ขอยกตัวอย่างความแตกต่างกันระหว่าง Empathy vs Sympathy ในกรณีที่ A สอบปลายภาควิชาประวัติศาสตร์ไม่ผ่าน ทำให้เกรดเฉลี่ยรวมของเขาไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เมื่อกลับบ้านไปก็โดนคุณแม่ดุที่พลาดไปแค่คะแนนเดียว ทำให้ A เครียดมาเป็นอาทิตย์เพราะเสียใจที่แม่มองไม่เห็นความพยายามของเขาและกำลังนั่งร้องไห้ในห้องสมุด
Sympathy: เราเข้าใจแกนะ ฟังดูแย่มากอ่ะ แต่อย่างน้อยแกก็ไม่ใช่คนที่ได้คะแนนน้อยที่สุดของห้องเหมือนนาย B นะ เดี๋ยวเทอมหน้าเราช่วยติวให้ปัง ๆ เพราะงั้นเลิกเศร้าได้แล้ว ไปกินข้าวกัน
มันคือการที่เรารับรู้ เข้าใจและอิน บางครั้งอาจจะมีการแสดงออกทางคำพูดเพื่อเป็นการปลอบใจผ่านมุมมองและความคิดของตัวเราเอง ให้คำแนะนำร้อยแปดเพื่อช่วยให้เขาแก้ปัญหา หายเศร้าไว ๆ พูดเชิงเปรียบเทียบให้เห็นถึงสิ่งที่แย่กว่าเพื่อทำให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่เป็นอยู่มันไม่ได้แย่ขนาดนั้น หรือพูดตัดบทไปเรื่องอื่นเลย
Empathy: เราเข้าใจนะว่าทำไมแกถึงรู้สึกแบบนั้น เราอยากให้แกรู้ว่าแกไม่ได้อยู่คนเดียว แกยังมีเราอยู่นะ เราเองก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไงเหมือนกัน แต่เราขอบคุณนะที่เล่าให้ฟัง เพราะงั้นแกเล่ามาให้หมดได้เลยนะสิ่งที่แกกำลังรู้สึก เราจะรับฟังเอง
มันคือการที่เรารับรู้และเข้าใจถึงความรู้สึกของเขาผ่านมุมมองของเขาเอง จิตใจของเราก็ยังเป็นตัวของเราอยู่ อยู่บนความเป็นกลาง ฟังด้วยใจ ฟังแบบไม่อคติและไม่ตัดสิน ทำให้เขารู้สึกไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ไม่เร่งรีบให้เขาต้องแก้ปัญหาให้เร็วหรือกลับมาเป็นปกติได้ไว แต่เป็นความเมตตาอย่างหนึ่งที่เราจะมีให้เขาได้ แล้วค่อยหาวิธีแก้ทีหลังเมื่อจิตใจเขาพร้อมกว่านี้
บางคนอาจถามว่า แล้วเราจะทำยังไงดีเพื่อที่จะเป็นคนที่มีความเห็นอกเห็นใจจริง ๆ ไม่เผลอไปแสดงออกด้วยความสงสาร ความเห็นอกเห็นใจมีอะไรเป็นองค์ประกอบสำคัญ เราอยากให้น้อง ๆ ลองนึกถึงกลุ่มคนที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย กลุ่มคนที่ทำงานช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทั่วโลก หรือหมอ พยาบาล ลองนึกถึงผู้ป่วยระยะสุดท้ายหลายพันคนที่พวกเขาต้องช่วยเหลือทุกวัน หลายคนเป็นโรคร้ายที่ไม่รักษาหายพวกเขารู้ตัวว่าจะไม่มีทางกลับมาเป็นปกติ สิ่งที่ผู้ดูแลต้องทำก็คือเข้าใจและตัดสินใจตามรูปการณ์ของแต่ละเคสว่าจะช่วยเหลือเขาอย่างไรอย่างมีสติ ไม่ใช่พอเจอเรื่องนี้แล้วก็อินมากจนหดหู่ขึ้นมาในใจ หรือคิดไปว่าทำไมโลกนี้ช่างไม่ยุติธรรมเลย กลายเป็นคนมองโลกในแง่ลบแล้วด้อยค่าศักยภาพของตัวเองจนถอดใจไปในที่สุด
ความเห็นอกเห็นใจในตัวมันเองก็มีข้อเสีย เพราะการเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเราถลำลึกมากเกินไป เห็นใจอย่างไร้สติ นอกจากจะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้ว เราอาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เราต้องรู้จักใช้มุมมองของคนเหล่านั้นมาเป็นแรงผลักดันให้เดินไปข้างหน้า ความเห็นอกเห็นใจอาจก่อความรู้สึกอินจัดรุนแรงเกินต้าน ทำให้เราลงมือทำ หาทางออก ยอมเหนื่อย ยอมสละเวลาและร่างกายของเราออกไปทำอะไรสักอย่างด้วยความรู้สึกเชื่อมั่น นั่นคือองค์ประกอบสำคัญของความเห็นอกเห็นใจที่มีสติไม่วกกลับมาทำร้ายตัวผู้เห็นอกเห็นใจเอง
ปีเตอร์ ลาสเตอร์ (Peter Lauster) นักจิตวิทยาชาวเยอรมันได้กล่าวถึง 10 วิธีที่จะช่วยพัฒนาความเห็นอกเห็นใจ ดังนี้
1. ตื่นตัวรับรู้ รู้ทันอารมณ์ความต้องการของตัวเองอยู่เสมอและพยายามหมั่นสังเกตรับรู้อารมณ์ของคนอื่น
2. รับฟังสิ่งที่คนอื่นพูดให้จบก่อน ถ้าไม่เข้าใจให้ถามก่อนจะตัดสินใจ
3. ลองสังเกตผู้คนบนถนน ในร้านอาหาร บนรถประจำทาง ว่าเขาน่าจะมีสภาวะอารมณ์อย่างไรและแสดงออกอย่างไรบ้าง
4. อย่าตัดสินคนอื่นจากแค่ภายนอก เราต้องได้ลองพูดคุยหรือสอบถามเขาก่อนเพื่อรับรู้สิ่งที่อยู่ภายในใจของเขา
5. เวลาดูหนังหรือดูซีรีส์ ให้ลองปิดเสียงเเล้วเดาว่าเขากำลังพูดคุยอะไรกันอยู่จากการดูท่าทาง
6. ระหว่างที่คุยกับคนอื่นแล้วพบว่าเขามีความเห็นไม่ตรงกับเรา ลองคิดดูว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น
7. ถามตัวเองว่าในบางสถานการณ์ทำไมเราถึงทำแบบนั้น ทำไมไม่ทำแบบอื่น อะไรอยู่เบื้องหลังที่ทำให้เราทำในสิ่งที่เราทำ เมื่อเรารู้และฝึกบ่อย ๆ มันจะง่ายที่จะเข้าใจผู้อื่นเมื่ออยู่ในสถานการณ์เดียวกัน
8. หากเราไม่ชอบใครพยายามหาเหตุผลให้ได้
9. ก่อนตัดสินคนอื่นให้มองหาข้อมูลให้ได้มากที่สุดที่จะทำให้รู้ได้ว่าทำไมเขาถึงทำแบบนั้น สาเหตุมันมาจากอะไร แล้วมันจะช่วยให้เราไม่ตัดสินคนอื่นและแสดงออกต่อเขาได้เหมาะสมขึ้น
10. จำไว้ว่าพฤติกรรมของคนเราขึ้นอยู่กับอารมณ์
นอกจากนี้การฝึกการกระตุ้นระบบประสาทผ่อนคลาย (Vagus Tone) เช่น การฝึกหายใจเข้าท้องพอง การฝึกหายใจออกท้องยุบ โยคะ การร้องเพลงชิลล์ ๆ หรือทำกิจกรรมที่ช่วยซึมซับการช่วยเหลือ การแบ่งปันและการใส่ใจ เช่น ช่วยเพื่อนทำงาน ทำงานบ้าน บริจาคของ เล่นเกมบัดดี้ เป็นต้น เพราะในงานวิจัยพบว่าคนที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมักจะมีระบบประสาทแบบอัตโนมัติผ่อนคลายสูงกว่าคนปกติ
บทความที่เกี่ยวข้อง
• ดามใจคนข้างกายด้วย Empathy แล้วใช้ Solidarity รักษาแผลสังคม (01)
• Toxic Positivity อีกด้านของการคิดบวกที่พร้อมเฆียนตีเรา
• Deep Conversation คืออะไร เกี่ยวข้องกับความสุขของคนเราจริงหรือ ?
• เป็นผู้ฟังที่ดี รู้จักคนตรงหน้าให้มากขึ้นด้วยเทคนิค Deep Listening
• การเป็นผู้ฟังที่ดี หนึ่งในทักษะสำคัญที่จะช่วยให้ชีวิตดีขึ้น
• คุณคือ Taker หรือว่า Giver ? วิธีเป็นผู้ให้ที่ไม่โดนใครเอาเปรียบและปังเสมอ
• เป็นคนอารมณ์อ่อนไหวง่าย จะรับมือกับอารมณ์ตัวเองยังไงดี
• เพื่อนเป็นโรคซึมเศร้า จะคุยกับเพื่อนยังไงดี ?
• เมื่อความคิดเห็นไม่ตรงกันกับเพื่อนประจำ จะทำยังไงให้ไม่ทะเลาะกัน
• Emotional Agility ทักษะการจัดการอารมณ์ให้สมดุลจากนักจิตวิทยา
• 6 เคล็ดลับสร้างภูมิคุ้มกันต้านความเศร้าจาก TED Talks
แหล่งข้อมูล
- Compassion and the true meaning of empathy
- การศึกษาและพัฒนาความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นของนักเรียนวัยรุ่น