Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เคล็ดลับในการสร้างแรงจูงใจในการเรียนให้ไม่แผ่วปลาย

Posted By Plook Magazine | 16 ก.ค. 64
7,207 Views

  Favorite

บ่อยครั้งที่เราหมดแรงบันดาลใจ หมดไฟในการทำอะไรสักอย่างในเรื่องเรียน มันอาจจะเป็นเพราะว่าเราสร้างแรงจูงใจที่ยังไม่ถูกทางเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเรื่องแรงจูงใจบอกว่า ถ้าอยากกระตุ้นให้ใครทำอะไรแม้แต่กับตัวเอง ยิ่งเสนอสิ่งตอบแทนมากเท่าไหร่ แรงจูงใจก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น ทำไมถึงเป็นแบบนั้นละ ?  

 

 

 

เคยไหมที่ขอพ่อกับแม่ว่า ถ้าสอบผ่านจะขอมือถือเครื่องใหม่เป็นการตอบแทน เชื่อว่าหลายคนไม่พลาดที่จะขอสิ่งของพวกนี้กัน เพราะแค่คิดถึงมือถือเครื่องใหม่ต่อมอยากอ่านหนังสือมันก็เริ่มทำงานอย่างที่ไม่เคยมาก่อน ! ซึ่งไม่ผิดเลยนะคะ เนื่องจากการสร้างแรงจูงใจมี 2 แบบคือ การสร้างแรงจูงใจภายนอก และการสร้างแรงจูงใจภายใน

 

การสร้างแรงจูงใจที่เราคุ้นชินกันก็คือ การสร้างแรงจูงใจภายนอก ซึ่งก็คือการสร้างแรงจูงใจในลักษณะที่ว่า เมื่อทำอะไรสำเร็จแล้วจะได้สิ่งที่จับต้องได้ตอบแทน แต่การสร้างแรงจูงใจภายในจะเป็นไปในลักษณะที่ว่า เมื่อทำสำเร็จแล้วจะได้ในสิ่งที่จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็นด้วยตาเป็นการตอบแทน 

 

การสร้างแรงจูงใจภายนอก แรงจูงใจภายนอกเป็นสิ่งผลักดันภายนอกตัวบุคคลที่มากระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมอาจ เช่น การได้รับรางวัล เงิน เกรด เกียรติยศ ชื่อเสียง คำชม หรือคำยกย่อง แรงจูงใจนี้ไม่คงทนถาวร เราจะแสดงพฤติกรรมเพื่อตอบสนองสิ่งจูงใจเฉพาะกรณีที่ต้องการสิ่งตอบแทนเท่านั้น เช่น

• เข้าร่วมเเข่งขันกีฬาเพราะอยากชนะ 

• ทำความสะอาดห้องเพื่อที่แม่จะได้ไม่บ่น

• เรียนเพื่อให้ได้เกรดดี ๆ เพื่อคณะในฝัน เพื่ออาชีพที่ชอบ

• ทำการบ้านเพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำ

 

การสร้างแรงจูงใจภายใน แรงจูงใจภายในเป็นสิ่งผลักดันจากภายในตัวเรา ซึ่งอาจเป็นเจตนา ความคิด ความสนใจ ความตั้งใจ ความสนุก การมองเห็นคุณค่า ความพอใจ ความต้องการสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมดนี้มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมที่ค่อนข้างถาวร เช่น

• เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเพราะเป็นกิจกรรมที่ชอบ

• ทำความสะอาดห้องเพราะชอบการจัดสิ่งของให้เป็นระเบียบเรียบร้อย

• ทำการบ้านเพราะความอยากรู้อยากเห็น อยากพัฒนาตัวเอง

• เล่นปริศนาอักษรไขว้เพราะรู้สึกว่ามันท้าทายและน่าตื่นเต้น

• เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยความกระหายใคร่รู้ 

 

มาถึงตรงนี้เราอาจมีคำถามเกิดขึ้นมาว่า แล้วแรงจูงใจแบบไหนดีกว่ากัน ?... คำตอบก็คือดีทั้งคู่ เพราะแรงจูงใจทั้งสองแบบมีประโยชน์หมด เราไม่อยากโลกสวยแล้วพูดว่าต้องใช้แรงจูงใจภายในซิ มันดีกว่าภายนอกที่ต้องเอารางวัลมาล่อ เพราะมันจะทำให้เราได้มองเห็นคุณค่าในตัวเองหรือความสามารถที่แท้จริง เนื่องจากการออกแบบการเรียนในโรงเรียนไม่สามารถใช้แรงจูงใจภายในแล้วจะได้ผล มีการศึกษาตั้งแต่ปี 1971 พบว่ารางวัลเชิงสัญลักษณ์และวัตถุบ่อนทำลายแรงจูงใจภายในของเด็กก่อนวัยเรียนถึงนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เกรดเฉลี่ยทำให้แรงจูงใจความอยากเรียนของเราลดลงได้  

 

 

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจถึงบางอ้อแล้วว่าทำไมเราถึงเรียนแล้วไม่มีความสุข ไม่อยากตื่นไปโรงเรียนเลย และเบื่อเหลือเกิน เพราะการเรียนในโรงเรียนที่มีตัวชี้วัดอย่าง ‘เกรดเฉลี่ย’ จะไปลดแรงจูงใจภายในของเราให้ลดลง ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดามากที่เกิดขึ้นได้ นักกีฬาอาจสนุกกับการเล่นฟุตบอลเพื่อประสบการณ์แทนที่จะเล่นให้ได้รับรางวัล แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาต้องเล่นเพื่อทุนการศึกษาต่อ เขาอาจพบว่าความสนุกของการเล่นฟุตบอลที่เคยมีได้หายไปหรือลดน้อยลง แต่เขาจะไม่หมดแรงจูงใจที่จะเล่นเพราะทุนการศึกษาก็สำคัญกับเขา ซึ่งการวิจัยทางจิตวิทยาสังคมมากมายชี้ให้เห็นว่า ‘แรงจูงใจภายนอก’ มีผลต่อ ‘แรงจูงใจภายใน’ ให้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น ทำให้ไม่สนุกเหมือนก่อน ไม่จดจ่ออย่างที่เคย และความคิดสร้างสรรค์ก็ลดลง แต่อย่างไรก็ตามแรงจูงใจภายนอกอย่างรางวัล เงินทอง ทุนการศึกษา ข้าวของใหม่ ๆ ก็ไม่ได้เป็นตัวร้ายเสมอไป โดยเฉพาะหากเป็นแรงจูงใจภายนอกที่มีประโยชน์ เช่น ทุนการศึกษาจากการแข่งขันฟุตบอลชนะเลิศที่เราจะต้องได้ใช้เพื่อเข้าเรียนต่อ หรือเด็กหลายคนที่ได้รับรางวัลเป็นหนังสือก็มีแนวโน้มที่จะรักการอ่านมากขึ้น หมายความว่ารางวัลที่มีประโยชน์บางอย่างไม่ได้บ่อนทำลายแรงจูงใจภายในให้ลดลงเสมอไป  

 

ส่วนข้อเสียสำหรับแรงจูงใจภายนอกคือ หากเราไปโฟกัสที่รางวัลมากจนเกินไป และยิ่งเป็นรางวัลที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ ได้แล้วจบไป มันอาจไปลดคุณค่าของการทำสิ่งต่าง ๆ ให้ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป แต่นักวิจัยหลายคนได้เผยเคล็ดลับการสร้างแรงจูงใจภายนอกที่ไม่กระทบต่อแรงจูงใจภายในนั่นก็คือ ‘การชื่นชม’ การสนับสนุนทางบวกเพราะเป็นการทำให้คนเรารับรู้ว่างานจากพฤติกรรมนั้น ‘เพิ่มความหมายตน’ ทำให้คนเรารู้สึกมีคุณค่า มีความหมาย ถูกยอมรับ และมีตัวตน จนอยากทำสิ่งที่ทำอยู่อย่างดีที่สุดได้ เพราะแรงจูงใจที่ดีที่สุดจะต้องกระตุ้นจากความรู้สึกของตัวเราเอง ไม่ใช่การเอาของรางวัลนอกกายเข้าล่ออย่างเดียว หลายคนอาจเข้าใจว่ามันคือการหาความหมาย หาประโยชน์จากสิ่งที่ทำอยู่ และไม่ว่าวันหนึ่งเราจะหมดไฟกับการอ่านหนังสือ การสอบตรงหน้า การหารางวัลมาล่อก็ไม่ผิดอะไร ตราบใดที่เรารู้ตัวว่าเราทำอะไรอยู่ และมันมีค่ากับเรายังไง การซื้อลิปสักแท่งหลังอ่านหนังสือวิชาที่ไม่ชอบจบก็ไม่ถือว่าผิด อิอิ 

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

หลักการคิดแก้ปัญหา 3 แบบ รู้ไว้คิดอะไรก็ไม่มีตัน

เคล็ดลับที่จะทำให้เราเก่งขึ้น 1% ทุกวัน

6 นิสัยยอดแย่ที่จะทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง

เคล็ดลับที่จะเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนชอบลงมือทำจาก Stanford

6 วิธีพัฒนาทักษะสมอง EF ในวัยรุ่นให้เก่งและดี เอาตัวรอดได้

‘AQ’ ทักษะจำเป็นในวันที่โลกหมุนเร็วจนตามไม่ทัน

เคล็ดลับการตัดสินใจให้ไม่พลาดโอกาสที่ดีที่สุด ไร้อาการ 'FOBO'

อย่าหาทำ ! การก็อปวางเป็นวิธีทำรายงานที่ไม่ถูกต้อง

คำถามจิตวิทยา 10 ข้อ ช่วยให้เรารู้จักตัวเอง ค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่

Ambiverts จะโลกภายในหรือภายนอกก็เอาอยู่

4 คำถามถ้าอยากคิดวิเคราะห์เก่ง เพราะ 'Critical Thinking' นั้นสำคัญ

ตั้งใจเรียน ไม่เคยเท แต่ทำไมเกรดตก นี่เราพลาดอะไรไป ?

 

 

แหล่งข้อมูล

Kenneth W Thomas. (2009). Intrinsic Motivation at Work: What Really Drives Employee Engagement. Berrett-Koehler Publishers: San Francisco

 
 
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow