Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลูกเนยมาจากไหน

Posted By Plook Creator | 10 ส.ค. 64
5,083 Views

  Favorite

จะเรียกว่าผักก็ไม่แน่ใจ ผลไม้ก็ไม่เชิง มันเป็นผลเนื้อละเอียดสีเขียวที่มีกลิ่นเหม็นเขียวเหมือนผักแต่รสอาจหนักไปทางผลไม้ สรรพคุณมีมากมาย แหล่งไขมันดีเต็มอิ่ม วิตามินและสารอาหารที่เป็นประโยชน์ก็ครบถ้วน สำหรับคนไทยอาจจะเรียกว่า ลูกเนย จัดเป็นผลไม้อยู่ในวงศ์เดียวกับกระวานและอบเชย ต้นกำเนิดมาจากเม็กซิโก หรืออาจเรียกทับศัพท์ให้ดูเก๋ว่า อะโวคาโด (Avocado) ซึ่งแรกเริ่มก็ไม่ได้รับประทานเป็นผลไม้แต่อย่างใด แต่ใช้ประกอบอาหารเหมือนอย่างผัก เพราะให้ไขมันสูง ไม่มีรสหวาน เทียบกับผลไม้ที่เราคุ้นเคยกันคือ จะมีรสหวานและมีไขมันน้อยมากหรืออาจจะไม่มีไขมันเลย ในขณะที่ลูกเนยหรืออะโวคาโด 100 กรัม หรือประมาณครึ่งลูกมีไขมันสูงถึง 15 กรัม แต่ไขมันที่ได้เป็นไขมันที่ดี (HDL) เรียกได้ว่า หากรับประทานอย่างถูกวิธี นอกจากไม่อ้วนขึ้นแล้วยังลดน้ำหนักได้และช่วยลดไขมันเลวชนิด LDL ได้อีกด้วย

ภาพ : Shutterstock

 

ในอะโวคาโด 100 กรัม เต็มไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุนานาชนิด ได้แก่ วิตามินเค 26% วิตามินซี 17% วิตามิน B5 14% วิตามิน B6 13% วิตามินอี 10% โพแทสเซียม 14% และโฟเลต 20% นอกจากนี้ยังมีแมกนีเซียม แมงกานีส ทองแดง เหล็ก สังกะสี ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามิน B2 วิตามิน B3 อีกเล็กน้อยด้วย

 

วิธีการรับประทานอะโวคาโด อาจจะฝานเนื้อเป็นชิ้นเล็ก ๆ สีเหลืองเขียววางไว้บนสลัด หรืออาจจะหั่นรวมไปในข้าวห่อแบบญี่ปุ่น หรืออาจจะบดให้เละทำเป็นซอสใส่เบอริโต้ อะโวคาโดทำให้เมนูอาหารเหล่านี้ล้วนดีต่อใจ คุ้มค่าอ้วนแทบทั้งสิ้น ก่อนที่อะโวคาโดจะเริ่มเป็นที่นิยมในเอเชียรวมถึงไทยเอง มันเป็นผลิตผลทางการเกษตรยอดฮิตในทวีปอเมริกามาก่อน ข้ามพรมแดนจากเม็กซิโกมาสหรัฐอเมริกาก็ง่ายดาย ในปี 2014 เพียงปีเดียวสหรัฐอเมริกาบริโภคอะโวคาโดไปถึง 4 พันล้านลูก ที่น่าทึ่งก็คือจริง ๆ แล้ว อะโวคาโดไม่ควรจะยังมีอยู่ในปัจจุบันแล้วด้วยซ้ำ เนื่องจากความสัมพันธ์อันแนบแน่นของมันกับสัตว์ในพื้นที่บ้านเกิด สัตว์ยุคก่อนประวัติศาสตร์อย่าง Giant Slot สล็อตยักษ์หรือ Armadillos ตัวนิ่มยักษ์ที่มีขนาดใหญ่เท่ารถและหนักกว่าสามตันในยุคนั้นล้วนกินอะโวคาโดเป็นอาหารหลัก เพราะว่ามันให้สารอาหารที่ครบถ้วน รวมถึงพลังงานในรูปของไขมันอย่างที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น

ภาพ : Shutterstock

 

ภาพ : Shutterstock

 

 

เมล็ดของอะโวคาโดมีความสามารถในการรอดพ้นจากการย่อยของสัตว์ดึกดำบรรพ์เหล่านี้และแพร่กระจายไปทั่วทวีป แต่เมื่อสัตว์ใหญ่เหล่านี้สูญพันธุ์ไปเมื่อ 13,000 ปีก่อน ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ อะโวคาโดก็ไม่ได้รับการแพร่กระจายพันธุ์อีกต่อไป เรื่องราวควรจะจบแบบเศร้า ๆ ในตอนนี้ แต่การสูญพันธุ์ของสัตว์ใหญ่ซึ่งมีส่วนช่วยให้อะโวคาโดแพร่กระจายขยายพันธุ์ได้ดีทำให้เกิดผลกระทบอย่างมาก เพราะจะไม่มีตัวกระจายเมล็ดอีกต่อไป และมูลของมันซึ่งเป็นปุ๋ยอย่างดีก็ลดลงเช่นกัน แต่การเพิ่มจำนวนของบรรพบุรุษของเราซึ่งบังเอิญชอบกินอะโวคาโดด้วยก็ทำให้มันยังอยู่รอดมาได้จวบจนปัจจุบัน

 

ปัจจุบันลูกเนย หรืออะโวคาโดกลายเป็นผลิตผลทางการเกษตรสุดฮิต ด้วยสารอาหารและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ มันจึงถูกปรับและปรุงให้เข้ากับเมนูประจำถิ่นหลากหลาย และนั่นทำให้มันเป็นที่นิยมไปทั่วโลก สำหรับประเทศไทยเองก็เริ่มต้นจากการนำเข้ามาบริโภค ก่อนที่จะเริ่มพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้สามารถเพาะปลูกและจำหน่ายภายในประเทศได้ ปัจจุบันอะโวคาโดเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจนอกสายตาที่ทำรายได้ให้แก่ผู้เพาะปลูกเป็นกอบเป็นกำมากว่า 10 ปี ราคาตามท้องตลาดก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่คือภาคกลางตอนบนไปจนถึงภาคเหนือ เนื่องจากต้องการอากาศค่อนข้างเย็น โดยส่วนใหญ่เกษตรกรเริ่มปลูกจากการเป็นไม้แซมในสวนผลไม้ ก่อนจะเห็นลู่ทางการทำเงินและความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นจนเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก เรียกว่าอะโวคาโดได้ผ่านจุดสูงสุดของสายพันธุ์ในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ ก่อนจะถูกทิ้งดิ่งจนเกือบสูญพันธุ์และกลับมาสร้างชื่อได้อีกครั้งด้วยคุณค่าและรสชาติของมันที่ไม่มีใครเทียบเคียง

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow