Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

6 งานศิลปะและดีไซน์ที่เกิดจากความสิ้นหวังแต่ส่งพลังให้คนรุ่นใหม่

Posted By Plook Magazine | 30 ก.ค. 64
5,634 Views

  Favorite

เวลาที่รู้สึกสิ้นหวัง ทุกคนชอบทำอะไรกันคะ ? 

 

ในช่วงเวลาที่หยุดติดตามข่าวสารบ้านเมืองไม่ได้ วัคซีนที่ดีก็ยังไม่ได้ฉีดสักเข็ม กักตัว เรียนออนไลน์อยู่บ้านจนหน้าดำคร่ำเครียด เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้างตามประสา แถมเริ่มกังวลกับอนาคตข้างหน้าที่ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นยังไง เพราะแค่ใช้ชีวิตวันต่อวันก็โคตรยากเลย ทุกคนคลายเครียดกันยังไงกันบ้างคะ ? 

 

หากใครยังคิดไม่ออก เรามีตัวอย่างจากศิลปิน ผู้สร้างแบรนด์ และผลงานศิลปะอันโด่งดังในอดีตมาให้อ่านกันว่าในช่วงเวลาที่สิ้นหวังและหดหู่ คนเหล่านี้เขาทำอะไรกันให้ตัวเองอยู่รอดและยังสามารถส่งต่อพลังสร้างสรรค์ดี ๆ ให้คนรุ่นใหม่นำไปปรับใช้มาจนถึงปัจจุบัน   

 

 

Marimekko 

กระเป๋าผ้าลายดอกอูนิกโกะสีสันสดใส (อูนิกโกะเป็นภาษาฟินแลนด์ แปลว่าดอกป๊อปปี้ในภาษาอังกฤษ) ไม่ได้มีความเป็นมาที่สดใสเหมือนรูปลักษณ์ภายนอก ย้อนกลับไปปี 1949 บรรยากาศในประเทศฟินแลนด์หม่นหมองอึมครึมเนื่องจากเป็นยุคที่ประเทศฟินแลนด์ถูกกดดันโดยสงครามจากประเทศรัสเซียและสวีเดนมาเป็นเวลานาน ความแร้นแค้นไม่มีจะกินของประชาชน และที่แย่ที่สุดคือสภาพอากาศอันหนาวเหน็บ แต่คู่สามีภรรยา ‘อาร์มี ราเตีย (Armi Ratia) และ วิลิโย ราเตีย (Viljo Ratia)’ กลับไม่ยอมจำนนต่อความหดหู่ในยุคนั้น ทั้งคู่ตัดสินใจก่อตั้งโรงงานพิมพ์ผ้าขนาดเล็กที่ชื่อว่า Printex ขึ้นในเมืองเฮลซิงกิ ด้วยความหวังว่าจะสร้างสรรค์สินค้าประเภทเสื้อผ้าที่มีคุณภาพและคลายหนาวให้ผู้คน ไปจนถึงของตกแต่งบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อประโลมหัวใจผู้คนที่กำลังต่อสู่กับสภาพเศรษฐกิจที่เลวร้าย และมีกำลังใจต่อสู้กับสภาพอากาศที่หนาวยาวนาน 

 

Cr. Marimekko

 

ด้วยสปิริตอันแรงกล้าและแน่วแน่นี้เอง ทำให้มารีเมกโกะได้ดีไซเนอร์ที่เข้าใจเจตนารมณ์ของอาร์มีเป็นอย่างดี นั้นก็คือ ไมยา อีโซลา (Maija Isola) ดีไซเนอร์ผู้ออกแบบลายพิมพ์ดอกอูนิกโกะสีแดงขึ้นมาในปี 1964 แม้ว่าเจ้านายอาร์มีจะบอกชัดเจนแล้วว่า “อย่าออกแบบลายดอกไม้นะ มันสวยดีอยู่แล้วตามธรรมชาติและไม่ควรเอามาเป็นเครื่องประดับ” แต่จนแล้วจนรอดลายพิมพ์ดอกอูนิกโกะสีแดงของไมยาก็ได้ทำให้อาร์มีรู้สึกถึงความหวังบางอย่างตั้งแต่แรกเห็น จนอาร์มีต้องยอมกลืนน้ำลายตัวเองเลือกลายพิมพ์ดอกอูนิกโกะสีแดงเป็นลายผ้ารุ่นแรก ๆ ของมารีเมกโกะ ครองใจคนฟินแลนด์มาตั้งแต่สมัยสงครามจนถึงทุกวันนี้และมีกันทุกบ้าน

 

 

Moses by Frida Kahlo

ว่ากันว่าความตายยังไม่ทรมานเท่าชีวิตที่อยู่ก็เหมือนตาย 'ฟรีดา คาห์โล' (Frida Kahlo) จิตกรหญิงชาวเม็กซิกัน เมื่อครั้งที่เธออายุ 6 ปี เธอพบว่าขาข้างขวาของเธอสั้นกว่าปกติ หมอวินิจฉัยภายหลังว่าเธอป่วยเป็นโรคโปลิโอ แต่ดูเหมือนว่าโชคร้ายเรื่องโปลิโอจะเป็นแค่แบบฝึกหัดก่อนเริ่มทดสอบจริง เพราะต่อมาในปี 1925 ฟรีดาในวัย 18 ปีประสบอุบัติเหตุบนรถบัส เธอถูกแท่งเหล็กแทงทะลุผ่านกระดูกเชิงกรานทำให้เธอกลายเป็นคนพิการตลอดชีวิต ต้องสวมใส่เครื่องรัดตัวเหล็กแบบเต็มตัวตลอดเวลาและมีชีวิตอยู่ได้แค่บนเตียงเท่านั้น

 

Cr. fridakahlo
Moses,1945 by Frida Kahlo

 

ความเจ็บปวดที่อยู่ก็เหมือนตายนี้ทำให้ฟรีดาเอามันไปลงกับการวาดรูป เธอเอากระจกบานเท่าตัวเองมาตั้งเพื่อสะท้อนรูปตัวเองแล้ววาดภาพหลายต่อหลายภาพ แต่ที่สร้างความโด่งดังไปทั่วโลกคือภาพวาด 'Moses' ในปี 1945 ซึ่งผู้คนส่วนมากรู้จักกันในชื่อ 'Nucleus of Creation' เธอสะท้อนให้เห็นว่าโดยธรรมชาติแล้วชีวิตมนุษย์นั้นต่างมีความเจ็บปวดทรมานเป็นเจ้าเรือน ไม่มีใครหนีความเจ็บปวดทรมานพ้น ความทรมานคือของจริงและเที่ยงแท้ ความทรมานจะมาหาเราแน่นอนในหนึ่งวัฏจักรของชีวิต นั่นทำให้ฟรีดาถูกยกย่องให้เป็นเป็นสัญลักษณ์ของหญิงแกร่งคนหนึ่ง

 

 

Wishbone Chairs

สายคาเฟ่คนไหนบ้างจะไม่คุ้นกับเก้าอี้ Wishbone ความประณีตของไม้ น้ำหนักที่เบา พนักพิงโค้งคล้ายปีกนกที่ยั่วให้อยากจับ โอบรับหลังของเราพอดีกับไม้ทรงตัว Y เอกลักษณ์ที่ทำให้ Wishbone กลายเป็นเก้าอี้ระดับไอคอนที่คนรักเฟอร์นิเจอร์ทั่วโลกหลงรักที่สุดตัวหนึ่ง แบรนด์นี้มีประวัติยาวนานเกิดขึ้นโดยครอบครัวช่างไม้ชาวเดนมาร์กชื่อว่า Carl Hansen & Søn ที่เดิมทีรับทำเฟอร์นิเจอร์ทุกอย่างสำหรับใช้ในบ้านด้วยวัสดุจากไม้เป็นหลัก แต่เนื่องจากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศเดนมาร์กทั้งแพ้สงคราม ยากจน หนาวจัดยาวนานจนเพาะปลูกอะไรไม่ค่อยได้ นั่นจึงทำให้ไม้เป็นของหายาก เฟอร์นิเจอร์ก็ขายได้ไม่ดีเพราะพิษเศรษฐกิจตกต่ำ (The Great Depression, 1930s) ทำให้ครอบครัวแฮนเซนต้องหยุดทำเฟอร์นิเจอร์ไปเพราะไม่มีทุนเหลือเลย  

 

Cr. carlhansen

 

เมื่อสิ้นสุดสงครามครอบครัวแฮนเซนซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องเฟอร์นิเจอร์จากไม้อยู่แล้วก็กลับมาทำงานฝีมืออีกครั้ง พวกเขาต้องดิ้นรนทุกวิถีทางที่จะมีชีวิตอยู่รอดให้ได้และงานดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ที่ดี ๆ ก็เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น เนื่องจาก Carl Hansen ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทส่งไม้ต่อให้ Holger Hansen ลูกชายเพื่อมาบริหารต่อ และลูกชายก็ได้ไปชวนดีไซเนอร์ดาวรุ่งในยุคนั้นนั่นก็คือ Hans J. Wegner มาออกแบบเก้าอี้ด้วยการใช้เชือกกระดาษที่แข็งแรงมากทำจากกระดาษ 3 ชิ้นพันติดกัน ถักด้วยมือของช่างที่ชำนาญจนเกิดเก้าอี้ระดับตำนานรุ่น Wishbone ขึ้น ซึ่งใช้เวลาในการทำเพียง 21 วันเท่านั้น กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก สร้างเทรนด์เฟอร์นิเจอร์สไตล์สแกนดิเนเวียให้ชัดขึ้นไปอีก

 

 

Moomintroll

Moomintroll หรือมูมิน ตัวการ์ตูนจากวรรณกรรมเยาชนที่เกิดจากฝีไม้ลายมือของจิตกรชาวฟินแลนด์ ‘ตูเว ยานซอน’ (Tove Jansson) ที่หลายคนแม้จะไม่เคยอ่านหนังสือแต่เชื่อว่าต้องเคยเห็นผ่านตามาบ้างผ่านสินค้าหลายร้อยแบบที่ผลิตอย่างถูกลิขสิทธิ์โดยประเทศญี่ปุ่น จนหลายคนคิดว่ามูมินเป็นของคนญี่ปุ่น แต่ไม่ใช่นะคะคนคิดเขาอยู่ที่ฟินแลนด์ โดยคุณตูเวผู้ที่ชื่นชอบการผจญภัยเป็นพิเศษตั้งแต่ยังเด็กและชอบไปหลบอยู่กับตายายที่กระท่อมบนเกาะทุกฤดูร้อน ได้เล่าไอเดียที่มาของมูมินว่ามันมาจากความหวาดกลัวในช่วงที่เธออยากเป็นจิตกรมาก  ๆ ในช่วงทศวรรษที่ 4 มันเป็นช่วงที่สงครามน่ากลัวมาก จนเธอรู้สึกหดหู่กับทุกอย่างในชีวิต เเละเพื่อไม่ให้ตัวเองเป็นบ้าไปซะก่อนเธอก็เริ่มต้นเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับเทพนิยายมาเรื่อย ๆ  

 

Cr. moomin

 

ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมมูมินเวอร์ชั่นเเรกจากเรื่องมูมินกับน้ำท่วมใหญ่ มูมินไม่ได้ตัวอ้วนกลมเหมือนในปัจจุบัน แต่มีรูปร่างซูบผอมและออกจะดูน่ากลัวนิด ๆ หน้าตาเกรี้ยวกราดหน่อย ๆ เหมือนคนขี้โมโห เพราะถูกวาดขึ้นในช่วงสงครามนั่นเอง ซึ่งก็ไปตรงกับที่นักประวัติศาสตร์ชาวฟินแลนด์ที่ได้วิเคาะห์ว่ามูมินไม่ได้ถูกวาดขึ้นเพื่อเงิน แต่เป็นงานเขียนที่ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อบรรเทาความเศร้าสลดหดหู่และความยากลำบากในการข้ามผ่านอุปสรรคจากผลกระทบของสงครามเพื่อหลีกหนีความจริงอันโหดร้ายเข้าไปในโลกแห่งจินตนาการที่ทุกอย่างจะจบลงอย่างแฮปปี้ นั่นจึงทำให้มูมินสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ ไปจนถึงผู้ใหญ่ที่โตมากับการอ่านมูมินหลังจากถูกแปลไปมากกว่า 50 ภาษาทั่วโลก

 

 

The Scream by Edvard Munch

ในยุคที่เพื่อนข้างบ้านของเราเริ่มตายไปด้วยโรคระบาดอย่างวัณโรคทีละคนทีละคน มันจึงง่ายมากที่เราจะเริ่มคิดว่า คิวต่อไปอาจจะเป็นตัวเราเอง และมันจะยิ่งง่ายมากขึ้นไปอีกสเต็ปเมื่อแม่ผู้ให้กำเนิดของเราก็ยังมาด่วนจากไปเพราะโรคระบาด และพบว่าไม่นานพ่อ ปู่ ย่า พี่สาว และน้องของคุณก็มาตายไปทีละคนเพราะโรคระบาดในเวลาไล่เลี่ยกัน มันเป็นเรื่องยากอย่างที่สุดที่จะคิดถึงเรื่องอื่นในเมื่อชีวิตถูกรายล้อมด้วยความตาย แต่คุณก็ยังไม่ตายสักทีนั่นคือ ชีวิตสุดแสนจะสิ้นหวังโดยสังเขปของ ‘เอ็ดเวิร์ด มุงค์’ (Edvard Munch)

 

Cr. munchmuseet

 

ในขณะที่พร้อมจะตายทุกเมื่อแต่ก็ยังไม่ถึงเวลา เอ็ดเวิร์ดที่ติดอยู่กับภาวะซึมเศร้าอยู่แล้วได้เดินทางไปเรียนในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ขณะที่เขากำลังเดินไปตามถนนพร้อมกับเพื่อนสองคนในยามเย็นพระอาทิตย์เริ่มจะลับขอบฟ้า เขาหยุดและเอนกายพิงรั้วด้วยความรู้สึกเหนื่อยหมดเรี่ยวแรงอย่างบอกไม่ถูกในขณะที่เพื่อนเดินต่อไปเรื่อย ๆ ทิ้งเขาไว้คนเดียว จากนั้นเขาก็ได้ยินเสียงกรีดร้องดังสนั่นปาดไปจนถึงขั้วหัวใจ เอ็ดเวิร์ดกลับบ้านรีบไปวาดรูปตามสิ่งที่เขาเจอมา จนกลายเป็นภาพสุดหลอนชื่อดังก้องโลกชื่อว่า ‘The Scream’ บ้างก็บอกว่ามันเป็นภาพของคนที่อยากโกงความตาย ปิดหูเอาไว้ในบรรยากาศสุดหลอนเพราะไม่อยากรับรู้ ไม่อยากทุกข์ และยังไม่พร้อมที่จะตาย

 

 

พีเอช ฟิกซ์เจอร์ by Poul Henningsen 

มาพูดถึงเรื่องของโคมไฟกันบ้างค่ะ โคมไฟที่ว่านี้คือ ชุดโคมไฟในร่มที่ปราศจากแสงสะท้อน โคมไฟพลิกประวัติศาสตร์ของเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยชายที่ชื่อว่า ‘โพล เฮนนิงเซน’ (Poul Henningsen) นักออกแบบเชิง lighting solution ที่ชอบวิจารณ์การทำงานของเทศบาลเมืองอยู่ประจำและเขาก็ไม่ชอบใจที่ไอ้เจ้าหลอดไฟริมทางบนถนนในโคเปนเฮเกนมีีแสงจ้าเกินไป เขาก็เลยเริ่มออกแบบโคมไฟที่ชื่อว่า Slotsholm Lamp ซึ่งจะมีแผ่นบังแสงขนาดใหญ่เพื่อกระจายแสงได้อย่างดี ให้แสงนุ่ม อบอุ่นไม่แข็งและที่สำคัญคือโคมไฟของเขาจะไม่มีแสงสะท้อนเพื่อแก้ปัญหาสังคมด้วยสถาปัตยกรรมทั้งที่เขาเรียนไม่จบสถาปนิกด้วยซ้ำ 

 

แต่นี่เป็นแค่น้ำจิ้ม ของจริงคือโคมไฟระดับตำนาน ‘พีเอช ฟิกซ์เจอร์’ ที่เขาเริ่มทำวิจัยด้านไฟฟ้าและแสงกว่า 10 ปี รวมถึงโคมไฟรุ่นต่อ ๆ มาอย่างโคมไฟรุ่น Pariser Lampen และรุ่น PH ที่โพลไม่ได้มองว่าโคมไฟของเขาเป็นแค่งานออกแบบเท่านั้น เขาพัฒนาหลอดไฟที่ปลอดแสงจ้าและให้แสงอ่อน ๆ ทำให้บรรยากาศอบอุ่นทุกครั้งที่เปิดโคมไฟของเขา

 

Cr. louispoulsen

 

แล้วทำไมโพลถึงได้หมกมุ่นกับเรื่องไฟนัก ? ความจริงแล้วเขาก็เหมือนคนเดนมาร์กอีกหลายล้านคนที่บ้าโคมไฟมากกว่าชนชาติอื่น แต่เขาอยากแก้ปัญหานี้ที่ตัวเองเจอมาในช่วงระหว่างสงครามโลก เนื่องจากประเทศเดนมาร์กตั้งอยู่ในบริเวณที่พระอาทิตย์ส่องแสงสว่างเต็มที่เพียงแค่ครึ่งปี (ประมาณจากเดือนเมษายน-กันยายนเท่านั้น) นอกนั้นแล้วบรรยากาศจะแสนอึมครึมและหนาวจัดซะส่วนใหญ่ ทำให้ผู้คนสนใจเลือกโคมไฟมาประดับบ้านอย่างพิถีพิถันเพื่อไม่ให้ตัวเองจมไปกับความมืดมนของสภาพอากาศที่แสนอึมครึมนั่นเอง

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

เมื่อสิ่งที่คิดไม่เป็นไปตามที่หวังไว้ เราจะรับมือกับความผิดหวังยังไงดี

ความตลกร้ายของวัฒนธรรมการข่มขืนในนิยายรักวัยรุ่น

รักตัวเองให้มากขึ้นด้วย 'Self-Care' เทรนด์ใหม่ของการดูแลตัวเอง

เคล็ดลับพัฒนาตัวเองของ 'Late Bloomer' คนที่ประสบความสำเร็จช้ากว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน

Emotional Agility ทักษะการจัดการอารมณ์ให้สมดุลจากนักจิตวิทยา

“เมดูซ่า” เหยื่อของอำนาจทางเพศที่ถูกมองข้าม

เพิ่มเวลาออฟไลน์ ลดความเครียดกับ ‘Social Media Detox’

ดูแลสุขภาพใจยังไง ให้ใจไม่ TOXIC ชีวิตแฮปปี้

เป็นคนอารมณ์อ่อนไหวง่าย จะรับมือกับอารมณ์ตัวเองยังไงดี

เมื่อสิ่งแวดล้อมดี เราจะไม่โสด... เป็นเพราะอะไร ?


 

แหล่งข้อมูล

ปาลิดา พิมพะกร. เจแปนดิเนเวีย. กรุงเทพฯ: ไต้ฝุ่น สตูดิโอ, 2562.

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow