Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เลี้ยงลูกแบบไหน...ให้เป็นเด็กเอาแต่ใจ

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 27 ต.ค. 64
4,338 Views

  Favorite

“เด็กเอาแต่ใจ” จริง ๆ แล้วไม่มีสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่พฤติกรรมนี้โดยตรง แต่อาจเกิดจากสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดูบางอย่าง หรือสถานการณ์บางอย่าง ที่ส่งผลต่อทัศนคติและการแสดงออกของเด็ก แต่ตัวแปรสำคัญต่อพฤติกรรมที่ส่งผลให้ลูกกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจนั้น สาเหตุหลัก ๆ มาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่นั่นเอง

 

แล้วการเลี้ยงดูแบบไหนที่ส่งผลให้ลูกกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจ วันนี้เราจะมาค้นหาคำตอบนั้นกันค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

1. การเลี้ยงดูลูกที่ตามใจมากเกินไป

ผู้ปกครองเป็นต้นแบบของความเอาแต่ใจ คำนี้เป็นคำที่แสดงให้เราเห็นถึงสาเหตุของพฤติกรรมของลูกได้อย่างชัดเจน พ่อแม่ช่างเอาใจ (Permissive parents) มักตามใจลูกในทุกสิ่ง ทุกสถานการณ์ จนทำให้ลูกไม่เกิดการเรียนรู้ในเรื่องกฎเกณฑ์ ไม่มีความพยายาม ไม่มีความอดทน และมักคิดว่าเรื่องทุกเรื่องเป็นเรื่องง่าย จนอาจทำให้ลูกปรับตัวได้ยากเมื่อต้องออกไปเผชิญกับสังคมภายนอก ทางแก้ไขของปัญหานี้ก็คือ พ่อแม่ไม่ควรปกป้องลูกมากเกินไป ไม่อำนวยความสะดวกให้เกินความจำเป็น พ่อแม่ควรให้ลูกได้เรียนรู้ที่จะรับมือกับสถานการณ์บางอย่างด้วยตัวเอง ไม่ควรชมลูกมากเกินไป เพราะลูกอาจทำบางอย่างเพื่อเรียกร้องความสนใจและคำชมเชย สอนให้ลูกมีความอดทน ลูกควรเรียนรู้ที่จะรอคอย เพื่อป้องกันตัวเองจากอารมณ์โกรธ พ่อแม่ไม่ควรใจอ่อนหรือยอมให้พฤติกรรมกรีดร้องอาละวาดของลูก

2. การเลี้ยงดูลูกที่คาดหวังมากเกินไป

ขึ้นชื่อว่าพ่อแม่แล้วย่อมมีความรักและความหวังดีให้กับลูกอยู่เสมอ แต่ในบางครั้งความรักที่มากเกินไปก่อให้เกิดความคาดหวังที่มากเกินไปตามมาด้วย ซึ่งการที่พ่อแม่คาดหวัง กดดันหรือเข้มงวดกับลูกมากเกินไป หลีกเลี่ยงคำพูด คำตำหนิ ที่ทำให้เกิดปมด้อย ถ้อยคำเช่น เด็กนิสัยไม่ดี เด็กดื้อ เด็กเกเร เด็กก้าวร้าว อันธพาล ถ้อยคำเหล่านี้อาจส่งผลให้ลูกเกิดพฤติกรรมต่อต้าน ก้าวร้าว หรือเรียกร้องความสนใจมากขึ้น วิธีแก้ไขคือ พ่อแม่จะต้องใช้ความพยายามในการสังเกตความต้องการของลูก ด้วยการสร้างบรรยากาศภายในบ้านให้เกิดความผูกพันระหว่างกันและกัน สร้างเวลาคุณภาพ ที่พ่อแม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับลูก รวมทั้งเน้นกิจกรรมร่วมกัน ที่สำคัญฝึกใช้เหตุผลกับลูกจนเกิดเป็นนิสัย ควรใช้คำพูดที่สามารถเข้าใจง่าย ไม่ควรเน้นหลักการมากเกินไป

3. การเลี้ยงดูลูกที่ใช้อารมณ์มากเกินไป

พฤติกรรมของลูกก็คือ กระจกสะท้อนพฤติกรรมของพ่อแม่ พ่อแม่ที่เป็นคนอารมณ์ร้อน ใช้อารมณ์ในการเลี้ยงดูลูก มักแสดงออกด้วยอารมณ์รุนแรง เมื่อไม่พอใจพฤติกรรมของลูก ลูกก็จะซึมซับพฤติกรรมเหล่านั้น และมักมีอารมณ์โกรธที่รุนแรงมาก ๆ เมื่อเจอสิ่งที่ไม่พอใจ หรืออยู่ในสถานการณ์ที่ตนเองรู้สึกไม่สบายใจ ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่ประนีประนอมและมีความคิดเห็นขัดแย้งกับคนอื่นเสมอ จึงส่งผลให้ลูกมักมีปัญหากับเพื่อน ๆ และอยู่ในสังคมได้ยาก ดังนั้นหากไม่อยากให้ลูกเกิดพฤติกรรมเลียนแบบในเรื่องของความรุนแรงในการใช้อารมณ์ พ่อแม่ก็ควรเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ของตนเองเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกด้วย

 

โดยปกติ ในวัยเด็กนั้นมักรู้สึกหงุดหงิดและโกรธได้ง่าย ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการถูกขัดใจหรือขัดขวางเมื่อกำลังตั้งใจทำบางอย่าง รู้สึกไม่ได้รับความสนใจ หรืออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย ในบางครั้งก็อาจเป็นเพียงเพราะลูกรู้สึกเหนื่อย กระหาย หิว และไม่รู้จะอธิบายหรือจัดการกับสิ่งที่ตนเองกำลังรู้สึกอย่างไร จึงเลือกแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่เข้าข่ายก้าวร้าว เอาแต่ใจ อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมเหล่านี้มักค่อย ๆ ลดลงเมื่อลูกมีทักษะทางสังคมและภาษามากขึ้น เพราะลูกจะเรียนรู้การแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น ๆ ที่เหมาะสม ซึ่งพ่อแม่และคนรอบข้างต้องคอยส่งเสริมพัฒนาการเหล่านี้ คอยให้คำชื่นชม  และให้กำลังใจเมื่อลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสม

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow