Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

Imago Theory ทฤษฎีที่จะตอบได้ว่าทำไมถึงตกหลุมรักคนนิสัยเดิม ๆ

Posted By Plook Magazine | 16 ส.ค. 64
13,951 Views

  Favorite

ทำไมเราถึงตกหลุมรักคนแบบเดิม ๆ นี่เป็นสัญญาณเตือนให้หนีหรือว่าเป็นฤกษ์ดีกันแน่ เชื่อว่าหลายคนคงสับสนไม่น้อยเมื่อคุยไปคุยมาแล้วรู้สึกว่าคนที่คุยอยู่นิสัย ท่าทาง ไลฟ์สไตล์มันเหมือนคนเก่าที่เคยทำเราเจ็บกระดองใจ ว่าแล้วก็ไปสืบมาให้ว่าสรุปแล้วทำไมเราถึงได้ชอบคนเดิม ๆ ตลอด และทำไมเราถึงได้เจ็บจากคนเดิม ๆ ได้นะ

 

 

คนเราสามารถตกหลุมรักคนนิสัยเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ได้กี่ครั้ง ?

Cr. IMDb

 

คำตอบคือนับไม่ถ้วนค่ะ อาจมากจนนิ้วนับไม่พอเพราะจะว่าไป ‘ความรัก’ ก็คือการตกหลุมรักคนเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ยังรักคนนี้ไม่เปลี่ยนแปลง แต่สำหรับคนที่ตกหลุมรักแต่คนที่มีนิสัย ท่าทางเหมือนเดิมไม่ว่าจะกี่คน กี่คนนี่ซิคะ มันคืออะไรกันแน่ ! มันคือความฟลุคหรือว่าพรหมลิขิต ? แม้เราจะเคยได้ยินว่าความรักเป็นเรื่องของความรู้สึกและไม่มีเหตุผล แต่ในแง่มุมของจิตวิทยา การรักใครสักคนหนึ่งมีที่มาที่ไปเสมอ

 

นักจิตวิทยามีความคิดเห็นเกี่ยวกับการรักคนเดิม ๆ มาตั้งแต่ในยุคของ Sigmund Freud บิดาแห่งจิตวิทยาจิตวิเคราะห์ (ออกเสียงแบบเยอรมันว่า ซีคมุนท์ ฟร็อยท์) ว่าการรักคนคาแรคเตอร์เดิม ๆ นิสัยแบบเดิมนั้นมันเป็นแรงผลักจากจิตใต้สำนึกที่เราได้มาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ตั้งแต่ยังเด็ก พูดง่าย ๆ ก็คือ คนเรามักจะเลือกชอบคนที่มีลักษณะนิสัยคล้ายพ่อกับแม่ของเรา เนื่องจากเราไม่สามารถเปลี่ยนแม่มาเป็นภรรยาเราหรือเปลี่ยนพ่อมาเป็นสามีเราได้ ดังนั้นเราก็เลยต้องเลือกคนที่มีอะไรคล้าย ๆ พ่อกับแม่มาเป็นคู่ชีวิตแทน  

 

Cr. IMDb

 

เนื่องจากพ่อกับแม่เป็นเหมือนต้นแบบของการเลือกคนรักให้กับเราโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย ไม่ว่าเราจะมีแฟนสักกี่คน อย่างน้อยพวกเขาก็มักจะมีบางอย่างที่เหมือนกัน เหมือนอย่างที่ในหนังหรือละครที่เรามักจะได้ยินนางเอกสารภาพกับพระเอกเมื่อถูกพระเอกถามว่า “ทำไมเธอถึงชอบฉัน ไม่เป็นไอ้หมอนั่นล่ะ ?” ทั้งที่รู้ตัวหรือไม่ นางเอกก็ตอบกลับพระเอกไปว่า “ก็เพราะเธอทำให้ฉันรู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่กับพ่อเลยไงละอีตาบ้า” นี่ก็น่าจะเป็นข้อสังเกตหนึ่งที่ตอบเราได้ว่าทำไมเราถึงชอบคนที่มีนิสัยและท่าทางแบบเดิมได้

 

ดูเหมือนจะดีแต่เราควรมองทุกอย่างหลาย ๆ มุม 
เพราะการที่เราชอบคนที่เหมือนพ่อหรือแม่ตัวเองก็เป็นดาบสองคมเหมือนกันนะ

 

เรารู้ว่าคนเป็นพ่อแม่ก็คือมนุษย์คนหนึ่งเหมือนเรานี่แหละ โลกนี้มีทั้งพ่อแม่ที่เป็นตัวอย่างที่ดีและแน่นอนว่าต้องมีที่ไม่ดีอีกเป็นโหล กรณีที่พ่อหรือแม่เป็นพ่อกับแม่ที่ดี เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก ในการเลือกคนรักมันก็ดีไป เช่น พ่อเป็นคนรักเดียวใจเดียว แม่เป็นคนใจดี เราก็มีแนวโน้มที่จะเลือกผู้ชายรักเดียวใจเดียวเหมือนพ่อตัวเอง 

 

แต่ถ้าพ่อหรือแม่คนไหนที่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับลูก เมื่อนั้นแหละลูกก็สามารถที่จะเลียนแบบได้ เพราะอย่างที่บอกไปว่า เรามักตกหลุมรักคนที่มีลักษณะคล้ายกับพ่อแม่ของเราถูกไหมคะ ? ที่นี้สมมติว่าพ่อเราเป็นคนเจ้าชู้มาก ๆ และถึงเราจะตั้งธงเอาไว้เลยว่าชาตินี้ฉันจะไม่ขอคบกับคนที่เจ้าชู้เหมือนพ่อ แต่สุดท้ายเเล้วสิ่งที่มันฝังอยู่ในจิตไร้สำนึกของเราที่ไม่ชอบคนเจ้าชู้เหมือนพ่อก็ยังส่งผลให้เราเลือกคนเจ้าชู้และมีแนวโน้มที่จะดึงดูดคนเจ้าชู้อีกด้วย กลไกนี้มันคือการที่เรา ‘ไม่ชอบแต่ก็ยังเลียนแบบ’ และนั่นคือดาบสองคมของการที่มนุษย์เรามักจะเลือกคนรักที่มีลักษณะคล้ายพ่อหรือแม่ และเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงได้เจอแต่คนนิสัยเดิม ๆ 

 

Cr. IMDb

 

ซึ่งก็ไปตรงกับทฤษฎีที่นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน Harville Hendrix (1980) เขาได้สังเกตว่ามีคนมากมายที่มีปัญหาแบบนี้คือ รักคนเดิม ๆ และก็ต้องเสียใจเหมือนเดิม จึงลองตั้งทฤษฎีที่มีชื่อว่า 'Imago Theory' ขึ้นมาและได้อธิบายว่า เราทุกคนมีภาวะบกพร่องทางจิตใจบางอย่างที่ไม่ได้ถูกเติมเต็มจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก เมื่อโตขึ้นความบกพร่องที่ไม่ได้ถูกเติมเต็มนั้นมันก็ยังคงฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา แล้วไอ้ความบกพร่องนั้นก็ไม่ได้มาจากใครที่ไหน มันก็มาจากพ่อแม่นั่นแหละ 

 

แต่กรณีนี้ร้ายกว่านั้นมากโดยแบ่งออกเป็นสองกรณี กรณีที่หนึ่งคือเราอาจเลือกใครสักคนจากความบกพร่องทางใจที่เราเคยเจอมาตั้งแต่เด็ก เช่น เราถูกพ่อกับแม่เลี้ยงดูมาไม่ดีเท่าที่ควร โดยเราอาจจะมีพ่อเป็นคนเจ้าชู้มาตั้งแต่เด็ก ๆ หรือเราโตมากับพ่อแม่ที่ชอบใช้ความรุนแรง ชอบตี เราก็เลยพยายามที่จะเลือกคู่รักที่ ‘ตรงกันข้าม’ กับพ่อโดยสิ้นเชิง และทำให้เมื่อเจอคนที่มีท่าทีว่าจะเจ้าชู้ หรือชอบใช้ความรุนแรง เราก็จะออกมาทันที ไม่ไปต่อ นี่คือกลไกของการเลือกคนรักแบบตรงกันข้ามกับประสบการณ์ส่วนตัวที่คนเราควรจะทำกันเพื่อตัดปัญหาเจอคนเดิม ๆ เจ็บแบบเดิม ๆ   

 

Cr. IMDb

 

กรณีที่สองคือไม่สามารถเลือกปฏิเสธคนที่ตัวเองไม่ชอบได้ ไม่สามารถเลือกคนที่นิสัยต่างจากหรือตรงกันข้ามกับที่ตัวเองไม่ชอบได้ เพราะแรงผลักดันบางอย่างที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของเราโดยที่เราไม่รู้ตัว เช่น เราโตมาในครอบครัวที่พ่อมีนิสัยเจ้าชู้ และเห็นแม่ต้องเสียใจตั้งแต่เด็กและเราไม่ชอบเอามาก ๆ จนถึงขั้นตั้งธงเอาไว้ในใจว่าเราจะไม่มีทางคบกับคนที่เจ้าชู้เหมือนพ่อ จนวันหนึ่งเรามีแฟนและพบว่าแฟนของเรานั้นเจ้าชู้เหมือนพ่อไม่มีผิด ทั้งที่เราตั้งธงเอาไว้แล้วว่าไม่ชอบคนเจ้าชู้ แต่เรากลับเลือกคบคนเจ้าชู้ต่อไป ? นักจิตวิทยาจิตวิเคราะห์บอกเอาไว้ว่าในกรณีที่เราไม่สามารถปฏิเสธคนที่เราไม่ชอบได้นั้นเพราะลึก ๆ แล้วมันมาจากความบกพร่องทางใจของเราที่มีมาตั้งแต่ยังเด็ก การที่เรายังเลือกคบกับผู้ชายเจ้าชู้ที่เหมือนพ่อเป๊ะ ๆ ต่อไปนั้นมาจากจิตไร้สำนึกของการอยากเอาชนะพ่อของตัวเอง เราจึงเลือกคบคนเจ้าชู้ต่อเพื่อที่ว่า หากเราเปลี่ยนให้เขาเป็นคนดี ทิ้งนิสัยเจ้าชู้ได้ ความบกพร่องในจิตใจที่เรามีพ่อเจ้าชู้มาตั้งแต่ยังเด็กจะถูกเติมให้เต็มได้ เพราะเราสามารถเปลี่ยนคนเจ้าชู้ได้ เเต่เมื่อเราเปลี่ยนเขาไม่ได้ เราจึงมานั่งเสียใจว่าเจอแต่คนเจ้าชู้เหมือนพ่อทั้งที่ตัวเราเองนั่นแหละเป็นคนเลือกคนแบบนั้นให้เข้ามาในชีวิตของเราเอง  

 

แล้วทางออกของปัญหานี้คืออะไร ?

ทำยังไงเราถึงจะตกหลุมรักคนเดิม ๆ ยังไงให้ดีกว่าเดิม

 

เลือกคนที่เหมาะกับปัจจุบันไม่ใช่อดีต มันอาจจะยากสักหน่อยที่เราจะฝืนบางอย่างที่ถูกฝังมาอย่างยาวนานในจิตไร้สำนึกของเราเอง เหมือนที่เราใช้มือขวามาตั้งนานแต่จะฝึกไปใช้มือซ้าย แต่ขอให้รู้ทันตัวเองไว้อย่างหนึ่งว่า แม้เราจะรู้ตัวแล้วว่าเราเลือกคนผิด (เช่นพยายามแล้วที่จะไม่เลือกคนเจ้าชู้แต่ก็ยังได้คนเจ้าชู้มา) ถ้าเรารู้แล้วว่าตัวเองเลือกมาผิด ให้อย่าฝืนเอาชนะเขา อย่าฝืนคิดเอาชนะว่าเราจะเปลี่ยนคนเจ้าชู้ให้ไม่เจ้าชู้ได้ เพราะนั่นจะยิ่งทำให้ทุกอย่างแย่ลง มันอาจไปเสริมอีโก้ให้คุณอยากจะเลือกคนเจ้าชู้ต่อไปเรื่อย ๆ ก็ได้

 

ออกไปหาสังคมใหม่ ๆ ทำอะไรใหม่ ๆ เช่น เราอาจได้แฟนมาจากสังคมเดิม ๆ และจบลงที่คำว่าเจ็บแบบเดิม ๆ การที่เราลองออกไปจากสังคมเดิม ๆ ออกไปพบเจอคนจากสังคมใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยเจอมาก่อนก็อาจช่วยลดความเสี่ยงที่เราจะเจอคนนิสัยเดิม ๆ ได้ อย่างน้อย ๆ กิจกรรมบางอย่างหรือสังคมบางสังคม คนที่มารวมตัวทำกิจกรรมเดียวกันก็ย่อมมีนิสัยบางอย่างที่คล้ายกันอยู่แล้ว หากเรายังคงได้คนคุยจากสังคมเดิม ๆ มันก็อาจลงเอยด้วยการเจอคนนิสัยเดิม ๆ เราต้องออกไปหาสังคมใหม่เพื่อเจอคนนิสัยใหม่ ๆ

 

บอกสิ่งที่คุณกังวล สมมติว่าคนที่เรากำลังคบอยู่เขาอาจมีนิสัยบางอย่างที่เราไม่ชอบ แต่ไม่ได้หนักจนถึงขั้นต้องเลิกคบอย่างเช่น แฟนคุณอาจเป็นคนที่บ้างานมาก ๆ (และโอเคคุณอาจไม่ชอบคนบ้างานเพราะมีแม่ที่บ้างานและไม่มีเวลาให้) ในเคสนี้แทนที่เราจะเปลี่ยนคนคุยหรือหาคนใหม่ เราอาจลองบอกสิ่งที่คุณกลัวกับเขาก่อน ให้เขารู้ว่าปัญหาที่มันอยู่ในใจคุณคืออะไร คุณกลัวว่าจะต้องเลิกกันเพราะเขาไม่มีเวลาให้คุณเลย ลองช่วยกันคิดวิธีที่จะทำให้คุณทั้งสองคนรู้สึกโอเคทั้งคู่ ถ้ามันเวิร์คก็จะดีต่อตัวคุณเอง 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

คนนี้คือคนที่ใช่หรือเปล่า วิธีพิสูจน์คู่แท้แบบวิทยาศาสตร์

จิตวิทยาของการใส่ ‘เสื้อคู่’ ที่จะทำให้ทุกคนอยากใส่คู่กับใครสักคน

คนมาทีหลัง ทำไมดังกว่า ?

ถอดทริคเด็ดจาก 'ทฤษฎีจีบเธอ' จีบยังไงให้ได้เข้าไปนั่งในใจคนที่ชอบ

ทำไมสาวเปิ่น ๆ โก๊ะ ๆ ถึงได้ใจพระเอกซีรีส์เกาหลี

ตำนาน ‘ด้ายแดง’ ที่ว่าคนเราเจอรักแท้แล้วแต่แค่ไม่รู้ตัว

สบตาเธอแล้วโลกหยุดหมุน รักแรกพบมีจริงหรือแค่คิดไปเอง

‘เขาชอบเราจริงไหม’ หรือแค่หาคนคุยแก้เบื่อ

How To ทักแชทคนที่ชอบยังไงไม่ให้ดูเด๋อ

เรากำลังมีความรัก มีความสัมพันธ์ที่ดีอยู่หรือเปล่า ?

เราพร้อมจะมีเซ็กซ์ มีอะไรครั้งแรกกับแฟนแล้วใช่ไหม ?

อย่าให้รักครั้งแรกเป็นเรื่องมหัศจรรย์ ทำยังไงดีหลังอกหัก


 

แหล่งข้อมูล

ไม่ได้ตั้งใจ แต่ทำไมเราถึงตกหลุมรักคนแบบเดิมๆ? | R U OK EP.226 

ทำไมเราถึงมักตกหลุมรักคนนิสัยเดิมๆ แล้วก็มักจะผิดหวังด้วยเรื่องแบบเดิมๆ ทุกครั้ง?

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow