Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

คิดบวกมากไปก็ไม่ดีนะ เข้าใจความน่ากลัวของ Toxic Positivity

Posted By Plook Magazine | 30 ส.ค. 64
7,519 Views

  Favorite

บทความที่แล้วเราได้ทำความรู้จักกับ Toxic Positivity ไปแล้วว่าคืออะไร พร้อมวิธีสังเกตตัวเองเบื้องต้นว่าเรามีความคิดแบบนี้หรือเปล่า ซึ่งหลายคนน่าจะพอเข้าใจและเห็นภาพคร่าว ๆ แล้วว่าการคิดบวกที่มากเกินไปนั้นน่ากลัวขนาดไหน และเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดขึ้นเราลองมาดูกันว่าการคิดบวกมากเกินไปจะสามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงและผลกระทบในแง่ใดได้บ้าง

 

อ่านบทความแรกได้ที่ >> Toxic Positivity อีกด้านของการคิดบวกที่พร้อมเฆียนตีเรา

 

 

cr: www.freepik.com

 

ด้อยค่าความทุกข์คนอื่น 

การที่คน ๆ หนึ่งโดนพูดกรอกหูตลอดเวลาว่าให้เลิกคิดลบ เลิกเศร้า จงเลือกที่จะมีความสุขกับชีวิต อาจทำให้คน ๆ นั้นรู้สึกไม่ได้รับความใส่ใจจากคนรอบข้าง ประหนึ่งว่าความทุกข์ของเขามันไม่มีค่าแก่การมาใส่ใจประมาณนั้น

 

ตีตราความทุกข์ให้เท่ากับความอ่อนแอ 

เมื่อเราถูกกดดันให้ต้องปรับทัศนคติมามองโลกในแง่ดีมากขึ้น ในขณะที่กำลังเผชิญกับปัญหาและความทุกข์อยู่ ก็อาจทำให้รู้สึกว่าการที่เราแสดงออกถึงความทุกข์ใจเป็นเรื่องต้องห้าม เป็นอาการไม่พึงประสงค์ และเป็นสัญญาณของความอ่อนแอ คนที่โดนกดดันให้คิดบวกแบบนี้อาจไม่กล้าแชร์เรื่องราวความทุกข์ให้ใครฟัง รวมถึงไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ก็อาจทำให้เกิดความทุกข์ที่เรื้อรังได้

 

เพิกเฉยต่อปัญหา 

การมองบวกอย่างมีอคติ (positive bias)​ ในสายสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (toxic relationship) เช่น การทนคบกับคนที่ทำร้ายร่างกายและจิตใจเรา โดยเลือกที่จะเพิกเฉยต่อสิ่งร้าย ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วหันไปมองบวกหรือหาข้อดีของอีกคนมาเป็นข้ออ้างที่จะสานต่อสายสัมพันธ์ (ที่เป็นพิษ) นี้ต่อไป การกัดฟันมองบวกเช่นนี้มีแต่จะทำให้เราต้องวนเวียนอยู่กับความเจ็บช้ำที่ไม่รู้จบ

 

บั่นทอนทักษะในการสื่อสารและสายสัมพันธ์ 

การจะสื่อสารกับคนอื่นให้เข้าใจกัน หรือการจะพยายามทำความเข้าใจผู้อื่น เราจะต้องพร้อมเปิดใจรับฟังทุกความเห็นและความรู้สึกของอีกฝ่าย แต่ถ้าเรามีมุมมองแบบ toxic positivity ก็เสี่ยงที่จะไปปิดกั้นความคิดและความรู้สึกในเชิงลบของคนอื่น (และตัวเอง) จนทำให้สาระสำคัญของบทสนทนานั้น ๆ ถูกปัดตกไป ไม่สามารถเปิดใจพูดคุยกันได้ในทุกเรื่อง แน่นอนว่าความสนิทสนมจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในบรรยากาศแบบนี้

 

อุปสรรคต่อการแชร์ Empathy 

การที่เราไม่สามารถพูดคุยกันอย่างเปิดใจกับคนข้างกายได้เพราะมีแนวคิด toxic positivity มาขวางกั้นความรู้สึกนึกคิดเชิงลบของกันและกัน จะทำให้เราไม่สามารถถ่ายทอดความร่วมรู้สึกหรือ “empathy” เพื่อร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนอื่นได้อย่างลึกซึ้ง

 

ปลีกตัวออกห่างจากความเป็นจริง 

การที่เรามัวแต่นั่งกำหนดลมหายใจท่องคาถาคิดบวกท่ามกลางสภาวะรอบข้างที่ลุกเป็นไฟ อาจทำให้เราบรรลุไปสู่อีกมิติหรือที่คนเขาเรียกกันว่า “อยู่กันคนละโลก” ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่ได้ผิดอะไรถ้ามันทำให้เราก้าวเดินต่อไปได้และไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น แต่สำหรับคนที่เดินท่ามกลางกองไฟแต่หลอกตัวเองว่าไม่ร้อนก็อาจพาตัวเองโดนไฟคลอกได้ อีกกรณีคือการปลีกตัวเองออกจากสภาพความเป็นจริงจนนำไปสู่พฤติกรรมและความคิดที่ไม่ค่อยจะสร้างสรรค์ เช่น เมื่อเกิดภัยจากน้ำมือของมนุษย์หรือภัยธรรมชาติ แทนที่จะเรียกร้องให้มีการจัดการกับเหตุการณ์อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ แต่กลับเชิญชวนให้ทุกคนส่งกระแสจิตเพื่อให้เหตุการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้น เป็นต้น

 

จำกัดทางเลือกในการแก้ปัญหา 

การปลีกตัวออกห่างจากความจริงมากเท่าไหร่ยิ่งไปจำกัดทางเลือกในการแก้ปัญหานั้น ๆ มากขึ้นเท่านั้น เพราะการที่เราจะแก้ปัญหาหรือความทุกข์ได้จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรับรู้ถึงปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้น เพื่อที่จะเรียนรู้ วิเคราะห์ จนตกผลึกและได้มาซึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาที่ตรงจุด เพราะถ้าหากชีวิตเปิดรับแต่มิติในเชิงบวกก็จะทำให้ไม่สามารถเรียนรู้เรื่องราวในแง่มุมอื่น ๆ ได้ ทำให้ชีวิตตึงตัวไม่ยืดหยุ่น หรือกล่าวได้ว่า toxic positivity คือหนึ่งในอุปสรรคต่อการพัฒนาทักษะในการปรับตัวหรือ Adaptability Quotient (AQ)

 

 

cr: www.freepik.com

 

แนวทางการถอนพิษจาก Toxic Positivity 

หากย้อนกลับไปดูเชื้อมูลของ toxic positivity จะพอเห็นว่ามันถูกปลูกฝังในความคิดของคนในสังคมได้ค่อนข้างแนบเนียน การที่เราจะหลีกเลี่ยงไม่ให้ตกหลุมพรางของการคิดบวกที่เป็นพิษนี้จึงต้องใช้กลยุทธ์กันสักหน่อย โดยสามารถแบ่งเป็นกลยุทธ์การหลีกเลี่ยง toxic positivity ที่กัดกินตัวเอง และหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเองไปพ่นพิษใส่คนอื่น

 

4 วิธีถอนพิษออกจากตัวเอง

 

เปิดใจรับความรู้สึกเชิงลบ 

ความรู้สึกเชิงลบคือเรื่องปกติและเป็นสิ่งสำคัญของประสบการณ์มนุษย์ เพราะมันคือปัจจัยที่กระตุ้นกลไลการประเมินสถานการณ์รอบข้างเพื่อป้องกันตัวเองให้พ้นจากภัยในรูปแบบต่าง ๆ การเปิดใจเพื่อรับรู้ความรู้สึกเชิงลบจึงเป็นขั้นตอนสำคัญต่อกระบวนการเอาตัวรอดจากภัยทางกายและอารมณ์ของคนเรา

 

เรียนรู้เพื่อจำแนกความรู้สึก 

เมื่อเราเปิดใจเพื่อรับรู้ความรู้สึกต่าง ๆ แล้ว ก็ต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และจำแนกความรู้สึกนั้น ๆ ว่ามันมีผลอย่างไรกับตัวเรา

 

ประเมินและกลั่นกรองเป็นประสบการณ์ 

หลังจากที่เราสามารถจำแนกได้แล้วว่าเหตุการณ์ อารมณ์ ความรู้สึกอย่างไหนส่งผลต่อตัวเองอย่างไร ทีนี้เราก็ต้องมาประเมินและกลั่นกรองให้เป็นประสบการณ์ เผื่อว่าครั้งหน้าเกิดเหตุการณ์ในทำนองเดียวกัน เราจะได้รับมือกับมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

หาคนช่วยถอนพิษ 

พูดง่าย ๆ ก็คือการขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นคนรอบข้างที่ไว้ใจได้หรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ โดยควรจะเป็นคนที่ไม่พ่นพิษประเภท toxic positivity เพิ่มใส่เราด้วย

 

ทักษะที่จะหนุนเสริมให้เราปฏิบัติตามแนวกลยุทธ์นี้ได้คือ soft skills จำพวกความสามารถในการปรับตัวหรือ AQ, ความขี้สงสัย (curiosity/skeptical), ความคิดที่ยืดหยุ่น (cognitive flexibility), ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ), การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) และทักษะในการแก้ไขปัญหาเชิงซ้อน (complex problem-solving) เป็นต้น

 

 

cr: www.freepik.com

 

3 วิธีรีดพิษที่จะไปพ่นใส่คนอื่น

 

ทำความคุ้นเคยกับอารมณ์ความรู้สึกเชิงลบ 

อาจเริ่มจากการเปิดใจรับฟังความรู้สึกเชิงลบของตัวเองก่อน เพราะจะช่วยให้เรารับฟังความรู้สึกเชิงลบของคนอื่นได้โดยไม่รู้สึกกระอักกระอ่วน

 

เปิดโอกาสให้คนอื่นแชร์ประสบการณ์อย่างเต็มที่ 

เมื่อเราคุ้นชินกับความรู้สึกในรูปแบบต่าง ๆ แล้ว ทีนี้เวลาพูดคุยกับคนอื่น โดยเฉพาะในบริบทแห่งการปรับทุกข์ เราก็ควรสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรให้คู่สนทนาบอกเล่าเรื่องราวโดยไม่หวาดระแวงว่าจะโดนตำหนิ ตีตรา หรือซ้ำเติม

 

ฟังอย่างตั้งใจ 

การที่จะทำให้คู่สนทนารู้สึกว่ามีคนรับฟังเขาได้อย่างจริง ๆ คือการตั้งใจฟังเพื่อทำความเข้าใจหรือ “deep listening” โดยไม่สอดแทรกคำสอนเชิงบวก (อย่างไม่รู้กาลเทศะ) อยู่ตลอดเวลา เพราะการจะแสดง empathy ที่ดีในบางครั้งคือการรับฟังแบบ deep listening โดยปราศจากท่าทีของการเป็นนักเทศน์ เพราะในบางครั้งคู่สนทนาเพียงต้องการให้ใครอยู่เคียงข้างเพื่อรับฟังเขาเท่านั้น

 

มาถึงตรงนี้ก็จะขอเน้นย้ำอีกสักครั้งว่าทั้งการมองบวกและลบต่างเป็นดาบที่มีด้ามคม 2 ด้าน หมายความว่าเราสามารถเกิดความคิดสร้างสรรค์และค้นพบแรงบันดาลใจ/แรงผลักจากการมองบวกและลบได้เหมือนกัน ในทางกลับกัน ทั้ง 2 มุมมองนี้ก็สามารถฉุดรั้งให้เราไม่ไปไหนหรือจมดิ่งสู่สภาวะที่แย่กว่าเดิมได้เหมือนกัน ดังนั้นประเด็นอาจอยู่ที่ว่าเราจะหาจุดสมดุลระหว่าง 2 แนวทางนี้ได้อย่างไร โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ชีวิตกำลังเผชิญกับความยากลำบาก

 

 

cr: www.freepik.com

 

Tragic Optimism มองบวกอย่างตระหนักรู้ถึงสภาพความเป็นจริงที่ย่ำแย่

การมองบวกอย่างตระหนักรู้ถึงปัญหาโดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ หรือแนวคิดที่เรียกว่า “tragic optimism” คือทัศนคติที่ยังยึดมั่นกับความหวังว่าทุกอย่างสามารถดีขึ้นได้ ขณะที่รับรู้ถึงความทุกข์ยากที่ตัวเองหรือสังคมโดยรวมกำลังเผชิญอยู่ แนวทางนี้จะช่วยให้เรามองบวกโดยไม่แยกตัวเองออกจากความเป็นจริง และทำให้เรามีมุมมองที่กว้างมากกว่าแนวทางของ toxic positivity ความยืดหยุ่นนี้จะช่วยให้เรามีความคล่องตัวในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ดีขึ้น เพิ่มโอกาสในการกลั่นกรองเรื่องราวที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ออกมาเป็นประสบการณ์ชีวิตได้

 

 

สิ่งที่คุณหลีกหนีจะไม่เพียงดำรงอยู่ต่อไป แต่มันจะเติบโตขึ้นในภายหลัง

เราจะเห็นแล้วว่าการใช้ toxic positivity มาเฆี่ยนตีตัวเองและผู้อื่นจะทำให้ชีวิตเห็นแต่ด้านบวก ซึ่งถ้าเป็นเรื่องดีจริงก็ดีไป แต่บ่อยครั้งที่ toxic positivity สามารถนำเราไปสู่การคิดบวกแบบปลอม ๆ ที่ปลีกแยกตัวเราจากสภาพความเป็นจริง สภาวะเช่นนี้เสี่ยงที่จะทำให้เรามีมุมมองที่แคบและมองไม่เห็นถึงปัจจัยลบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้เราไม่สามารถวิเคราะห์ ประเมิน และคิดหาทางแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ มิหนำซ้ำอาจเป็นการซุกปัญหาไว้ใต้พรมจนในที่สุดปัญหาเหล่านั้นเน่าบูดส่งกลิ่นเหม็นหรือกลายเป็นปัญหากองพะเนินที่หล่นมาทับถมตัวเราในที่สุด

 

แนวคิดที่จะช่วยให้เราแก้ปัญหาและหลุดพ้นจากสถานการณ์ที่ย่ำแย่ไปได้คงจะต้องอาศัยพลังจากการมองบวกและลบผสมผสานเข้าด้วยกัน เพราะมุมมองทั้ง 2 ต่างมีพลังในการเยียวยาและขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ เช่น ในขณะที่บ้านเมืองกำลังประสบปัญหาเชิงโครงสร้างที่นำไปสู่สภาวะความเป็นอยู่ของผู้คนที่น่าหดหู่ แต่ถ้าเราสามารถผสมผสานความขุ่นเคืองต่อสภาพความเป็นอยู่ดังกล่าว (ความรู้สึกในเชิงลบ) และการคิดหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ (ความนึกคิดในเชิงบวก) ก็มีโอกาสที่เราจะเยียวยา ฟื้นฟู และพัฒนาสภาพทางกายและจิตใจของปัจเจกและต่อยอดไปสู่การพัฒนาสภาวะทางสังคมโดยรวมได้ผ่านการบาลานซ์พลังบวกและลบอย่างเช่น tragic optimism เป็นต้น

 

เราอาจจะต้องคำนึงอยู่เสมอว่าการหลอกตัวเองว่าทุกอย่างยังโอเค ไม่ได้ทุกข์ใจหรือเป็นเดือดเป็นร้อนอะไรเลย มันไม่ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงแต่อย่างใด แถมมันอาจย้อนมาทำร้ายเราได้ในยามที่มนต์ขลังของ toxic positivity เสื่อมลงจนทำให้ตัวเราต้องกลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงในที่สุด ซึ่งเหมือนกับคำกล่าวของคาร์ล จุง (Carl Jung) นักจิตวิทยาชื่อดังที่พูดในทำนองว่า 

 

“สิ่งที่คุณหลีกหนีจะไม่เพียงดำรงอยู่ต่อไป แต่มันจะเติบโตขึ้นในภายหลัง”

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

Toxic Positivity อีกด้านของการคิดบวกที่พร้อมเฆียนตีเรา

Teen’s Guide ทุกปัญหาของวัยรุ่นมีทางออกเสมอ

หลากหลายมิติแห่ง Self Doubt ข้อดีข้อเสียและต้นตอสำคัญที่อาจถูกมองข้าม

เมื่อสิ่งที่คิดไม่เป็นไปตามที่หวังไว้ เราจะรับมือกับความผิดหวังยังไงดี

รักตัวเองให้มากขึ้นด้วย 'Self-Care' เทรนด์ใหม่ของการดูแลตัวเอง

เคล็ดลับพัฒนาตัวเองของ 'Late Bloomer' คนที่ประสบความสำเร็จช้ากว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน

ดามใจคนข้างกายด้วย Empathy แล้วใช้ Solidarity รักษาแผลสังคม (01)

เป็นคนอารมณ์อ่อนไหวง่าย จะรับมือกับอารมณ์ตัวเองยังไงดี

Ambiverts จะโลกภายในหรือภายนอกก็เอาอยู่

รู้จักตัวเองมากขึ้นด้วยการพัฒนาบุคลิกผ่าน 'สี' ตัวเราคือสีอะไร ?

วิธีลดความกดดันในตัวเอง เมื่อคนรอบข้างคาดหวังมากเกินไป

เคล็ดลับที่จะทำให้เราเก่งขึ้น 1% ทุกวัน

Victim Blaming เตือนให้อยู่ในกรอบ หรือลดทอนความเป็นมนุษย์

ทำไมคน Gen Z ถึงไม่มีศาสนามากขึ้น

 

 

แหล่งข้อมูล

- What to know about toxic positivity

- There’s Something Spreading Faster Than COVID-19, and It’s Not Fear. It’s Toxic Positivity

- Why "Toxic Positivity" Is a Dangerous Idea 

- The Antidote to Toxic Positivity

- Toxic Positivity: How It Relates to Unhealthy Relationships

- 'Tragic optimism': The antidote to toxic positivity

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow