Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เมื่อต้องไปเรียนต่อหรืออยู่หอ จะรับมือกับอาการ Homesick ยังไง

Posted By Plook Magazine | 12 พ.ย. 64
29,582 Views

  Favorite

เวลาที่เราต้องย้ายที่อยู่ใหม่ เข้ามหาวิทยาลัยแล้วต้องไปอยู่หอ หรือไปเรียนต่อต่างประเทศ แน่นอนว่าอาการ ‘คิดถึงบ้าน’ (Homesick) อาจเกิดขึ้นได้ และอาการของแต่ละคนก็อาจไม่เหมือนกัน แต่ส่วนมากมักจะรู้สึกกังวล โดดเดี่ยว และเหงาใจ มาดูกันว่าเมื่อความรู้สึกคิดถึงบ้านกลืนกินกายใจ เราจะรับมือและเอาชนะมันได้ยังไงบ้าง 

 

 

ทำไมเราถึงรู้สึก Homesick

อาการคิดถึงบ้านหรือ Homesick นั้นเกิดขึ้นเวลาที่เราต้องอยู่ห่างจากสิ่งที่เป็นความคุ้นเคย มันไม่ใช่แค่ความรู้สึกคิดถึงบ้านเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสัมพันธ์ ความรัก และความรู้สึกสบายด้วย เมื่อเราต้องพรากจากความคุ้นเคยเหล่านี้ก็อาจทำให้เรามีอาการ Homesick คือรู้สึกวิตกกังวล โดดเดี่ยว เปล่าเปลี่ยว ไม่มั่นใจในตัวเอง หมกมุ่นและเอาแต่คิดถึงสิ่งที่จากมาหรือสถานที่เดิมที่คุ้นเคย เช่น คิดถึงพ่อแม่ คิดถึงสัตว์เลี้ยง คิดถึงเตียงนอนในห้องเดิม คิดถึงอาหารในโรงอาหาร คิดถึงเพื่อนแก๊งเดิม คิดถึงการพูดภาษาไทย เป็นต้น

 

เมื่อรู้สึก Homesick 

เวลาที่คนเรามีอาการคิดถึงบ้าน มันจะทำให้เกิดความรู้สึกและผลข้างเคียงที่อาจกระทบต่อการใช้ชีวิตได้ 

เอาแต่เปรียบเทียบกับสิ่งใหม่ ๆ ที่เจอว่าไม่ดีเท่าเดิม เช่น บ้านเดิมดีกว่า โรงเรียนเดิมมีเพื่อนเยอะกว่า เป็นต้น

มีความวิตกกังวลและหมกมุ่น ทำให้หงุดหงิดง่าย มีความเครียดสะสม และส่งผลต่อการทำกิจกรรมในชีวิต

มีอาการซึมเศร้า หากมีอาการคิดบ้านมาก ๆ และจมดิ่งอยู่อย่างนั้นนาน ๆ ก็อาจเกิดภาวะซึมเศร้าได้

 

Good to know: อาการ Homesick สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่คนที่อายุน้อยมักจะมีอาการคิดถึงบ้านมากกว่า เพราะขาดประสบการณ์ในชีวิต จึงทำให้ประสบการณ์ใหม่ที่เจอเป็นของแปลกใหม่จนรู้สึกคิดถึงบ้านได้ 

 

 

7 วิธีเอาชนะอาการ Homesick 

 

หยิบของที่คุ้นเคยติดตัวไปด้วย

เราจะสามารถปรับตัวเข้าหาสิ่งใหม่ ๆ และยอมรับการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยได้ดีขึ้น เมื่อเรามีของที่คุ้นเคย ของที่มองแล้วรู้สึกอบอุ่นใจ เช่น รูปถ่ายความทรงจำ ตุ๊กตาแมวยิ้ม ต่างหูคู่โปรด ฯลฯ การนำของจากบ้านติดตัวไปด้วยจะช่วยให้เราลดความรู้สึกคิดถึงบ้านได้ โดยสิ่งของนั้นจะเป็นเหมือนที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้กับเรา 

 

ทำกิจกรรมที่ชอบทำ

การทำกิจกรรมที่คุ้นเคยหรือกิจกรรมที่เคยทำที่บ้านจะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้น เช่น กินอาหารเมนูโปรดที่กินแล้วทำให้รู้สึกสบายใจ อาจจะเป็นเมนูแห่งความทรงจำ หรือไปเข้าร่วมชมรม ทำกิจกรรมเหมือนที่เราเคยทำ การทำแบบนี้จะช่วยให้เราคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ดีขึ้น และยังได้พบเพื่อนใหม่ด้วย 

 

แชร์ความรู้สึกให้คนอื่นฟัง

การได้พูดคุย พูดสิ่งที่เรารู้สึกให้คนอื่นฟัง ถือเป็นการระบายความรู้สึกที่ดีมาก หากมีอาการคิดบ้านมาก ๆ แนะนำให้พูดคุยกับเพื่อนหรือคนที่เราไว้ใจได้เพื่อขอคำแนะนำหรือขอความช่วยเหลือจากพวกเขา นอกจากนี้การพูดความรู้สึกออกไปจะช่วยให้เรายอมรับความรู้สึกของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น ทำให้รับรู้อารมณ์ที่แท้จริงของตัวเอง 

 

จดบันทึกความรู้สึก

การจดบันทึกจะช่วยให้เรารู้ทันความคิดและสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมใหม่ได้ และยังช่วยคลายความรู้สึกคิดถึงบ้านได้ดีด้วย แนะนำว่าให้จดบันทึกเรื่องสนุก ๆ หรือประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่เราได้พบเจอในแต่ละวัน เพราะจะช่วยให้เรามีพลังบวกและสนุกกับสถานที่นั้นมากขึ้น หากจะจดบันทึกความรู้สึกในแง่ลบ ขอแนะนำว่าให้เขียนว่าเพราะอะไรเราถึงรู้สึกแบบนั้น เพราะเป็นวิธีเขียนที่เรียกว่าการเขียนสะท้อนความคิด ซึ่งจะช่วยเยียวยาและฟื้นฟูจิตใจของเราได้

 


ออกกำลังกายช่วยได้

การออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) ทำให้เรารู้สึกดีขึ้น ช่วยลดความกังวลและความรู้สึกหดหู่ได้ดี หากใครไม่ชอบออกกำลังกายหนัก ๆ ก็สามารถเต้นตามเพลงที่เราชอบสัก 2-3 เพลง หรือเดินออกกำลังกายที่สวนสาธารณะแทนก็ได้ 

 

ติดต่อครอบครัวหรือเพื่อนเก่า

การโทรหาครอบครัวและเพื่อนเก่าจะช่วยให้เรามีความมั่นใจและคลายความคิดถึงบ้านได้ แต่ไม่ควรติดต่อกับคนที่บ้านมากเกินไปเพราะมันอาจส่งผลให้เรามูฟออนกับที่ใหม่ไม่ได้เลย และมันยังอาจทำให้เราไม่อยากหาเพื่อนใหม่ด้วย แนะนำว่าให้ติดต่อวันละครั้งเพื่ออัปเดตสารทุกข์สุกดิบก็พอ ส่วนเวลาที่เหลือให้ออกไปสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ทำความรู้จักเพื่อนใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยให้อาการคิดถึงบ้านหายไปได้

 

ก้าวออกจากความเคยชินเดิม ๆ

หากเราเอาแต่ทำอะไรที่เคยชิน ทำอะไรเดิม ๆ ที่ทำแล้วเรารู้สึกสบายใจ แต่พอทำแล้วมันยิ่งทำให้เราคิดถึงบ้านมากขึ้น สิ่งที่เราควรฮึบทำให้ได้คือการก้าวออกมาจากความเคยชิน เช่น ลองทำกิจกรรมใหม่ ๆ ลองกินอาหารใหม่ ๆ ทักทายเพื่อนใหม่ เป็นต้น ช่วงแรก ๆ มันอาจจะฝืนหน่อย แต่ถ้าเราปลดล็อคได้แล้ว ก็จะเอาชนะอาการคิดถึงบ้านได้อย่างแน่นอน แถมยังได้ก้าวข้ามความรู้สึกตัวเองด้วย

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

9 วิธีเพิ่มความเข้มแข็งให้ตัวเอง ไม่หวั่นไหวแม้เจอเรื่องยาก ๆ

18 เคล็ดลับที่จะช่วยให้เราบาลานซ์ชีวิตให้ดีขึ้นในทุก ๆ ด้าน

Teen’s Guide ทุกปัญหาของวัยรุ่นมีทางออกเสมอ

เมื่อใจมันห่อเหี่ยวจนไม่มีอารมณ์ทำอะไรเลย จะเพิ่มแรงจูงใจให้ตัวเองยังไงดี

30 วิธีเพิ่มความบันเทิงให้ตัวเอง ในช่วงที่รู้สึกสิ้นหวังและหดหู่มาก ๆ

เป็นคนอารมณ์อ่อนไหวง่าย จะรับมือกับอารมณ์ตัวเองยังไงดี

Emotional Agility ทักษะการจัดการอารมณ์ให้สมดุลจากนักจิตวิทยา

ก้าวผ่านช่วงเวลายาก ๆ ด้วยข้อคิดดี ๆ ที่จะช่วยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ

Comfort food อาหารลดความเครียด กินแล้วอบอุ่นใจและช่วยคลายเหงา

 

 

แหล่งข้อมูล

- Developing the yearning in situations of loss scale: convergent and discriminant validity for bereavement, romantic breakup, and homesickness

- Preventing and Treating Homesickness

- Can Anxiety Be Good for Us?

- Homesickness isn't really about 'home'

 
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow