Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สิ่งใกล้ตัวที่เป็นพิษต่อร่างกาย

Posted By sanomaru | 21 ก.ค. 64
4,487 Views

  Favorite

สารพิษก็คือสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่สารบางอย่างที่ไม่ได้ถูกเรียกว่า สารพิษ ก็เป็นอันตรายต่อร่างกายได้หากได้รับในปริมาณที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจส่งผลให้ร่างกายเสียสมดุลและเกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่าง ทั้งนี้ความเป็นพิษของสารนั้นยังขึ้นอยู่กับขนาดร่างกาย อายุ เพศ น้ำหนัก รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ประกอบร่วมด้วย

 

1. น้ำเปล่า

น้ำเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญของของร่างกาย เซลล์ทุกเซลล์ อวัยวะทุกอวัยวะล้วนต้องมีน้ำเพื่อให้ทำงานได้อย่างปกติ แต่การบริโภคน้ำที่มากเกินไปก็นำไปสู่ภาวะน้ำเป็นพิษได้

ภาพ : Shutterstock

 

ภาวะน้ำเป็นพิษ คือ ภาวะการทำงานของสมองบกพร่องหรือหยุดชะงัก อันเนื่องมาจากการดื่มน้ำมากเกินไป ซึ่งน้ำที่มากเกินไปนี้จะเพิ่มปริมาณน้ำในเลือด และทำให้อิเล็กโทรไลต์ในเลือดเจือจาง โดยเฉพาะโซเดียม และเมื่อโซเดียมซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยรักษาสมดุลของของเหลวระหว่างภายในและภายนอกเซลล์เจือจางลงต่ำกว่า 135 มิลลิโมลต่อลิตร (mmol/l) จะเรียกว่า ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ (Hyponatremia)  

 

การที่โซเดียมเจือจางมาก ๆ มีผลต่อสมดุลของของเหลวในร่างกายระหว่างภายในและภายนอกเซลล์ เพราะของเหลวจากภายนอกเซลล์จะเคลื่อนเข้าสู่ภายในเซลล์ และเป็นสาเหตุของอาการบวมน้ำได้ ซึ่งหากเกิดขึ้นกับเซลล์สมอง สมองจะบวมน้ำ ความดันภายในกะโหลกศีรษะจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หรือหากรุนแรงมาก ๆ อาจทำให้ความดันเลือดสูง หายใจลำบาก เห็นภาพซ้อน กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชัก และอาจนำไปสู่การชีวิตเลยทีเดียว

 

แล้วดื่มน้ำมากแค่ไหนจึงจะเกิดภาวะน้ำเป็นพิษล่ะ?

 

โดยทั่วไปไตของคนเราสามารถขับน้ำออกได้วันละ 20-28 ลิตร แต่ไม่สามารถกำจัดน้ำออกได้มากกว่า 0.8-1.0 ลิตรต่อชั่วโมง ดังนั้น จึงไม่ควรดื่มน้ำมากกว่า 0.8-1.0 ลิตรต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ย ทั้งนี้ สถาบันการแพทย์แนะนำปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายใน 1 วัน คือ 3.7 ลิตรสำหรับผู้ชาย และ 2.7 ลิตรสำหรับผู้หญิง แต่หากดื่มน้ำ 10-20 ลิตรภายในเวลาเพียง 2-3 ชั่วโมง หรือดื่มรวดเดียว 8 ลิตร ก็ล้วนแต่นำไปสู่ภาวะสมองบวม โซเดียมในเลือดต่ำและเสียชีวิตในที่สุด

 

2. เกลือ

เกลือหรือโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) มักเป็นส่วนประกอบในอาหารที่เรารับประทานในแต่ละมื้อ ร่างกายมนุษย์ต้องการโซเดียมประมาณ 500 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือ 1,250 มิลลิกรัม เพื่อใช้ในการทำงานของกล้ามเนื้อ การส่งกระแสประสาท และควบคุมสมดุลบางอย่างในร่างกาย แต่หากร่างกายมีปริมาณเกลือที่มากเกินไป ก็เป็นสาเหตุให้ขาดความสมดุล นำไปสู่ความเจ็บป่วยหรือโรคต่าง ๆ ได้

 

หากรับประทานเกลือมากเกินไป และร่างกายไม่สามารถกำจัดออกในภาวะปกติได้ ร่างกายจะใช้น้ำ 23 เท่าของปริมาณน้ำในเซลล์เพื่อควบคุมสมดุลของเหลวไว้ ร่างกายจะรักษาน้ำเพื่อเจือจางโซเดียม ทำให้ของเหลวรอบเซลล์และปริมาณน้ำเลือดเพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่า หัวใจจะต้องทำงานหนักขึ้นในการปั๊มเลือดปริมาณมาก นำไปสู่ความดันเลือดที่สูงขึ้น ตามมาด้วยหัวใจวายหรือหัวใจล้มเหลว นอกจากนี้การมีของเหลวส่วนเเกินในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ยังอาจนำไปสู่โรคเกาต์ นิ่วในถุงน้ำดี หรือรูมาตอยด์ได้อีกด้วย ดังนั้น เพื่อสุขภาพที่ดี จึงไม่ควรบริโภคเกลือเกินปริมาณที่แนะนำต่อวัน

ภาพ : Shutterstock

 

3. แอลกอฮอล์

การดื่มแอลกอฮอล์ในงานเลี้ยงสังสรรค์เป็นสิ่งที่คู่กับคนไทยมานาน แม้ว่าผลเสียของแอลกอฮอล์จะมีมากมาย ทั้งทำให้อารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยน พูดจาไม่ชัดเจน ไม่รู้เรื่อง ขาดสติ ขาดการตัดสินใจที่ดี มีภาวะทางสังคมที่ผิดปกติไป รวมถึงมีผลเสียต่อสุขภาพก็ตาม โดยเฉพาะผลเสียต่อสุขภาพนี้อาจร้ายแรงเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากมีการบริโภคในปริมาณที่มากเกินไป

 

ปริมาณแอลกอฮอล์ที่มากเกินไปอยู่ที่ประมาณ 5-8 กรัมต่อกิโลกรัม เช่น ผู้ที่มีน้ำหนัก 60 กิโลกรัม บริโภคแอลกอฮอล์ปริมาณ 300-500 กรัม ก็สามารถทำอันตรายถึงชีวิตเลยทีเดียว ทั้งนี้ในไวน์ขาวหรือไวน์แดง 175 มิลลิลิตร จะมีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่ประมาณ 16 กรัม

 

อย่างไรก็ตาม หากดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณ 10 กรัม เป็นประจำทุกวัน แม้ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตในทันที แต่ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรงมะเร็งเต้านมถึง 7-12% ส่วนการศึกษาก่อนหน้านี้ก็แสดงให้เห็นว่าการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณ 100 กรัมต่อสัปดาห์เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ถึง 19% นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดปัญหาทางเดินอาหาร การนอนหลับ ภาวะเจริญพันธุ์ลดลง และภาวะซึมเศร้าตามมาอีกด้วย

ภาพ : Shutterstock

 

4. คาเฟอีน

กาแฟเป็นเครื่องดื่มยามเช้าและยามบ่ายที่ดี คาเฟอีนในกาแฟนั้นมีประโยชน์หากดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ เนื่องจากมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ส่งผลให้รู้สึกตื่นตัว สดชื่น นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำมีความเสี่ยงต่ำที่จะเเกิดโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s) และสมองเสื่อม (dementia) ต่ำ

 

อย่างไรก็ตาม หากดื่มในปริมาณที่มากเกินไปก็เป็นอันตรายได้ เพียงแต่โอกาสที่จะพบผู้ที่ดื่มในปริมาณที่มากเกินไปจนเป็นอันตรายนั้นมีน้อยมาก ๆ เพราะปริมาณคาเฟอีนที่บริโภคแล้วอันตรายถึงชีวิตสำหรับคนส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 10-15 กรัม ขณะที่กาแฟหนึ่งแก้วมีคาเฟอีนอยู่ประมาณ 100 - 200 มิลลิกรัมเท่านั้น ส่วนเครื่องดื่มชูกำลังต่าง ๆ อาจจะมีปริมาณคาเฟอีนได้ตั้งแต่ 50-300 มิลลิกรัม ดังนั้น หากจะดื่มกาแฟจนเกิดอันตราย ก็อาจจะต้องดื่ม 10-30 แก้วในระยะเวลาสั้น ๆ ติดต่อกัน โดยอาจมีอาการชัก ปวดท้อง อาเจียน เวียนศีรษะ ระดับความเป็นกรดในเลือดสูง หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ ซึ่งทั้งหมดนี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

ภาพ : Shutterstock

 

5. พาราเซตามอล

พาราเซตามอลเป็นยาที่ใช้กันทั่วไปเพื่อลดไข้ บรรเทาการเจ็บปวดหรืออาการปวดต่าง ๆ เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ข้ออักเสบ ปวดฟัน แต่ไม่มีผลต่อการอักเสบหรือบวมของข้อ โดยทั่วไปพาราเซตามอล 1 เม็ด มีขนาด 500 มิลลิกรัม สำหรับผู้ใหญ่สามารถรับประทานได้ครั้งละ 1-2 เม็ด 4 ครั้งใน 24 ชั่วโมง หรือทุก 6 ชั่วโมง โดยปริมาณประมาณ 20% ของยาที่เข้าสู่ร่างกายจะเปลี่ยนรูปในผนังลำไส้และตับ ส่งผลให้มีสารพิษจำนวนเล็กน้อยก่อตัวขึ้นในตับ พิษเหล่านี้จะถูกล้างได้ด้วยสารที่เรียกว่า กลูตาไธโอน

 

อย่างไรก็ตาม หากรับประทานยาเกินขนาด ซึ่งกรณีนี้เกิดขึ้นได้หากใช้พาราเซตามอลเกิน 12 กรัม อาจเกิด N-acetyl-p-benzoquinoneimine (NAPQI) ปริมาณมาก ทำให้กลูตาไธโอนมีไม่เพียงพอที่จะกำจัดพิษ NAPQI ให้หมดไปได้ ส่งผลทำลายตับหรือทำให้ตับวาย นอกจากนี้ยังอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน น้ำตาลในเลือดต่ำ มีกรดสะสมในเลือด หรือไตวายได้

ภาพ : Shutterstock

 

ไม่ว่าจะเป็นน้ำ เกลือ แอลกอฮอล์ คาเฟอีน หรือพาราเซตามอล ล้วนเป็นสิ่งที่เราพบเจออยู่ตลอด และสิ่งเหล่านี้ บางอย่างก็จำเป็นต่อการดำรงชีวิต แต่หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปจนร่างกายเสียสมดุล มันก็พร้อมจะกลายเป็นพิษ อย่างไรก็ตามปริมาณที่มากเกินไปจนเป็นพิษต่อร่างกายหรือไม่นั้น ในความเป็นจริงแล้วยังขึ้นกับขนาดของร่างกาย อายุ เพศ น้ำหนัก รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
- ภาวะการดื่มน้ำมากเกินไป (Overhydration) คืออะไร
- ชีทสรุปชีววิทยา ม. ปลาย เซลล์และการลำเลียงสารผ่านเซลล์
- แอลกอฮอล์อยู่ในร่างกายได้นานเท่าไร
- ทำไมดื่มเหล้าถึงเมาได้
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow