Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เป็นผู้ฟังที่ดี รู้จักคนตรงหน้าให้มากขึ้นด้วยเทคนิค Deep Listening

Posted By Plook Magazine | 06 ส.ค. 64
11,473 Views

  Favorite

บางคนอาจคิดว่า ‘การฟัง’ มันมีด้วยเหรอที่จะมีดีและไม่ดี จนกระทั่งไปเจอคนที่ไม่ยอมฟังอะไรเลย หรือฟังนะแต่ไม่ได้ฟังจริง ๆ นั่นแหละ ถึงจะรู้ว่าการฟังมันมีทั้งที่ดีและแย่ ปานกลางและสุดยอด การเป็นผู้ฟังที่ดีไม่ใช่แค่เป็นหนึ่งในทักษะการสื่อสารที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 แต่การเป็นผู้ฟังที่ดียังทำให้เรามีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี ช่วยยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างคนรอบข้าง และเป็นเสน่ห์ที่หาได้ยากมาก ๆ อย่างหนึ่งอีกด้วย

 

เราเป็นผู้ฟังที่ดีอยู่หรือเปล่า ?
เราอาจไม่แน่ใจเลยเมื่อใครมาถามคำถามนี้

 

 

บางคนเวลาอยู่กับเพื่อนก็อาจเป็นผู้ฟังที่ดีของเพื่อนโดยไร้ที่ติ แต่เวลาอยู่กับครอบครัว อยู่กับแฟน หรือกับคนที่เราไม่รู้จัก กลับไม่เป็นผู้ฟังที่ดีซะงั้น อาจจะด้วยความสัมพันธ์ที่เข้มข้นมากน้อยแตกต่างกันนี้ที่ทำให้เราไม่สามารถเป็นผู้ฟังที่ดีให้สำเร็จได้กับทุกบทบาท ทุกสถานการณ์ นั่นจึงทำให้ปัญหาความสัมพันธ์ย่อมเกิดขึ้นได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะระหว่างเรากับผู้คนรอบข้างมีสายใยบาง ๆ ที่เชื่อมโยงเราทุกคนไว้ด้วยกัน สายใยที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่านี้แหละที่เราเรียกมันว่า ‘ความสัมพันธ์’ ทุกคําที่เราพูด ทุกสิ่งท่ี่เราทําล้วนมีผลต่ออีกคน อีกคน และอีกหลายคนถัดไปโดยที่เราอาจไม่รู้ตัวเลย หลาย ๆ ครั้งเราอยากมีความสัมพันธ์ท่ีดีกับทุกคน ทั้งที่รู้จักและไม่รู้จักเพื่อเป็นของขวัญให้แก่กันและกัน และถ้าเลือกได้เราก็คงไม่อยากเป็นผู้ฟังที่แย่สำหรับคนอื่น เพราะตัวเราเองก็ไม่ต้องการผู้ฟังที่แย่เช่นกัน ตามคำกล่าวที่ว่า ‘ถ้าเราไม่ชอบคนแบบไหน ก็อย่าไปเป็นคนแบบนั้น’ แต่บางครั้งมันก็ไม่ง่ายเอาเสียเลย 

 

เราจะพบว่าคนแต่ละคนจะรู้จักหรือไม่รู้จักกันก็ตาม ต่างมีส่วนที่จะดูแลความสัมพันธ์ในชีวิตของกันและกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากเราทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน ignore ปัญหาด้วยการไม่ฟังใคร สักวันปัญหานั้นมันก็จะมาเคาะประตูบ้านของเราเข้าสักวันเพราะการไม่ฟังนั้นสร้างปัญหามากมายเหลือเกินทั้งในชีวิตจริงและในโซเชียลมีเดีย เช่น เราไม่ตั้งใจฟังเพื่อนเวลาเสนอไอเดียทำงานกลุ่ม หรือว่าทุกคนแย่งกันพูด ไอเดียที่ดีอาจตกไปอย่างน่าเสียดาย หรือฟังแค่คนที่เสียงดังกว่าเพราะเพื่อนคนนั้นมีอำนาจมากกว่า ด้วยการแปะป้ายเพื่อนคนนั้นว่า ‘ดูเก่งกว่า’ ‘เกรดดีกว่า’ ทำให้เพื่อนคนอื่น ๆ ที่อยากจะเสนอไอเดียไม่ได้พูดหรือคิดว่าพูดไปก็ไม่มีใครฟังเพราะเขาเสียงไม่ดัง เขามันคนเรียนไม่เก่งเหมือนคนอื่น จากที่แค่ความเห็นไม่ตรงกันในงานกลุ่ม ก็จะเริ่มนินทากัน แบ่งฝ่ายและไม่ชอบกันในที่สุด 

 

และอีกกรณีก็คือ การฟังในโลกโซเชียลมีเดีย บางครั้งเราอาจไปฟังอะไรบางอย่างในโซเชียลหรือในยูทูบมาแค่ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ได้ฟังทั้งหมดในคลิป มันอาจทำให้เราตีความไปอีกอย่างหนึ่ง ความเสียหายแรกคือเราจะเกิดความเข้าใจผิด ความเสียหายที่สองคือหากเราแชร์สิ่งที่เรารู้ผิด ๆ ออกไป เราก็อาจไปทำให้คนอื่นเขาเดือดร้อนได้ มาถึงตรงนี้หลายคนอาจเริ่มเห็นภาพแล้วว่าจุดเริ่มต้นที่จะทําให้เราสามารถเข้าใจกันและกันได้ขั้นแรกที่สุดก็คือ ‘การฟังที่ดี’ โดยการฟังที่ดีที่เรากำลังจะพูดถึงก็คือการฟังเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันหรือ Deep Listening 

 

Deep Listening คือ การฟังอย่างลึกซึ้ง เป็นการฟังอย่างใส่ใจกับคนที่อยู่ตรงหน้าระหว่างที่เขากำลังสื่อสารออกมาโดยไม่ได้ใช้แค่ประสาทหูอย่างเดียวแต่เป็นทั้งหมด 3 ทาง ได้แก่ 

• ใส่ใจกับแววตาที่เขากำลังมองระหว่างที่พูด 

• ใส่ใจกับความรู้สึกของเขาระหว่างที่พูด 

• ใส่ใจกับท่าทีของเขาระหว่างที่พูด 

 

การฟังแบบ Deep Listening นี้จึงช่วยให้เรารู้จักคนตรงหน้าได้มากขึ้น แม้จะรู้จักกันมานานแล้วก็ตาม แต่มันจะทำให้เรารู้จักเขามากขึ้นไปอีก รู้จักธรรมชาติของเขา รู้จักเขาอย่างที่เขาเป็น แม้เราจะคิดว่าเรารู้แล้วว่าเขาเป็นคนแบบไหน แต่หากเราฟังอย่างลึกซึ้ง เราจะพบว่าเขาก็มีมุมที่เราไม่เคยรู้มาก่อนเหมือนกัน ดังนี้

 

ฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังทั้งหู ตา และหัวใจ 

ในภาษาจีนตัวอักษรที่ประกอบเป็นคําว่า ‘ฟัง’ นอกจากจะประกอบด้วยคําว่า หู แล้ว ยังมีส่วนประกอบจากคําว่า ‘คุณหรือคนท่ี่อยู่ตรงหน้า’ ‘ดวงตา’ ‘ความใส่ใจ’ และ ‘หัวใจ’ อีกด้วย นอกจากความลึกซึ้งแสนน่ารักของภาษาจีนคำนี้แล้ว หากเราคิดดูดี ๆ การฟังต้องใช้ทั้งหมดที่ว่ามา คือผู้ฟังที่ดีจะต้องไม่วอกแวก ใจลอยและอยู่กับคนตรงหน้าจริง ๆ และฟังทั้งส่วนท่ี่เป็นข้อมูล เนื้อหา ส่วนที่เป็นอารมณ์ความรู้สึก น้ำเสียง ตลอดจนท่าทางระหว่างที่เขาพูด เช่น เวลาเพื่อนของเราอกหักแล้วเขามาเล่าให้เราฟัง ตอนนั้นเราก็ฟังมากไปกว่าเรื่องที่เขาพูด เรารับรู้ความผิดหวังและความเสียใจของเพื่อนจากข้อมูลที่เพื่อนพูดออกมา รับรู้จากเสียงที่สั่นจนพูดไม่รู้เรื่อง ดวงตาที่อาบไปด้วยน้ำตา มือที่อ่อนแรง หากเราเห็นทุกอย่างที่ว่ามานั้น นั่นก็แปลว่าเราได้ฝึกฟังอย่างลึกซึ้งแล้ว 

 


อย่าด่วนตัดสินสิ่งที่ได้ยิน ไม่ตัดสินคนพูด

เคยไหมคะที่เพื่อนยังพูดไม่จบเลย แต่เพราะเรารู้สึกไม่เห็นด้วยอย่างแรง เราจึงพูดขัดขึ้นมาทันที หรือไม่ก็แอบเถียงอยู่ในใจ เราชี้ถูกชี้ผิด ตัดสินเรื่องที่เพื่อนพูดไปเรียบร้อยแล้วว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ชอบหรือไม่ถูกใจ การที่เรามีเสียงในหัวแบบนี้ไม่ได้ทำให้เราเป็นคนไม่ดีหรอกนะคะ เพราะมันเป็นเรื่องธรรมชาติของความคิดที่มักจะผุดขึ้นมา แต่เราต้องพยายามให้มันดับไป เก็บไว้ก่อน และไม่เปล่งมันออกมาเป็นคำพูด การรู้เท่าทันความคิดแล้วปล่อยมันไป กลับไปตั้งใจฟังเพื่อนพูดต่อ เพราะไม่ใช่ทุกครั้งที่เราอยากจะเล่าอะไรให้ใครฟังแล้วต้องการให้เขาตัดสินว่าถูกหรือผิด ใช่หรือไม่ ควรหรือไม่ควร เราแค่ต้องการคนที่รับฟังเราเท่านั้น โดยเราอาจให้ความเห็นได้เมื่อเพื่อนถาม เพราะบางครั้งเพื่อนก็อาจยังไม่พร้อมที่จะถูกเราตัดสินนั่นเอง

 

 

เคารพ ไม่เอาไปพูดต่อ

มาถึงเทคนิคการเป็นผู้ฟังที่ดีข้อที่ 3 กันบ้าง บางคนอาจทำได้สบาย ๆ แต่กับบางคนก็อาจไม่ง่ายเลยนั่นคือ การเคารพสิ่งที่เขาพูด โดยไม่เหมารวมว่าเขาเป็นคนอย่างนั้น เขาเป็นคนอย่างนี้ตามสิ่งที่เขาพูด เช่น เพื่อนเล่าเรื่องที่ไปดูคอนเสิร์ตไอดอลเกาหลีมาด้วยราคาบัตร 5 หมื่นบาท ให้กับเราผู้ที่ไม่ได้นิยมไอดอลเกาหลีฟัง เราอาจคิดว่ามันมากเกินไปหรือเปล่า จนคิดว่าเพื่อนคนนี้มันเว่อร์และเสียสติ บ้านักร้อง ฯลฯ นี่เป็นระดับการฟังที่ท้าทายมาก เพราะนอกจากจะต้องฟังโดยไม่ตัดสินแล้ว (ข้อ 2) เรายังต้องเคารพคนพูดอีกด้วยว่า เราไม่จำเป็นต้องเป็นพวกเดียวกันกับเขาเพื่อที่จะเข้าใจเขา มันโอเคที่เรื่องนั้นจะดูโคตรไม่ make sense สำหรับเรา แต่ถ้ามัน make sense สำหรับเขา และขอบคุณที่เขา ‘วางใจ’ และ ‘มองเห็น’ เราแล้วเล่าเรื่องนี้ให้เราฟัง  

 

 

สะท้อนกลับ ถามกลับให้เขาเข้าใจตัวเอง

เมื่อใครสักคนหนึ่งกล้าที่จะเปิดเผยความรู้สึกเปราะบาง ความลับอะไรก็ตามให้เราฟัง เราจำเป็นต้องเห็นค่าว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นมีค่าและมีความหมายต่อเขา และเราจะไม่ใช่ผู้ฟังแบบฟองน้ำที่รองรับการระบายอารมณ์เพียงอย่างเดียว เราสามารถทําหน้าที่เหมือนกระจกสะท้อนกลับให้คนพูดได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อคนพูดพูดไม่รู้เรื่อง จับต้นชนปลายไม่ถูก พูดมั่วเป็นตำซั่วขนมจีน และติดอยู่ในโลกทิพย์ นี่คือความท้าทายอีกอย่างหนึ่งค่ะ เพราะหากเราจับประเด็นไม่ได้ เรามีประสบการณ์ไม่พอ เราไม่รู้จักคนตรงหน้าดี และเราเป็นคนพูดไม่เก่ง การสะท้อนกลับจะไม่ง่าย แต่เทคนิคสำคัญในการสะท้อนกลับหลัก ๆ ก็คือ ทบทวนสิ่งที่ได้ยิน จัดลำดับเหตุการณ์ จับใจความสำคัญ จับความรู้สึก ไม่ใส่ความคิดเห็นตัวเองลงไป และถามให้คนพูดเขาได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น มองเห็นสิ่งที่ทำให้เขากังวล เช่น เพื่อนอาจมาเล่าเรื่องพ่อกับแม่บ่นเรื่องเกรดตกให้ฟัง จนพาลไปโมโหน้องเพราะพ่อแม่ไม่เคยบ่นน้อง เราก็อาจจะสะท้อนกลับเพื่อนไปว่า ตอนนี้กำลังน้อยใจอยู่ใช่ป่ะ เพื่อให้เพื่อนได้เข้าใจอารมณ์ตัวเอง เป็นต้น ซึ่งของแบบนี้มันฝึกกันได้ !  

 

ผู้เขียนเชื่อว่าการเป็นผู้ฟังที่ดีให้แก่กันเป็นของขวัญที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่เราจะมอบให้กันได้ อีกทั้งยังเป็นการช่วยให้คนอื่นได้เห็นความเป็นมนุษย์ในตัวของเขาเอง และได้เห็นว่าตัวเรานั้นมีใจที่กว้างใหญ่แค่ไหน และจะกว้างได้อีกเท่าไหร่จากเรื่องที่เราได้ฟัง  

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

5 คำพูดทำร้ายจิตใจ & ลดทอนคุณค่าคนอื่น ที่ไม่ควรมีในบทสนทนา

การเป็นผู้ฟังที่ดี หนึ่งในทักษะสำคัญที่จะช่วยให้ชีวิตดีขึ้น

บันได 4 ขั้นสู่การเรียนรู้ Soft Skills ใหม่ ๆ

จับพิรุธคนโกหก ด้วยเทคนิคเจ๋ง ๆ จากนักจิตวิทยา

ดามใจคนข้างกายด้วย Empathy แล้วใช้ Solidarity รักษาแผลสังคม (01)

ระหว่าง 'สมอง' กับ 'หัวใจ' ใช้อะไรในการตัดสินใจถึงจะดีที่สุด

เด็กสมัยนี้ มันทำไม ? เคล็ดลับการคุยกับคนต่างวัยให้เข้าใจกันมากขึ้น

Ambiverts จะโลกภายในหรือภายนอกก็เอาอยู่

เพื่อนเป็นโรคซึมเศร้า จะคุยกับเพื่อนยังไงดี ?

โดนเปรียบเทียบหน้าตากับพี่น้องเป็นประจำ ทำยังไงดี ?

เมื่อความคิดเห็นไม่ตรงกันกับเพื่อนประจำ จะทำยังไงให้ไม่ทะเลาะกัน

รู้สึก ’โดดเดี่ยว’ ทั้งที่มีเพื่อนเยอะ แต่ไม่รู้ว่าสนิทกับใคร


 

แหล่งข้อมูล

เพ็ญจุรี วีระธนาบุตร. ฟังสร้างสุข Listen with your heart. กรุงเทพฯ: ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2562

 

 

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow