Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

แอบชอบเพื่อน ไปต่อหรือพอแค่นี้ดี

Posted By Plook Magazine | 16 ก.ค. 64
25,665 Views

  Favorite

ความสัมพันธ์ที่สตรองที่สุดมักจะเป็นไปแบบเพื่อน คู่รักที่ตกหลุมรักกันตั้งแต่แรกเจอมักจะมีความแตกต่างและมีบุคลิกที่ดึงดูดกันสูงกว่าคู่รักที่เริ่มจากการเป็นเพื่อนกันมาก่อน แต่โดยเฉลี่ยแล้วผู้คนมักจะอยากได้คนรักที่มีบุคลิกคล้ายคลึงกับตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องนิสัยใจคออย่างเช่น การมองโลก และอารมณ์ไม่ขึ้นลงเหมือนมีสี่ฤดูในวันเดียว

 

คุณเคยรู้จักคน ๆ หนึ่งมาเป็นปี ๆ แต่แล้ววันหนึ่งกลับมองเขาเปลี่ยนไปไหม ? 

 

จากที่มองเขาเป็นแค่เพื่อนร่วมห้อง เพื่อนสนิท เพื่อนบ้าน หรือไอ้นั่น... แต่แล้ววันหนึ่ง วันที่แสนธรรมดา แรงเสน่ห์หากลับเข้าครอบงำคุณเหมือนเขามีแรงดึงดูดบางอย่างที่มองไม่เห็นแต่รุนแรง คนที่คุณไม่เคยมองว่าน่ารักเลย กลับน่ารักขึ้นเป็นพิเศษดุจต้องมนต์สะกด ร่างกายคุณเหมือนดำดิ่งลงไปในก้นมหาสมุทร สักพักกลับเหมือนลอยคว้างขึ้นไปกลางอากาศจนรู้สึกปั่นป่วนในช่วงท้อง ทันใดนั้นเองคุณก็อดคิดไม่ได้ว่า คุณและเขาจะเปลี่ยนจากเพื่อนรักเป็นคนรักได้ไหม ? 

 

แล้วก็บู้ม ! คุณแอบชอบเพื่อนตัวเอง

 

การแอบชอบเพื่อนเป็นเรื่องที่หลายคนชอบใช้คำว่า ‘It's complicated’ เหมือนช่องคำตอบที่ว่างเอาไว้เพราะยังไม่รู้ว่าจะตอบยังไง ก่อนอื่นคุณอยากจะรู้ว่าความรู้สึกนี้ควรไปต่อหรือพอแค่นี้ เพราะเริ่มจะไม่แน่ใจว่ารักโรแมนติกที่คุณมีให้กับเพื่อนจะไปทำลายความสัมพันธ์ที่ดีให้จบลงหรือเปล่า เเล้วเพื่อนคนอื่น ๆ จะด่าไหม ? แล้วถ้าเลิกกันขึ้นมาจะทำยังไง ? แต่วงการแอบรักเพื่อนเข้าแล้วมันออกยาก เราจะเป็นเพื่อนกับคนที่เราสนใจได้จริง ๆ เหรอ นั่นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก ๆ

 

แต่ก่อนที่จะไปนั่งเครียดกับความสัมพันธ์ที่ยังไม่เริ่ม นักวิจัยจากนิตยสารอเมริกา Psychology Today ทำการวิจัยเรื่อง ‘รักแรกพบหรือเป็นเพื่อนก่อนดี’ โดย Dick P. H. Barelds และ Pieternel Dijkstra ได้เผยข้อมูลให้คนแอบรักเพื่อนได้ใจชื้นว่า การได้เพื่อนมาเป็นคนรักจะทำให้ความสัมพันธ์มีคุณภาพมากกว่ารักแรกพบ นั่นเป็นเพราะคนที่เป็นเพื่อนกันมาก่อนมักจะมีอะไรเหมือน ๆ กันอยู่แล้ว ชอบอะไรเหมือน ๆ กัน และเข้ากันได้ดี ซึ่งเป็นคุณสมบัติของคู่รักที่ตกลงแต่งงานกัน แถมความเข้ากันได้ดี เป็นทุกอย่างให้กันและกันมาก่อนยังเพิ่มความผูกพัน ตัดปัญหาจุกจิกที่ว่า ‘เข้ากันไม่ได้’ เนื่องจากคนที่เป็นเพื่อนกันมาก่อนได้ใช้เวลาที่จะเรียนรู้กันและกันมามากพอสมควรเมื่อเทียบกับรักแรกพบทั้งในเรื่องของการมองโลกที่คล้ายกัน ศีลเสมอกัน การให้อิสระแก่กัน และอารมณ์ที่คงที่ ทั้งหมดที่ว่ามาก็เป็นสิ่งที่คนเราต้องการในตัวคนรักทั้งนั้น 

 

นอกจากนี้การเป็นเพื่อนก่อนเป็นแฟนกัน นักวิจัยยังได้อธิบายไว้ว่า มันเป็นความสัมพันธ์ที่คล้าย ๆ กับการอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงาน (Companionate Love) ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบที่จะทำให้ได้เรียนรู้กันและกันอย่างใจเย็น แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ว่าทุกคู่จะทำได้ ทั้งนี้เกิดจากความแตกต่างกันระหว่างผู้ชายและผู้หญิงด้วย ถ้าหากผู้หญิงได้วางผู้ชายคนหนึ่งไว้ว่าเป็นเพื่อนแล้ว คุณจะได้เป็นแค่เพื่อนตลอดไป 

 

แต่สำหรับผู้ชายมักจะมีแนวโน้มชอบเพื่อนตัวเองมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากโดยธรรมชาติของผู้ชายมักจะสนใจเพศตรงข้ามได้อย่างไม่จำกัด (ทฤษฎี Bateman’s Principle) พูดง่าย ๆ ก็คือ ผู้ชายจะจัดระดับความชอบผู้หญิงไว้ที่มากไปถึงน้อย โดยลำดับจะขึ้นลงได้เรื่อย ๆ ขึ้นอยู่กับความน่าสนใจของผู้หญิง แต่ผู้หญิงจะจัดลำดับผู้ชายไว้ที่คำว่าชอบหรือไม่ชอบเท่านั้น จะไม่มีระดับมากหรือน้อยเหมือนผู้ชาย ยิ่งถ้าผู้ชายคนนั้นไม่ใช่สเปคเธอ และไม่ได้มียีนที่เด่นกว่า เช่น หน้าตาดีกว่า บุคลิกดีกว่า หรือฐานะดีกว่า เปอร์เซ็นต์ที่ผู้หญิงจะตกลงเป็นแฟนด้วยจะยิ่งน้อย

 

 

เหตุผลส่วนใหญ่ที่หลายคู่ไม่สามารถพัฒนาจากเพื่อนรักไปเป็นคนรักได้ เป็นเพราะการคบกันมานานในแง่หนึ่งก็เหมือนคน ๆ นั้นได้กลายมาเป็นหนึ่งคนในครอบครัวไปแล้ว มันเลยทำให้พิศวาสกันไม่ลงแค่คิดก็จั๊กจี้แล้ว นั่นจึงทำให้การแอบชอบเพื่อนมันซับซ้อนและไม่ใช่ว่าทุกคู่จะโชคดี แม้ว่าเราจะฝ่าด่านการเป็นเพื่อนมาได้และมีเปอร์เซ็นต์ว่าเขาน่าจะชอบเรา แต่เราก็ไม่อาจฝ่าด่านที่ว่าเขาอาจมีคนที่ชอบอยู่แล้วก็ได้ ซึ่งนั่นทำให้แม้จะชอบเพื่อน แต่หลายคนก็ตัดใจไม่จีบ เก็บความรู้สึกนั้นไว้ในกล่องใส่กลอนล็อคกุญแจไว้ไม่ให้มันได้ออกมาแสดงอาการ ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่คนเราไม่อยากเปลี่ยนเพื่อนมาเป็นแฟนหลัก ๆ มีดังนี้

 

1) กลัวเสียเพื่อน (Safeguard Relation)

2) ไม่ได้รู้สึกชอบ (Not Attracted)

3) คนรอบข้างไม่เห็นด้วย (Network Disapproval)

4) มีบุคคลที่สามมาเกี่ยวข้อง (Third Party) เช่น เพื่อนคนนั้นชอบเพื่อนเราอีกคน

5) ไม่อยากเจ็บอีกแล้ว เพราะเคยเจ็บมาก่อน (Risk Aversion) 

6) ฉันยังไม่พร้อมจะคบใคร (Time-out)  

 

ถึงจะมีทฤษฎี ข้อเท็จจริง และสถิติมาอ้างอิงให้หลายคนถอดใจ เราก็ต้องเข้าใจอยู่เสมอว่าความรักเกี่ยวพันกับสิ่งต่าง ๆ มากมายไม่ใช่แค่วิทยาศาสตร์ แต่ยังรวมถึงปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรม และสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ที่ชื่อว่าพรหมลิขิต แม้ว่าปริศนาบางอย่างในโลกสีชมพูอย่างความรักจะถูกทำให้เข้าใจได้โดยนักวิทยาศาสตร์หรือนักจิตวิทยาหัวกะทิทั้งหลาย แต่ก็ไม่ได้การันตีว่านับจากนี้ไปอีกห้าปีเราจะรักกันหรือไม่รักกันตามทฤษฎีหรือตามที่สถิติบอก ความรักของคุณกับเขาอาจยังไม่ใช่ในตอนนี้ แต่ในอนาคตไม่มีทางรู้ได้ เพราะความรักของคุณและเขาอาจเป็นความปกติที่พบไม่ได้บ่อย มีความถี่น้อยทางสถิติก็ได้ ใครจะไปรู้

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

คนมาทีหลัง ทำไมดังกว่า ?

วิธีเยียวยาใจตัวเอง เมื่อโดนปฏิเสธบ่อย ๆ

อยากคุยแต่ไม่อยากคบ 'เป็นแค่คนคุย' ถ้าเจอแบบนี้เราควรจะทำยังไงต่อ

ตำนาน ‘ด้ายแดง’ ที่ว่าคนเราเจอรักแท้แล้วแต่แค่ไม่รู้ตัว

สบตาเธอแล้วโลกหยุดหมุน รักแรกพบมีจริงหรือแค่คิดไปเอง

‘เขาชอบเราจริงไหม’ หรือแค่หาคนคุยแก้เบื่อ

รู้จักรูปแบบของความผูกพัน เรามีความสัมพันธ์แบบไหน

เรากำลังมีความรัก มีความสัมพันธ์ที่ดีอยู่หรือเปล่า ?

ทั้งที่ไม่ได้อินดี้ แต่ทำไมเราถึงยังเหงาอยู่นะ

ทำนายเนื้อคู่ตามราศี คุณจะเจอเนื้อคู่ที่ไหนได้บ้าง !

รู้จักอาการคลั่งรัก ‘Limerence’ คุณกำลังคลั่งรักใครอยู่หรือเปล่า

ไอเดียขอคนที่ชอบเป็นแฟน ไม่หวือหวาแต่ประทับใจ


 

แหล่งข้อมูล

The Upside to Dating a Friend

ทำไมคุณถึงเป็นได้แค่เพื่อน  

 
 
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow