Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลูก ‘ขี้เกียจ’ หรือ ‘เฉื่อย’ กันแน่ ทางแก้ที่พ่อแม่ช่วยได้

Posted By Plook TCAS | 08 พ.ย. 64
5,716 Views

  Favorite

          คุณพ่อคุณแม่เคยสังเกตลูกเราไหมคะเกี่ยวกับอุปนิสัยใจคอในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเรียน  เด็กบางคนมีชีวิตชีวา ร่าเริง แจ่มใส เด็กบางคนเฉื่อยเนือย เฉย ๆ เงียบ ๆ ดูเผิน ๆ เหมือนเด็กขี้เกียจ ไม่สนใจการเรียนหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว

 

          หากเด็กคนใดเป็นแบบหลัง ให้คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตลึกลงไปอีก ดูว่าเด็กขี้เกียจจริง หรือแค่เกิด “ภาวะเฉื่อย” ในบางเวลาหรือในเวลาเรียนหนังสือ โดยเฉพาะการเรียนออนไลน์ที่ต้องอยู่กับเครื่องมือสื่อสารเป็นเวลานาน แล้วเราในฐานะผู้ดูแลเด็กจะมีส่วนช่วยพวกเขาฟื้นฟูภาวะนี้ได้อย่างไร

 

          ผลงานการวิจัยระบุว่าอาหารเช้าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับร่างกาย โดยเฉพาะสำหรับเด็กและวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโตและสร้างพลัง ร่างกายต้องการอาหารที่มีประโยชน์เพื่อเสริมสร้างบำรุงอวัยวะส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะสมองซึ่งเป็นผู้บัญชาการใหญ่ของร่างกาย 

 

          อาหารเช้าเป็นตัวสร้างพลังงานเพื่อให้ร่างกายมีพลังเข้มแข็งในการทำงานและกิจกรรมต่าง ๆ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียน ส่งเสริมระบบความจำ สร้างสมาธิ และพัฒนาทักษะการเรียนรู้  เด็ก ๆ จะมีสุขภาพแข็งแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจได้ เพราะได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์จากอาหารมื้อเช้า แต่ก็ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า อาหารเช้าสำหรับคนไทยเป็นสิ่งที่มักถูกละเลยมองข้าม หรือมีอาหารเช้าที่ถูกเวลา แต่อาจไม่ถูกหลักโภชนาการ 

 

          บางครอบครัวไม่ได้ให้ความสำคัญกับอาหารเช้า เพราะอาจคิดว่าทำให้เสียเวลา จึงให้ลูกกินอาหารแบบง่าย ๆ พอแค่ให้อิ่มท้อง แต่ไม่เป็นประโยชน์กับร่างกาย เช่น ปาท่องโก๋ ซาลาเปาทอดน้ำมันเยิ้ม แถมเป็นน้ำมันทอดซ้ำ ซึ่งเป็นน้ำมันที่ผ่านความร้อนสูงแล้วนำกลับมาใช้ซ้ำหลายครั้งจนเสื่อมสภาพ เพราะเป็นน้ำมันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและเคมี ซึ่งเกิดจากความชื้นที่อยู่ในอาหาร ออกซิเจนจากอากาศ รวมทั้งอุณหภูมิที่สูงในการทอดอาหาร ก่อให้เกิดสารประกอบมากมาย เช่น สารโพลาร์ สารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ สารประกอบคาร์บอนิล สารคีโตน เป็นต้น โดยสารประกอบบางตัวถ้าสะสมในร่างกายอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้

 

          จากข้อมูลการศึกษาในสัตว์ทดลองซึ่งได้รับอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำในระยะเวลาหนึ่ง พบว่าการเจริญเติบโตลดลง เซลล์ตับและไตถูกทำลาย การแบ่งเซลล์ของหลอดอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ กระบวนการเกิดมะเร็ง นอกจากนี้ จากงานศึกษาวิจัยยังพบว่า ไขมันทรานส์ ที่เกิดขึ้นยังเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจขาดเลือด และเพิ่มการอักเสบทั่วร่างกายอีกด้วย

 

          นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการกินอาหารที่ไม่ได้รับ “สารอาหาร” จะทำให้ร่างกายไม่เจริญเติบโตสมวัย พัฒนาการทางสมองจะเฉื่อยหรือเนือยทั้งที่โดยอุปนิสัยแล้วไม่ใช่เด็กเกียจคร้าน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องแยกให้ได้ มองให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว ลูกของเราเป็นอะไรกันแน่ เกียจคร้านโดยนิสัย หรือเราละเลยอะไรไป จนกลายเป็นเหตุให้เกิดภาวะเฉื่อยในตัวลูก

 

          นอกจากนี้ชีวิตคนในเมืองมักจะไม่ได้กินอาหารเช้า เพราะความเร่งรีบ แต่เคยสังเกตตัวเราเองบ้างไหมว่า การไม่ได้กินอาหารเช้าในวันนั้น ทำให้เรารู้สึกหงุดหงิดและอารมณ์จะอ่อนไหวง่าย และแน่นอนว่าถ้าเรายังรู้สึก แปลว่าลูกของเราคงจะต้องหนีไม่พ้นกับภาวะการหงุดหงิดอารมณ์เสีย หรือหัวร้อนโดยไม่รู้ตัวเป็นแน่  นอกจากนี้ยังเพิ่มความเครียดให้แก่เด็ก โดยเฉพาะยุคนี้ที่ทุกอย่างรอบตัวสร้างความเครียดให้เด็กมาก ทั้งวิกฤต Covid-19 หรือการเรียนออนไลน์ โดยมีผลการวิจัยที่น่าสนใจของประเทศเยอรมันและอังกฤษมาฝากคุณพ่อแม่คุณแม่ค่ะ

 

          เริ่มที่นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน พบว่า คนที่กินอาหารเช้าน้อยยิ่งเกิดความเครียดได้มาก และอารมณ์จะอ่อนไหวง่าย หงุดหงิดง่าย ในทำนองเดียวกันหากคุณกินอาหารมื้อกลางวันที่ให้พลังงานน้อย ก็จะมีผลเช่นเดียวกัน ซึ่งจากการศึกษาพบว่า อาหารที่กินเข้าไปมีผลต่ออารมณ์และความเครียด

 

          ส่วนที่อังกฤษ ได้แสดงผลการศึกษาการกินอาหารเช้าที่มีไขมันมากว่า จะทำให้สมองทำงานช้าลง เฉื่อย ล้า ขาดความคิดสร้างสรรค์ และมีความเพ้อฝันมากขึ้น University of Sheffield ได้ตรวจสอบ พบว่า ในกระบวนการย่อยไขมันจะไปลดความกระฉับกระเฉง ความคล่องแคล่วว่องไว และความละเอียดลออลง โดยได้เปรียบเทียบความสำคัญของอาหารแต่ละมื้อว่า อาหารเช้าเปรียบเหมือนพระราชา อาหารกลางวันเปรียบเหมือนพระราชินี ส่วนอาหารมื้อค่ำเปรียบเหมือนยาจก

 

          รู้อย่างนี้แล้วเรามาปรับพฤติกรรมเดิม ๆ ในครอบครัวเพื่อให้ลูกของเราเข้มแข็ง สดชื่น แจ่มใส มีชีวิตชีวาในการเรียน ไม่มีภาวะเฉื่อย โดยคุณพ่อคุณแม่ซึ่งเป็นบุคคลที่ใกล้ตัวลูกที่สุดควรเป็นตัวอย่างในการปรับพฤติกรรมนี้ หากคุณพ่อคุณแม่มีเวลา ก็ทำหรือหาอาหารเช้าที่เป็นประโยชน์กินกันในครอบครัว เป็นอาหารที่ปรุงสุกและสดใหม่ ก่อนแยกย้ายกันไปปฏิบัติภารกิจอื่น ทำให้เป็นกิจวัตรประจำวันและเป็นปรกติวิสัย เป็นการเพิ่มพลังสมองและพลังกายให้ลูกตั้งแต่เช้า เพื่อต้อนรับกิจกรรมของวันใหม่อย่างสดชื่น กระปรี้กระเปร่า และมีความสุข

 

          คนไทยเราเป็นมนุษย์สายพันธุ์ที่กินข้าวเป็นหลัก  ข้าวมีประโยชน์และมีคุณค่าต่อการดำรงชีวิตโดยเฉพาะข้าวกล้อง เป็นขุมพลังงานสำหรับสมองและร่างกาย เป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรต แหล่งรวมวิตามินบีที่ช่วยพัฒนาระบบสารสื่อประสาท รวมทั้งโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุอื่น ๆ อีกหลายชนิด

 

          ฉะนั้นอาหารมื้อเช้าที่ผู้ปกครองจัดให้คุณลูกอาจเป็นอาหารที่ปรุงแบบง่าย ๆ มีข้าวเป็นหลัก ผัก เนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย ไข่ ฯลฯ เปลี่ยนเมนูไปเรื่อย ๆ ไม่ซ้ำซากจำเจ ชวนลูกกินข้าวเช้าอย่างมีความสุขในครอบครัวและเป็นตัวอย่างพฤติกรรมที่ดีให้กับลูก อีกหน่อยลูกก็ชิน เพียงแค่นี้ก็เพิ่มพลังสมองให้ลูกพร้อมรับกิจกรรมการเรียนออนไลน์ได้อย่างมีความสุข สดชื่น แจ่มใส ไร้ภาวะเฉื่อย

 

          เพราะลูกเรา...ไม่ใช่เด็กขี้เกียจ และมีคุณพ่อคุณแม่เป็นตัวช่วยในการปรับปุ่มพลังให้ถูกปุ่ม

          ลองทำดู แล้วรู้เองค่ะ.

                                   

ณัณท์

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow