Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ส่วนประกอบของยาสีฟัน

Posted By sanomaru | 16 ก.ค. 64
19,009 Views

  Favorite

การแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง เวลาเช้าและก่อนนอน คือสิ่งที่เราได้รับการปลูกฝังกันมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เพื่อเป็นการทำความสะอาดช่องปาก กำจัดเศษอาหารต่าง ๆ และยังช่วยให้ลมหายใจสดชื่น นอกจากนี้ส่วนผสมบางอย่างในยาสีฟัน ยังช่วยลดโอกาสในการเกิดฟันผุได้อีกด้วย

ภาพ : Shutterstock

 

การทำงานของยาสีฟัน

จากการศึกษาพบว่า สาเหตุของฟันผุ นั้นเกิดจากการสูญเสียแคลเซียมไปจากสารเคลือบฟัน เนื่องจากกรดอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นโดยแบคทีเรียในช่องปาก เมื่อกรดทำลายสารเคลือบฟันจนทะลุไปถึงชั้นโพรงประสาทฟัน ก็จะทำให้เกิดโพรงฟันหรือฟันผุได้

 

คนโบราณรู้จักใช้ยาสีฟันกันมาตั้งแต่ยุค 3,000-5,000 ปีก่อนคริสตกาล โดยยาสีฟันในสมัยนั้นอาจทำจากเปลือกไข่ น้ำ หินภูเขาไฟ หรือผงกระดูก กระทั่งปัจจุบันยาสีฟันนั้นเปลี่ยนไปมาก ซึ่งอยู่ในรูปแบบที่สะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น และมีบทบาทสำคัญ 2 อย่างคือ รักษาความสะอาดของฟัน และป้องกันการเกิดโพรงฟัน ไม่เพียงเท่านั้นมันยังช่วยแก้ปัญหากลิ่นปากและปัญหาเหงือกได้อีกด้วย

 

ส่วนประกอบของยาสีฟัน

โดยทั่วไปแล้วยาสีฟันที่เราใช้แปรงฟันจะมีลักษณะนุ่ม ๆ คล้ายครีม เพราะมันประกอบไปด้วยน้ำ 20-40% นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบอื่น ๆ ที่ร่วมกันทำงานเพื่อปกป้องฟันและสุขภาพในช่องปากของเราด้วย


1. ฟลูออไรด์ (Fluoride) ส่วนประกอบประเภทนี้ดูเหมือนจะเป็นตัวเอกในยาสีฟันเลยก็ว่าได้ ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของโซเดียมฟลูออไรด์ และยังมีการใช้สแตนนัสฟลูออไรด์ และโซเดียมโมโนฟลูออโรฟอสเฟตด้วย หน้าที่หลักของฟลูออไรด์คือ ป้องกันฟันผุโดยจำกัดการก่อตัวของหินปูนและคราบพลักค์บนผิวฟัน โดยจะฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่สร้างคราบพลักค์เกาะติดบนฟันของเรา นอกจากนี้ฟลูออไรด์ยังคืนแร่ธาตุให้กับเคลือบฟัน

ภาพ : Shutterstock

 

2. สารต้านการแพ้ ในบางคนอาจมีอาการแพ้ส่วนประกอบบางอย่างในยาสีฟัน จึงมีการใส่สารต้านการแพ้พวกสตรอนเทียมคลอไรด์หรือโพแทสเซียมไนเตรตลงไปด้วย ซึ่งมีการศึกษาเปรียบเทียบกันพบว่า ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของโพแทสเซียมไนเตรตช่วยให้การแพ้ลดลงได้

 

3. สารต้านการสะสมของหินปูน เช่น โซเดียมโพลีฟอสเฟตหรือซิงค์ซิเตรต แต่ซิงค์ซิเตรตจะพบได้บ่อยที่สุดในยาสีฟัน โดยช่วยลดการเกิดคราบพลัคซึ่งมีลักษณะเป็นฟิล์มเหนียว ๆ เคลือบบนตัวฟัน ที่คราบพลักค์นี้จะมีแบคทีเรียซ่อนอยู่ เมื่อพลัคดูดซับแคลเซียมในน้ำลายก็จะกลายเป็นหินปูนเกาะตามขอบฟันซึ่งต้องขูดออก ทั้งนี้มีการทดลองเปรียบเทียบการใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของซิงค์ซิเตรตกับยาสีฟันที่ไม่มี พบว่ายาสีฟันที่มีส่วนผสมดังกล่าวสามารถลดแบคทีเรียได้มากถึง 24-52% เลยทีเดียว

 

4. สารขัดฟัน เช่น อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ แคลเซียมไฮโดรเจนฟอสเฟต แคลเซียมคาร์บอเนต ซิลิกา และไฮดรอกซีอะพาไทต์ (สารประกอบแคลเซียมฟอสเฟตรูปแบบหนึ่ง) ช่วยทำความสะอาดฟัน และกำจัดคราบสกปรกต่าง ๆ และคราบพลัค แต่ไม่ทำลายเนื้อเยื่อเหงือก

ภาพ : Shutterstock

 

นอกจากส่วนประกอบหลักในยาสีฟันที่กล่าวมาแล้ว อาจจะมีสารประกอบอื่น ๆ ได้อีก
- สารฟอกสี เช่น ไฮโดรเจนเพอรอกไซด์ (hydrogenperoxide)
- สารสร้างฟอง เช่น โซเดียมลอริลซัลเฟต (SLS) โซเดียมลอริลซาร์โคซิเนต สารสร้างฟองนี้จะช่วยให้เศษอาหารหลุดออกมาจากซอกฟันได้ง่ายขึ้น
- สารต้านแบคทีเรีย เช่น ไตรโคลซานหรือซิงค์คลอไรด์
- สารปรุงแต่งรส เช่น สเปียร์มินต์ เปปเปอร์มินต์ และวินเทอร์กรีน
- สารให้ความชุ่มชื้น ได้แก่ กลีเซอรอล ไซลิทอล ซอร์บิทอล โพลีเอทิลีนไกลคอล และโพรพิลีนไกลคอล ซึ่งช่วยให้ยาสีฟันไม่แข็งแม้จะบีบออกจากหลอดทิ้งไว้

 


บทความที่เกี่ยวข้อง
- สาเหตุของฟันผุ
- ประโยชน์ของยาสีฟัน
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow