Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เข้าใจสมองต่อ 'การคิดมาก' แล้วจะเลิกเป็นคนคิดมากได้ดีขึ้น

Posted By Plook Magazine | 08 ต.ค. 64
42,306 Views

  Favorite

มาเรียนรู้ที่จะคิดยังไงไม่ให้ ‘คิดมาก’ กันดีกว่า ไม่ว่าตอนนี้หลายคนจะคิดถึงเขามาก คิดมากเรื่องเรียน คิดมากเรื่องคะแนนสอบ คิดมากเรื่องที่บ้าน คิดมากเรื่องเพื่อน ไม่ว่าจะเรื่องไหน ๆ หลังจากอ่านบทความนี้จบ ทุกคนจะเลิกเป็นคนคิดมากได้ดีขึ้นแน่นอน !

 

 

เข้าใจสมองของเราเมื่อ ’คิดมาก’ 

ไม่มีใครอยากคิดมากถูกไหมคะ ? ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตามเราก็อยากให้มันผ่านไปเลย ไม่ต้องการจะเก็บมันมาคิดให้ปวดหัว แต่ “ภาวะคิดมาก” หรือ “Overthinking” กลับเป็นสิ่งที่บางทีเราก็เลือกที่จะไม่คิดถึงมันไม่ได้ เพราะเป็นปฏิกิริยาหนึ่งของสมองที่ต้องการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อกักเก็บข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ในการชี้นำการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ในอนาคต จึงทำให้เรามักจะวกกลับไปคิดถึงเรื่องเดิม ๆ ที่ถูกดึงขึ้นมาจากความทรงจำที่ทั้งดีและไม่ดี แต่การคิดมากส่วนใหญ่มักจะเป็นการคิดถึงเรื่องที่ไม่ดี เป็นเพราะอะไร ?  

 

ที่สมองของคนเรามักจำข้อมูลในเรื่องที่ไม่ค่อยดี ไม่ค่อยสมบูรณ์ก็เพื่อนำมาเป็นบทเรียนให้กับตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดเดิม ๆ ขึ้นอีกนั่นเอง เช่น ประสบการณ์ที่เคยทำผิดพลาด เคยบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เคยผิดหวังในความรัก หรือเคยผิดหวังจากการเรียน แม้กระทั่งการถูกเลี้ยงดูมาอย่างเข้มงวด ไม่ให้อิสระตั้งแต่เด็กก็อาจทำให้คน ๆ หนึ่งโตมาเป็นคนที่คิดมากไปโดยปริยาย เนื่องจากการเลี้ยงดูแบบเข้มงวดมากจนเกินไปมักจะทำให้เกิดความรู้สึกไม่แน่นอนหรือไม่แน่ใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองในอนาคต ทำให้ชอบคิดมากตลอดกับทุกเรื่อง หรืออาจจะพูดได้ว่า เรื่องไม่ดีในอดีตมีผลต่อการกำหนดปัจจุบันและอนาคตในความคิดของคนที่ตกอยู่ในภาวะคิดมากนั่นเอง

 

ตัวอย่างของคนที่คิดมากกับคนที่คิดแก้ปัญหา 

ให้จินตนาการว่าพายุใหญ่กำลังจะมาและนี่คือความแตกต่างระหว่างคนที่คิดมากและคนที่คิดแก้ปัญหา

 

มนุษย์คิดมาก: “โอ๊ย พายุไม่น่าเข้าเลย มันต้องแย่แน่ ๆ หวังว่าบ้านจะไม่พังมากนะ ทำไมสิ่งนี้ต้องเกิดขึ้นกับฉันด้วย ใครจะไปรับมือไหว” 

 

มนุษย์คิดแก้ปัญหา: “โอ๊ย พายุมาแน่เลย เดี๋ยวต้องไปเก็บของที่น่าจะปลิวเข้ามาไว้ในบ้าน แล้วก็ต้องเอากระสอบทรายไปวางหน้าประตูโรงรถกั้นไว้เผื่อน้ำท่วม ถ้าฝนตกแรงมากจริง ๆ คงต้องออกไปเหมาไม้อัดเตรียมไว้กั้นหน้าต่างเผื่อลมมันแรงมาก”

 

 

ความน่ากลัวของการที่เราคิดมากไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่หาทางออกนั้น นานวันเข้าอาการคิดมากอาจรุนแรงขึ้นและอัปเกรดตัวเองกลายเป็น โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder หรือ GAD) ซึ่งเป็นภาวะที่มีความเครียดและความวิตกกังวลที่รุนแรงมากกว่าปกติ ไม่สามารถควบคุมตัวเองไม่ให้คิดฟุ้งซ่านได้ บางครั้งอาจกลัวว่าจะเกิดเรื่องที่ไม่ดีขึ้นจนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและการเรียนได้ ทำให้ขาดสมาธิ มีความหวาดระแวง และตื่นตกใจง่าย ส่งผลให้มีปัญหาเรื่องความอยากอาหารหรือการนอนหลับ ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียง่าย ระบบภูมิต้านทานอ่อนแอลง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา

 

 

คิดยังไงไม่ให้คิดมาก

 

 

คิดแก้ปัญหา ไม่ใช่คิดถึงปัญหา

จุดอ่อนของคนคิดมากคือเอาแต่คิดถึงปัญหา แต่ไม่คิดถึงวิธีแก้ปัญหา การหยุดอยู่ที่ความคิดใดความคิดหนึ่งไม่เกิดประโยชน์มากเท่ากับการเปลี่ยนเป็นแรงผลักดันให้ลงมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ยิ่งเราใช้เวลาคิดถึงปัญหามากเท่าไหร่ แนวโน้มที่ปัญหาจะถูกแก้ไขก็ยิ่งน้อยและไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ แม้ว่าเราจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเรื่องในอดีตได้ แต่เราทำสิ่งที่ดีกว่าได้ในปัจจุบัน ความพร้อมที่จะเผชิญหน้าและตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาจะช่วยให้เราออกจากความกลัวและความกังวลใจได้ จำไว้ว่าปัญหามีไว้พุ่งชน ! 

 

 

 

ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว

คนที่ชอบคิดมากบางคนมักจะคิดว่า ‘ถ้าตอนนั้นไม่ทำแบบนั้นซะก็ดี’ หรือ ‘ถ้าเราทำแบบอื่นมันคงจะออกมาดีกว่านี้’ ขณะที่การยอมรับความเป็นไปทั้งก่อนและหลังจากความพยายามในการแก้ไขสิ่งต่าง ๆ นั้นเท่ากับเป็นการเคารพและยอมรับนับถือในตัวเอง เมื่อเราทำสิ่งที่ทำได้อย่างเต็มที่ในเวลานั้นแล้ว ไม่ว่าผลลัพธ์มันจะออกมายังไงก็ไม่มีอะไรให้ต้องเสียใจหรือติดอยู่ในใจจนต้องเก็บมาคิดมากอีกต่อไป อย่ามองกลับไปหรือย้ำเตือนว่าตัวเองห่วยแตก แต่ให้ใช้ประโยชน์จากบทเรียนที่เราทำพลาดเพื่อให้ตัวเองเป็นคนที่เจ๋งขึ้น

 

 

 

 

พักก่อน พักสมองก่อน  

แทนที่จะนั่งคิดมากซ้ำ ๆ ไม่จบสิ้น เราควรละจากสิ่งตรงหน้าไปสักพัก เปลี่ยนบรรยากาศไปที่อื่น ไปจิบน้ำ คุยสัพเพเหระกับเพื่อน ทำอะไรก็ได้ที่จะทำให้เราไม่ต้องคิดมาก หรืออาจจะไปนอนงีบเพื่อให้สมองได้พักสักนิด แล้วเราจะพบว่าระหว่างที่เราไม่คิดอะไร สมองก็ได้คิดหาวิธีแก้ปัญหาให้กับเรา การหยุดคิดในช่วงเวลาสั้น ๆ ทำให้สมองได้พัก และทำให้จิตใจของเราโฟกัสได้ดีขึ้น เขาถึงเรียกว่าการคิดแบบไม่ต้องคิด บางครั้งก็ได้ผลดีกว่าการนั่งคิดเป็นวัน ๆ 

 

 

 

คิดถึงคนอื่น

เวลาที่เรานั่งคิดมาก เราจะคิดถึงแต่ตัวเองจนมองไม่เห็นสายตาแห่งความห่วงใยที่คนใกล้ตัวเขาเป็นห่วงเรา ให้เราคิดว่าเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว เรามีคนร่วมทุกข์กับเราอยู่ ซึ่งอาจเป็นเพื่อนสนิท พ่อแม่ของเรา หรือน้องหมาที่นั่งจ้องเราอยู่ การสัมผัสได้ว่ามีอีกหนึ่งชีวิตเป็นห่วงเราอยู่จะทำให้เราไม่อยากทำร้ายตัวเองด้วยการคิดมาก หรือจมดิ่งอยู่กับสิ่งที่ทำให้ไม่มีความสุข ความห่วงใยของคนรอบข้างจะเป็นเหมือนมือที่ยื่นมาช่วยเราให้ลุกขึ้นจากจุดที่เรานั่งจมอยู่นาน

 

บ่อยครั้งที่การต่อสู้กับความคิดตัวเองเพียงลำพังมีแนวโน้มที่จะไม่สำเร็จ การอาศัยเพื่อนที่รู้ใจสามารถช่วยแบ่งเบาความอึดอัดคับข้องใจที่เก็บไว้ในสมองได้ไม่มากก็น้อย

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

คิดบวกมากไปก็ไม่ดีนะ เข้าใจความน่ากลัวของ Toxic Positivity

เมื่อสิ่งที่คิดไม่เป็นไปตามที่หวังไว้ เราจะรับมือกับความผิดหวังยังไงดี

หลักการคิดแก้ปัญหา 3 แบบ รู้ไว้คิดอะไรก็ไม่มีตัน

ก้าวผ่านช่วงเวลายาก ๆ ด้วยข้อคิดดี ๆ ที่จะช่วยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ

สอบตก แม่ด่า แมวไม่เล่นด้วย 5 วิธีเรียกคืนความสดใสไม่ให้คิดมาก

รู้จัก 'Impostor Syndrome' โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง พร้อมเคล็ดลับเอาชนะมัน !

20 ข้อคิดดีๆ ที่วัยรุ่นควรเก็บไว้เตือนสติตัวเองตอนอายุ 20

ปลุกจิตให้ตื่น ไม่เครียดกับอนาคตมากไปจนใจป่วยในโลกยุค Disruption

Teen’s Guide ทุกปัญหาของวัยรุ่นมีทางออกเสมอ

 

 

แหล่งข้อมูล

ทำอย่างไรไม่ให้เป็นคนคิดมาก

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow