Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคขาดธรรมชาติอาจทำให้สมาธิสั้นลง เคล็ดลับเชื่อมต่อกับธรรมชาติในยุค New Normal

Posted By Plook Magazine | 30 ก.ค. 64
5,732 Views

  Favorite

นอกจากพฤติกรรมติดมือถือของคนยุคนี้จะทำให้สมาธิสั้นลง จดจ่อกับอะไรไม่ได้นาน ๆ แล้ว การที่เราขาดธรรมชาติก็ยังทำให้สมาธิเราสั้นลงได้อีกด้วย แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 มันก็เป็นเรื่องยากอีกที่เราจะออกเดินทางท่องเที่ยว เดินทางเข้าป่า รักษาโรคขาดธรรมชาติให้ทุเลาลงได้ วันนี้เราเลยมีเคล็ดลับที่จะช่วยให้เชื่อมต่อกับธรรมชาติในยุค New Normal มาฝากกัน  

 

 

มนุษย์และธรรมชาติพึ่งพาอาศัยกันมายาวนานมากกว่า 300,000 ปีมาแล้ว ไม่ใช่ในแง่ของที่อยู่อาศัย อากาศหายใจ อาหาร แต่เป็นเรื่องของชีวภาพด้วย แดดมีผลต่ออารมณ์และเซลล์ผิวหนังของเรา เช่นเดียวกันกับอากาศที่เราหายใจเข้าออกก็มีผลต่อคุณภาพชีวิต เป็นความจริงที่ว่าหากมนุษย์ขาดธรรมชาติที่ตัวเองได้อาศัยเลี้ยงชีวิตมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ สุดท้ายแล้วบางสิ่งบางอย่างในตัวของมนุษย์ก็ย่อมถูกทำร้ายตามไปด้วย

 

เมื่อประมาณ 8 ปีก่อน Richard Louv ผู้เขียนหนังสือ Last Child in the Woods เนื้อหาในหนังสือเป็นเรื่องเด็กคนสุดท้ายในป่า โดยได้เขียนถึงโรคขาดธรรมชาติในเด็ก ทำให้หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่าโรคนี้มีจริงหรือไม่อย่างไร เนื่องจากยังไม่มีการประกาศเกี่ยวกับโรคขาดธรรมชาติในเด็กอย่างเป็นทางการในรอบ 13 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าโรคขาดธรรมชาติในเด็กนั้นมีอยู่จริงและเป็นโรคติดเกมนั่นเอง

 

โรคขาดธรรมชาติในเด็กนั้นมีอยู่จริง และเป็นโรคติดเกมนั่นเอง

 

เราอาจเคยตั้งเเคปชั่นเล่น ๆ กันว่า “ชีวิตต้องการป่าเขา” หรือ “ร่างกายต้องการทะเล” ซึ่งความจริงแล้วมันเกิดจากการที่เราขาดธรรมชาตินั่นเอง ‘โรคขาดธรรมชาติ’ หรือ Nature Deficit Disorder (NDD) กล่าวถึงอาการของเด็กท่ี่เติบโตมาโดยขาดการเช่ื่อมโยงกับธรรมชาติ มีงานวิจัยมารองรับมากมายเกี่ยวกับภาวะของเด็กกลุ่มนี้ซ่ึ่งมักจะมีแนวโน้มเป็น ‘โรคสมาธิสั้น’ หรือ Attention Deficit Disorder (ADD) ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับอะไรได้นาน ๆ ซนมากกว่าปกติ บางคนมีภาวะซึม ขี้กลัว ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ และแน่นอนว่าพวกเขาอาจจะมีปัญหาในการเข้าสังคมในอนาคตสูงมาก

 

 

แม้โรคนี้จะยังไม่มีการศึกษาเพียงพอในกลุ่มผู้ใหญ่อย่างจริงจัง แต่ก็มีแนวโน้มว่าผู้ใหญ่ก็มีผลกระทบไม่ต่างจากเด็ก ๆ การเสพติดโซเชียลมีเดีย ติดตามข่าวสารสารพัดในเเต่ละวัน การใช้ชีวิตผ่านแอปที่สะดวกสบายไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอไป แต่แน่นอนว่าย่อมมีข้อเสียเพราะการที่เราพึ่งพาแอปพลิเคชันต่าง ๆ มากเกินไปจนเสียสมดุลและแทบจะสิงอยู่กับมันตลอด 24 ชั่วโมงแบบไม่ได้พัก นับวันพฤติกรรมเหล่านี้ก็ยิ่งจะทำให้เรามีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ควรจะทำได้นาน ๆ กลับน้อยลง โดยที่เราไม่รู้ตัวและไม่คิดว่ามันจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เราสมาธิสั้นได้ อย่างการฟังครูสอนในห้องเรียนออนไลน์ ทำให้บางครั้งเราหงุดหงิดที่มีคนมาพูดอะไรยาว ๆ หรือไม่ชอบอ่านอะไรยาว ๆ ได้ พาลทำให้อารมณ์เสียกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะขี้เกียจฟัง และเมื่อภาวะอารมณ์ตึงเครียดจนถึงจุด ๆ หนึ่ง เราก็อดไม่ได้ที่จะต้องออกไปพักเบรก และวิธีที่จะพักเบรกก็คือการเล่นมือถืออีกนั่นแหละ

 

แน่นอนว่าเราไม่ได้บอกให้ทุกคนต้องเลิกใช้เทคโนโลยี แต่การออกไปใช้เวลาอยู่นอกห้องสี่เหลี่ยมบ้าง หันหน้าออกไปจากหน้าจอสี่เหลี่ยมบ้างต่างหากท่ี่เราไม่ควรมองข้าม แม้จะเป็นการออกไปแค่สวนสาธารณะหรือพื้นท่ี่สีเขียวโล่ง ๆ ก็ช่วยให้เราได้เชื่อมต่อกับธรรมชาติได้ และนั่นจะทำให้เราเรียนและอ่านหนังสือได้ดีขึ้น มีสมาธิจดจ่อมากขึ้น ช่วยลดความเครียด และทําให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราทํางานได้ดีขึ้น แถมอาจจะได้รับแบคทีเรียดี ๆ เข้าไปในร่างกายอีกด้วยและนี่คือวิธีการที่จะทำให้เราไม่ขาดธรรมชาติแม้จะอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมในยุคโควิด-19 ที่เหมือนจะอยู่กับเราไปอีกสักพักใหญ่ ๆ

 

 

วิธีเชื่อมต่อกับธรรมชาติในยุค New Normal

 

การดูเมฆ (Cloudspotting) 

 

เมฆคือห้องเรียนขนาดใหญ่ที่ทำให้เราได้มีโอกาสศึกษาธรรมชาติ ชั้นบรรยากาศที่ดี เพราะทุกคนสามารถมองเห็นเมฆได้ตลอดเวลา แต่น้อยคนนักที่จะแหงนหน้าขึ้นไปมองของฟรีที่ไม่ต้องเสียเงินเข้าชม แต่สามารถเชื่อมเราให้เข้ากับธรรมชาติได้เลยทันที (ยกเว้นเวลาฝนตกคงต้องสังเกตในบ้าน เดี๋ยวฟ้าผ่า) และเราไม่จำเป็นจะต้องเชี่ยวชาญเรื่องเมฆหมอกระดับนักอุตุนิยมวิทยาปริญญาสิบใบเพื่อที่จะดูเมฆให้รู้เรื่องแม้ว่าเมฆจะมีถึง 10 สกุลแบ่งตามรูปร่างและระดับความสูง และ 14 ชนิดแบ่งตามรูปร่างและโครงสร้างภายใน และ 9 พันธุ์แบ่งตามลักษณะย่อยรูปร่างของเมฆ แต่สิ่งที่เราจะเห็นได้เลยทันทีก็คือ แสงสีบนท้องฟ้าที่ไม่มีทางที่จะซ้ำกันในแต่ละวันแต่ละนาทีจากเมฆ รูปร่างที่มักจะกระตุ้นต่อมจินตนาการของเราได้เป็นอย่างดี ไม่แน่นะเราอาจจะชอบถึงขั้นเป็น Cloudspotter หรือนักดูเมฆก็ได้

 

 

สังเกตแมลง

 

เพราะธรรมชาติไม่อาจอธิบายแคบ ๆ ไว้แค่ป่า แต่สัตว์ต่าง ๆ แมลงตัวจิ๋วก็เป็นส่วนประกอบหนึ่งของธรรมชาติที่สามารถทำให้เราเชื่อมต่อกับธรรมชาติอีกทางหนึ่งได้ การที่เราเฝ้าสังเกตสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วที่อาจจะเข้ามาทักทายบ้างในบริเวณบ้าน หรือบางวันมันอาจบินมาเกาะที่หน้าต่างแบบบังเอิญ หากเราสังเกตดี ๆ แมลงเหล่านั้นมีความพิเศษซ่อนอยู่มากมาย แม้แต่คนที่ไม่เนิร์ดชีวะก็อาจว้าวได้ด้วยการทำความรู้จักมันมากขึ้นกว่าการรู้จักชื่อ เพราะนั่นอาจทำให้เราเข้าใจการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ไก่ที่เราเห็นเมื่อก่อนมันอาจจะไม่เป็นอย่างที่เป็นเหมือนทุกวันนี้ และคางคกในยุคก่อนมันอาจตัวเท่าช้างในยุคดึกดำบรรพ์ ไม่แน่ว่าการส่องแมลงอาจกลายเป็นงานอดิเรกต่อไปของเราก็ได้  

 

 

ปลูกต้นไม้ในบ้าน

 

มาถึงวิธีเบสิคที่สุดและเชื่อว่าหลายคนต้องเคยปลูกต้นไม้ในบ้านกันมาบ้างแล้ว การลองปลูกต้นไม้ หรือไม่ก็แค่ออกไปพรวนดิน ถอนหญ้า รดน้ำต้นไม้ ก็เป็นวิธีสุดอีซี่ที่จะทำให้เราได้เชื่อมต่อกับธรรมชาติได้อีกครั้ง บางคนอาจเริ่มจากปลูกต้นไม้ที่ดูแลไม่ยากอย่างกระบองเพชร พืชอวบน้ำ บัวบกโขดที่ไม่ต้องการการดูแลมากเป็นพิเศษ แต่ถ้าใครอยากจะชาเลนจ์ตัวเองต้องลองปลูกไม้ดอกที่มันต้องการปุ๋ย ต้องการแสงแดด และต้องการน้ำที่เพียงพอ ฝึกให้เรารู้จักดูแลมันเพื่อให้มันดูแลเราอาจไม่ได้มากมายอะไรเหมือนออกไปปลูกป่า แต่เชื่อว่าดอกไม้และต้นไม้ในบ้านจะช่วยทำให้ห้องของเราอากาศดี ช่วยให้เราสดชื่นไม่เครียด และที่สำคัญไม่เป็นโรคขาดธรรมชาติอีกด้วย    

 

 

ฟังเสียงธรรมชาติ

 

มาถึงวิธีเชื่อมต่อธรรมชาติวิธีสุดท้ายนั่นก็คือการเชื่อมต่อธรรมชาติด้วยการฟัง วิธีนี้ไม่เชื่ออย่าลบหลู่เชียว ว่าเสียงที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นเสียงฝนตก เสียงคลื่นในทุ่งหญ้า หรือเสียงทะเลที่ซัดคลื่นเข้ามากระทบฝั่งจะช่วยสร้างความสมดุลภายในใจเราได้ อย่างน้อยก็ช่วยให้หายคิดถึงสถานที่นั้น ๆ อย่างมากก็จะช่วยให้จิตใจของเราผ่อนคลายจากเรื่องเครียด ๆ บางคนชอบเสียงฝนตก บางคนชอบเสียงน้ำไหล บางคนชอบเสียงนกร้อง ทุกเสียงจากธรรมชาติจะช่วยให้เรามีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามากขึ้น หรือบางครั้งจินตนาการอาจทำงานมากกว่าปกติ ทำให้เราคิดว่าตัวเองกำลังนั่งหรือนอนอยู่ในสถานที่ที่เรากำลังฟังเสียงอยู่ ช่วยให้เราเรียกคืนความรู้สึกที่เคยอยู่ท่ามกลางธรรมชาติให้กลับมาได้ รอวันที่สถานการณ์ดีขึ้นแล้วค่อยกลับไปเยี่ยมเยือนอีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่  

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

เมื่อสิ่งแวดล้อมดี เราจะไม่โสด... เป็นเพราะอะไร ?

‘รักเธอเท่าทะเลเลย’ เหตุผลที่ว่าทำไม 'รักเท่าทะเล' มันถึงไม่ได้โรแมนติกนัก

วิชา 'ความหลากหลายทางชีวภาพ' ที่โรงเรียนไม่ได้สอน

เมื่อโลกมันร้อนขึ้นทุกวัน เราจะช่วยลดโลกร้อนได้ยังไงบ้าง ?

รักตัวเองให้มากขึ้นด้วย 'Self-Care' เทรนด์ใหม่ของการดูแลตัวเอง

‘ความเครียดแฝง' อาการเครียดที่ไม่ควรมองข้าม

Gap Year ช่วงเวลาที่ทุกคนควรเข้าถึงได้

10 กิจกรรมน่าทำก่อนเปิดเทอม ช่วยเพิ่มประสบการณ์ชีวิต

ฮีลตัวเองยังไงดีในวันที่เหนื่อยและท้อจนหมดพลัง

เมื่อ ‘งานอดิเรก’ ช่วยให้เรียนได้ดีขึ้นกว่าที่คิด !


 

แหล่งข้อมูล

รื่นรมย์ชมเมฆ ความสุขจากฟากฟ้า…ที่ใครก็สัมผัสได้

 
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow