Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การทำงานร่วมกันระหว่าง บ้าน โรงเรียน และสังคม ของเด็กวัยมัธยมต้น

Posted By Plook TCAS | 11 ต.ค. 64
5,507 Views

  Favorite

          ยุค New Normal การเรียนของเด็ก ๆ ต้องปรับเปลี่ยนไปเป็น Hybrid Learning คือการเรียนแบบผสมผสาน ทั้งเรียนในระบบโรงเรียนและการเรียนในระบบออนไลน์ คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองกับคุณครูในโรงเรียนต่างต้องปรับตัวและทำงานหนักขึ้น แต่ต้องถือเป็นโอกาสดีที่ผู้ปกครองจะใช้วิกฤตนี้ได้อยู่ใกล้ชิดกับการเรียนของเด็ก ทั้งยังช่วยพัฒนาการทำงานร่วมกันของบ้าน โรงเรียน และสังคม สำหรับคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองที่ยังไม่เคยประสานงานทำงานร่วมกัน สร้างพื้นฐานเตรียมไว้ให้พร้อมก่อนเด็ก ๆ กลับไปเรียนตามระบบปกติ อย่าเพิ่งเหนื่อยใจ เพราะครั้งนี้เรามีตัวช่วยให้คุณเริ่มต้นและโฟกัสการทำงานร่วมกันระหว่างบ้าน โรงเรียน และสังคมให้สะดวกและง่ายยิ่งขึ้น

 

เทคนิคการทำงานร่วมกับเด็ก

1. เรียนรู้การเรียนไปพร้อมกับเด็ก ๆ

          การเรียนออนไลน์ถือเป็นโอกาสเหมาะกับการเรียนที่คุณและเด็ก ๆ จะได้เรียนเนื้อหาไปพร้อมกัน ทำให้เด็กไม่เหงากับการอยู่หน้าจอเรียนคนเดียว ตัวเด็กเองก็อยู่ในสายตาของคุณ หากพวกเขาเรียนผ่านโน้ตบุ้ค แท็บเล็ต มันง่ายมากที่คุณสามารถเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ให้เด็กเปลี่ยนสถานที่ไม่ให้จำเจ จนเด็กรู้สึกเบื่อหน่ายกับการเรียน อาจเปลี่ยนเป็นมุมอื่น ๆ เช่น หน้าบ้าน สนามหญ้า เด็ก ๆ จะได้มีโอกาสพักสายตาไปกับต้นไม้ดอกไม้ ไม่ล้ากับจอนานจนเกินไป  ข้อพึงระวังท่องไว้ให้ขึ้นใจ ไม่ว่าเรียนออนไลน์หรือไปโรงเรียนในช่วงเวลาปกติ อย่าทำการบ้านให้ลูก ไม่ว่ามันจะยากหรือง่าย ควรช่วยแค่ให้คำแนะนำในเนื้อหา ให้เขาได้ฝึกหัดการทำอะไรด้วยตัวเอง  เรียนรู้ถึงการค้นหาข้อมูลหาคำตอบ ช่วยเพิ่มทักษะความพยายามความอดทน ซึ่งเป็นผลดีกับตัวพวกเขาเอง

 

2. สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่บ้าน

           ไม่ว่าการเรียนรู้จะเกิดขึ้นที่บ้านหรือที่โรงเรียน เด็ก ๆ ยังคงเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้  สังคมแห่งการเรียนรู้เกิดได้ตลอดชีวิตไม่มีที่สิ้นสุด ทุกคนต่างเป็นผู้สอนและเป็นผู้เรียน  ไม่เพียงแต่เด็ก ๆ จะพัฒนาตัวเอง ตัวผู้ปกครองเองก็ได้พัฒนาเติบโต ถึงแม้โควิดจะหมดไป  ศูนย์การเรียนรู้ในบ้านก็ควรยังดำเนินอยู่ ใช้เป็นจุดเชื่อมความสัมพันธ์ในครอบครัวให้เข้มแข็ง จัดแบ่งเวลาให้เหมาะสม ปรับปรุงเนื้อหาการเรียนกิจกรรมต่าง ๆ ให้เป็นเรื่องของทักษะชีวิตที่ใช้ได้จริง  ฝึกทักษะการแก้ไขปัญหา  พัฒนาทักษะด้านอารมณ์ ศีลธรรมจริยธรรม รวมถึงสุขภาพอนามัยของคนในครอบครัว ความสามารถในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ฯลฯ

 

3. สมุดบันทึกรายงานการเรียนของเด็ก

สมุดบันทึกการเรียน ติดตามพฤติกรรมการเรียนของเด็กว่าขยันเรียนมากน้อยแค่ใหน ถนัดหรืออ่อนในวิชาเรียนหรือทักษะด้านใด  คุณอาจบันทึกไว้ดูการพัฒนาด้านการศึกษาของลูก หรือคุณอาจให้เด็ก ๆ ฝึกบันทึกเอง เพื่อเป็นการฝึกสังเกตตัวตนของตัวเอง เป็นหน้าที่ที่เด็ก ๆ จะดูแลตัวเอง เพราะตัวเขาย่อมเข้าใจตัวเองได้ดีกว่าผู้สังเกตการณ์อย่างคุณพ่อคุณแม่ปกครองหรือคุณครู  บันทึกการพัฒนาความรู้สรุปผลในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์  รวมถึงเหตุการณ์ในชั้นเรียน สิ่งที่เด็กคิดว่าการเรียนการสอนที่เหมาะสม หรืออยากเรียนรู้สิ่งใดเพิ่มเติม เพื่อนในชั้นเรียน สนิทมากน้อยกับใคร ช่วยเหลือแบ่งปันข้อมูลวิชากันแค่นั้น ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือชั้นดีในการติดต่อสื่อสารระหว่างครูกับผู้ปกครอง เป็นหลักฐานสำคัญที่ครูสามารถระบุพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เด่นชัดของนักเรียนลงไปก่อนที่จะส่งต่อให้คุณครูรับทราบต่อไป

 

เทคนิคการประสานงานกับคุณครูในโรงเรียน

1. ความไกลที่ใกล้ชิด

          แม้การเรียนการสอนในรูปแบบ New Normal ทำให้เด็ก ๆ ไม่สามารถไปโรงเรียนในแบบเดิมได้เต็มเวลา แต่การเรียนออนไลน์ที่บ้าน ทำให้การสื่อสารประสานงานกับคุณครูที่โรงเรียนนั้นง่ายมากขึ้น และติดต่อกันได้บ่อยยิ่งขึ้น ทำให้ได้รับข้อมูลข่าวสารต่อเนื่องจากโรงเรียน ผู้ปกครองสามารถปรึกษาได้ทั้งเรื่องหลักสูตรวิชาและสอบถามข้อสงสัยได้โดยตรงกับคุณครูประจำชั้น ครูผู้สอน ทำให้เราแนะแนวและให้คำปรึกษากับลูกต่อได้ง่ายยิ่งขึ้น และเป็นไปในทิศทางเดียวกับโรงเรียน ถึงแม้หลังจากโควิด-19 ผ่านพ้นไป  เด็ก ๆ กลับไปเข้าห้องเรียนตามปกติ เราพยายามไม่ขาดการติดต่อกับคุณครู น้อยที่สุดก็ครูประจำชั้น เพื่อให้ทราบข้อมูลข่าวสารของโรงเรียน และความเป็นไปของเด็ก ๆ ที่โรงเรียน พยายามใช้ช่องทางโซเชียลต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์     

 

2. ผู้ปกครองกับคุณครูควรแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันตลอดเวลา

          ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสานสัมพันธ์กับครูให้สนิทสนมอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งจำเป็นและก่อให้เกิดประโยชน์กับตัวเด็ก  ครูและผู้ปกครองควรหาเวลาพูดคุยให้เป็นประจำ นอกเหนือจากวันที่โรงเรียนจัดไว้เพื่อพบปะผู้ปกครอง บอกเล่าถึงพฤติกรรมที่บ้าน บันทึกการเรียน บันทึกสุขภาพร่างกายของเด็กที่กำลังเปลี่ยนแปลง  ครูและผู้ปกครองเมื่อต่างมีข้อมูลที่ตรงกันแล้ว การรับมือพัฒนาหรือแก้ไขหลอมเด็กไปในทิศทางที่ถูกต้องก็ง่ายขึ้นนั่นเอง

 

3. เข้าร่วมเครือข่ายผู้ปกครอง

          ทั้งระดับห้องเรียนและระดับโรงเรียน โดยเฉพาะผู้ปกครองของเพื่อนคนสำคัญของเด็ก ๆ  โดยมีคุณครูประจำชั้นเป็นสื่อกลาง เพื่อรู้ความเคลื่อนไหวกิจกรรมของลูกหลานเราเองแล้ว ยังช่วยทำหน้าที่ในการเสนอแนะและช่วยเหลือโรงเรียน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ดีต่อกันมากขึ้น  รวมถึงการเข้าร่วมสมาคมผู้ปกครองและครูของโรงเรียน  เพิ่มบทบาทของตัวเราให้เด็ก ๆ มีส่วนร่วมภาคภูมิใจ ทั้งยังตรวจสอบการทำงานของโรงเรียนให้สามารถดำเนินกิจการได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพอีกด้วย

 

เทคนิคการมีส่วนร่วมในชุมชน

1. เห็นความสำคัญของสภาพแวดล้อมในชุมชน

          สภาพแวดล้อมของชุมชนนั้นมีอิทธิพลต่อพฤติกรรม ลักษณะนิสัย รวมทั้งแบบแผนการดำเนินชีวิตของผู้คนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเล็ก ๆ  หมู่บ้าน เมือง จังหวัด  แน่นอนเราคงไม่ต้องการเห็นชุมชนที่เราอยู่นั้นเต็มไปด้วยความรุนแรง การว่างงาน แหล่งมั่วสุมเล่นการพนัน จำหน่ายยาเสพติด ฯลฯ  ดังนั้นจึงไม่ควรละเลยกับชุมชนที่เราอยู่อาศัย  ความจริงในทุกชุมชนมักมีกิจกรรมสาธารณะร่วมกันอยู่แล้ว อย่างทำบุญตักบาตรในวันพระสำคัญ วันปีใหม่ ฯลฯ เพียงแต่อาจยังไม่ได้เน้นรวมกลุ่มเพื่อการศึกษากันอย่างแท้จริง การให้เด็กเรียนรู้ถึงความสำคัญของชุมชนโดยมีคุณเป็นผู้ให้คำแนะนำนั้นก่อให้เกิดความเข้าใจการยอมรับค่านิยมช่วยสืบทอดวัฒนธรรมสิ่งที่คนในชุมชนเคารพ  สร้างความศรัทธาและความเชื่อมั่นความภูมิใจ  ฝึกให้เด็ก ๆ เป็นคนใจกว้าง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เรียนรู้เรื่องใจเขาใจเรา มีจิตเป็นสาธารณะ บำเพ็ญประโยชน์ให้กับผู้อื่น  ฝึกอ่อนน้อมถ่อมตนวางตัวเรียบง่ายเข้ากับคนได้ทุกวัย ฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ทั้งยังฝึกให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ถึงการวิเคราะห์ผู้คนอื่น ๆ   รู้สึกมีคุณค่าในตนเองมากยิ่งขึ้น  เรียนรู้ถึงการจัดการปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้นจากในบ้านในโรงเรียน 

 

2. เข้าร่วมศูนย์การเรียนรู้ชุมชน   

 หากคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองทำศูนย์การเรียนรู้ที่บ้านหรืออยู่ในเครือข่ายผู้ปกครอง การเข้าสู่ระบบศูนย์การเรียนรู้ชุมชนจึงไม่ใช่เรื่องยาก  ไม่ต้องกังวลเลย หลายหมู่บ้านอาจมีศูนย์การเรียนรู้ชุมชนอยู่แล้ว แต่อาจไม่เหมาะกับเด็กโดยตรง หากคุณมีเวลามากพอ ประสานความร่วมมือกับคุณครู โรงเรียน เครือข่ายผู้ปกครองสร้างศูนย์ที่เน้นด้านการศึกษาพัฒนาเด็กอย่างเหมาะสม อาจทำเป็นแคมป์กิจกรรมเล็ก ๆ  รวมตัวกับเพื่อนข้างบ้าน เพื่อนในซอยบ้าน ในละแวกบ้าน ร่วมกันวางแผนสร้างกิจกรรมหรือโครงการสร้างสรรค์หลังเลิกเรียน  หรือกิจกรรมออนไลน์  โดยให้ผู้ปกครองแต่ละครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม เช่น ห้องสมุด สอนการบ้าน สอนพิเศษ สอนภาษา เล่นกีฬา เสริมทักษะในด้านต่าง ๆ  ทำงานศิลปะ ฝึกอาชีพ แลกเปลี่ยนแนะแนวเสริมประสบการณ์การทำงานความสำเร็จของผู้ปกครองแต่ละท่าน เป็นต้น

 

          การร่วมมือกันทำงาน ทั้งในฝั่งของครอบครัว โรงเรียน และชุมชนนั้นไม่มีวันสิ้นสุด ไม่ว่าการเรียนในรูปแบบใด จะในบ้าน ในโรงเรียน หรือในสังคมภายนอก ต้องตระหนักว่าเป็นงานจำเป็นซึ่งสำคัญมากและต้องทำอย่างจริงจังต่อเนื่อง  ประเทศของเราทุกวันนี้ต้องร่วมมือร่วมใจเข้มแข็งในทุกภาคส่วน  สร้างพื้นฐานเด็ก ๆ ของเราให้มั่นคงเข้มแข็งเสียแต่วันนี้ เพื่อลูกหลานของเราก้าวไปสู่การเรียนรู้พัฒนาตัวเองพัฒนาสังคมอย่างแข็งแรงยั่งยืนต่อไปในอนาคต

 

อังสนา ทรัพย์สิน

 

ข้อมูลอ้างอิง บทสัมภาษณ์/แบบสอบถาม พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และเด็ก ๆ จาก http://www.youthradioandmedia.org, http://www.oecd.org, https://www.familylives.org.uk, https://www.amarinbabyandkids.com, https://th.theasianparent.com, https://pantip.com/forum/family, https://new.camri.go.th

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow