Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

RID Young Team น้ำคือชีวิต...ภารกิจพิทักษ์น้ำปี 3 เดินหน้าสร้างเยาวชนนักสื่อสารแห่งสายน้ำ

Posted By Plook News | 25 ส.ค. 64
2,514 Views

  Favorite

กรมชลประทานลุยต่อกับการสร้างทักษะและจิตสำนึกให้เยาวชน ผ่านการอบรมออนไลน์เชิงปฏิบัติการ หวังสร้างนักผลิตสื่อรุ่นใหม่ ต่อยอดการอนุรักษ์แหล่งน้ำ วิถีชีวิต และอาชีพ เผยแพร่ความภาคภูมิใจของคนรอบอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร
 

 

สถานการณ์เปลี่ยนไป แต่ความตั้งใจไม่เปลี่ยนแปลง แม้วิกฤตโควิด-19 จะยังส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลก แต่กระบวนการสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม และเสริมทักษะด้านการผลิตสื่อยังดำเนินต่อ ภายใต้โครงการ “RID Young Team น้ำคือชีวิต...ภารกิจพิทักษ์น้ำปี 3” สร้างนักข่าวเยาวชนคนรุ่นใหม่ ในพื้นที่โครงการชลประทาน เพื่อสื่อสารด้านการบริหารจัดการน้ำในรูปแบบการรายงานข่าว และคลิปวิดีโอสั้น ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการอนุรักษ์แหล่งน้ำ เมื่อวันที่ 17 - 18 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ณ อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร จ.ชลบุรี
 

โดยในปีนี้กรมชลประทานปรับรูปแบบการจัดอบรมใหม่ ด้วยการอบรมออนไลน์เชิงปฏิบัติการ ผ่านแอพพลิเคชั่น ZOOM เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดความเสี่ยงของตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนเกาะจันทร์พิทยาคาร  โดยที่ยังได้ความรู้เต็มเปี่ยมจากวิทยากรคนเก่ง ได้แก่ กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา ผู้ประกาศข่าวช่อง 8, ประวีณมัย บ่ายคล้อย ผู้ประกาศข่าวช่อง 3, กฤต เจนพานิชการ ผู้ประกาศข่าวช่อง GMM 25 และ มนตรี อุดมพงษ์ ผู้ประกาศข่าว 3 มิติ
 


นายมหิทธิ์ วงศ์ษา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน  เปิดเผยถึงเหตุผลที่เลือกอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทรเป็นพื้นที่ดำเนินโครงการว่ามีสำคัญทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ และสร้างประโยชน์ต่อพื้นที่โดยรอบในหลายๆ ด้าน ซึ่งเยาวชนคนรุ่นใหม่ควรรับรู้และได้มีโอกาสนำทักษะด้านสื่อจากการอบรมไปเผยแพร่ด้วยวิธีการสร้างสรรค์
 

“ที่เราเลือกอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทรเป็นพื้นที่จัดกิจกรรม “RID Young Team น้ำคือชีวิต...ภารกิจพิทักษ์น้ำปี 3” ประการแรกเพราะเป็นหนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ประการที่สอง เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ได้มีการศึกษา ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เราได้จัดทำเรื่องการแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งฟื้นฟูส่งเสริมอาชีพ ด้านสาธารณสุขต่าง ๆ รวมทั้งมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำ การตกตะกอน ปริมาณน้ำ เราทำมาเป็นสิบปีแล้ว วันนี้อ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทรก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย เป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค และการเพาะปลูก ที่สำคัญ ประปาภูมิภาคก็มาใช้น้ำจากที่นี่ส่งไปตามอำเภอต่าง ๆ    
 


การที่เราเลือกพื้นที่นี้เนื่องจากว่าการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของโครงการเป็นสิ่งสำคัญ มีชุมชนอยู่รอบอ่างเก็บน้ำ ถ้าเราไม่รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ก็จะทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมเร็ว โครงการ “RID Young Team น้ำคือชีวิต...ภารกิจพิทักษ์น้ำปี 3” เป็นการทำให้เยาวชนมีความรู้สึกถึงคุณค่าที่เขาจะต้องรักษา นอกจากเขาได้ใช้ประโยชน์โดยตรง ยังเป็นประโยชน์ในเรื่องอาชีพ เป็นแหล่งน้ำ แหล่งอาหารของชุมชนเขาได้อีกด้วย”
 

ตั้งแต่ริเริ่มโครงการมาจนถึงครั้งนี้ “RID Young Team น้ำคือชีวิต...ภารกิจพิทักษ์น้ำปี 3” ยังยึดหลักการเดิมคือสร้างเยาวชนที่จะเป็นกระบอกเสียงให้คนทั้งภายในและภายนอกตระหนักรู้และช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่  ซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตและอนาคตของพวกเขา อย่างที่มหิทธิ์ บอกว่าพื้นที่กว้างใหญ่ของอ่างเก็บน้ำฯ ลำพังเจ้าหน้าที่คงดูแลได้ไม่ทั่วถึง แต่เยาวชนคนรุ่นใหม่เหล่านี้คือกำลังสำคัญที่จะดูแล เพราะที่นี่คือ “บ้าน” ของพวกเขา
 

“การอบรมครั้งนี้จะสอนให้เยาวชนได้ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการดูแลรักษาพื้นที่ นอกจากเรื่องสื่อ ถ้าเยาวชนรักพื้นที่ตัวเอง เขาจะได้เปรียบในการที่จะปกป้องรักษา เพราะเราจะสื่อสาร เพื่อให้เยาวชนเหล่านั้นเข้าไปเป็นเครื่องมือให้เขาสอดส่องดูแลพื้นที่
 


รูปแบบก็เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เพื่อดำรงการรักษาดูแล เราเลยคิดกันว่าทำอย่างไรให้เยาวชนมีความปลอดภัย ในขณะเดียวกันก็ได้รับความรู้จากวิทยากรที่มาให้ความรู้ ตอนนี้เยาวชนไม่ว่าจะโรงเรียนไหนก็เรียนออนไลน์อยู่แล้ว เราเหมือนเสริมวิชาสื่อเข้าไปพร้อมกับการเรียนเลย”
 

ด้าน นายวุฒิชัย นรสิงห์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาคลองหลวงรัชชโลทร กล่าวถึงโครงการ “RID Young Team น้ำคือชีวิต...ภารกิจพิทักษ์น้ำปี 3” ว่า ทำให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมรับรู้และเผยแพร่แง่มุมต่างๆ ของงานชลประทาน เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม, การพัฒนาแหล่งน้ำ, การบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ฯลฯ
 

“เด็ก ๆ จะได้รับทราบ และเป็นการสร้างแกนนำเครือข่ายที่เป็นเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม ซึ่งตรงนี้เราจะสอดแทรกความรู้ความเข้าใจด้านชลประทานเข้าไปด้วย โดยอาจจะผ่านคลิปวิดีโอสั้น ๆ หรือช่องทางสื่อออนไลน์”
 

 

สำหรับหัวข้อที่วิทยากรนำความรู้มาแบ่งปันให้น้อง ๆ แบ่งเป็น 4 เรื่องตามความถนัดของแต่ละคน ได้แก่ “แนะนำ Storyline Content เปิดประเด็น...ให้เป็นข่าว’ โดย ประวีณมัย บ่ายคล้อย, “การรายงานข่าว ให้ดังและปัง” โดย กฤต เจนพานิชการ, “เสน่ห์การเล่าเรื่อง...เพื่อพลังการเปลี่ยนสังคม” โดย มนตรี อุดมพงษ์ และปิดท้ายด้วย “Workshop การใช้สมาร์ทโฟน และเทคนิค ในการรายงานข่าว” โดยผู้เชี่ยวชาญ
 

นายธรรมฤทธิ์ นวลคำ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเกาะจันทร์พิทยาคาร เล่าว่า ร่วมโครงการ “RID Young Team น้ำคือชีวิต...ภารกิจพิทักษ์น้ำปี 3” เพราะสนใจแง่มุมต่าง ๆ เกี่ยวกับอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร เพราะถึงแม้จะอยู่ใกล้แต่ก็ไม่ได้รู้จักมากกว่าการแวะไปเที่ยวกับเพื่อน ๆ
 

“ผมอยากรู้ว่าอ่างเก็บน้ำคลองหลวงฯ ทำงานอย่างไรบ้าง และเราจะอนุรักษ์ได้อย่างไรบ้าง เพราะบ้านผมอยู่ใกล้อ่างเก็บน้ำเลย ปกติผมเคยไปเที่ยวไปถ่ายรูป ที่นี่สวยมากครับ เป็นทั้งสถานที่ออกกำลังกายของคนในพื้นที่ และช่วงสถานการณ์ปกติจะมีของขาย เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของพื้นที่ครับ
 

 

ปกติผมไม่ค่อยมีทักษะด้านการผลิตสื่อครับ แต่อยากลองสร้างประสบการณ์ดู การที่ผมมาอบรมการผลิตสื่อครั้งนี้ผมจะนำไปเชิญชวนให้คนรับรู้ว่าจะต้องช่วยกันรักษา อนุรักษ์ปลา อนุรักษ์น้ำ ให้ประชาชนมาช่วยกันดูแลไม่ให้มันสูญเสียไปครับ โดยที่ผมจะนำความรู้ที่ได้มาเก็บรวบรวมว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อนุรักษ์พันธุ์ปลา เป็นอย่างไร แล้วเอามาเล่าต่อให้เพื่อนๆ ฟัง และในระยะยาวผมอาจได้นำความรู้นี้ไปประกอบอาชีพในด้านสื่อก็ได้ครับ”

 

ส่วน นางสาวพิมพ์ใจ โลมอย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเกาะจันทร์พิทยาคาร พูดถึงการได้เป็นตัวแทนนักเรียนมาร่วมโครงการ “RID Young Team น้ำคือชีวิต...ภารกิจพิทักษ์น้ำปี 3” ว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคนในพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ เพราะการทำสื่อมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของคนได้อย่างมาก
 

“หนูชอบพูดค่ะ ปกติเป็นตัวแทนของโรงเรียนด้านการพูด แต่ยังไม่เคยไปอบรมด้านการทำสื่อที่ไหนเลย แต่ด้วยความชอบส่วนตัวคือชอบถ่ายวิดีโอและชอบพูด ตอนเรียนก็มีทำคลิปวิดีโอโครงงานอยู่บ้าง แต่หนูยังไม่เก่งมาก ก็คิดว่าอยากลองฝึกทั้งสองทักษะค่ะ
 

ความรู้ที่ได้จากโครงการนี้หนูจะเอาไปเล่าให้เพื่อน ๆ ฟัง แล้วก็จะเอาความรู้นี้ไปเผยแพร่ให้คนในชุมชนได้รับรู้ด้วยค่ะ”
 

 

ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาคลองหลวง รัชชโลทร อธิบายวัตถุประสงค์หลักของการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร ว่ามุ่งเน้นด้านการเกษตรกรรมอันเป็นอาชีพหลักของคนในพื้นที่ น้ำในอ่างเก็บน้ำจะถูกส่งไปยังพื้นที่เพาะปลูกให้เกษตรกรได้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี สร้างรายได้ให้พวกเขาได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
 

“พื้นที่ท้ายน้ำส่วนมากทำนา หน้าแล้งบางทีไม่ได้ทำเลย เพราะน้ำไม่มี ส่วนหน้าฝนก็ทำบ้างไม่ทำบ้างเพราะหน้าฝนฝนก็เยอะ ข้าวเสียหาย หลังจากที่เรามีการกักเก็บน้ำ เราติดตามโครงการมาโดยตลอด ได้รับทราบถึงความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่อยู่รอบโครงการ หน้าฝนเขาได้ทำนา 100 เปอร์เซ็นต์ หน้าแล้งเขาก็ทำนาได้ ฉะนั้นนอกเหนือจากตรงนี้ เขายังปลูกพืชฤดูแล้งได้อีก รวมถึงอีกอาชีพคือทำบ่อปลาก็ได้ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำ
 


หลังจากที่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้แล้วเสร็จ ทำให้เกิดพื้นที่ชลประทาน ช่วยเหลือพื้นที่มากถึง 118,000 ไร่เศษ นอกจากนี้ยังบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ 4 อำเภอของชลบุรีด้วย”
 

ด้านการส่งเสริมอาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น แปรรูปผลิตภัณฑ์จากการประมง ธุรกิจแพปลา ล้วนเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่ได้รับการช่วยเหลือให้มีอาชีพและรายได้เป็นกอบเป็นกำจนกระทั่งนำมาซื้อพันธุ์ปลาปล่อยคืนสู่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ได้ เกิดประโยชน์หมุนเวียนไม่สิ้นสุด
 

“เราหวังว่าเยาวชนจะได้รับความรู้จากการถ่ายทอดของวิทยากรที่มีประสบการณ์ และสุดท้ายเยาวชนได้รับความรู้เกี่ยวกับสื่อมากขึ้น แล้วเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองและสังคม นี่สำคัญมาก” มหิทธิ์กล่าว

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook News
  • 5 Followers
  • Follow