Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร ! คำถามสามัญประจำบ้าน ที่ช่วยขยายบทบาทของเด็กให้กว้างขึ้น

Posted By Parenting Guide | 09 ส.ค. 64
3,100 Views

  Favorite

บทบาทของเด็กคือการเป็นเด็ก ซึ่งหมายถึง ในขณะที่มีหน้าที่ศึกษาเล่าเรียน หรือมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของครอบครัว ก็ยังคงต้องการการดูแลจากผู้ใหญ่ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ทำให้ขอบเขตบทบาทของเด็กไม่กว้างมากนัก แต่ผู้ใหญ่สามารถให้การสนับสนุน เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสขยายบทบาทของตนเองออกสู่สังคมได้

 

ภาพโดย StockSnap จาก Pixabay

 

ตัวอย่างของเด็กที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคม เช่น ไรอัน ฮิคแมน (Ryan Hickman) เด็กชายที่ได้แรงบันดาลใจจากการไปศูนย์รีไซเคิลท้องถิ่นกับพ่อเมื่อตอนสามขวบ จนหลายปีต่อมาเขากลายเป็นผู้ก่อตั้งโครงการ Ryan’s Recycling ที่รีไซเคิลกระป๋องและขวดมากกว่าหนึ่งล้านขวด และบริจาคเพื่อช่วยเหลือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล

 

บานา อัล-อาเบด (Bana al-Abed) เด็กหญิงซีเรียที่มีแม่คอยช่วยเหลือด้านภาษาอังกฤษ และดูแลบัญชีทวิตเตอร์ ทำให้เธอสามารถส่งสารผ่านทวิตเตอร์ เกี่ยวกับชีวิตที่ต้องอยู่ท่ามกลางสงคราม จนได้รับความช่วยเหลือจากผู้นำระดับโลกจากหลายประเทศ

 

กิตันจาลี ราว (Gitanjali Rao) นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ที่ได้รับการส่งเสริมวิชาการจากพ่อแม่ จนเธอสามารถประดิษฐ์อุปกรณ์ตรวจจับสารตะกั่วในน้ำดื่มได้สำเร็จขณะที่มีอายุ 11 ปี และยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาต้นแบบสิ่งประดิษฐ์ให้สามารถนำไปใช้งานได้จริง

 

จากตัวอย่างเหล่านี้ นอกจากพลังอันเหลือล้นของตัวเด็กเองแล้ว สิ่งสำคัญคือพลังจากพ่อแม่ที่คอยเป็นลมใต้ปีก สร้างแรงบันดาลใจและผลักดันให้เด็กบินไปในทิศทางที่พวกเขาต้องการ เพียงแต่การเริ่มต้นอาจยากในจุดที่ต้องค้นหาว่าเด็กอยากทำอะไร และบางครั้งเด็กเองก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่านอกจากบทบาทของความเป็นเด็กในสมาชิกของครอบครัวแล้ว ยังสามารถมีบทบาทด้านใดได้อีกบ้าง

 

ภาพโดย 14995841 จาก Pixabay

 

ลองเริ่มจากการกระตุ้นความคิด สร้างแรงบันดาลใจด้วยคำถามสามัญประจำบ้าน “โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร”

โดยที่ผู้ใหญ่ต้องมองให้ลึกลงไปนอกเหนือจากคำตอบที่ได้รับ ว่าหัวใจสำคัญของคำตอบนั้นอยู่ตรงไหน มีวิดีโอหนึ่งที่น่าสนใจทางช่อง HiHo Kids ในยูทูป ในวิดีโอมีการตั้งคำถามกับเด็ก 100 คนว่า “What do you want to be when you grow up?” คำตอบที่ได้รับมีทั้งอาชีพใกล้ตัว อาชีพสมัยใหม่ ความชอบ ความใฝ่ฝัน หรือแม้แต่กระทั่งจินตนาการ ซึ่งหัวใจสำคัญที่น่าสนใจในคำตอบของเด็กคือ เห็นบุคคลต้นแบบของเด็กที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ ให้พวกเขาเริ่มทำกิจกรรมเพื่อค้นหาตัวเอง เช่น “อยากเป็นทุกอย่างที่พ่อเป็น” “อยากเข้าไปอยู่ในกองทัพสหรัฐ เพราะคุณยายรักกองทัพมาก แต่เธอไม่เคยได้เข้าไปรับใช้กองทัพ”  

 

 

เห็นความชอบ ความสนใจเป็นพิเศษในกิจกรรมบางอย่าง เช่น “อยากเป็นนักฟุตบอล เบสบอล บาสเกตบอล” “อยากเป็นคนสร้างเกม” “อยากเป็นโปเกมอน เทรนเนอร์” เห็นช่องว่างที่รอให้ผู้ใหญ่เข้าไปเติมเต็ม เพื่อให้ความมุ่งมั่นนั้นเกิดผลอย่างสมบูรณ์ เช่น “อยากเป็นกุ๊กแต่ก็ไม่รู้วิธีทำอาหารที่ถูกต้อง” “อยากเป็นพยาบาล แต่ไม่เก่งคณิตศาสตร์กับวิทยาศาสตร์เลย” เห็นจิตใจด้านที่ดีงามของพวกเขา เช่น “อยากเป็นครูเพราะชอบเด็กน้อย” “อยากเป็นสัตวแพทย์เพราะรักสัตว์” “อยากทำงานการกุศลช่วยเหลือผู้อื่น” เห็นมุมมองความคิดที่น่าชวนคุยต่อยอด เพื่อเข้าให้ถึงตัวตนของพวกเขา เช่น “อยากเป็นคุณหมอนางเงือก” “อยากเป็นแคชเชียร์ที่ห้างวอลมาร์ทเท่านั้น” รวมไปถึงเห็นความมั่นใจและแววตาที่มุ่งมั่น เมื่อพูดถึงสิ่งที่ตัวเองจะเป็นในอนาคต เช่น “อยากเป็นหมอ แล้วหนูก็ทำได้”  หรือ “อยากเป็นนักธุรกิจ และมีแผนสำหรับสร้างบริษัทรถยนต์ของตัวเองแล้ว”

 

หัวใจสำคัญที่ซ่อนอยู่ในคำตอบเหล่านี้ อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้ใหญ่ผลักดันเด็กให้เดินไปสุดทาง เพื่อให้พวกเขาแสดงศักยภาพสูงสุดของตนเองออกมาทำสิ่งต่างๆ โดยที่ไม่ต้องรอให้ถึงวัยผู้ใหญ่ แต่สุดท้าย หากพวกเขามีความสุขในทุกวัน กับบทบาทที่เป็นเพียงลูกคนหนึ่งของพ่อแม่ พี่น้อง หลาน นักเรียนของคุณครู หรือเป็นเพื่อนของใครสักคนเท่านั้นก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีแล้ว จนเมื่อวันที่พวกเขาพร้อมและฉายแววออกมา คนที่ตั้งคำถามอาจเป็นพวกเขาเสียเอง “พ่อแม่ภูมิใจในตัวเขาไหม” และคำตอบที่ได้รับจากพ่อแม่นี่ล่ะ ที่จะเป็นแรงบันดาลใจเหนือแรงบันดาลใจทั้งปวง ที่สามารถผลักดันให้เขาทำสิ่งที่มุ่งมั่นจนสำเร็จ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Parenting Guide
  • 1 Followers
  • Follow