ในยุคสมัยที่ข้อมูลข่าวสารดี ๆ ก็มีเยอะ แต่ข้อความลูกโซ่ที่บิดเบือนก็เกลื่อนกลาด เวลาอ่านอะไรก็มักจะได้ยินคำเตือนประมาณว่า “ควรมี critical reading นะ” “อย่าไปโดนเขาหลอกหรือจูงจมูก” ซึ่งเป็นคำที่คนมีอายุใช้เตือนเด็ก เด็กเองก็ใช้เตือนคนมีอายุ เตือนกันไปมาจนความหมายของคำว่า critical reading เท่ากับ “การอ่านเพื่อจับผิด”
แม้การอ่านเพื่อจับผิดจะช่วยให้เรา “แหก” ความโป๊ะได้ในหลาย ๆ ครั้ง แต่ความเสี่ยงคือการอ่านในรูปแบบนี้ตัวผู้อ่านมักจะมีสมมติฐาน ความเชื่อ (หรือความไม่เชื่อ) ล่วงหน้าก่อนที่จะลงมืออ่านจริง ๆ อคติส่วนตัวอาจเร่งเร้าให้เราพยายามบิดเนื้อหาเพื่อตีความให้ถูกจริตของเรามากเกินไป
คำถามคือ แล้ว critical reading คืออะไร ?
Critical reading คือ การอ่านเชิงวิเคราะห์ หรือการอ่านอย่างตั้งใจเพื่อ
1. “ทำความเข้าใจ” ในเนื้อหาและแนวคิดของผู้เขียน
2. “ประเมินหรือวิเคราะห์” ว่าผู้เขียนใช้สมมติฐาน กรอบความคิด หรือถ้อยคำประเภทใดในการเขียนเนื้อหา และ
3. “ประมวลผลและตีความ” เพื่อแสดงความเห็นตามมุมมองของเรา ซึ่งอาจตรงหรือไม่ตรงกับจุดประสงค์เดิมของผู้เขียนก็ได้
ถ้าอิงตามความหมายนี้ก็สรุปได้ว่า critical reading จะช่วยให้ผู้อ่านเห็นว่าผู้เขียนกำลังสื่ออะไร ใช้กรอบความคิด สมมติฐาน หรือหลักฐานอะไรในการเขียนเนื้อหาออกมา ท่วงทำนองของการใช้ภาษาเป็นไปในลักษณะใด เช่น บอกเล่าในเชิงวิชาการ ปลุกเร้าอารมณ์ เสียดสี ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้ผู้อ่านแสดงความคิดเห็นต่อเนื้อหาที่อ่านได้อย่างมีหลักการ ต่างกับการจ้องจับผิดอย่างไร้เหตุผล
แล้วนักอ่านที่ไม่เข้าข่าย critical reading หรือเรียกว่า “non-critical reader” นั้นเป็นยังไง ?
วิถีการอ่านของ non-critical reader คือการอ่านเพื่อรับทราบและจดจำข้อมูลของเนื้อหานั้น ๆ ยกตัวอย่างสุดฮิตในกรณีการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ non-critical reader มีแนวโน้มที่จะอ่านเพื่อเรียนรู้และ “ยอมรับ” การตีความของผู้เขียนที่มีต่อเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์
ขณะที่ critical reader ที่อ่านหนังสือเล่มเดียวกันจะอ่านเพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาในแบบที่ผู้เขียนตั้งใจอยากจะสื่อ ในขั้นตอนนี้ทั้ง non-critical reader และ critical reader (อาจ) ได้รับสารจากเนื้อหาที่เหมือนกัน แต่สำหรับ critical reader เรื่องมันไม่ได้จบแค่นั้น
Critical reader จะแกะจะแงะให้เห็นถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทฤษฎีหรือสมมติฐานต่าง ๆ ที่ผู้เขียนใช้ในการตีความเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เพื่อให้รู้ว่าทำไมผู้เขียนถึงตีความแบบนั้น สุดท้ายแล้วกระบวนการอ่านเชิงวิเคราะห์แบบนี้จะช่วยให้ผู้อ่านยอมรับ ไม่ยอมรับ หรือกระทั่งสามารถโต้แย้งผู้เขียนได้อย่างมีเหตุผล และกระบวนการโต้แย้งอย่างมีหลักการนี้เองที่อาจนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจชุดใหม่ได้ นับเป็นการปูทางไปสู่สังคมแห่ง “ผู้เจริญทางปัญญา”
บทความหน้าเราจะพาไปทำความเข้าใจกับ critical reading ในภาคปฏิบัติ หากอยากจะลงมือทำจริงจะทำยังไงได้บ้าง และพาไปหาคำตอบด้วยว่า critical reading และ critical thinking นั้นมีความเหมือนหรือแตกต่างกันยังไงบ้าง
บทความที่เกี่ยวข้อง
• Critical Reading & Critical Thinking แพ็คคู่แห่งความเจริญทางปัญญา
• หลักการคิดแก้ปัญหา 3 แบบ รู้ไว้คิดอะไรก็ไม่มีตัน
• 4 คำถามถ้าอยากคิดวิเคราะห์เก่ง เพราะ 'Critical Thinking' นั้นสำคัญ
• 10 จุดรู้ทัน Fake News เพราะวัยรุ่นยุคใหม่ต้องรู้เท่าทันสื่อ
• ทฤษฏีหมวก 6 ใบ หลักการคิดที่ช่วยเรื่องการจำและการแก้ปัญหา
• ความลำเอียง 6 แบบที่ทำให้เราตัดสินใจพลาด
• บันได 4 ขั้นสู่การเรียนรู้ Soft Skills ใหม่ ๆ
• ‘AQ’ ทักษะจำเป็นในวันที่โลกหมุนเร็วจนตามไม่ทัน
• ความโง่ 4 แบบที่ทำให้เราพัฒนาตัวเองไม่สำเร็จ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- Critical Reading, at its Core, Plain and Simple
- Critical Reading v. Critical Thinking
- What is Critical Reading? | Collegewide Writing Center
- Critical Thinking in Everyday Life