกแย่ ๆ ก็เห็นมัน ยอมรับมัน ไม่ปฏิเสธมัน เมื่อมีความรู้สึกแย่ก็อย่ามองว่านั่นคือตัวเรา แต่ให้มองว่ามันเป็นแค่สิ่งที่เกิดในใจเรา เป็นอีกคนหนึ่งที่นั่งอยู่ในใจเราหรืออย่างที่พระไพศาล วิสาโล ท่านเรียกว่าเจ้าตัวน้อยที่รอการเยียวยาก็ได้ 

 

 

พบผู้เชี่ยวชาญ

เมื่อสิ่งที่เรากำลังรู้สึกอยู่นั้นยากเกินกว่าจะรับมือด้วยตัวเองคนเดียว การพบจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดจึงเป็นทางออกที่ควรนึกถึง เพราะสำหรับบางคนก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงไม่ชอบพ่อแม่ตัวเองทั้งที่พวกท่านก็เป็นพ่อแม่ที่สนับสนุนลูกดีทุกอย่าง การพบจิตแพทย์จะทำให้เราเข้าใจปัญหาที่แท้จริงได้ทั้งสองกรณี นอกจากจะทำให้เราเข้าใจตัวเองแล้ว ยังอาจทำให้เราเห็นสาเหตุของปัญหาที่เราไม่เคยคิดมาก่อนด้วย

 

แต่กับบางคนก็เพิกเฉยกับที่บ้านไปเลยเพื่อความสบายใจ บางคนก็หันไปพึ่งธรรมะหรือความเชื่อตามศาสนา ซึ่งมันตอกย้ำความเชื่อของเราว่าทุกคนมีวิธีการแก้ปัญหาที่ต่างกัน แต่สุดท้ายแล้วขอให้เราพบกับการให้อภัยเพราะมันเป็นวิธีดับความโกรธเกลียดที่ดีที่สุดที่ช่วยสมานแผลภายในได้อย่างวิเศษ วิธีนี้เท่านั้นที่จะช่วยให้เราเดินไปข้างหน้าอย่างมีความสุขและเป็นอิสระ ไม่ถูกล่ามด้วยอดีตอันเจ็บปวด


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

พ่อแม่ชอบด่า ไม่ค่อยให้กำลังใจ...จะทำยังไงดีเมื่อครอบครัวบั่นทอนจิตใจเรา

พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน เมื่อฉันรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ "คนโปรด" ของพ่อแม่

จะทำยังไง...เมื่อต้องโตมาในบ้านที่เต็มไปด้วยแบบอย่างที่ไม่ดี

โดนเปรียบเทียบหน้าตากับพี่น้องเป็นประจำ ทำยังไงดี ?

‘พ่อแม่ไม่ชอบแฟน’ จะทำยังไงดี เมื่อรักแท้ต้องมาแพ้พ่อแม่ไม่ปลื้ม

เมื่อพ่อแม่จะหย่ากัน คนเป็นลูกควรทำยังไง

ลูกคนกลางหรือ 'Wednesday Child' เป็นเด็กมีปัญหาจริงเหรอ ?

เมื่อที่บ้านไม่ใช่ Safe Zone สำหรับเรา จะทำอย่างไรดี

วิธีลดความกดดันในตัวเอง เมื่อคนรอบข้างคาดหวังมากเกินไป

เด็กสมัยนี้ มันทำไม ? เคล็ดลับการคุยกับคนต่างวัยให้เข้าใจกันมากขึ้น

Teen’s Guide ทุกปัญหาของวัยรุ่นมีทางออกเสมอ

 

 

แหล่งข้อมูล

- ไม่อยากกลับบ้าน เพจที่อยากออกแบบความกตัญญูและนิยายของครอบครัวในรูปแบบใหม่ 

- รับมือกับ 'ความรู้สึกผิด' อย่างไร เมื่อตนเองเป็นต้นเหตุให้พ่อแม่ติดโควิด กับพระไพศาล วิสาโล 

- ลดความขัดแย้งในครอบครัว อย่างสร้างสรรค์ 

- สภาพจิตใจของวัยรุ่น

- Facebook: ไม่อยากกลับบ้าน

 
 
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow