Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พ่อเเม่ทะเลาะกันบ่อย คนเป็นลูกควรทำยังไงให้จิตใจไม่ย่ำแย่ ?

Posted By Plook Magazine | 19 พ.ย. 64
56,552 Views

  Favorite

เราจะเห็นว่าคู่มือเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่มีอยู่เต็มไปหมด แต่เมื่อพูดถึงคู่มือที่ลูกต้องรับมือกับพ่อแม่บ้างกลับหาไม่ค่อยเจอ อย่างเวลาที่พ่อแม่ทะเลาะกันเราต้องทำตัวยังไง แล้วถ้าเขาทะเลาะกันทุกวันเป็นเดือน เป็นปีก็ไม่หยุดทะเลาะกันสักที เราจะทำยังไง ? เพราะผลกระทบที่เราต้องแบกรับมันไม่ใช่แค่เสียใจเท่านั้น แต่มันยังส่งผลต่อจิตใจให้ย่ำแย่ในระยะยาวได้ มาดูกันว่าเราจะรับมือยังไงเมื่อพ่อแม่ทะเลาะกันเพื่อไม่ให้เราเสียสุขภาพจิตในระยะยาว

 

 

cr: www.freepik.com

 

การต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่พ่อแม่ทะเลาะกันประจำเป็นสถานการณ์ที่แย่ แม้เราจะรู้ว่ามันเป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่จะคิดเห็นไม่ลงรอยกันและทะเลาะกันในเรื่องต่าง ๆ อย่างเรื่องเงิน การดูแลลูก ซึ่งส่วนมากมักเป็นเรื่องสำคัญ แต่บางครั้งพ่อแม่ก็ทะเลาะกันได้แม้แต่เรื่องเล็กจิ๋วที่ไม่สำคัญอย่างทำไมกลับบ้านช้า ทำไมไม่โยนเสื้อผ้าลงตะกร้า หรือตอนเย็นจะกินอะไรดี เป็นต้น

 

บางครั้งการไม่เห็นด้วยของพ่อแม่ก็สามารถคุยกันดี ๆ ได้ด้วยเหตุผล แต่หลายครั้งพวกเขาก็เลือกที่จะขึ้นเสียงใส่กัน และดูว่าใครจะเสียงดังกว่ากัน พรั่งพรูคำพูด สรรหาคำที่จะทำร้ายกันมาข่มอีกฝ่ายเหมือนคนตรงหน้าไม่ใช่คนรักกัน ลูกส่วนใหญ่มักจะกังวลเสมอเมื่อรับรู้ว่าพ่อแม่ทะเลาะกัน คำพูดที่ร้ายกาจ เสียงดังท่วมบ้านอาจทำให้ลูกอย่างเราทั้งกลัว ทั้งเศร้า และรำคาญ รวมทั้งเวลาที่พ่อแม่ก่อสงครามเย็นในบ้านไม่พูดไม่คุยกันแต่ลูกก็สัมผัสได้ว่าพ่อแม่กำลังมีปัญหากันอยู่

 

ยิ่งการทะเลาะกันของพ่อแม่เริ่มจากตัวเรา ก็อาจทำให้เราคิดว่าตัวเองเป็นตัวปัญหาที่ทำให้พ่อแม่ทะเลาะกัน เช่น เราขอเงินไปจ่ายค่าเทอม แต่พ่อแม่ไม่มีให้จึงทำให้พวกท่านทะเลาะกันใหญ่โต มันจึงเลี่ยงไม่ได้ที่เราจะรู้สึกผิดและโทษตัวเองที่เป็นต้นเหตุให้พ่อแม่ต้องมาทะเลาะกัน ซึ่งมันอาจสร้างบาดแผลในใจให้เราได้

 

 

ผลกระทบทางจิตใจเมื่อต้องโตมาในบ้านที่พ่อแม่ทะเลาะกันประจำ

cr: www.freepik.com

 

กลายเป็นคนก้าวร้าวไม่รู้ตัว เรามีโอกาสที่จะซึมซับรับเอาพฤติกรรมชอบทะเลาะ ขึ้นเสียงใส่คนอื่นได้ หากเราเห็นพ่อแม่ทะเลาะกันมาตั้งแต่เด็ก แม้เราจะไม่ชอบการทะเลาะกันก็ตาม แต่เราจะควบคุมตัวเองไม่ได้เมื่อมีเรื่องไม่พอใจเกิดขึ้น เพราะมันฝังอยู่ในใจเราโดยอัตโนมัติทำให้เรากลายเป็นคนเกรี้ยวกราด ชอบการปะทะ พูดดี ๆ ไม่เป็น มีแนวโน้มจะใช้การโต้เถียงด้วยถ้อยคำรุนแรงเพราะคิดว่าเป็นวิธีแก้ปัญหา

 

 

ชอบโทษตัวเองบ่อย ๆ การที่เรารับรู้ว่าพ่อแม่ทะเลาะหรือใช้ความรุนแรงใส่กัน มักจะทำให้เราเข้าใจว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งหรือต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา พาลทำให้เข้าใจว่าตัวเองมีส่วนทำให้ครอบครัวต้องมีปัญหาหรือเป็นต้นเหตุให้พ่อกับแม่ทะเลาะกัน จนทำให้เราชอบโทษตัวเองทุกเรื่องเมื่อมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น ทำให้เครียดสะสมและเป็นคนเก็บความรู้สึก 

 

 

ขาดความมั่นคงในจิตใจ ทำให้เราไม่มั่นใจในตัวเอง ขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง การเคารพนับถือตัวเองต่ำ เพราะเราจะรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ใช่คนที่จะมอบความปลอดภัยทางร่างกายและจิตใจให้เราได้ เกิดเป็นความเครียดและกดดันจนนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพทางจิตเพราะเรารู้สึกว่าพ่อแม่ยังไม่เข้าใจกันเลย หรือคิดว่าพ่อแม่ไม่ได้รักกันแล้วเขาจะรักเราได้ยังไง เราจะวางตัวเองไม่ถูก

 

 

ล้มเหลวในความสัมพันธ์ของตัวเอง การที่เราต้องโตมาในบ้านที่พ่อแม่ทะเลาะกันประจำและไม่มีมุมถ่ายทอดความรัก ความเอาใจใส่ รักใคร่ กอด หอม ดูแลกัน มีแต่ขึ้นเสียงใส่กัน กระทบกระทั่งกันจะทำให้เราไม่รู้วิธีการแสดงออกด้วยความรักที่ถูกต้อง อีกทั้งในจิตใจเราจะยังรู้สึกไม่มั่นคง เผลอ ๆ อาจรักตัวเองยังไม่มากพอทำให้การรักคนอื่นเป็นเรื่องยากตามมา 

 

ลูก ๆ อย่างเรามักจะกังวลอยู่อย่างหนึ่งเมื่อรับรู้ว่าพ่อแม่ทะเลาะกันบ่อยเกินไป คืออาจคิดมากและสรุปกับตัวเองว่าพ่อแม่อาจไม่ได้รักกันแล้ว และคิดว่าไม่ช้าก็เร็วพ่อแม่จะต้องเลิกกัน หย่าขาดต่อกันในเร็ว ๆ นี้ แต่ส่วนใหญ่แล้วที่พ่อแม่ทะเลาะกันไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาไม่ได้รักกันแล้วหรือว่าอยากหย่ากัน (แต่ก็อาจจะมีกรณีที่ต้องการหย่า) ส่วนมากการทะเลาะกันของพ่อแม่มักเกิดจากการที่พวกเขาเจอวันแย่ ๆ มาและเครียดกับสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องรับผิดชอบจึงเสียการควบคุมตัวเองไม่สมกับเป็นพ่อแม่คนไปบ้าง เหมือนกับเราที่ก็ต้องเคยเจอวันแย่ ๆ เหมือนกัน เช่น ทะเลาะกับเพื่อน ตบตีกับพี่น้อง ไม่ถูกกับครู เจอคู่อริทางหัวใจ หรือไม่ก็สอบตก ฯลฯ 

 

เมื่อพ่อแม่ทะเลาะกัน ลูก ๆ อย่างเราอาจจะร้องไห้น้ำตาไหลออกมาโดยอัตโนมัติ อยากกรี๊ดใส่หมอน หรือหยิบหูฟังคู่ใจเปิดเพลงโปรดเพื่อเข้าสู่โลกอีกใบ เปิดเสียงดัง ๆ หน่อยจะได้ไม่ได้ยินเสียงพ่อแม่ทะเลาะกันหรือไม่ก็แต่งตัวออกไปข้างนอกทั้งที่ก็ไม่รู้ว่าจะไปไหน เพราะไม่มีลูกคนไหนจะรู้สึกชินกับการที่พ่อแม่ทะเลาะกันได้ และทุกครั้งที่พ่อแม่ทะเลาะกันมันจะรู้สึกเหมือนครั้งแรกเสมอ 

    

หากใครที่กำลังเจอปัญหานี้และไม่รู้ว่าจะทำยังไง ลองเลือกวิธีด้านล่างนี้ดู

 

 

สร้างขอบเขต

cr: www.freepik.com

 

จำไว้ว่ามันไม่ใช่หน้าที่ที่เราต้องมารับผิดชอบเมื่อพ่อแม่ต้องมาทะเลาะกัน พฤติกรรมที่พ่อแม่แสดงออกไม่เคยเป็นความผิดของลูกแต่เป็นของพ่อแม่เอง ไม่ใช่หน้าที่ที่เราจะไปแก้ไข (Fix) แทนพวกเขา มันไม่ใช่ความผิดของเราที่เกิดเรื่องนี้ขึ้นและเราไม่จำเป็นต้องเข้าข้างใคร 

 

 

สร้างพื้นที่ปลอดภัย

cr: www.freepik.com

 

เวลาที่พ่อแม่ทะเลาะกันอยู่ตรงหน้า อารมณ์ของเราจะเปลี่ยนไปเราอาจรู้สึกรำคาญ โมโห เครียด กังวลใจ อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ สวิงเหมือนมีสี่ฤดูในตัวเอง ถ้าเราสามารถไปอยู่ที่ห้องอื่นในบ้านได้หรือว่ามีที่ ๆ ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยและไม่รู้สึกแย่ก็ให้เราไปอยู่ที่นั่นก่อน เราอาจฟังเพลง เล่นเกม หรือทำอะไรก็ได้ที่จะทำให้เราไม่ต้องโฟกัสในสิ่งที่พ่อแม่ทะเลาะกันอยู่

 

 

ทำสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกสงบ

cr: www.freepik.com

 

เมื่อเราต้องเจอเรื่องแย่ ๆ อย่างพ่อแม่ทะเลาะกันทุกวัน เรายิ่งต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ ตั้งธงไว้เลยว่าในหนึ่งวันเราจะทำสิ่งที่ชอบสักอย่าง การทำให้ตัวเองรู้สึกแฮปปี้เป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับหนึ่งเสมอ วางแผนทำสิ่งที่รู้สึกสนุก มีความสุขเล็ก ๆ ทุกวัน อะไรที่จะทำให้เราไม่ต้องนึกปัญหา เช่น อ่านหนังสือ เล่นเกม ไปวิ่งให้เหงื่อออก ออกไปเจอเพื่อน หรือพาสัตว์เลี้ยงไปเดินเล่นก็ได้ 

 

 

ออกไปข้างนอก

cr: www.freepik.com

 

ถ้าเราสนิทกับเพื่อนบ้าน มีเพื่อนหรือว่าญาติที่ไว้ใจได้ให้ถามพวกเขาว่าไปหาได้ไหม เพื่อที่จะได้ไม่ต้องได้ยินและรับรู้สิ่งที่พ่อแม่ทะเลาะกัน โดยเราอาจจะไปนอนค้างบ้านญาติ ไปนอนกับเพื่อน หรือว่าไปพักกับพี่สาวพี่ชายที่หอพักสักวันสองวัน หรือไปห้องสมุดแถวบ้าน ไปเดินเล่นที่สวน หรือไม่ก็ไปออกกำลังกายแก้เซ็งสักหน่อยก็ยังดี 

 

 

คุยกับใครสักคน

cr: www.freepik.com

 

เป็นเรื่องสำคัญมากที่เราจะหาคนมาซัพพอร์ตเรา ใครสักคนที่เราเชื่อใจซึ่งอาจจะเป็นญาติที่รู้จักพ่อแม่เรา และเขาเข้าใจสถานการณ์ที่บ้านเราเป็นอย่างดี แต่ถ้าเราต้องการที่จะคุยกับใครสักคนที่เขาไม่รู้จักเราสามารถโทรไปที่เบอร์สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือถ้าใครสะดวกแชทให้แชทไปที่เพจ Depress We Care หรือ Lovecare Chatroom ก็ได้ 

 

ถ้าเราต้องการความช่วยเหลือเพราะมันเหลือบ่ากว่าแรงเกินเด็กคนหนึ่งจะรับไหว อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือเด็ดขาดเพราะเราเป็นแค่วัยรุ่นคนหนึ่งเท่านั้น 

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

เมื่อพ่อแม่จะหย่ากัน คนเป็นลูกควรทำยังไง

พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน เมื่อฉันรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ "คนโปรด" ของพ่อแม่

พ่อแม่ชอบด่า ไม่ค่อยให้กำลังใจ...จะทำยังไงดีเมื่อครอบครัวบั่นทอนจิตใจเรา

เมื่อที่บ้านไม่ใช่ Safe Zone สำหรับเรา จะทำอย่างไรดี

โดนเปรียบเทียบหน้าตากับพี่น้องเป็นประจำ ทำยังไงดี ?

โดนพ่อแม่บังคับให้เรียนสิ่งที่ไม่ชอบ

‘พ่อแม่ไม่ชอบแฟน’ จะทำยังไงดี เมื่อรักแท้ต้องมาแพ้พ่อแม่ไม่ปลื้ม

ลูกคนกลางหรือ 'Wednesday Child' เป็นเด็กมีปัญหาจริงเหรอ ?

อยากเรียนศิลปะแต่ที่บ้านไม่สนับสนุนเลย ทำยังไงดี ?

Teen’s Guide ทุกปัญหาของวัยรุ่นมีทางออกเสมอ

9 วิธีเพิ่มความเข้มแข็งให้ตัวเอง ไม่หวั่นไหวแม้เจอเรื่องยาก ๆ

โดนเมินจนรู้สึกไร้ตัวตน รับมือยังไงดีให้ใจไม่เจ็บจนป่วย

 

 

แหล่งข้อมูล

- รู้ทัน ผลกระทบทางจิตใจของเด็ก เมื่อพ่อแม่ทะเลาะกันต่อหน้าลูก 

- จิตวิทยาการเลี้ยงดูและอบรมเด็ก 

- 4 ผลกระทบ เมื่อลูกรับรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่ทะเลาะกัน 

- When Your Parents Fight 

- What Happens to Children When Parents Fight 

 
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow