Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ไขแนวคิด 3 นักบริหารรุ่นใหม่ DNA CMMU หลังประสบความสำเร็จใน 3 ธุรกิจสุดปัง !

Posted By Plook News | 23 ก.ค. 64
3,128 Views

  Favorite

หนึ่งในเป้าหมายของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) ในฐานะสถาบันการศึกษาคือมุ่งหวังสร้างผู้นำองค์กรที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่สังคม ผ่านการผลักดันพัฒนานักศึกษา ในหลักสูตรการเรียนการสอนระดับปริญญาโท หลักสูตรภาษาไทยและหลักสูตรนานาชาติ รวมทั้งระดับปริญญาเอก หลักสูตรนานาชาติ ในหลากหลายสาขาแขนง 

 


เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ครบถ้วนความรู้และทักษะที่ทันสมัย ตอบโจทย์โลกธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น การจัดการด้านกลยุทธ์ การเงิน การตลาด ทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนการจัดการธุรกิจอาหารและสุขภาพ เพื่อปรับเปลี่ยนให้ทันโลกปัจจุบัน และเป็นส่วนสำคัญในการช่วยผลักดันอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในสังคมให้เติบโตและประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน
 

การขับเคลื่อนภาคธุรกิจต่าง ๆ ในแต่ละแขนงให้เติบโตได้นั้น ย่อมอาศัย “แรงกาย” และ “พละกำลังสมอง” จากการระดมไอเดียใหม่ ๆ และแตกศาสตร์ความรู้จากการแก้ปัญหากับเหตุการณ์จริง ผ่านการผสมผสานแนวคิด และการวางแผนการพัฒนาระหว่างคนรุ่นเก๋าผู้มากประสบการณ์ผนวกกับคนรุ่นใหม่

ซึ่งการปั้นผู้มีความสามารถ คับคั่งคุณภาพสู่สังคมนั้น สภาพแวดล้อมย่อมสำคัญด้วยเช่นกัน วันนี้เราจึงพา 3 นักบริหารรุ่นใหม่ ศิษย์เก่าใต้หลังคาของรั้ว ซีเอ็มเอ็มยู ในแต่ละสาขาวิชา พาย้อนไปยังสมัยเป็นนักศึกษาว่าเป็นอย่างไรบ้าง และได้ต่อยอดสิ่งที่เรียนไปพัฒนาธุรกิจสู่สังคมอย่างไร  
 

 

พชรณัชช์ เอกวุฒิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีพีเจ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า แท้จริงที่ผมเลือกมาเรียนสาขาวิชา การจัดการธุรกิจอาหาร (Food Business Management) ที่ ซีเอ็มเอ็มยู เพราะผมต้องการทำผลิตภัณฑ์ยา และเห็นว่าสมุนไพรไทยมีส่วนประกอบสำคัญค่อนข้างมากแต่ยังไม่ได้รับการพัฒนาสู่ท้องตลาด อาทิ ด้านเกษตรกร วิธีการสกัด ซึ่งสาขานี้ไม่ใช่แค่จัดการในธุรกิจอาหารเท่านั้น แต่ยังจัดการในธุรกิจเกษตร ปศุสัตว์ รวมถึงสร้างแนวคิดกระบวนการจัดการ และการประยุกต์ใช้ความรู้จากสิ่งที่เรียนไปต่อยอดทางธุรกิจให้เป็นจริงได้ ในช่วงที่เรียนนอกจากหลักสูตรที่เข้มข้นแล้ว 
 

อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษามาก ๆ คือ การพิชชิ่งและการทำเคสจริงจำนวนมาก ทำให้ผมและเพื่อน ๆ ได้ใช้สรรพกำลังในการคิดกลั่นกรองวิธีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ผ่านการใช้หลักการวิชาการตอบโจทย์ และได้เตรียมตัวพรีเซนต์ผลงานชิงทุนต่าง ๆ จนทำให้ผมเปิดบริษัทของตนเองร่วมกับเพื่อนๆ ได้ในขณะที่ยังเป็นนักศึกษาปี 3 ในนามบริษัท จีพีเจ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด นำความถนัดเรื่องชีววิทยาและการเกษตร ชู 3 จุดแข็ง ด้านเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) ด้านเกษตรสมัยใหม่ (Modern Agriculture) และนวัตกรรมชีวภาพ (Biological innovation)

ซึ่งมีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยช่วยแนะนำอย่างใกล้ชิด รวมถึงอาจารย์จากสาขาอื่น ๆ หรือข้ามวิทยาเขต และพาร์ทเนอร์ของมหาวิทยาลัยทั้งหน่วยงานธนาคาร บริษัทห้างร้าน ก็มาร่วมผลักดันส่งเสริมผมในการสร้างบริษัทและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทำให้ผมรู้สึกไม่โดดเดี่ยว อบอุ่นใจอย่างมาก  
 


ในขณะที่เรียนผมยังได้รับทุนจากทาง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และโครงการ WEDO ของเอสซีจี ในการทำโร้ดแมฟอาหารอินทรีย์ของประเทศ รวมถึงการสื่อสารในเรื่องผลิตภัณฑ์ GI ในภูมิภาคต่าง ๆ รวมทั้งได้นำบริษัทสตาร์ทอัพตนเองเข้าร่วมแข่งขันในโครงการ SPACE-F ซึ่งเป็นการแข่งขัน Global Food Tech innovation คัดเลือกทีมบริษัทสตาร์ทอัพจากทั่วโลก 20 ทีมมาแข่งขัน และเราก็เป็นหนึ่งในผู้ชนะประเภท Health and Wellness

ซึ่งต้องขอบคุณทาง ซีเอ็มเอ็มยู ที่บ่มเพาะความรู้ที่ทันสมัย ประสบการณ์จริง แนวคิดด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี และวิธีการคิดให้รู้จักคอลแลปกับศาสตร์อื่นๆ แบบกึ่งอนาคต ทำให้เรามีมุมมองที่ก้าวไกล ซึ่งรู้สึกคิดไม่ผิดเลยที่ตัดสินใจเลือกมาเรียนที่นี่ เพราะทุกวันนี้อาจารย์และมหาวิทยาลัยก็ยังคงมอบพลังให้ผมและทุกคนในการพัฒนาธุรกิจต่อเนื่องตอบโจทย์ผู้คนและสังคม รวมทั้งการวางแผนขยายธุรกิจไปทั่วโลกด้วยครับ 
 

แพรววลิน ธรรมสุริยะ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ที ที แอนด์ เค โปรโมชั่น จำกัด กล่าวว่า ย้อนไปสมัยที่เลือกสาขาเรียน แพรวเป็นทายาทธุรกิจซึ่งอยู่ในระหว่างรับช่วงต่อกิจการ (การ์เมนท์ ตัดเย็บเสื้อผ้า) จากคุณพ่อคุณแม่ แต่เนื่องจากคลุกคลีกับกิจการมาตั้งแต่เด็ก ทำให้แพรวติดภาพการบริหารจัดการแบบเก่าๆ และไม่สามารถคิดนอกกรอบได้ แพรวต้องการทำให้กิจการเติบโตมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร และไม่ต้องการเสียเวลาลองผิดลองถูก จึงตัดสินใจมองหาหลักสูตรการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์ข้อนี้ได้

ซึ่งสาขา ภาวะผู้ประกอบการและนวัตกรรม (Entrepreneurship and Innovation) ที่ซีเอ็มเอ็มยู เป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุดค่ะ คณาจารย์ที่มาสอนแต่ละท่านไม่ได้สอนตามแต่ทฤษฎี แต่นำเคสจริงมาสอนทำให้เราเห็นภาพและเข้าใจอย่างถ่องแท้ ทั้งได้ความรู้ ความสนุก และสังคมเพื่อนร่วมเรียนก็น่ารัก ช่วยกันระดมความคิดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่าง ๆ ทำให้ไม่เคยเหนื่อยกับงานกลุ่มเลย โดยเฉพาะการทำ Business Plan จะมีกรรมการจากนอกมหาวิทยาลัยและอยู่ในวงการธุรกิจนั้น ๆ มาเป็นกรรมการ ติชมและแนะนำจากมุมมองการทำธุรกิจจริง เช่น แบบนี้เจ๊ง แบบนี้ทำได้จริง แบบนี้เพ้อฝัน รวมถึงได้ไปนำเสนอผลงานวิจัยที่ต่างประเทศด้วย สุดท้ายสิ่งที่ติดตัวออกมาด้วยหลังจากจบหลักสูตรคือ “จิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการ” ที่หล่อหลอมเรามาอย่างมีระบบตลอดการเรียน และทำให้เราสามารถพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้ 
 


สาขานี้ให้ความรู้และเปิดมุมมองได้กว้างมาก หากแจ้งเป็นข้อ ๆ คงตอบได้ยาก แต่ประโยคที่จำขึ้นใจจากอาจารย์ ธนพล คือ คำว่า “คุณค่า” สิ่งที่เราทำหรือสินค้า/บริการของเรา มี “คุณค่า” กับตัวผู้ซื้อไหม ถ้ามี “คุณค่า” กับเขา เท่าไหร่เขาก็ยอมจ่าย แต่ถ้าไม่มีคุณค่า ให้ฟรีเขาก็ไม่เอา ซึ่งปัจจุบันแพรวทำงานเป็นผู้จัดการทั่วไป บริษัท ที ที แอนด์ เค โปรโมชั่น จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกระดาษชำระ กระดาษเช็ดมือ และกระดาษทิชชู่ทุกรูปแบบ ให้กับองค์กรและแบรนด์ต่าง ๆ ด้วย ซึ่งสินค้าผลิตจากโรงงานเราเอง แม้ผลิตกระดาษชำระที่คนภายนอกอาจมองว่าเป็นกระดาษชำระที่ไม่มีความแตกต่าง แต่เราใส่ใจในทุกรายละเอียด โดยหยิบสินค้าชิ้นเดิมมาพิจารณาด้วยมุมมองใหม่ และใส่คุณค่าด้านวัตถุดิบ การผลิต การเพิ่มลวดลายเข้าไป ก็สามารถทำให้ลูกค้าประทับใจและไว้วางใจใช้บริการเราอย่างต่อเนื่องค่ะ
 

ดร. ฐัช หัชลีฬหา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท จอย แอนด์ คอยน์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ผมเป็นนักศึกษาศิษย์เก่า ปริญญาโท หลักสูตรนานาชาติ สาขาวิชาการจัดการความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship Management) และเข้าร่วมโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน (Student Exchange) ที่มิวนิก ประเทศเยอรมันนี จากวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันเป็นผู้บริหารทายาทรุ่น 2 ของธุรกิจครอบครัว J&C หรือ บริษัท จอย แอนด์ คอยน์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกรูปแบบร้านสะดวกซื้อที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่เมืองรอง โดยสมัยเรียนเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ธุรกิจค้าปลีกมีการแข่งขันสูงมาก ๆ และมีเรื่องของ New Normal, E-Commerce, Social Network เข้ามา ในตอนนั้นธุรกิจ J&C ยังเป็นรูปแบบออฟไลน์เป็นหลัก รวมทั้งมีคู่แข่งจากต่างชาติเข้ามามากขึ้นในไทย ทำให้เราต้องขยายเพิ่มช่องทางออนไลน์ และดูทรัพยากรของเราว่ามีอะไรที่เหนือจากคู่แข่ง เช่น การบริการหลังการขาย 
 

โชคดีที่มาเรียนที่ ซีเอ็มเอ็มยู ทำให้ได้เรียนรู้ด้านค้าปลีก (Retail) และระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร (Management Information System) ว่าเราต้องใช้ดาต้า ความรู้ภูมิปัญญา ผสมผสานองค์ประกอบที่มีอยู่วิเคราะห์ตลาดต่าง ๆ เป็น ห่วงโซ่คุณค่าในการตลาด (Value Chain) สมัยใหม่ และมีผู้เชี่ยวชาญมาให้แนวคิด แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานโดยตรง รวมทั้งเพื่อน ๆ ที่มาเรียนด้วยกันมีทั้งคนไทยและคนต่างชาติ เช่น เยอรมัน นอร์เวย์ เวียดนาม ญี่ปุ่น ที่ทำธุรกิจหลากหลาย และต่างวัยกับเรา ทำให้ช่วยขยายมุมมองและคอนเนคชั่นกว้างขึ้น ทำให้สามารถปรับธุรกิจรับกับทุก ๆ สถานการณ์ปัจจุบันได้เป็นต้นมา

รวมทั้งได้นำความรู้ด้าน Sharing Economy และแพลตฟอร์มต่าง ๆ ตอนไปแลกเปลี่ยนที่เยอรมันนี มาต่อยอดไอเดียเรื่อง Sharing Economy ที่ธุรกิจ J&C ทำร่วมกับชุมชนอยู่แล้ว ในการทำ Business format เปลี่ยนบ้านให้เป็นร้านค้า ดึงคนในชุมชนจากผู้มาซื้อสินค้าเรา โดยเฉพาะผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาซื้อสินค้า และไม่ค่อยมีเงินเก็บ ให้มาเป็นหุ้นส่วนร่วมกัน สร้างอาชีพ เสริมรายได้ด้วยกัน ผ่านเทคโนโลยีที่เราแนะนำสอนเขา ซึ่งตอบโจทย์สังคมไทยที่ก้าวเข้าสู่ยุคสังคมผู้อายุในปัจจุบันด้วย ดังนั้น ซีเอ็มเอ็มยู จึงเปรียบเสมือนเกตเวย์ที่เปิดโลกทัศน์ผม และสอนให้เป็นคน Active learning ว่าการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุดโดยแท้จริงครับ 
 


ติดตามข้อมูลหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ “CMMU Mahidol” (https://www.facebook.com/CMMUMAHIDOL

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook News
  • 5 Followers
  • Follow