Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เราจะเซฟคนจากปัญหาการอดอยากในวันอาหารโลกได้อย่างไรบ้าง ?

Posted By Plook Magazine | 08 ต.ค. 64
5,235 Views

  Favorite

วันที่ 16 ตุลาคมของทุกปีถือเป็น ‘วันอาหารโลก’ World Food Day เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาความอดอยาก หิวโหย และภาวะทุพโภชนาการ เพื่อให้ช่วยกันส่งเสริมและจัดการปัญหาอาหารที่ถูกผลิตออกมาในแต่ละปีให้มีปริมาณเพียงพอต่อการเลี้ยงประชากรทุกคนบนโลกนี้ 

 

เนื่องจากประชากรกว่า 800 ล้านคนทั่วโลกหรือประมาณ 1 ใน 9 ของประชากรโลกยังคงประสบกับปัญหาความอดอยาก หิวโหย และทุพโภชนาการอยู่ เพราะคนเหล่านี้อยูในกลุ่มคนที่ไม่มีพื้นที่ให้เพาะปลูกหรือไม่มีเงินซื้ออาหาร โดย 98% อยู่ในประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะทวีปเอเชียกว่า 500 ล้านคน

 

 

คนกำลังอดอยากกว่า 500 ล้านคนอย่ามองมันเป็นแค่เพียงตัวเลขเชียวนะคะ ว่ากันว่า คนที่ท้องอิ่มอยู่ตลอดเวลา คงไม่มีทางเข้าใจความหิวโหย สำหรับประเทศที่รุ่มรวยเต็มไปด้วยอาหารทุกหัวมุมถนนไหนจะลูกชิ้นทอด โตเกียว รถเข็นก๋วยเตี๋ยวที่ขายในราคาจับต้องได้อย่างประเทศเราก็คงจะห่างไกลจากความหิวโหยมากกว่า เมื่อเทียบกับประเทศที่ไม่มีพื้นที่แม้แต่จะเพาะปลูก หรือแล้งมากเพราะฝนไม่ตกมา 4 ปีอย่างประเทศมาดากัสการ์ ไหนจะปัญหาความยากจนที่ไม่เคยหายไปไหนทำให้คนไม่มีเงินซื้ออาหารประทังชีวิต เราเลยคิดว่าแทนที่จะใช้วันอาหารโลกเล่าถึงอาหารจานโปรดอย่างส้มตำ ยำ หรือเบเกอรี่อร่อย ๆ โดยไม่พูดถึงใจความสำคัญที่วันอาหารโลกถูกก่อตั้งขึ้นมาก็คงจะผิดจุดประสงค์ไปนิด เนื่องจากอาหารไม่ได้มีแค่มุมที่เรียกให้น้ำลายไหลย้อยเท่านั้น เพราะอีกด้านหนึ่งของอาหารคือปัญหาความอดอยาก หิวโหยและทุพโภชนาการที่กำลังเกินเยียวยา

 

เด็กไนจีเรียกว่า 75,000 คนเสี่ยงเสียชีวิตจากความหิวโหย ในละตินอเมริกาเกือบ 1 ในทุก ๆ 8 คนขึ้นไปนอนหิวทุกคืน
ในเอเชียและแปซิฟิกร้อยละ 28 ของประชากรชายแดนมีปัญหาเรื่องความอดอยากและประสบกับความเจ็บปวดจากความหิวตลอดเวลา
ในตะวันออกใกล้มีคน 1 ใน 10 ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ

 

Cr. wfp.org

 

ปัญหาความอดอยากหิวโหยนั้นรุนแรงแค่ไหนก็คือถึงขั้นที่ว่า โครงการอาหารโลกของสหประชาชาติ คว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2020 เบียดชนะตัวเก็งอย่างองค์การอนามัยโลกและน้องเกรียตา ทุนแบร์ยนักรณรงค์สุดเจ๋งไปครอง ทำให้เรางงไปตาม ๆ กันว่า โครงการอาหารโลกกับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพมันเกี่ยวกันยังไงเอ่ย ? แต่มันเกี่ยวกันจริง ๆ เมื่อเราใช้แว่นขยายส่องไปที่โครงการอาหารโลกของสหประชาชาติที่ได้พยายามกำจัดความหิวโหยให้กับคนทั่วโลก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งเนื่องจากสงคราม โดยโครงการอาหารโลกของสหประชาชาติ (WFP) ได้เข้าไปช่วยเหลือผู้คนกว่า 100 ล้านคนใน 88 ประเทศทั่วโลกที่กำลังตกเป็นเหยื่อของความอดอยากหิวโหยและความไม่มั่นคงทางอาหารอย่างรุนแรงในปี 2019 ที่ผ่านมา

 

เพราะที่ไหนที่มีสงครามที่นั่นย่อมมีความอดอยากและหิวโหยเกิดขึ้น

 

Cr. wfp.org

 

จึงทำให้อาหารและสันติภาพเป็นเรื่องเดียวกันอย่างไม่น่าเชื่อ ! จากสงครามและความขัดแย้งที่ส่งผลโดยตรงต่อปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร ที่ไหนมีสงคราม มีการสู้รบ ผู้คนในพื้นที่ก็ต้องได้รับผลกระทบเรื่องการขาดแคลนอาหารตามมา ทั้งนี้โครงการอาหารโลกของสหประชาชาติก็ได้เสี่ยงตัวเข้าไปในพื้นที่สงครามเพื่อนำอาหารไปแจกจ่ายให้กับผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามและความขัดแย้งอยู่ตลอดเวลาหลายปี สร้างความสันติผ่านการมอบอาหารให้กับผู้คนได้อิ่มท้อง เมื่อท้องอิ่มสันติสุขก็เกิด ทำให้เราเห็นว่าโลกไม่อาจยุติความหิวโหยได้ หากไม่สามารถยุติสงครามและความขัดแย้ง แต่ไม่ใช่แค่สงครามเท่านั้นที่ทำให้ผู้คนอดอยาก เพราะยังมีอีกหลายสาเหตุดังนี้

 

• กับดักความความยากจน  ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ 

 

• การขาดการลงทุนในภาคการเกษตร เช่น ขาดโครงสร้างพื้นฐานหรือการจัดการทางการเกษตรที่ดี ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตต่ำ และขาดความมั่นคงทางอาหาร

 

• การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ทำให้ภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง และพายุ มีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย

 

• ความขัดแย้งทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถทำการเกษตรได้ เกิดทั้งการอพยพ และสภาวะขาดแคลนอาหาร

 

• ความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร ทำให้คนบางกลุ่มเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการได้ยากในบางช่วงที่สินค้าราคาแพง

 

Cr. wfp.org

 

ภาพเด็กผิวดำผอมแห้งเห็นแต่กระดูก หัวโตไม่สมส่วนเพราะขาดสารอาหาร ฝนที่ไม่ตกในมาดากัสการ์มา 4 ปี คนกว่า 20 ล้านคนกำลังเผชิญกับภาวะอดอยากและหิวโหยในเยเมน โซมาเลีย เซาท์ซูดาน และไนจีเรียคงไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป เมื่อเรารู้ถึงสาเหตุต่าง ๆ ที่เขาอดอยากแม้เราจะแค่ใช้ชีวิตประจำวันธรรมดาแต่เราต่างก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านั้นได้โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ และถึงแม้เราจะไม่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาความยากจน ความขัดแย้งระหว่างประเทศ หรือความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรได้โดยตรงแบบชี้นิ้วสั่ง แต่ว่ากันว่าการเด็ดดอกไม้ก็อาจสะเทือนถึงดวงดาวได้ แม้มีตัวแปรเพียงน้อยนิดก็อาจจะส่งผลกระทบมากมายมหาศาลจนคาดเดาไม่ได้ เหมือนอย่างที่เราตระหนักถึงการประหยัดพลังงาน ลดการใช้พลังงาน เพียงแค่ครั้งนี้มันเป็นเรื่องของอาหารการกินเท่านั้นเอง มาดูกันว่าเราจะช่วยกัยเซฟวิกฤติที่มีสาเหตุมาจากการกินของมนุษย์ได้ยังไงบ้าง   

 

ตักแต่พออิ่ม กินให้หมดจาน ลดขยะอาหาร 

หากมีอาหารเหลือทิ้งมากขึ้นก็มีความอดอยากมากขึ้น องค์การสหประชาชาติระบุว่าโลกเรามีอาหารเพียงพอเลี้ยงดูคนถึง 1 หมื่นล้านคน แต่อาหารที่ผลิตได้ในแต่ละปีราว 1 ใน 3 เน่าเสียหรือถูกนำไปทิ้ง ส่วนใหญ่มักเป็นอาหารเหลือจากครัวเรือน อาหารเสียเพราะเก็บรักษาและขนส่งไม่ดีพอ อาหารเหลือทิ้งมีมูลค่าราว 30 ล้านล้านบาท หากลดปริมาณอาหารเน่าเสียหรือเหลือทิ้งลงได้ 25% ก็จะพอเลี้ยงดูผู้คนที่อดอยากและหิวโหยได้อีก 870 ล้านคน

 

 

การทิ้งขยะอาหารทุกครั้งเราไม่ได้เสียแค่อาหารนั้น ๆ ไป แต่เรายังเสียทรัพยากรที่เป็นต้นทุนในการผลิตอาหารชิ้นนั้นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นน้ำ แร่ธาตุ แรงงานคน พลังงาน รวมถึงที่ดิน ไหนจะก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการย่อยสลายขยะ ทำให้ขยะอาหารกลายเป็นต้นเหตุสำคัญอันดับต้น ๆ ของภาวะโลกร้อนมากเท่าจำนวนก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากประเทศอุตสาหกรรมโลกอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน และอย่าลืมนะคะว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เลวร้าย ปั่นป่วนและคาดเดายากนี้เองที่กำลังเป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญของความอดยากทั่วโลก อุณหภูมิที่สูงขึ้นและสภาพอากาศที่เลวร้ายส่งผลกระทบต่อการทำเกษตร เกษตรกรจำนวนมากต้องเผชิญกับปัญหาผลผลิตตกต่ำจนกระทั่งเพาะปลูกอะไรไม่ได้เลยก็มี

 

 

กินเนื้อให้น้อยลง กินให้หลากหลาย สนับสนุน Local food 

คนกินเนื้ออาจจะมีสะดุ้ง แต่เราไม่ได้จะบอกให้ทุกคนต้องเลิกกินเนื้อแต่อย่างใด (คนเขียนเองก็กินอยู่และยังเลิกกินไม่ได้ แง) แต่อยากให้ค่อย ๆ ลดลงก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีค่ะ เพราะการเลี้ยงสัตว์เพื่อเอาเนื้ออย่างหมู ไก่ วัว หรือที่เราเรียกว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์เป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก การตัดไม้ทำลายป่า น้ำเน่าเสีย เกิดขยะในทะเล มีงานวิจัยที่ทำการเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างมื้ออาหารทั่วไป มื้ออาหารมังสวิรัติ และมื้ออาหารแบบวีแกน แล้วพบว่าการทานมังสวิรัติและวีแกนสามารถลดรอยเท้าคาร์บอนได้ถึงร้อยละ 63 และ 70 ตามลำดับ ส่วนมื้ออาหารทั่วไปที่มีเนื้อสัตว์จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด

 

 

โครงการที่น่าสนใจอย่าง Meatless Monday เป็นโครงการที่สหรัฐอเมริการิเริ่มขึ้นมาเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนงดบริโภคเนื้อสัตว์สัปดาห์ละ 1 วัน โดยเลือกวันจันทร์เพราะเป็นวันเริ่มต้นของการทำงานในแต่ละสัปดาห์เพื่อช่วยลดโลกร้อนและเพื่อสุขภาพที่ดี เพราะการหักดิบด้วยการไม่กินเนื้อไปเลยมันทรมานไปจึงให้งดเนื้อสัตว์สัปดาห์ละ 1 วันแทน ถ้าคนทั้งโลกลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงได้ประมาณ 15% ผ่านกิจกรรม Meatless Monday จะมีค่าเท่ากับลดการใช้รถยนต์กว่า 240 ล้านคันต่อปีเลยทีเดียว และถ้าหันไปบริโภคสินค้าจากเกษตรกรแถวบ้านได้ก็จะยิ่งดีคูณสอง หลัก ๆ คือการช่วยลดพลังงานในการขนส่ง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดความเสี่ยงในการเจอสารอันตรายที่จะปนเปื้อนตลอดการอิมพอร์ตข้ามน้ำข้ามทะเลมาให้เรา มาเป็นชาวนิวยอร์กซิตี้ชิค ๆ ถึงแม้ตัวจะอยู่ที่พัฒนาการด้วยอุดมการณ์ที่ดีเดียวกัน ขอไม่กินเนื้อ 1 วันก็เก๋ไปอีกแบบนะคะ 

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

เมื่อสิ่งแวดล้อมดี เราจะไม่โสด... เป็นเพราะอะไร ?

‘รักเธอเท่าทะเลเลย’ เหตุผลที่ว่าทำไม 'รักเท่าทะเล' มันถึงไม่ได้โรแมนติกนัก

วิชา 'ความหลากหลายทางชีวภาพ' ที่โรงเรียนไม่ได้สอน

โอโซนโลกสำคัญยังไง ? แล้วเราจะช่วยกันปกป้อง ‘โอโซน’ ได้ยังไงบ้าง

เมื่อโลกมันร้อนขึ้นทุกวัน เราจะช่วยลดโลกร้อนได้ยังไงบ้าง ?

HOW TO STOP FAST FASHION: ช้อปปิ้งยังไงโดยที่ไม่สนับสนุนฟาสต์แฟชั่น

วัยรุ่นสไตล์อีโค


 

แหล่งข้อมูล

- 5 sustainable ways to celebrate World Food Day 

- วันอาหารโลก

- โครงการ MEATLESS MONDAY ได้ขยายตัวสู่โรงเรียนรัฐบาลในเมืองนิวยอร์กซิตี 

กินกู้โลก! ใครๆ ก็กอบกู้โลกจากวิกฤตได้ แค่เปลี่ยนวิธีกิน 

ทำไมคนที่ผลิตอาหารให้คนส่วนใหญ่ในโลกรับประทานถึงเป็นคนที่อดอยากหิวโหยที่สุด 

 
 
 
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow