Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การสร้างความแข็งแกร่งทางจิตใจ และความแข็งแรงทางด้านร่างกายของเด็ก ม.ต้น

Posted By Plook TCAS | 15 ต.ค. 64
4,786 Views

  Favorite

          “ความเข้มแข็งในจิตใจนี้ เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องฝึกฝนแต่เล็กเพราะว่าต่อไป ถ้ามีชีวิตที่ลำบาก ไปประสบอุปสรรคใด ๆ ถ้าไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีความรู้ ไม่มีทางที่จะผ่านอุปสรรคนั้นได้ เพราะว่าถ้าไปเจออุปสรรคอะไร ก็ไม่มีอะไรที่จะมาช่วยเราได้ แต่ถ้ามีความรู้ มีอัธยาศัยที่ดี และมีความเข้มแข็ง ในกาย ในใจ ก็สามารถที่จะผ่านพ้นอุปสรรคต่าง ๆ นั้นได้”

          พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชฯ รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่คณะครูและนักเรียนโรงเรียนราชวินิต วันศุกร์ 31 ต.ค.2518

 

          จากพระราชดำรัสของพระองค์ท่านนั้น จะเห็นได้ว่า การสร้างจิตใจให้เข้มแข็งนั้นจำเป็นต้องฝึกฝนตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งต้องใช้เวลาสะสมฝึกฝนมามากพอสมควร ยิ่งเริ่มตั้งแต่ยังเล็ก พวกเขาจะยิ่งมีภูมิคุ้มกันมีจิตใจที่แข็งแกร่งสามารถทนต่อแรงต้านทานความยากลำบากพร้อมเผชิญแก้ไขทุกปัญหา ปรับและฟื้นตัวหลังจากพบกับเหตุการณ์วิกฤต หรือสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความยากลำบาก ก้าวผ่านทุกอุปสรรคดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างอัตโนมัติรวดเร็ว    

          อ่านแล้วดูเหมือนจะยาก แต่ทุกสิ่งก็ยากหมดหากไม่เริ่มต้น เช่นเคยครั้งนี้เรามีเทคนิคเป็นตัวช่วย คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองให้ฝึกฝนแนะนำเด็ก ๆ  ง่ายยิ่งขึ้น ยิ่งในช่วงเวลาที่เราต้องเผชิญหน้ากับโควิด-19 ผู้ใหญ่เองก็เหมาะที่จะฝึกฝนเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน

 

1. ต้นแบบที่ดีเริ่มจากในบ้านเป็นพื้นฐานสำคัญ

          คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองผู้ใหญ่ในบ้านนั้นต้องเป็นต้นแบบที่ดีให้เด็ก ไม่ต้องให้พวกเขาไปดูตัวอย่างแรกให้ไกลตัวไกลบ้าน ให้พวกเขาเห็นศักยภาพความอดทน ความแข็งแกร่ง ความมั่นคงทางอารมณ์ของคุณก่อนจะแนะนำพวกเขา ถึงแม้อาจจะไม่ได้ดีพร้อมแข็งแกร่งอยู่ตลอดเวลาก็ตาม แต่ให้เห็นว่าพวกเราพร้อมที่จะต่อสู้ แข็งแรงมากพอที่จะรับมือกับทุกเหตุการณ์ ซึ่งการรับรู้ด้วยตัวของเขาอย่างซึมซับนั้นจะฝังรากเป็นพื้นฐานอารมณ์ให้พวกเขายอมรับพร้อมปรับตัวเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาต่อไปได้โดยง่าย 

 

2. ความรักความอบอุ่นในครอบครัว

          ความรักความอบอุ่นสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงคนทุกคนในครอบครัวไว้อย่างเหนียวแน่นนั้น ยังเป็นยาวิเศษที่จะรักษาและเป็นพลังช่วยหล่อหลอมฟื้นฟูจิตใจให้กลับมาแข็งแกร่ง ยิ่งเด็ก ๆ เติบโตด้วยความรักความห่วงใยการดูแลเอาใจใส่ที่ถูกต้อง ถือเป็นพื้นฐานสำคัญและจำเป็น ซึ่งเป็นเบาะนิ่ม ๆ คอยประคองให้กับชีวิตอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะเจอกับปัญหาในรูปแบบใด ไม่ว่าจะช่วงวัยไหน การละเลยปล่อยให้ความโดดเดี่ยวความเหงาเต็มบ้านยิ่งกัดกร่อนหัวใจให้ง่ายต่อการผุพัง ยากต่อการรับมือเติมความแข็งแกร่งกับการใช้ชีวิตในโลกภายนอก

 

3. ปรับอารมณ์สร้างสมดุลของจิตใจ

          รู้จักวิธีจัดการกับอารมณ์ให้ทนทานมั่นคง ไม่อ่อนไหวง่าย ไม่ถูกกระตุ้นง่าย ไม่เครียดง่าย สามารถทนอยู่ได้ในสภาวะกดดัน เด็กในช่วงก่อนวัยรุ่นนั้น อารมณ์ของพวกเขามักจะแปรปรวนไปตามฮอร์โมนของร่างกาย  แนะนำให้เขาเข้าใจรู้จักดูแลตัวเองให้ดี ก่อนสร้างสมดุลของจิตใจ  ฝึกควบคุมอารมณ์ให้มีสติและสงบ  ฝึกหายใจเข้าออกช้า ๆ ลึก ๆ   ฝึกควบคุมอารมณ์เมื่อเผชิญกับความเครียดเล็ก ๆ น้อย ๆ  เรียนรู้ความผิดหวัง การไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ การรอคอย  ปรับจิตใจให้ยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและปล่อยวางในสิ่งที่พวกเขาอาจยังไม่พร้อมที่จะทำหรือยังไม่อาจแก้ไขได้  ฝึกมองหาสิ่งดี ๆ ในชีวิตเพื่อใช้เป็นน้ำหล่อเลี้ยงจิตใจ

 

4. มองโลกอย่างเป็นธรรมชาติ หามุมมองบวกที่ดี และมีความหวังที่ดีอยู่ตลอดเวลา

          ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นไม่ว่าดีหรือไม่ดี สมหวังหรือผิดหวังให้เห็นเป็นเรื่องปกติของธรรมชาติ ชีวิตมีขึ้นมีลง คิดถึงสิ่งดี ๆ รอบตัวที่มีอยู่ คนรักคนห่วงใยคอยให้กำลังใจ  ฝึกให้กำลังใจตัวเองให้เป็น  ตั้งสติตั้งความหวังมองไปข้างหน้า คิดถึงโอกาสใหม่ ๆ ที่กำลังจะเข้ามา การมีมุมมองทางบวกจะช่วยให้มีความกล้าไม่หนีปัญหาพร้อมรับมือ แนะนำให้พวกเขาหาข้อมูลหาวิถีทางออกให้มากที่สุด หาข้อดีข้อเสียในแต่ละวิธีการ แล้วเลือกวิธีที่ดีที่สุดเหมาะสมสามารถทำได้ในเวลานั้นอย่างรวดเร็ว  สำรองเผื่อวิธีอื่นไว้หากวิธีแรกที่เลือกใช้ไม่ได้ผล  การเล่นเกมสร้างสรรค์ เกมปริศนาเป็นอีกแนวทางง่าย ๆ ที่ช่วยฝึกการแก้ไขปัญหาหาทางออก ทั้งยังเพิ่มเติมทักษะอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี 

 

5.  การกินอาหาร

          You are what you eat สอนให้เด็ก ๆ รู้ว่า พวกเขากินอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น การเจ็บไข้ได้ป่วย หรือการมีร่างกายที่ไม่แข็งแรง ส่วนใหญ่เกิดมาจากการเลือกรับประทานอาหารทั้งสิ้น ตามใจปาก แต่ลำบากในการรักษา เน้นบริโภคอาหารให้ครบทุกหมวดหมู่ตามความต้องการของร่างกาย หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดเกิน ขนมหวาน ของทอด ขนมขบเคี้ยว อาจพอกินเอาใจตัวเองบ้างในบางวาระ แต่จะกินจนเป็นสาระของชีวิตไม่ได้ ทุกอวัยวะของเด็กต้องการอาหารเพื่อใช้ในการเติบโตและทำให้ร่างกายแข็งแรง  ชวนให้เด็ก   ๆ รักและเรียนรู้ที่จะดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมเสียก่อน เรื่องของความสวยงาม การจำกัดอาหารนั้นค่อยทำเมื่อถึงเวลาเหมาะสม หลังจากทุกอวัยวะของพวกเขาทำงานอย่างเต็มที่แล้ว  

 

6. สุขภาพอนามัย และอาหารการกิน

          ออกกำลังคือพลังของร่างกาย การสร้างความแข็งแกร่งทางกายทำได้ไม่ยาก จัดเวลาให้ร่างกายได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ฝึกให้มีวินัยเป็นนิสัยที่ต้องทำในแต่ละวัน  พ่อแม่ควรแนะนำให้พวกเขาเรียนรู้อนามัยดูแลร่างกายที่กำลังเปลี่ยนแปลงให้ดีจะทำให้ร่างกายเติบโตอย่างสมบูรณ์ การใช้ชีวิตในช่วงโควิดนั้น เด็ก ๆ จะเข้าใจวิธีการมาอย่างดีแล้ว เมื่อใดที่สถานการณ์โรคระบาดผ่านพ้นไป แนะนำและคอยเตือนสติให้เขารักษาอนามัยเช่นเดิม อย่าลืมว่าเชื้อโรคไม่ได้มีแค่โควิด ยังมีเชื้อโรคตัวอื่น ๆ รวมถึงฝุ่น ควัน ที่เป็นอันตรายอีกจำนวนมาก การเจ็บป่วยและร่างกายที่ไม่แข็งแรงมีแต่บั่นทอนร่างกายและจิตใจ

 

          แม้การฝึกฝนความแข็งแกร่งเหล่านี้จะยากเพียงใด แต่เมื่อปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นอัตโนมัติแล้ว เด็ก ๆ รวมถึงพวกเราทุกคนพร้อมจะเผชิญหน้ารับมือก้าวผ่านทุกอุปสรรคอย่างไม่ลำบาก อย่าลืมแนะนำว่าการผิดพลาดหรือความล้มเหลวไม่ใช่สิ่งเสียหาย แต่เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้และให้เกิดขึ้นอีกน้อยที่สุด  สิ่งสำคัญก็คือ สามารถยืดหยุ่นปรับตัวรับได้ในทุกสถานการณ์ พร้อมกล้าเผชิญหน้าแก้ไขทุกอุปสรรคที่เกิดขึ้น และสามารถฟื้นฟูตัวเองให้กำลังใจตัวเองเป็น การยืนหยัดกลับมาสู้กับชีวิตต่อได้รวดเร็วแค่ไหน นั่นต่างหากคือความเข้มแข็งของจิตใจและร่างกายที่แท้ทรู

 

อังสนา ทรัพย์สิน

ข้อมูลอ้างอิง บทสัมภาษณ์/แบบสอบถาม พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และเด็ก ๆ จาก http://www.youthradioandmedia.org, http://www.oecd.org, https://www.familylives.org.uk, https://www.amarinbabyandkids.com, https://th.theasianparent.com, https://pantip.com/forum/family, https://new.camri.go.th

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow