Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การทำงานของแก๊สน้ำตา

Posted By sanomaru | 23 ก.ค. 64
8,249 Views

  Favorite

ในการควบคุมเหตุจลาจลหรือสลายการชุมนุมที่มีฝูงชนจำนวนมากเมื่อเกิดความไม่สงบขึ้นในบางพื้นที่ของประเทศ แก๊สน้ำตาเป็นอาวุธเคมีอย่างหนึ่งที่ถูกนำมาใช้และได้รับการพิจารณาว่าเป็นอาวุธเคมีที่ไม่ร้ายแรง อย่างไรก็ตาม มันทำให้ผู้ที่โดนหรือสัมผัสกับแก๊สน้ำตา รู้สึกแสบตา เจ็บปวด ทรมาน ไอ หายใจไม่ออก แต่ปริมาณที่ใช้ควบคุมฝูงชนนั้นก็ไม่ได้สูงถึงขั้นเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต

 

แก๊สน้ำตาคืออะไร

แก๊สน้ำตาเป็นกลุ่มสารเคมีที่มีฤทธิ์กระตุ้นเยื่อเมือกบริเวณดวงตา จมูก และทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการระคายเคือง น้ำตาไหล ปวดตา ตาบอดชั่วคราว ระบบทางเดินหายใจติดขัด ระคายเคืองผิวหนัง โดยสารประกอบตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตแก๊สน้ำตามีหลายประเภทแตกต่างกัน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสถานะของแข็ง ไม่ใช่แก๊ส แต่เมื่อนำมาใช้ควบคุมเหตุจลาจลหรือสลายการชุมนุมในรูปของแก๊สน้ำตา มันจะถูกส่งกระจายออกไปในลักษณะของละอองฝอยหรือในรูปแบบของระเบิด โดยอยู่ในสารผสมที่เรียกว่า Pyrotechnic ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในกระบวนการผลิตดอกไม้ไฟ
 

ภาพ : Shutterstock

 

สารประกอบตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตแก๊สน้ำตา มักใช้องค์ประกอบโครงสร้างร่วมกันคือ Z=C-C-X โดยที่ Z หมายถึงคาร์บอนหรือออกซิเจน และ X คือโบรไมด์หรือคลอไรด์ โดยทั่วไปที่นิยมนำมาใช้มีดังนี้
- CS (Chlorobenzylidenemalononitrile, C10H5N2Cl) หรือเรียกว่า 2-chlorobenzalmalononitrile สารเคมีตัวนี้คิดค้นขึ้นในปี ค.ศ. 1928 โดยนักเคมีชาวอเมริกัน Ben Corson และ Roger Stoughton และถูกใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1958 ในกองทัพอังกฤษ เป็นสารเคมีที่มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว ละลายน้ำได้ไม่ดี มันจะกระตุ้นความเจ็บปวดและประสาทสัมผัสในร่างกาย มักใช้ผสมกับ Pyrotechnic ซึ่งเมื่อนำมาใช้จะก่อให้เกิดควันที่มีลักษณะเฉพาะ
- CN (Chloroacetophenone, C8H7OCl)  มักจะถูกใช้ในลักษณะของการพ่นเป็นละอองฝอย โดยผสมด้วยตัวทำละลายที่หลากหลาย เช่น แอลกอฮอล์หรืออีเธอร์
- Xylyl bromide เป็นของเหลวใสไม่มีสี หรือเป็นผลึก ไอระเหยของมันสามารถสร้างความระคายเคืองต่อดวงตาและเยื่อเมือกได้อย่างมาก
- OC (Oleoresin Capsicum) หรือสเปรย์พริกไทย (Pepper spray) และPelargonic Acid Vallinylamide (PAV) เป็นสารที่สกัดมาจากพริกไทยซึ่งประกอบไปด้วยแคปไซซิน (Capsaicin)

ภาพ : Shutterstock

 

การทำงานของแก๊สน้ำตา

เมื่อแก๊สน้ำตาโดนหรือสัมผัสกับร่างกายทางใดทางหนึ่ง จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกของตา จมูก ปาก และทางเดินหายใจไปจนถึงปอด นอกจากนี้ยังอาจทำให้มีอาการเวียนศีรษะ อาเจียน เป็นผื่นแดงและปวดแสบปวดร้อนตามผิวหนัง ตัวอย่างเช่น สารเคมี CS จะเชื่อมพันธะกับตัวรับซึ่งเป็นโปรตีนในเซลล์ของมนุษย์ ที่เรียกว่า TRPA1 (Transient Receptor Potential Ankyrin 1) มันเป็นตัวรับที่เหมือนกับตัวรับความเผ็ดของวาซาบิหรือมัสตาร์ด แต่ความรุนแรงของ CS นั้นมีมากกว่าวาซาบิเป็นพันเท่า ดังนั้น แม้สัมผัสเพียงเล็กน้อยก็ทำให้รู้สึกเจ็บปวดได้ นอกจาก CS แล้วยังมีสารเคมีที่มีความรุนแรงสูงกว่า เรียกว่า CS2 หรือ CX ซึ่งอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น สลายตัวช้าลง จึงกลายเป็นแก๊สน้ำตาที่มีอันตรายและส่งผลต่อพื้นที่เป็นเวลาหลายวัน หากแก๊สน้ำตาถูกใช้ในที่โล่งและมีระดับต่ำ ผู้สัมผัสจะถูกกระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองหรือเจ็บปวดในระยะสั้นเท่านั้น แต่หากอยู่ในพื้นที่ปิดและมีระดับสูง ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ทีเดียว

ภาพ : Shutterstock

 

แก๊สน้ำตาอีกประเภท คือ พวกสเปรย์พริกไทย กลุ่มนี้จะกระตุ้นตัวรับความเจ็บปวด TRPV1 ส่วนใหญ่มาจากสารแคปไซซินซึ่งเป็นสารประกอบในพริกหรือพริกไทย สารประกอบที่ใช้กันทั่วไปในหมวดหมู่นี้มีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ก๊าซ OC ซึ่งเป็นสารละลายเข้มข้นของแคปไซซินธรรมชาติ และ PAV สารนี้มีปฏิกิริยาทางเคมีหรืออาการแพ้น้อยกว่า แต่เมื่อมันมีลักษณะเป็นน้ำมัน (ที่สกัดจากพืช) จึงยากที่จะกำจัดออกไป และอยู่ได้นานกว่า

 

ทำอย่างไรเมื่อโดนแก๊สน้ำตา

1. เมื่อสัมผัสกับแก๊สน้ำตา สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การออกจากบริเวณนั้นให้เร็วที่สุด และปล่อยให้ลมพัดเอาแก๊สน้ำตาบางส่วนออกไปจากร่างกาย
2. หากใส่คอนแทกเลนส์อยู่ให้รีบถอดออก และไม่ควรนำมาใช้อีก
3. ล้างตาด้วยน้ำเย็น โดยเอียงศีรษะไปด้านดวงตาที่ต้องการจะล้าง ปล่อยให้น้ำเย็นไหลผ่านจากหัวตาออกไปยังหางตา แล้วทำซ้ำอีกข้าง
4. สั่งน้ำมูกและพยายามขับสารเคมีที่อาจได้รับและอยู่ในร่างกายออกมา
5. ถอดเสื้อผ้าโดยพยายามอย่าให้เสื้อผ้าเปียก แล้วทำความสะอาดเสื้อผ้าที่สัมผัสกับแก๊สน้ำตาด้วยน้ำเย็น อย่าใช้น้ำร้อนเพราะจะทำให้สารเคมีระเหยขึ้นมาได้
6. อาบน้ำเย็น หลีกเลี่ยงการใช้น้ำร้อน เพราะจะทำให้รูขุมขนเปิดและมีอาการแสบร้อนมากขึ้น
 

ภาพ : Shutterstock

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
- ทำไมวาซาบิจึงมีรสเผ็ด
 

 

แหล่งข้อมูล
Reactions. How Does Tear Gas Work? สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564
Aftermath. 4 Tips to Neutralize Tear Gas. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564
Aftermath. What are Some Tear Gas Exposure Treatments? สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564
Live Science. What is tear gas? สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564
PubChem. Bromoacetone. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564
Science Direct. CHEMICAL CROWD CONTROL AGENTS. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564
Scientific American. How Tear Gas Works: A Rundown of the Chemicals Used on Crowds. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564
ThoughtCo. Tear Gas - What It Is and How It Works. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564
National Geographic. ประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของแก๊สน้ำตา. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564
นายแพทย์กิติศักดิ์ แสนประเสริฐ กองอุบัติเหตุและเวชกรรมฉุกเฉิน โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ การรักษาภาวะพิษสารเคมี 1. Tear gas. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow